​กระบวนทัศน์ positive sum game กับความสำเร็จในชีวิตของนักเรียน


หน้าที่อย่างหนึ่งของครูอาจารย์ คือสร้าง collaborative culture ขึ้นในชั้นเรียน และหาทางป้องกัน หรือลดทอน competitive culture วิธีลดอย่างหนึ่งคือใช้การตัดเกรดแบบอิงเกณฑ์ ไม่ตัดเกรดแบบอิงกลุ่ม แล้วศิษย์จะได้คุณสมบัติและทักษะชีวิตที่ดีติดตัวไปตลอดชีวิต

กระบวนทัศน์ positive sum game กับความสำเร็จในชีวิตของนักเรียน

บทความเรื่อง Why We Should Stop Grading Students On A Curveโดย Adam Grant ศาสตราจาย์ของ Wharton School, University of Pennsylvania ใน นสพ. New York Times วันที่ ๑๐ กันยายน ๒๕๕๙ น่าอ่านมาก

เขาบอกว่าในสหรัฐอเมริกาเกิดปรากฏการณ์ “เกรดเฟ้อ” (Grade Inflation) เช่นนักเรียนได้ A ตั้งครึ่งค่อนห้อง แต่ผู้เขียนบทความบอกว่า ที่เขาวิตกมากกว่าคือ “เกรดแฟบ” (Grade Deflation) เพราะตัดเกรดตาม curve คะแนน ซึ่งก่อผลร้ายต่อนักเรียนนักศึกษา คือทำให้เกิดการแข่งขันกันอย่างเกินพอดี เพื่อแย่งกันได้ เอ ก่อนิสัยเห็นแก่ตัวให้แก่นักเรียน

เขาอ้าง งานวิจัยชิ้นนี้ เพื่อบอกว่า ควรใช้วิธีให้เกรดแบบ อิงเกณฑ์ (Absolute Grading) มากกว่าแบบ อิงกลุ่ม (Curve Grading) เพราะว่าในกรณีที่นักเรียนในชั้นเป็นเด็กหัวดี ตั้งใจเรียน เกือบทั้งหมด (เรียกว่า homogeneous class) การตัดเกรดแบบอิงกลุ่มจะทำให้เด็กได้ เอ น้อยกว่าที่ควร ไม่กระตุ้นให้เด็กอยากเรียน

เขาบอกว่า การสร้างพฤติกรรมที่ดีในห้องเรียน ให้นักเรียนเรียนแบบช่วยเหลือกันจนเป็นนิสัย เป็นสิ่งสำคัญยิ่ง เพราะจะสร้างกระบวนทัศน์ positive sum game ขึ้นแก่เด็ก

อ้างผลงานวิจัยอีกเช่นกัน ที่แบ่งพฤติกรรมของนักเรียนออกเป็น ๒ กลุ่ม คือ “ผู้ให้” (giver) กับ “ผู้เอา” (taker) ศ. แกรนท์ ทำวิจัยติดตามศิษย์ เป็นเวลาสิบปี และพบว่า “ผู้ให้” มีความสำเร็จในชีวิตมากกว่ากลุ่ม “ผู้เอา”

ผู้เขียนเล่าประสบการณ์สร้างวัฒนธรรมความร่วมมือ (collaborative culture) ขึ้นในชั้นเรียน ในเทอมแรก แรงจูงใจคือให้เพิ่ม ๒ คะแนน (จากคะแนนเต็ม ๑๒๐) แก่นักศึกษาที่เมื่อเรียนรู้อะไร ก็เผื่อแผ่แก่เพื่อน มีผลให้นักศึกษาเรียนเป็นกลุ่มๆ มากขึ้น ผลการเรียน ในปลายเทอม คะแนนสูงขึ้นกว่าปีก่อน 2% โดยหัก ๒ คะแนนจาก ๑๒๐ ออกแล้ว

การที่นักเรียนนักศึกษาสอนซึ่งกันและกันมีผลให้การเรียนรู้ของผู้สอนดีขึ้น ท่านที่ต้องการหลักฐาน ให้ค้นกูเกิ้ลด้วยคำว่า learning pyramid มีผู้อธิบายว่า นี่คือคำอธิบายว่าทำไมโดยเฉลี่ยลูกคนหัวปีมีผลการเรียน และการทดสอบไอคิวสูงกว่าน้องๆ เพราะพี่คนหัวปีได้ฝึกสอนน้องๆ การสอนคนอื่นทำให้ผู้สอนได้เรียนรู้ มากกว่าการเรียนตามปกติ ผู้สอนได้เรียนรู้มากกว่าผู้เรียน

การเรียนรู้ในชีวิตจริง มีมิติของการเรียนรู้ว่าใครทำเรื่องนั้นได้ดี และไปเรียนรู้จากคนนั้น หากนักเรียน นักศึกษาได้เรียนเป็นทีม และฝึกทักษะการหาคนทำเก่ง และฝึกทักษะสอนเพื่อน นอกจากผลการเรียนทักษะ วิชาการดีขึ้นแล้ว ยังได้ทักษะการเรียนรู้ตลอดชีวิตติดตัวไปด้วย เขาย้ำว่า การมีนิสัยตรวจสอบว่าใครทำเรื่องนั้น ได้ดี เป็นทักษะการเรียนรู้

ทำให้ผมหวนระลึกถึงพฤติกรรมของตนเองสมัยเด็กๆ ที่เฝ้าสังเกตคนเรียนเก่ง ว่าเขาเรียนอย่างไร แล้วหาทางฝึกตนเอง เมื่อทำงานก็สังเกตคนทำงานเก่ง สังเกตว่าเขาเก่งตรงจุดไหน สังเกตวิธีการของเขา เอามาฝึกตนเอง แม้เวลานี้ผมก็ยังประพฤติปฏิบัติอยู่ เพิ่งมาตระหนักว่า นี่คือ learning skill อย่างหนึ่ง

ศ. แกรนท์ เล่าว่าก่อนสอบไล่ปี 2014 มีนักศึกษาคนหนึ่งส่งอีเมล์ประกาศว่าตนและเพื่อนอีกคนหนึ่ง ได้จองห้องเรียนเพื่อร่วมกันดูหนังสือเตรียมสอบไว้ในวันเสาร์บ่าย เชิญเพื่อนๆ ไปร่วมได้ คืนนั้นนักศึกษา อีกคนหนึ่งเสนอว่า ห้องดูหนังสือน่าจะแบ่งเป็นสองกลุ่ม คือกลุ่มเรียนการอ่าน กับกลุ่มเรียนการเขียน สองนาทีต่อมา นักศึกษาชายคนหนึ่งบอกว่า ตนได้เขียนคู่มือเตรียมสอบไว้ และยินดีแชร์แก่เพื่อนๆ ทุกคน ส่งผลให้เกิดการเรียนแบบร่วมมือกัน นักศึกษาคนหนึ่งถึงกับจัดการทดสอบให้เพื่อนๆ ซ้อมมือ ผลการเรียนในปีนั้นสูงขึ้นอีก 2.4%

ศ. แกรนท์ เอ่ยถึงคุณของการเรียนเป็นทีม ทำให้ได้ transactive memory หรือ group mind ซึ่งมีพลังสูงกว่า individual memory

ที่นักศึกษาได้มากกว่าคะแนนเพิ่มคือ วัฒนธรรมความร่วมมือ และทักษะความร่วมมือ และ ... กระบวนทัศน์ positive sum game ซึ่งจะเป็นคุณไปตลอดชีวิต

หน้าที่อย่างหนึ่งของครูอาจารย์ คือสร้าง collaborative culture ขึ้นในชั้นเรียน และหาทางป้องกัน หรือลดทอน competitive culture วิธีลดอย่างหนึ่งคือใช้การตัดเกรดแบบอิงเกณฑ์ ไม่ตัดเกรดแบบอิงกลุ่ม แล้วศิษย์จะได้คุณสมบัติและทักษะชีวิตที่ดีติดตัวไปตลอดชีวิต

วิจารณ์ พานิช

๑๗ ก.ย. ๒๕๕๙

หมายเลขบันทึก: 614285เขียนเมื่อ 17 กันยายน 2016 06:54 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 กันยายน 2016 06:54 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท