โสภณ เปียสนิท
นาย โสภณ เปียสนิท ตึ๋ง เปียสนิท

​พลังบุญพลังจิต


โสภณ เปียสนิท
.............................
ผมนึกอยากเขียนเรื่องนี้เพราะนึกถึงคำสอนของพระที่ว่า “ธรรมทั้งหลายมีใจเป็นหัวหน้า มีใจประเสริฐที่สุด สำเร็จแล้วด้วยใจ” กล่าวได้ว่ามีความสำคัญมาก แต่คนเราฟังแล้วผ่านเลยไป เพราะไม่ได้เอาใจใส่คำสอนนี้ จึงทำให้พลาดหลักสำคัญในชีวิตไป จับหลักไม่ได้ ชีวิตก็ขาดหลักการ ก้าวเดินไปข้างหน้าแบบไร้ทิศทาง เมื่อรับรู้หลักการสำคัญทางพระศาสนาที่พระสอนไว้ดั่งนี้แล้ว ท่านจะทำอย่างไร หรือควรทำอย่างไร
พระสอนให้ฝึกใจ “มนุษย์ฝึกแล้วประเสริฐที่สุด” บางคนยกมาสั้นๆ ว่า มนุษย์ มาจากคำว่า “มนะ+อุษย์” แปลว่า เป็นสัตว์ประเสริฐ แต่เป็นมนุษย์หรือเป็นคนไม่ฝึกไม่ประเสริฐต้องฝึกก่อนจึงประเสริฐ ดั่งนี้ คนเราจึงต้องฝึกตนเองกันทุกคน เกิดคำถามขึ้นว่า ฝึกอย่างไรดี ฝึกจากง่ายไปหายาก ฝึกตนเองไปในทางบวกสร้างสรรค์ ฝึกคิดไปตามคำพระสอน เพราะชาวพุทธมีพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์เป็นที่พึ่ง คราวนี้ยึดหลักอะไรก่อนดี เอาหลักใหญ่ 3 หลักก่อนน่าจะง่ายกว่าอย่างอื่น
หลักแห่งการ “ทำทาน ศีล ภาวนา” เอาแบบง่ายๆ ก่อน พระสอนให้หมั่นทำทานไว้เสมอ แต่เราไม่มีเงินมากพอ หรือเราไม่อยากทำมาก ก็เริ่มแบบง่ายๆ ด้วยการ อนุโมทนา พลอยยินดีเมื่อเห็นเมื่อรู้ว่าคนอื่นบริจาคทาน ยากไหมทำแค่นี้ ไม่น่าจะยากเพราะไม่ได้เสียหายอะไรเลย แค่เห็นเขาทำทานก็สาธุ ในใจก็ได้ เสียงดังๆ ก็ได้ สาธุใน Social Network ก็ยังได้ ยินดีกับเขา พระบอกว่าได้บุญกับเขาแล้ว เรียกว่า ปัตตานุโมทนามัย บุญสำเร็จด้วยการอนุโมทนา เห็นไหมได้บุญแล้ว ง่ายยิ่งกว่าพลิกฝ่ามือ
เห็นใครทำบุญที่ไหนก็สาธุ ทั้งในใจและนอกใจ คือเสียงดังๆ ไปเรื่อยๆ นานเข้าจิตก็คุ้นชินกับการยินดีเมื่อเห็นคนอื่นๆ ทำความดี ใจก็สั่งสมความดีมากขึ้น จนหลังๆ ชักอยากทำความดีด้วยตนเอง เพราะบุญจากการอนุโมทนาคนอื่นมากขึ้นเรื่อย จนทนไม่ไหวหาหนทางทำเองบ้างจนได้ เห็นเขาทำทาน เขาทำความดี เขาเข้าวัดฟังธรรม รักษาศีล เห็นเขาเจริญภาวนาแบบไหนก็ได้ พยายามสาธุอนุโมทนาให้ได้ แรกๆ ก็จะฝืนๆหน่อย เพราะยังไม่เคยชิน ทำไปบ่อยๆ เอ ชักรู้สึกเป็นสุขใจเมื่อได้ สาธุตอนคนอื่นทำความดี
และเป็นความจริงที่ว่า เราสาธุอนุโมทนาบุญแบบไหนมากเข้า เราจะสนใจทำแบบนั้น เช่น สาธุตอนเห็นคนอื่นทำทานมากเข้า นานเข้าก็จะอยากทำทานด้วยตนเอง สาธุตอนเห็นคนอื่นรักษาศีลมากๆเข้า ก็จะยินดีในการรักษาศีลด้วยตนเอง สาธุตอนเห็นคนอื่นภาวนา เจริญสติมากเข้า ก็จะยินดีในการทำภาวนาเจริญสติด้วยตนเอง ความดีอื่นๆ ก็เช่นกัน เป็นไปทางนี้ด้วยเช่นกัน
ดั่งนั้น การทำความดีสร้างบุญสร้างพลังจิตต้องหมั่นสาธุกับการทำความดีทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นหลักใหญ่สามอย่าง “ทานศีลภาวนา” หรือความดีอย่างอื่นก็เร่งยินดีด้วยทุกครั้งไป จนจิตเคยชินกับการอนุโมทนาความดีที่คนอื่นทำ พลังบุญพลังจิต พลังบวกจะค่อยๆ สะสมเพิ่มขึ้นทีละน้อย ความสุขในชีวิตจะเพิ่มขึ้นตามลำดับ ความคาดหวังในด้านดีจะ “สำเร็จ” ตามที่ปรารถนามากขึ้นทีละน้อย
เมื่อเราเห็นความจริงว่าเป็นดั่งที่ว่ามา ก็เหมือนเห็นหนทางเดินในชีวิตว่าจะเดินไปอย่างไร ง่ายแล้ว เพราะการทำบุญด้วยการอนุโมทนาเป็นจุดเริ่มที่ง่ายที่สุด ตรงที่สุด ไม่เสียอะไรเลย ประเด็นถัดมาเริ่มทำความเข้าใจผลการทำบุญแต่ละอย่างแบบง่ายๆ ก่อน “ทานทำให้มีทรัพย์” “ศีลทำให้ร่างกายสวยสมส่วนแข็งแรงโรคน้อย” “ภาวนาสมาธิสติทำให้เกิดปัญญา” รู้อย่างนี้แล้ว คิดดูว่าเราติดขัดปัญหาสิ่งใดข้อใดมากที่สุด หรือติดขัดไปทุกข้อ เกือบทุกข้อ เข้าใจได้ทันทีด้วยตนเองว่า เราทำความดีแต่ละข้อน้อยเต็มที เมื่อเข้าใจดั่งนั้นแล้วจึงต้องเร่งทำความดีทุกด้าน เน้นเฉพาะข้อที่ขาดมาก
เช่น เราเป็นคนไม่ค่อยจะมีทรัพย์สินกับใครเขา ต้องเร่งหัดอนุโมทนาสาธุกับคนที่เขาทำทาน และพยายามร่วมบุญกับเขาเท่าที่เราจะทำได้ มีแรงช่วยแรง มีทรัพย์น้อยช่วยน้อยหน่อย ไม่มีอะไรเลย สาธุให้มากๆ เข้าไว้ ยินดีกับคนที่เขาได้ทำทานทุกคนทุกครั้งแล้วตั้งจิตอธิษฐานว่า ขอให้มีทรัพย์สินเงินทอง ได้โอกาสในการทำทานกับเขาให้ยิ่งๆ ขึ้นไป โดยเร็วด้วยเทอญ ทำดั่งนี้ทุกครั้งบ่อยๆ จิตใจย่อมอยู่ในบุญ ไม่นานก็จะมีทรัพย์ทำทานกับเขาได้แน่ ข้ออื่นๆ ก็เป็นไปในทำนองนี้
เข้าใจต่อมาว่า ทานเป็นบันไดขั้นแรก ศีลเป็นบันไดขั้นที่สอง และ ภาวนาเป็นบันไดขั้นที่สามสูงที่สุด แต่การเริ่มทำความดีจากการอนุโมทนาเป็นการทำที่ง่ายพอๆ กันทั้งสามทาง เริ่มได้ดั่งที่เขียนมา

พอจิตมีพลังจากการอนุโมทนาความดีของคนอื่นบ่อยๆ จิตย่อมอยากทำความดีด้วยตนเองมากขึ้นตามลำดับ ความดีที่สะสมไว้เริ่มให้ผลความสุขในชีวิตย่อมมีมากขึ้น และหากเราไม่ลดละความพยายาม จิตย่อมหาทางไต่ลำดับเข้าสู่เส้นทางบุญมากขึ้นเรื่อย และจะเข้าใจสิ่งที่ไม่ค่อยจะเข้าใจในทางศาสนามากขึ้นตามไปด้วย แต่ต้องผ่านปัญหาอุปสรรคนานาประการ แบบที่คนโบราณเรียกกันว่า “มารไม่มีบารมีไม่เกิด” เพราะการทำความดีย่อมมีอุปสรรคแน่นอน ให้ทำใจไว้ก่อนว่า ต้องเจอแน่ และต้องมุ่งมั่นเอาชนะให้ได้ในแต่ละปัญหา

บางคนเริ่มทำทาน เริ่มเข้าวัดฟังธรรม สนทนาธรรมกับพระเริ่มมีคนรอบตัวกล่าวหาด้วยสายตาบ้าง ด้วยวาจาบ้าง ด้วยการเปรียบเปรยในโลก Social Network บ้าง แต่หากเราทำใจไว้แต่แรกปัญหาก็เบาบางลง แค่เพียงคิดขึ้นได้ว่า “นึกแล้วต้องเจอแบบนี้” พระสอนไว้ว่า “คนที่ไม่ถูกนินทาไม่มีในโลก อันนี้เป็นเรื่องจริง มารขั้นนี้ถือว่าเริ่มต้น เมื่อผ่านได้แล้วต้องสร้างนิสัยการทำความดีให้ต่อเนื่องกันไป เรียกว่าจิตมีพลังบุญ เมื่อยินดีในการทำทาน รักษาศีล เจริญภาวนา ทำบ่อยเข้า จิตย่อมประณีตมากขึ้น เข้าใจเรื่องราวของโลกมากขึ้น ทุกข์ที่เกิดจากสิ่งที่เป็นไปตามโลก ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง อนิจจัง ไม่เที่ยงแท้ ทุกขัง แปรปรวน เป็นทุกข์ อนัตตามิใช่ตัวตนยึดถือไม่ได้

เข้าใจแม้กระทั่งเรื่องของชีวิต เกิดขึ้น ดำรงอยู่ แก่ชรา เจ็บไข้ได้ป่วย และตายดับสูญไป เมื่อเข้าใจสิ่งเหล่านี้มากขึ้น ความทุกข์ที่เกิดจากสิ่งเหล่านี้ย่อมลดลงตามลำดับ เห็นความแก่ชรา เห็นความเจ็บไข้ได้ป่วย เห็นความดับสูญตายไปเป็นความเที่ยงแท้ เป็นขั้นตอนตามธรรมชาติ ใครก็หลีกเลี่ยงไม่พ้น แถมยังเห็นสิ่งเหล่านี้เป็นความงามตามกฏแห่งวัฏฏะ มองเห็นความแก่ชราของคนอื่นและของตนเองเป็นเรื่องปกติ ไม่พยายามดิ้นรนต่อสู้กับความแก่ให้เสียเวลาทำความดี หรือหากจะดิ้นรนต่อสู้ก็ไม่ต้องมากจนเกิน เห็นความเจ็บไข้เป็นเรื่องปกติต้องสู้อดทนกันไป รักษาไปตามหน้าที่

เห็นความเป็นธรรมดาของการบริจาคทาน คนเกิดมาเพื่อต้องรู้จักพอ ต้องรู้จักการให้ ต้องช่วยเหลือผู้อื่นรอบตัว ในสังคม จากญาติพี่น้องไปสู่วงกว้างออกไป เห็นการรักษาศีลเป็นเรื่องของคนโดยปกติ คนปกติต้องมีศีล คือไม่ฆ่าใคร ไม่ทำร้ายใคร ไม่ทรมานใครด้วยกายและวาจาและใจ คนปกติต้องไม่ยินดีในทรัพย์สมบัติของผู้อื่น คนในปกครองของผู้อื่น ไม่ประพฤติผิดในกาม ไม่พูดเท็จ คำหยาบ ส่อเสียด เพ้อเจ้อ ไม่ดื่มสุรายาเมาอันจักทำให้จิตของตนมัวเมาลุ่มหลงมึนเมา คือไม่ทำให้จิตของตนผิดไปจากปกติ

ทั้งการทำทาน และการรักษาศีลให้ตนเองเป็นปกติทางกายวาจาแล้ว ย่อมนำไปสู่ความเป็นปกติทางจิต นั่นคือ จิตสงบ “หยุดเป็นตัวสำเร็จ” หลวงปู่วัดปากน้ำภาษีเจริญ กล่าวสอนศิษย์ และดำรงสืบต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน คำว่าหยุดในที่นี้คือ “จิตสงบ” นิ่งอยู่ในอารมณ์สมาธิ ที่เรียกว่า “ฌาน” ซึ่งมีความหมายว่า เพ่ง หรือ ชินอยู่ในอารมณ์ด้านดี เมื่อมีการยินดีในทานสม่ำเสมอ เมื่อจิตยินดีในการทรงศีลเป็นปกติ จิตย่อมก้าวสู่ ฌาน ได้อย่างง่าย

เมื่อจิตสงบจึงเป็นฐานของการมองเห็นความเป็นจริงของชีวิต ตามหลักไตรลักษณ์ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ดั่งกล่าวมาได้โดยง่ายเหมือนเห็นผลมะขามป้อมบนฝ่ามือ ฝึกจิตสงบได้ดีแล้ว จึงใช้จิตนั้นพินิจพิจารณาไตรลักษณ์ให้เห็นความเป็นจริง ตามหลักสติปัฏฐานสี่ประการ คือ จิตมองกาย เรียกว่า กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน จิตมองเวทนา เรียกว่า เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน จิตมองจิต เห็นความคิดของจิต เรียกว่า จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน จิตครุ่นคิดพิจารณาธรรม เรียกว่า ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน ตามลำดับ

จิตที่สงบและมองความจริงตามหลักแห่งสติปัฏฐาน4 ได้โดยตลอด จึงเรียกว่า เป็นจิตที่มีบุญ มีพลังจิต สำหรับผู้ที่ต้องการแค่เพียงความสุขและความสำเร็จแห่งชีวิตในการเรียน ในการทำงานในชีวิตประจำวัน ย่อมเป็นไปได้โดยง่าย ดั่งนั้นขอเชิญชวนเพื่อนพ้องน้องพี่ หันหน้าศึกษาขึ้นตอนของการพัฒนาพลังจิตพลังบุญเพื่อความสุขและการดำรงอยู่อย่างมีคุณค่าและความสำเร็จในชีวิตทุกด้าน

หมายเลขบันทึก: 614034เขียนเมื่อ 15 กันยายน 2016 21:19 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 กันยายน 2016 21:19 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

สาธุๆๆ...เจ้าค่ะ อนุโมธนา..น้อมจิต..ลำดับสู่..ศีล..สมาธิ..ปัญญา...เจ้าค่ะ

-สวัสดีครับอาจารย์

-ตามมาอ่านธรรมะในใจมนุษย์ครับ

-ฝึก ๆ

-สาธุ....

เรียน อาจารย์

ได้อ่าน แล้วมองเห็น อาจารย์อยู่ในสถานภาพพระภิกษุ ที่เทศนาสั่งสอน สืบทอดศาสนาพุทธ... ในชุมชน GotoKnow ยังมี อาจารย์อีกหลายท่านที่มียศเป็นครูบาอาจารย์ แต่มีความเข้าใจศาสนาพุทธ สามารถเทศนาได้แบบพระภิกษุแท้ ถ้าเกิดมีสังคมแบบนี้แผ่กระจายไปมากๆ สังคมจะสะอาดเร็วขึ้น ผ่านพ้นยุคเก่า ก้าวเข้าสู่ยุคใหม่

ในสังคมปัจจุบัน มีหลุมพราง หรือกับดักมากมายเหลือเกิน ทำให้ยากลำบากกว่ารุ่นอาจารย์ ในการฝึกปฎิบัติจิต มีโอกาสหลงทางง่ายเหลือเกิน เพียงจิตคิดต้องการบุญกลายเป็นโลภ ประตูแห่งธรรมก็ปิดลงทันที เพื่อนรุ่นพี่ที่ร่วมฝึกปฏิบัติ มักจะใช้เทคนิคสารภาพบาป ว่า ในขณะหนึ่งตัวเองมีจิตรู้สึกอิจฉาผู้อื่น หรือบางท่านบอกว่า เขารู้สึกอยากได้ในสิ่งที่ไม่ใช่ของเขา และเขาจบเพียงสารภาพเท่านั้น ไม่ได้พยายามคิดและกระทำให้สิ่งนั้นเป็นของเขา ความบริสุทธิ์ของจิตบังเกิด ณ เวลานั้น

ขอแสดงความนับถือ

คุณลิขิต

ยายธี

ขอบคุณครับยายธี คิดถึงตอนที่ได้พบปะสนทนากันนะครับ ยังจำได้ดี

เพชรน้ำหนึ่ง

ครับผม ระยะหลังมานี้ ผมอ่านหนังสืออื่นๆ แล้วไม่ค่อยจะ "อิน" สักเท่าไร

อ่านหนังสือธรรม และแอบปฏิบัติบ้างเล็กๆน้อยๆ ตามประสา รู้สึกเป็นสุข

ลิขิต

เอาแค่ "สนทนาธรรม" สำหรับผู้สนใจธรรม ก็พอควรครับ คิดถึงสมัยก่อนเคยไปเมืองเหนือ แจกของชาวเขา เห็นชาวเขาเหล่านั้นเลี้ยงลูกหลานยั่วเยี้ยแต่ยากจนมาก แล้วน่าสงสาร ว่าชีวิตหากปราศจากธรรม เป็นอยู่เพื่อสิ่งใดหนอ แต่วันนี้กลับสงสารตนเองว่ายังขาดๆเกินๆ อยู่เรื่องการปฏิบัติ ไม่น่าพึงพอใจ แต่ยังอยู่ในขึ้นพยายามเท่านั้นเอง

ขอบคุณที่แวะมาเจรจากัน

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท