เรื่องเล่า ดร. ผึ้ง : 3. ผลกระทบเชิงลบ open peer review


หลักการของกลไก peer review นี้ ต้องการการมีส่วนร่วมอย่างมีคุณธรรมจริยธรรม จรรยาบรรณในวิชาชีพ กล่าวคือสมาชิกในสังคมเห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าประโยชน์ส่วนตน มุ่งสร้างสังคมให้มีคุณภาพ ผ่านการมีส่วนร่วมของสมาชิก ในลักษณะของการสร้างสรรค์ผลงาน สร้างองค์ความรู้ใหม่ ที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้ ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อส่วนรวม

เรื่องเล่า ดร. ผึ้ง : 3. ผลกระทบเชิงลบ open peer review

ผู้เขียนได้ทราบเรื่องนักวิชาการสังกัดมหาวิทยาลัยชื่อดังแห่งหนึ่ง ไปติดป้าย ข่มขู่ คุกคาม ไว้หน้าบ้านผู้ทรงคุณวุฒิอาวุโส ระดับปรมาจารย์ท่านหนึ่ง ซึ่งเป็นผู้พิจารณากลั่นกรองผลงานทางวิชาการ หรือที่เรียกว่า peer review นั่นเอง

สาเหตุดังกล่าวเกิดจากความไม่พอใจ ในผลการพิจารณาผลงาน เพื่อประกอบการพิจารณา เลื่อนตำแหน่งเป็น “ศาสตราจารย์”

เห็นได้ชัดว่าเหตุการณ์นี้เป็นหนึ่งในผลกระทบเชิงลบหรือข้อเสียของกลไกแบบ open peer review (ต่างฝ่ายต่างทราบว่าอีกฝ่ายเป็นใคร) ซึ่งเสมือนกับการ “สร้างศัตรู” อย่างไรก็ดี กลไกแบบ open peer review นี้ก็มีช้อดี คือ ผู้ที่เป็น reviewer จะพิจารณาด้วยความรอบคอบ ซื่อสัตย์ ตรงไปตรงมา ระมัดระวังในการแสดงความคิดเห็นหรือวิพากษ์ผลงาน

ในกรณีที่ใช้กลไกแบบ open peer review นี้ ผู้ทรงวุฒิที่ได้รับการทาบทามเป็น reviewer อาจจะเลี่ยงปัญหาหรือความยุ่งยากที่อาจจะตามมา โดย …..

ทางเลือกที่หนึ่ง…. “ปฏิเสธ” ไม่รับเป็นผู้ทรงคุณวุฒิพิจารณาผลงาน

ทางเลือกที่สอง….. รับพิจารณา “แต่ลดมาตรฐานลง” แล้วพิจารณาให้ “ผ่าน”

ซึ่งหากผู้ทรงคุณวุฒิ ที่เชี่ยวชาญในศาสตร์สาขาวิชานั้นๆ (เปรียบได้กับเซียนกระบี่มือหนึ่ง) “ปฏิเสธ” ตามทางเลือกที่หนึ่ง ผลคือ ต้องทาบทามผู้ทรงคุณวุฒิท่านอื่น ซึ่งอาจมีประสบการณ์ ความเชี่ยวชาญน้อยกว่าท่านแรก หรือไม่ชำนาญในสาขาวิชานั้นๆ การพิจารณากลั่นกรองก็อาจจะไม่เข้มข้นมากนัก หากผู้ทรงคุณวุฒิเลือกทางที่สอง คือพิจารณาแล้ว “ให้ผ่าน” แม้จะทราบดีกว่า คุณสมบัติยังไม่ผ่านเกณฑ์ แต่ก็ให้ผ่านๆ ไป เพื่อเลี่ยงปัญหา ผลคือ สังคมวิชาการในระดับนี้ ก็จะมีสมาชิกเพิ่มขึ้นแต่คุณภาพของสังคมเหมือนเดิม ร้ายกว่านั้น อาจจะแย่กว่าเดิม

ยกตัวอย่างเช่น โรงงานอุตสาหกรรมแห่งหนึ่ง รับพนักงานเพิ่มหนึ่งคนเข้ามาดูแลสายการผลิตสินค้าย่อยชนิดหนึ่ง แต่พนักงานที่รับเพิ่มเข้ามา ยังขาดทักษะด้านการคัดเลือกวัตถุดิบ ส่งผลให้ สินค้าที่ผลิตออกไปจากสายงานนี้ด้อยคุณภาพ ไม่ได้มาตรฐาน ไม่ตรงกับความต้องการของสังคม ซึ่งโรงงานอุตสาหกรรมเปรียบได้กับมหาวิทยาลัย และพนักงานที่รับเพิ่มเข้ามาเปรียบได้กับ คณาจารย์ ที่ต้องทำหน้าที่คัดเลือกนักศึกษา สอน แนะนำ ส่วนนักศึกษาที่จบออกไปเปรียบเสมือนกับสินค้า ที่ผลิตออกสู่ตลาด

ผู้เขียนไม่เคยศึกษาข้อกำหนด การขอตำแหน่งทางวิชาการในประเทศไทย ด้วยเหตุผลที่คิดว่าเป็นเรื่องไกลตัว ทราบเพียงว่าผู้ทรงคุณวุฒิที่ต้องพิจารณากลั่นกรอง หรือ peer review นั้น ต้องมีความรู้ ความสามารถ ประสบการณ์ ความเชี่ยวชาญการสอน การวิจัย การปฏิบัติ มีผลงานที่ได้รับการยอมรับและเชื่อถือได้ มีความเที่ยงตรง มีคุณธรรม ไม่มีส่วนได้ส่วนเสียกับผลการพิจารณา อย่างไรก็ตามจากการสืบค้นบทความการพิจารณา full professor ของมหาวิทยาลัยชั้นนำในต่างประเทศ หลายแห่ง พบว่า ผู้ที่จะได้เลื่อนตำแหน่งเป็นศาสตราจารย์นั้น จะต้องผ่านการประเมินสามด้านคือ

  • ด้านการสอน (teaching),
  • ด้านวิชาการ วิจัย (scholarship),
  • ด้านการบริการวิชาการ (service)

โดยทั้งสามด้านนี้ candidate จะต้องแสดงให้เห็นว่ามีคุณสมบัติหลักสามประการคือ

1. มีการเติบโต เจริญก้าวหน้า (continued growth),

2. มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง (development)

3. บรรลุเป้าหมาย (accomplishment)

ในทัศนะของผู้เขียน เห็นว่า คุณสมบัติสามข้อเบื้องต้นยังไม่เพียงพอ น่าจะเพิ่มอีกสองประการ คือ

4 มีเสรีภาพ อิสระ (autonomy, independent) กล่าวคือ สามารถสร้างงานวิจัยได้ด้วยตนเอง สร้างทีมขึ้นเองได้ ออกจากร่มเงาของอาจารย์ที่ปรึกษา

5 มีคุณธรรม จริยธรรม จรรยาบรรณ

………ผู้เขียนเห็นว่า ควรเพิ่มคุณสมบัติข้อที่ 4 เนื่องจาก ปัจจุบันประเทศไทยมีจำนวนนักวิชาการ นักวิจัย อาจารย์รุ่นใหม่ เพิ่มจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็ว เข้าสู่สังคมวิชาการตั้งแต่อายุยังน้อย

………..สำหรับประการที่ห้านั้น ก็เป็นผลสืบเนื่องมาจากแรงจูงใจหลายประการ เช่น “ค่าตอบแทน” “ค่าตำแหน่ง” หรือ สถานะทางสังคม เป็นต้น ส่งผลให้เกิดการแข่งขันระหว่างสสมาชิกในสังคมสูงมาก.............จากสภาวะแข่งขันดังกล่าว จึงเกิด “ทางลัด” หรือ”ทางด่วน” ดังเห็นได้จากสื่อมากมาย อาทิ รับเขียนวิทยานิพนธ์เป็นภาษาอังกฤษ, รับทำงานวิจัย, รับจ้างเขียนผลงานเลื่อนวิทยฐานะ คิดราคาตามวุฒิการศึกษา ตามตำแหน่ง ระดับ ที่ยื่นขอ สนนราคาขั้นต่ำอยู่ที่ ห้าหมื่นบาทขึ้นไป (ราคานี้เป็นราคาเหมารวม ครอบคลุมตั้งแต่คิดชื่อโครงการ ไปจนทำเล่มส่ง จนได้เลื่อนขั้น) หรือแม้กระทั่งบางคนก็ยอมแลกบางสิ่งที่ประเมินราคาไม่ได้ เพื่อร่นระยะเวลาให้เร็วขึ้น (สืบค้นจากคำสำคัญ รับจ้างเขียนผลงาน รับทำวิจัย เลื่อนวิทยฐานะ) เหล่านี้เป็นต้น

ส่วนการจะเลือกใช้กลไก peer review แบบใดนั้น (double blind, single blind, open) ขึ้นกับหลายปัจจัย ทั้งนี้ ต้องไม่ลืมสัจธรรมที่ว่า ทุกสิ่งบนโลกล้วนมีทั้งข้อดีและข้อด้อย หากต้องการประโยชน์จากข้อดีของสิ่งใดสิ่งหนึ่งแล้ว ก็ควรตระหนักถึงจุดด้อยของสิ่งนั้นด้วย

……………ย้อนกลับไปกรณี ข่มขู่ คุกคาม ที่เกริ่นตอนต้น หากรุนแรงถึงขั้นลอบทำร้ายร่างกายผู้ทรงคุณวุฒิ ถามว่าใครจะเป็นผู้รับผิดชอบความสูญเสียที่อาจเกิดขึ้น และหากเกิดเหตุการณ์ทำนองนี้อีกจะมีมาตรการรับมืออย่างไร ในอนาคตคงไม่มีใครกล้าเสี่ยงที่จะรับหน้าที่เป็น reviewer

……………อย่างไรก็ตาม ในกรณีนี้ ผู้เขียน ยกย่อง ผู้ทรงคุณวุฒิท่านนี้มาก เพราะท่านต้องทราบล่วงหน้าแล้วว่าการพิจารณาครั้งนี้ใช้กลไก open peer review ดังนั้นการที่ท่านพิจารณาผลงานและแสดงความเห็นอย่างตรงไปตรงมานั้น ท่านเตรียมใจรับผลกระทบที่จะตามมาไว้แล้ว

……….ผู้เขียนลองจินตนาการว่า ถ้าวันหนึ่ง ผู้เขียนได้รับหนังสือเชิญให้ทำหน้าที่เป็น reviewer โดยใช้กลไก open peer……… ผู้เขียนมั่นใจว่าจะตอบปฏิเสธ แต่ถ้าหากหนังสือเชิญดังกล่าวแนบกรมธรรม์ประกันชีวิตซึ่งครอบคลุมการถูกลอบทำร้ายมาให้ด้วย ผู้เขียนอาจจะพิจารณาอีกที ว่าจะรับหน้าที่นี้หรือไม่ (เพื่อความอุ่นใจในชีวิตและทรัพย์สิน)

……….กลับกัน หากวันข้างหน้า ผู้เขียนมีโอกาสยื่นขอตำแหน่งทางวิชาการแล้ว ผู้เขียนคงต้องถามตัวเองก่อนว่า “สามารถลด “อัตตา” เปิดใจยอมรับผลการพิจารณา “ไม่ผ่าน” ได้มากน้อยเพียงไร จะรับมือกับความสูญเสีย (ผิดหวัง) โดยไม่เสียศูนย์ได้หรือไม่

หากพิจารณาอย่างละเอียดแล้ว จะพบว่ากลไก peer review นี้มีมาช้านาน ในทุกสังคม และทรงพลัง ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อส่วนรวม ช่วยพัฒนามาตรฐานสังคม

ดังพระบรมราโชวาท พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานในพิธีเปิดงานชุมนุมลูกเสือแห่งชาติ ณ ค่ายลูกเสือวชิราวุธ จังหวัดชลบุรี 11 ธันวาคม 2512 ความว่า


“ในบ้านเมืองนั้น มีทั้งคนดีและคนไม่ดี ไม่มีใครจะทำให้คนทุกคนเป็นคนดีได้ทั้งหมด การทำให้บ้านเมืองมีความปรกติสุขเรียบร้อยจึงมิใช่การทำให้ทุกคนเป็นคนดี หากแต่อยู่ที่การส่งเสริมคนดี ให้คนดีได้ปกครองบ้านเมือง และควบคุมคนไม่ดีไม่ให้มีอำนาจ ไม่ให้ก่อความเดือดร้อนวุ่นวายได้”

ท้ายสุดแล้ว หลักการของกลไก peer review นี้ ต้องการการมีส่วนร่วมอย่างมีคุณธรรมจริยธรรม จรรยาบรรณในวิชาชีพ กล่าวคือสมาชิกในสังคมเห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าประโยชน์ส่วนตน มุ่งสร้างสังคมให้มีคุณภาพ ผ่านการมีส่วนร่วมของสมาชิก ในลักษณะของการสร้างสรรค์ผลงาน สร้างองค์ความรู้ใหม่ ที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้ ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อส่วนรวมได้ หากผลงานดังกล่าว ไม่ได้รับการยอมรับจากสมาชิกในสังคมแล้ว ผลงานนั้นก็แทบไม่มีประโยชน์ เพราะสมาชิกไม่ยอมรับ ไม่นำไปใช้ นอกจากนี้แล้ว ยังต้องคำนึงถึงคุณธรรมจริยธรรมและจรรยาบรรณเป็นสำคัญ ซึ่งคุณธรรมจริยธรรมและจรรยาบรรณนี้ เป็นเสมือนเครื่องบ่งชี้สถานภาพการดำรงอยู่ของสมาชิก ว่าใครจะได้รับการยอมรับให้อยู่ในสังคมข้างต้นต่อไป

ผู้เขียนมิได้มีเจตนา กล่าวหา หรือล่วงเกินผู้ใด หากส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ ทำให้ผู้อ่านไม่สบายใจ ผู้เขียนต้องขออภัยมา ณ ที่นี้ด้วย

ภัทรพร คงบุญ

1 สิงหาคม 2559

หมายเลขบันทึก: 611649เขียนเมื่อ 1 สิงหาคม 2016 19:36 น. ()แก้ไขเมื่อ 2 สิงหาคม 2016 06:02 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท