รพ.สต.บ้านพังสิงห์ชู “โมบายดี๊ดี” กระตุ้นการลดละเลิกบุหรี่ในชุมชน


การดำเนินโครงการเริ่มจากพัฒนาการมีส่วนร่วมและศักยภาพของท้องถิ่นโดยเฉพาะแกนนำ จากนั้นจึงจัดกระบวนการเรียนรู้และปฏิบัติการดำเนินโครงการ ซึ่งมีทั้งการให้บริการคลินิกเลิกบุหรี่ การออกหน่วย โมบายดี๊ดี ช่วยเลิกบุหรี่สัญจรเพื่อคัดกรองและให้บริการแก่ผู้สนใจเลิกสูบบุหรี่ โดยนำเครื่องตรวจสุขภาพปลอดออกไปให้บริการด้วย


แม้ภาครัฐจะออกมาตรการควบคุมบุหรี่มากมาย เช่น การขึ้นภาษี การออก พ.ร.บ.ควบคุมยาสูบ พ.ร.บ.คุ้มครองสุขภาพผู้ไม่สูบบุหรี่ การทำระบบบริการเลิกบุหรี่ มาตรการคำเตือนบนซองบุหรี่ และการปราบปรามบุหรี่ผิดกฎหมาย แต่พบว่ามาตรการต่างๆ นั้นยังไม่ประสบผลสำเร็จเท่าที่ควร อย่างไรก็ดีการขับเคลื่อนการลด ละ เลิก อัตราผู้บริโภคบุหรี่ยังคงดำเนินอย่างต่อเนื่องจากทุกภาคส่วน

โครงการควบคุมยาสูบโดยชุมชนเป็นฐาน โดยการสนับสนุนของสำนักสร้างสรรค์โอกาสและนวัตกรรม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จึงเป็นการดำเนินงานที่ขับเคลื่อนระดับชุมชนให้มีส่วนร่วมมากขึ้น ซึ่งจะช่วยให้มาตรการลด ละ เลิก จำนวนผู้สูบบุหรี่ได้อย่างเห็นผล

ที่บ้านพังสิงห์ ต.ท่าเรือ อ.เมือง จ.นครศรีธรรมราช ถือเป็นพื้นที่หนึ่งที่ร่วมขับเคลื่อนโครงการดังกล่าว ภายใต้โครงการ ชุมชนบ้านพังสิงห์ร่วมใจลดภัยบุหรี่ ทุกภาคีมีส่วนร่วมด้วยหลัก 5 ร” โดยการเครือข่ายชุมชนบ้านพังสิงห์ปลอดบุหรี่ ครอบคลุมพื้นที่รับผิดชอบ 7 หมู่บ้าน

อนันท์ พรมนิน ผู้อำนวยการโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลพังสิงห์ (รพ.สต.พังสิงห์) กล่าวว่า จากการสำรวจข้อมูลประชากรทั้งหมด 9,550 คน พบว่ามีประชากรอายุ 15 ปีขึ้นไปที่สูบบุหรี่จำนวน 2,557 คน หรือรอยละ 26.41 โดยเพศชายสูบมากถึงร้อยละ 51.34 กลุ่มอายุที่สูบมากที่สุด ได้แก่ กลุ่มอายุ 45-60 ปี อีกทั้งยังพบว่ามีนักสูบหน้าใหม่ที่เป็นเด็กและเยาวชนถึง ร้อยละ 5.95 ส่วนใหญ่ที่สูบบุหรี่มีสาเหตุจากความเครียด ปัญหาในครอบครัวรวมถึงปัญหาด้านเศรษฐกิจ และความเคยชิน

เครือข่ายชุมชนบ้านพังสิงห์ปลอดบุหรี่ จึงร่วมกันขับเคลื่อนดำเนินงานโครงการลด ละ เลิก การสูบบุหรี่ โดยใช้ชุมชนเป็นฐาน มีระยะเวลาการดำเนินงานตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2558-30 กันยายน 2559 มุ่งเน้นการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและสร้างแรงจูงใจในการเลิกบุหรี่ในกลุ่มเป้าหมาย ในกลุ่มเยาวชนให้รู้เท่าทันการป้องกันตนเองจากพิษภัยบุหรี่ และปรับสภาพแวดล้อมในชุมชนให้เอื้อต่อการสูบบุหรี่ อีกทั้งการทำให้ประชาชนในชุมชนมีความรู้และตระหนักในพิษภัยของบุหรี่ เพื่อเป้าหมายในการเป็นชุมชนปลอดบุหรี่

สำหรับการดำเนินโครงการเริ่มจากพัฒนาการมีส่วนร่วมและศักยภาพของท้องถิ่นโดยเฉพาะแกนนำ จากนั้นจึงจัดกระบวนการเรียนรู้และปฏิบัติการดำเนินโครงการ ซึ่งมีทั้งการให้บริการคลินิกเลิกบุหรี่ การออกหน่วย โมบายดี๊ดี ช่วยเลิกบุหรี่สัญจรเพื่อคัดกรองและให้บริการแก่ผู้สนใจเลิกสูบบุหรี่ โดยนำเครื่องตรวจสุขภาพปลอดออกไปให้บริการด้วย

ขณะเดียวกันได้ประชาสัมพันธ์พื้นที่ปลอดบุหรี่ และจัดสภาพแวดล้อมทำป้ายห้ามสูบบุหรี่ตามสถานที่ต่างๆ จัดอบรมให้ความรู้แก่เด็กและเยาวชนตามโรงเรียนต่างๆ ตลอดจนการให้ความรู้ผู้ประกอบการร้านค้าที่จำหน่ายบุหรี่ ร้านค้ายุคใหม่ใส่ใจ พ.ร.บ.บุหรี่ จัดอบรมการนวดกดจุดฝ่าเท้า การใช้สมุนไพร กระตุ้นการเลิกสูบบุหรี่เจ้าหน้าที่ อสม. เพื่อให้บริการแก่ผู้สนใจ

อนันท์ กล่าวอีกว่า การออกหน่วย “โมบายดี๊ดี” ถือเป็นการทำงานเชิงรุก เข้าถึงและรวดเร็ว เพราะแต่ก่อนจะไม่มีการออกหน่วยให้บริการด้านนี้มาก่อน จะเป็นลักษณะตั้งรับในพื้นที่ โดยให้ อสม.เป็นผู้ทำงานเชิงรุกในพื้นที่แทน

“โมบายดี๊ดี เป็นการค้นห้าผู้สูบบุหรี่และให้บริการคำปรึกษาที่เข้าถึงชุมชน อีกทั้งยังเป็นการช่วยสร้างกระแสรณรงค์ในพื้นที่ให้มีพลังมากขึ้น ขณะที่ รพ.สต. เราได้จัดเจ้าหน้าที่ อสม. เข้าเวรเพื่อให้บริการคำปรึกษาเรื่องเลิกบุหรี่ และนวดกดจุดเลิกบุหรี่ด้วย” ผู้อำนวยการ รพ.สต.พังสิงห์ กล่าว

ทั้งนี้ทางเครือข่ายตั้งเป้าหมายให้มีผู้เลิกสูบบุหรี่ให้พื้นที่ตำบลพังสิงห์ ร้อยละ 60 และขยายผลการดำเนินงานควบคุมบุหรี่ในชุมชนอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืนต่อไป


อย่างไรก็ตามการจะชักชวนคนให้เลิกบุหรี่นั้น ไม่ใช่เรื่องง่าย วิธีการหนึ่งที่ใช้ได้ผล คือการสร้างแรงบันดาลใจ หาตัวอย่างดีๆ ไว้เป็นแบบอย่าง ซึ่งรพ.สต.พังสิงห์ ก็ทำเช่นนั้น เมื่อได้ โชค วารีนาค ผู้ใหญ่บ้านพังสิงห์ หมู่ 2 เป็นบุคคลต้นแบบในการชวนคนเลิกบุหารี่

อดีตนักสูบตัวยงอย่างผู้ใหญ่โชค ติดบุหรี่งอมแงมจนทุกคนชินภาพมือถือบุหรี่อยู่ตลอดเวลา เพราะสูบบุหรี่ 3 ซองต่อวัน หรือ 60 มวน แต่วันนี้ผู้ใหญ่โชค ได้หักดิบเลิกสูบบุหรี่อย่างเด็ดขาด จนส่งผลให้สุขภาพดีขึ้น และเป็นที่รักของคนในครอบครัวและลูกบ้าน

ผู้ใหญ่โชค เล่าว่า เมื่อก่อนตนติดบุหรี่อย่างหนัก สูบบุหรี่ทุกที่ทุกเวลา ไม่เว้นแม้แต่ก่อนนอน ลูกเมียก็บ่น จนกระทั่งปลายปีที่ผ่านมาเกิดเจ็บป่วยขึ้น จึงไม่ค่อยได้สูบบุหรี่ เมื่อมีความเหนื่อยล้าและรู้สึกว่าสูบบุหรี่ไม่อร่อยเหมือนเดิม จึงตั้งใจเลิกสูบบุหรี่ดูสักครั้ง โดยได้ไปปรึกษาหมอซึ่งก็ให้คำแนะนำให้ค่อยๆ ลดปริมาณ

“แต่เราคิดว่าเราหยุดสูบมาแล้วได้ 5 วัน ก็คิดว่าจะไม่หันหลังกลับไปสูบบุหรี่อีกแล้ว จึงตัดสินใจเลิกเด็ดขาด และไม่ออกจากบ้านเลยกว่า 10 วัน เพราะหากออกจากบ้านไปก็จะไปเจอสังคม ไปเจอกลิ่นบุหรี่จะทนความเย้ายวนไม่ไหว” ผู้ใหญ่โชคเล่า

ตอนนี้ผู้ใหญ่โชคเลิกบุหรี่ได้อย่างเด็ดขาด สุขภาพร่างกายดีขึ้น และยังได้เป็นตัวอย่างไปบอกกล่าวให้เพื่อนๆ และคนในชุมชนให้เลิกสูบบุหรี่ ซึ่งหลายๆ คนก็เลิกบุหรี่ไปมากพอสมควร จากที่เห็นผู้ใหญ่บ้านเป็นตัวอย่าง

“บุหรี่ไม่ได้แค่ทำร้ายตัวเรา ยังทำร้ายคนรอบข้างอีกด้วย การเลิกสูบบุหรี่ไม่มีมีอะไรเท่าใจเราที่อยากจะเลิก และคนที่ดีใจมากที่สุด นั่นคือ คนในครอบครัวของเรา” ผู้ใหญ่โชคให้ข้อคิด

หมายเลขบันทึก: 611334เขียนเมื่อ 27 กรกฎาคม 2016 15:34 น. ()แก้ไขเมื่อ 27 กรกฎาคม 2016 15:34 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท