เลี้ยงลูกยิ่งใหญ่ ๘. เล่นเพื่อชีวิต



บันทึกชุด เลี้ยงลูกยิ่งใหญ่ นี้ตีความจากหนังสือ RaiseGreat Kids : How to Help Them Thrive in School and Life ซึ่งเป็นหนังสือชุดรวบรวมบทความเด่นจากนิตยสาร ScientificAmerican Mind หนังสือเล่มนี้เพิ่งออกจำหน่ายในเดือนพฤษภาคม ๒๕๕๙

บันทึกที่ ๘ เล่นเพื่อชีวิต ตีความจากบทความชื่อ The Serious Need forPlay โดย Melinda Wenner Moyer เตือนเราว่าโลกกำลังเข้าสู่ยุคที่คนขาดประสบการณ์การเล่นอย่างอิสระในวัยเยาว์ มีผลให้เป็นพลเมือง ที่เต็มไปด้วยความวิตกกังวลไร้ความสุข และปรับตัวทางสังคมได้ยาก

ผู้เขียนให้ข้อสรุป๓ ข้อ คือ

1. การเล่นในวัยเด็กมีความสำคัญต่อพัฒนาการด้านสังคมอารมณ์ และปัญญา

2. การเล่นอิสระ (freeplay) ที่ใช้จินตนาการและไม่มีกติกาถูกผิด ให้ผลแตกต่างจากกีฬา ซึ่งมีกฎเกณฑ์กติกาชัดเจนแน่นอน

3. คนและสัตว์ที่ไม่ได้เล่นตอนเป็นเด็กอาจโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ที่มีความวิตกกังวลและขาด ความสามารถในการปรับตัวทางสังคม

ผมสรุปเองอย่างง่ายที่สุดว่าการเล่นแบบอิสระ เป็นการฝึกสมองอย่างหนึ่งที่หากบกพร่องไป ในวัยเด็ก(และรวมทั้งวัยผู้ใหญ่) คุณภาพความเป็นมนุษย์จะไม่ครบถ้วนสมบูรณ์

ผลงานวิจัยบอกว่าในสังคมสมัยใหม่ เด็กมีเวลาเล่นอิสระ (free play) น้อยลง ระหว่างปี ค.ศ. 1981– 1997 เวลาเล่นอิสระของเด็ก(ในสหรัฐอเมริกา) ลดลงหนึ่งในสี่ เวลาดังกล่าวถูกแย่งไปเตรียมเด็กเข้าโรงเรียนดีๆและให้ฝึกเล่นดนตรีและกีฬาแนวโน้มดังกล่าว อาจนำไปสู่การมีพลโลกที่ขาดความสุขมีความวิตกกังวล มองโลกแง่ร้าย และก่ออาชญากรรมได้ง่าย

ผู้เขียนยกตัวอย่าง CharlesWhitman ที่ปีนขึ้นไปบนหลังคาโดม มหาวิทยาลัยเท็กซัสออสติน และยิงกราดคนข้างล่าง ๔๖ คนในวันที่ ๑ สิงหาคม ๒๕๐๙ เหตุการณ์ดังกล่าวเป็นแรงจูงใจให้นักจิตวิทยาชื่อ StuartBrown ศึกษาคนที่มีพฤติกรรมทำนองนี้ ๒๖คน และพบว่าส่วนใหญ่มีประวัติขาด ๒ สิ่งคือ (๑) มาจากครอบครัวที่ทารุณเด็ก (๒)ขาดการเล่นในวัยเด็ก

นั่นคือที่มาของการวิจัยของ StuartBrown ต่อเนื่องมาเป็นเวลา ๕๐ ปี เพื่อตอบคำถามว่าการเล่นแบบอิสระในวัยเด็ก มีความสำคัญอย่างไรต่อชีวิตการเป็นผู้ใหญ่ ได้คำตอบว่าการเล่นแบบอิสระ ไร้กฎเกณฑ์กติกามีความสำคัญต่อทักษะในการปรับตัวทางสังคม ทักษะจัดการความเครียดและการฝึกทักษะด้านความคิดหรือปัญญา ข้อสรุปนี้ ได้ทั้งจากการศึกษาในคนและในสัตว์ ข้อสรุปจากการศึกษาในสัตว์บอกว่าแรงกระตุ้นให้เล่น (แบบอิสระ) มาจากสมองชั้นใน (brainstem) ไม่ได้มาจากสมองส่วน neocortex เป็นหลักฐานว่าการเล่นเป็นกิจกรรมของสัตว์มาแต่ดึกดำบรรพ์ ก่อนวิวัฒนาการเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมด้วยซ้ำ

เด็กในสมัยก่อน(เช่นตัวผมเอง) จึงโชคดีกว่าเด็กสมัยนี้ ที่มีเวลาเล่นเหลือเฟือ และได้เล่นแบบอิสระ ต้องช่วยเหลือตัวเอง และเล่นกับเพื่อนๆ (โดนเพื่อนที่โตกว่ารังแกบ้างจะได้รู้วิธีหลบหลีกหรือสร้างไมตรี) เท่ากับว่าเด็กในสมัยก่อนมีโอกาสสั่งสมทุนชีวิตมากกว่าเด็กสมัยนี้ เพื่อการดำรงชีวิตที่ดีในวัยผู้ใหญ่

เมื่อศึกษาการใช้เวลาของเด็กในโรงเรียน(ในอเมริกา) ระหว่างปี 2001– 2007 ก็พบว่าเด็กมีเวลาเล่นแบบอิสระลดลงร้อยละ ๒๐ นักจิตวิทยาที่ศึกษาผลของการเล่นแบบอิสระต่อบุคลิกของคนเห็นพ้องกันว่า การที่เด็กมีเวลาเล่นอิสระน้อยลงจะส่งผลรุนแรงต่อความสงบสุขของสังคม คือจะทำให้สังคมเป็นยุคของคนขี้กังวลขาดความสุข และขาดความสามารถในการปรับตัว

ที่จริงร่องรอยของการให้ความสำคัญต่อการเล่นอิสระเริ่มมาตั้งแต่ปีค.ศ. 1961มีการดำเนินการจัดตั้งInternational Play Association (http://ipaworld.org) ในเดนมาร์ก และต่อมามีการจัดตั้ง NationalInstitute for Play ( http://www.nifplay.org) ตั้งอยู่ในรัฐแคลิฟอร์เนียริเริ่มโดย Stuart Brown และเวลานี้ในต่างประเทศจะมีสนามเด็กเล่นทั่วไปหมด ตามห้องรอของผู้โดยสารตามสนามบินก็มีห้องเด็กเล่น ในบ้านเรายังมีสนาม เด็กเล่นน้อยเกินไป และที่มีก็ขาดการบำรุงรักษา

เน้นที่การเล่นอิสระ

การเล่นในที่นี้เน้นที่การเล่นแบบอิสระ โดยเด็กเล่นกันเอง ไม่มีกฎเกณฑ์กติกาใดๆ แตกต่างจากการเล่นกีฬา ที่มีรูปแบบตายตัว มีกติกาชัดเจนที่จริงการเล่นกีฬาก็มีประโยชน์ให้ความสนุกสนาน ได้ออกกำลัง ได้สังคม และได้เพื่อน แต่ยังไม่ได้ฝึกทักษะที่ได้จากการเล่นแบบอิสระ

การเล่นแบบอิสระทำให้เด็กได้ความสนุกสนานแบบไร้รูปแบบ เด็กอาจเล่นละครที่ผูกเรื่องกันเอง แต่ละคนแสดงเป็นตัวละครที่มีบทบาทแตกต่างกัน อาจเล่นขายข้าวแกง มีแม่ค้าผู้ปรุงอาหารและลูกค้า มาซื้อและชมว่าอร่อยโดยที่ อาหาร”หรือขนม ที่ปรุงนั้นไม่ใช่ของจริง เป็นของในจินตนาการ ของทั้งฝ่าย แม่ค้าและลูกค้า เป็นความสนุกสนานที่ได้ใช้จินตนาการด้วยกันรู้สึกสนุกแบบหลอกๆ ทั้งสองฝ่ายโดยที่หากมีผู้ใหญ่เข้าร่วมจินตนาการด้วย ยิ่งสนุกนี่ผมเขียนแบบระลึกชาติชีวิตของตนเองสมัยเมื่อเกือบ เจ็ดสิบปีก่อน

ความรู้เรื่องบทบาทของการเล่นแบบอิสระต่อการเติบโตส่วนสำคัญมาจากการศึกษาในสัตว์ ตามที่เขียนไว้ในหนังสือ The Genesis of Animal Play เขียนโดย GordonM. Burghardt ตีพิมพ์เมื่อ พ.ศ. ๒๕๔๘ ผู้เขียนให้นิยาม การเล่นแบบอิสระว่า ต้อง (๑)ทำซ้ำๆ (๒) ทำเอง(๓) ทำอย่างผ่อนคลาย

เล่นแรงๆ เสี่ยงต่อการบาดเจ็บ หรือทำของเสียบ้าง

มีผลการวิจัยแบบ systematicreview ทบทวนผลการวิจัยจำนวนมากเกี่ยวกับการเล่นของเด็กรายงานเมื่อปี ๒๕๕๘ ว่าการเล่นกลางแจ้ง เช่นปีนเครื่องเล่นสูงๆ และเล่นแรงๆ ที่เสี่ยงการบาดเจ็บ ได้รับผลดีต่อสุขภาพร่างกายต่อความสร้างสรรค์และความจิตใจที่ยืดหยุ่นคุ้มกับความเสี่ยงต่อการบาดเจ็บ

เรามักพูดกันว่าเด็กฉลาดมักซนหรือเด็กซนเป็นเด็กฉลาดซุกซนหมายความว่า เด็กทำโน่นทำนี่เล่นโน่นเล่นนี่ไปตามใจตนเอง ซึ่งบางครั้งก็ก่อความรำคาญหรือบางครั้งก่อความวุ่นวาย หรือความไม่เป็น ระเบียบ หรือมีของเสียหายบ้าง พ่อแม่หรือผู้ใหญ่ควรทน เพราะนั่นคือบทเรียนฝึกฝนความริเริ่มสร้างสรรค์ของเด็ก

เล่นเพื่อลดความเครียดในผู้ใหญ่

บทความอ้างความเห็นของหลายแหล่งว่าผู้ใหญ่ก็ต้อง “เล่น เหมือนกัน โดยแนะนำการเล่น ๓ แบบ ได้แก่

· การเล่นทางร่างกาย (bodyplay) ร่วมกิจกรรมเคลื่อนไหวร่างกายโดยไม่หวังผลใดๆและไม่มีข้อจำกัดด้านเวลา(การเคลื่อนไหวเพื่อลดน้ำหนักไม่ได้ผลนี้)

· การเล่นสร้างสิ่งของ(object play) ใช้มือสร้างสิ่งที่ตนชอบและรู้สึกสนุก โดยไม่มีเป้าหมายใดๆ

· การเล่นทางสังคม(socialplay) ร่วมกับคนอื่นในกิจกรรมทางสังคมที่ไม่มีเป้าหมายเช่นคุยกันสนุกๆ ผมนึกถึงวงกาแฟตอนเช้าที่ร้านกาแฟข้างบ้านที่ชุมพรสมัยผมเป็นเด็ก

เขาแนะนำว่าถ้าไม่รู้ว่าจะทำอะไรเพื่อเป็นการเล่นเพื่อหย่อนใจตอนเป็นผู้ใหญ่ก็ให้นึกถึงสิ่งที่ตนชอบ สมัยเป็นเด็ก

การเล่นคลายเครียดในผู้ใหญ่นี้เขาบอกว่าช่วยให้ชีวิตไม่รู้สึกเบื่อหน่าย หรือหมดพลังโดยไม่รู้สาเหตุ ที่ฝรั่งเรียกว่าหมดไฟ (burnt out)

ผมนึกถึงงานอดิเรกว่าน่าจะให้คุณในทำนองเดียวกัน

สรุป

ในมุมของชีวิตการเล่น (แบบอิสระ) ไม่ใช่สิ่งตรงกันข้ามกับการทำงาน แต่เป็นสิ่งที่เติมเต็มเสริมส่งซึ่งกันและกันกับการทำงาน คือการเล่นช่วยให้มีการฝึกพลังของความใคร่รู้จินตนาการ และการสร้างสรรค์ สามสิ่งนี้หากไม่หมั่นฝึกฝน ก็จะฝ่อไปเหมือนกล้ามเนื้อที่ไม่ได้หมั่นออกกำลัง

วิจารณ์ พานิช

๑๐ พ.ค. ๒๕๕๙

ห้อง ๙๒๖โรงแรมเซนทาราอำเภอหาดใหญ่

หมายเลขบันทึก: 611378เขียนเมื่อ 28 กรกฎาคม 2016 18:31 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 ธันวาคม 2017 05:05 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท