เลี้ยงลูกยิ่งใหญ่ ๑๐. วิธีเลี้ยงลูกที่มีความผิดปกติด้านพฤติกรรม


บันทึกชุดเลี้ยงลูกยิ่งใหญ่ นี้ตีความมาจากหนังสือ Raise Great Kids : How to Help Them Thrive in School and Lifeซึ่งเป็นหนังสือชุดรวบรวมบทความเด่นจากนิตยสาร Scientific American Mind หนังสือเล่มนี้เพิ่งออกจำหน่ายในเดือนพฤษภาคม ๒๕๕๙

บันทึกที่ ๑๐ วิธีเลี้ยงลูกที่มีความผิดปกติด้านพฤติกรรม ตีความจากบทความชื่อ Oh, Behave! โดย PJ Loughran คำตอบสั้นๆ คือให้ขอความช่วยเหลือเพื่อฝึกทักษะการดูแลเด็กผิดปกติแบบนี้จากผู้เชี่ยวชาญเฉพาะ

ผู้เขียนให้ข้อสรุปไว้ ๔ ข้อ ดังนี้

  • วิธีฝึกพ่อแม่ ที่ชื่อว่า PCIT สามารถช่วยแก้ไขพฤติกรรมต่อต้านในเด็กอายุ ๒ - ๗ ปีได้
  • เด็กเล็กที่มีปัญหาพฤติกรรมชัดเจน มีความเสี่ยงที่จะโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ที่มีพฤติกรรม ต่อต้านสังคม เป็นภัยต่อสังคม
  • PCIT มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ว่าใช้ได้ผลจึงกำลังขยายบริการไปอย่างกว้างขวาง
  • วิธีฝึกดังกล่าว ช่วยหยุดการทารุณเด็กในพ่อแม่ที่ใช้ระบบสวัสดิการของรัฐ (ในสหรัฐอเมริกา)ซึ่งหมายถึงพ่อแม่ยากจน

เขาขึ้นต้นเรื่องด้วยการพรรณาภาพการฝึกหรือเยียวยาปฏิสัมพันธ์ระหว่างพ่อแม่กับเด็ก ที่เรียกว่า PCIT (Parent–Child Interaction Therapy - http://pcit.ucdavis.edu/pcit-web-course/)อ่านแล้วเวียนหัวแทนแม่ และนักจิตวิทยา เพราะเด็กอยู่ไม่นิ่ง และไม่ยอมทำตามที่ผู้ใหญ่บอกให้ทำรวมทั้งอาละวาดสุดฤทธิ์แต่ในตอนจบตอนเขาก็เล่าความคลี่คลาย ที่เด็กยอมร่วมมือ หลังจากอาละวาดแค่ไหนก็ไม่ได้ผลแล้วเด็กก็ได้รับคำชมและการแสดงความรักจากแม่

การฝึก PCIT นี้ เป็นการฝึกทั้งแม่ (หรือพ่อ) และเด็กให้สื่อสารมีปฏิสัมพันธ์เชิงบวกกันได้เพราะเด็กที่เป็นโรคในกลุ่ม พฤติกรรมไม่อยู่ในระเบียบ (disruptive behavior)ได้แก่พฤติกรรมทำตรงกันข้ามกับที่ผู้ใหญ่บอก (ODD - oppositional defiant disorder), ความผิดปกติด้านพฤติกรรม (conduct disorder)และ เด็กสมาธิสั้น (ADHD – Attention-deficit/hyperactive disorder) ต้องการการค่อยๆ เยียวยา โดยการฝึกการสื่อสารปฏิสัมพันธ์ที่ถูกวิธีโดยฝึกในสถานบริการหรือสถาบันด้านการแพทย์ หรือจิตวิทยา

ในด้านแม่ (หรือพ่อ) เป็นการฝึกใช้คำพูดและท่าทีที่แสดงต่อเด็กรวมทั้งฝึกอารมณ์ให้นิ่งด้วยส่วนด้านเด็ก เป็นการฝึกให้ค่อยๆ เข้าใจว่าพฤติกรรมไม่เหมาะสมจะได้รับผลที่ตนเองไม่ชอบ ไม่ต้องการและพฤติกรรมหรือการตอบสนองต่อคำพูดของแม่ (หรือพ่อ) ที่เหมาะสม จะได้รับการตอบสนองเชิงบวก ที่ตนชอบเป็นการฝึกที่ต้องอดทนมาก ต้องใช้เวลามากและแม่ (หรือพ่อ) ต้องนำไปปฏิบัติต่อที่บ้านเพื่อให้เด็กค่อยๆ ชินกับหลักปฏิสัมพันธ์ที่ถูกต้อง

PCIT ค่อยๆ พัฒนามากว่า ๔๐ ปีเป็นวิธีการฝึกให้แม่ (หรือพ่อ) ทำหน้าที่ผู้บำบัดให้แก่ลูกที่มีปัญหา พัฒนาการบกพร่อง เป็นโรคในกลุ่มพฤติกรรมไม่อยู่ในระเบียบ (disruptive behavior) โดยการฝึกให้เด็กมี ทักษะในการมีปฏิสัมพันธ์เชิงบวกกับผู้อื่นเริ่มจากแม่ (หรือพ่อ) บทความไม่ได้เอ่ยถึงการเปลี่ยนแปลง ในสมองของเด็ก ที่เกิดขึ้นจากการฝึกแต่ผมเดาว่าต่อไปจะมีผลการศึกษาสมองให้เห็นว่า เด็กเหล่านี้ สมองส่วนไหนมีพัฒนาการช้าหรือผิดปกติและผมเดาต่อว่า จะมีผลการศึกษาที่บอกว่า เมื่อฝึก PCIT (หรือการฝึกอื่น ที่จะมีการพัฒนาขึ้นในอนาคต) และต่อด้วยการฝึกปฏิสัมพันธ์กับคนแปลกหน้าสมองส่วนที่บกพร่องฟื้นขึ้นมาเหมือนหรือใกล้เคียงเด็กปกติ

ความสำเร็จของ PCIT อยู่ที่การทบทวนชุดทักษะสำคัญของแม่ (หรือพ่อ) ในการสื่อสารกับลูกและมีการฝึกและแก้ไขถ้อยคำ และเสียงพูดในช่วงเวลาฝึกรวมทั้งฝึกฟัง และสังเกตพฤติกรรมของลูกด้วย เขาพบว่า มี ๒ปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้การแก้ไขพฤติกรรมของเด็กได้ผลดีคือ (๑) แม่ (หรือพ่อ) เน้นปฏิสัมพันธ์ เชิงบวก โดยแสดงท่าทีกระตือรือร้นต่อสิ่งที่เด็กกำลังทำ (๒) สนองตอบหรือมีปฏิกิริยา (เชิงบวก) ต่อสิ่งที่เด็กทำ ในรูปแบบเดียวกันอย่างสม่ำเสมอ ในภาษาของคนไทยทั่วไปคือ พ่อแม่ต้องไม่มีพฤติกรรมแบบผีเข้าผีออก ซึ่งจะทำให้เด็กสับสน

ปกป้องเด็ก

บางครั้งความผิดปกติในพฤติกรรมของเด็กไม่ใช่ตัวปฐมเหตุต้นเหตุคือพ่อแม่คือความผิดปกติ ของลูกมาจากพฤติกรรมของพ่อแม่ ลูกเกิดบาดแผลทางใจจากการกระทำของพ่อแม่ ในสหรัฐอเมริกา มีการวิจัยด้านการทารุณกรรมต่อเด็กและมีการช่วยเหลือเด็กเหล่านี้มานานหลายสิบปีเริ่มจากการฝึกอบรม พ่อแม่เป็นกลุ่มและพบว่าไม่ค่อยได้ผล

ต่อมาพบว่า การสอนหลักการเลี้ยงเด็ก หรือวิธีมีปฏิสัมพันธ์กับเด็ก ให้แก่พ่อแม่ตัวการเหล่านี้ ไม่ค่อยได้ผลต้องฝึกทักษะ ด้วย PCIT จึงจะได้ผล และต่อมาพบว่าหากใช้ ๒ มาตรการประกอบกันคือ PCIT ควบกับการสนทนาสร้างแรงจูงใจ (motivational interview) แก่แม่ (หรือพ่อ) จะได้ผลดีกว่าใช้ PCIT อย่างเดียวมาก

คือแม่ (หรือพ่อ) ที่โดนข้อหาทารุณลูกและทางการส่งไปเยียวยาจะไปอย่างไม่เต็มใจ เจือความรู้สึกปฏิเสธการถูกบังคับการสนทนาสร้างแรงจูงใจจะช่วยให้แม่ (หรือพ่อ) พาลูกไปฝึก PCIT เพื่ออนาคตของลูกที่ตนรักไม่ใช่ไปเพราะถูกบังคับ

เยียวยาพฤติกรรมก้าวร้าวจากการบาดเจ็บที่สมอง

ได้กล่าวในตอนต้นว่า PCIT ใช้ได้ผลในเด็กอายุ ๒ - ๗ ปีแต่เริ่มมีรายงานว่า มีเด็กอายุ ๑๑ ปี ที่เดิมมีพฤติกรรมปกติแต่หลังจากเกิดอุบัติเหตุสมองได้รับบาดเจ็บจากกระสุนปืนเด็กมีพฤติกรรมก้าวร้าวหลังบำบัดด้วย PCIT ความก้าวร้าวและต่อต้านพ่อแม่ลดลงมาก

ฝึกพ่อแม่ให้เลี้ยงลูกเก่งขึ้น

นี่คือการใช้ PCIT ฝึกแม่ (หรือพ่อ) ที่อาจมีวิธีเลี้ยงลูกผิดๆ ให้เลี้ยงลูกโดยทำเป็นไม่เอาใจใส่ พฤติกรรมไม่ดี ชมพฤติกรรมดีบอกเด็กว่าควรทำอะไรไม่ใช่ห้ามทำอะไรและใช้คำพูดแบบคำสั่งตรงๆไม่ใช่ขอร้อง หรือข้อแนะนำให้ทำโดยผลวิจัยในแม่ (หรือพ่อ) ที่มีวิธีปฏิบัติต่อลูกผิดๆที่ไปเข้าฝึก PCIT สองครั้งสี่ครั้งและแค่ให้อ่านวิธีการ ก็ได้ผลเปลี่ยนพฤติกรรมเด็กเช่นเดียวกัน

ผมเอาชื่อบทความตอนนี้ คือ Oh, Behave! ค้นโดยกูเกิ้ลผลที่ได้ทำให้ผมคิดถึงวิธีฝึกสัตว์ เช่นสุนัข ม้า ก็ใช้หลักการคล้ายๆกันกับ PCIT ซึ่งต้องใช้เวลาและความอดทนแต่ที่สำคัญ ต้องใช้วิธีการที่ถูกต้องเพื่อสื่อสารต่อสมองของผู้ถูกฝึกโดยตรง ว่าเมื่อมีการสื่อสารหนึ่งมาจากผู้ฝึกพฤติกรรมใดที่จะได้รับการ ตอบสนองเชิงบวก ทำซ้ำๆ ก็จะจารึกเข้าในสมอง

สรุปวิธีเลี้ยงลูกให้มีพฤติกรรมดี ให้ทำเป็นไม่เอาใจใส่พฤติกรรมไม่ดี ชมพฤติกรรมดีบอกเด็กว่าควรทำอะไร ไม่ใช่ห้ามทำอะไรและใช้คำพูดแบบคำสั่งตรงๆ ด้วยเสียงปกติไม่ใช่ขอร้อง หรือข้อแนะนำให้ทำ

วิจารณ์ พานิช

๑๓ พ.ค. ๒๕๕๙

บริเวณนั่งพักญาติผู้ป่วยโรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์

หมายเลขบันทึก: 612207เขียนเมื่อ 12 สิงหาคม 2016 10:47 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 สิงหาคม 2016 10:47 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท