อบต.นาหลวงเสนใส่ใจพัฒนาการเด็ก ชวนผู้ปกครองร่วมสร้างสื่อในศพด.


แม้ อบต.นาทองเสน จะเป็น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ขนาดเล็ก และมี ศพด.ในสังกัดถึง 3 แห่ง ซึ่งอาจมีเครื่องหมายคำถามถึงคุณภาพของ ศพด. ว่าจะมีการจัดการได้ดีเพียงใด แต่ที่ผ่านมาถือไม่เป็นอุปสรรคต่อความเชื่อมั่นคุณภาพการเรียนการสอนที่ผู้ปกครองไว้วางใจ “ใกล้ที่ไหนเรียนที่นั่น คุณภาพเหมือนกันทุกที่”


โครงการ “มหัศจรรย์สื่อสร้างสรรค์ในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก” ของ สำนักสร้างสรรค์โอกาสและนวัตกรรม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) มีแนวคิดในการสนับสนุนโครงการสร้างเสริมสุขภาพสำหรับการพัฒนาการของเด็กเล็ก เพื่อเปิดโอกาสให้ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กทั่วประเทศที่สนใจดำเนินโครงการที่สร้างสรรค์ตรงกับความต้องการ อันเป็นการส่งเสริมให้เด็กในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กมีสุขภาวะที่ดีในทุกมิติ ปลูกฝังการเป็นพลเมืองเด็ก ให้เด็กสามารถเติบโตอย่างมีสุขภาวะดีครบทุกด้านและเติบโตเป็นพลเมืองดีของสังคมด้วยการมีส่วนร่วมของผู้ปกครองและชุมชน เริ่มดำเนินโครงการตั้งแต่ พ.ศ.2557 จนถึงปัจจุบัน โดยมีกลุ่มเป้าหมายศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก (ศพด.) จำนวน 200 แห่งทั่วประเทศ

ตลอดระยะเวลาดำเนินโครงการ มี ศพด. สนใจเข้าร่วมโครงการเป็นจำนวนมากและประสบผลสำเร็จด้วยดี ซึ่ง ศพด.ที่เข้าร่วมโครงการในปีแรกหลายแหล่งสามารถต่อยอดเป็นศูนย์เรียนรู้ให้เครือข่ายในพื้นที่ได้ศึกษาดูงาน


ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก สังกัดองค์การบริหารส่วนตำบลนาหลวงแสน (อบต.นาหลวงแสน) อ.ทุ่งสง จ.นครศรีธรรมราช เป็นพื้นที่หนึ่งซึ่งได้เข้าร่วมโครงการมหัศจรรย์สื่อสร้างสรรค์ในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ในปี 2558-2559 โดย ศพด.ในสังกัด อบต.นาหลวงเสน ได้รับการพิจารณาให้เข้าร่วมโครงการถึง 3 แห่ง ได้แก่ ศพด.วัดด่านจำกัด, ศพด.บ้านท่าเลา และ ศพด.อบต.นาหลวงเสน

วีลัดดา รุ่งเมือง ผู้อำนวยการกองการศึกษา อบต.นาหลวงเสน กล่าวว่า โครงการมหัศจรรย์สื่อสร้างสรรค์ในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กถือเป็นโครงการที่ดีซึ่งเป็นความร่วมมือที่เกิดขึ้นจริงจากผู้ปกครอง ส่วนราชการ และชุมชนในการช่วยกันพัฒนา ศพด. ให้มีสื่อดี พื้นที่ และภูมิดี เพื่อให้บรรลุเป้าหมายของกองการศึกษา ในการมุ่งเน้นพัฒนาคุณภาพนักเรียนให้เติบโตอย่างสมบูรณ์ทั้งสติปัญญาและคุณธรรม ซึ่ง ศพด.ในสังกัด อบต.นาหลวงเสนทั้ง 3 แห่ง มีนักเรียนรวมกว่า 400 คน และมีครูพี่เลี้ยง ครูผู้สอนมากกว่า 20 คน ซึ่งครูส่วนใหญ่จะเป็นคนในพื้นที่ให้มีความใกล้ชิดกับพ่อแม่ผู้ปกครอง

สื่อสร้างสรรค์ที่ผลิตขึ้นทั้ง 3 ศพด.ในสังกัดของอบต.นาหลวงเสน มีทั้งสื่อการสอนในห้องเรียน และเครื่องเล่นสนาม โดยวัสดุอุปกรณ์ส่วนใหญ่ หาได้จากท้องถิ่นทั้งหมด เช่น ยางรถยนต์ ท่อกลม เป็นต้น ซึ่งเครื่องเล่นเหล่านี้สามารถเสริมสร้างพัฒนาการทั้งด้านร่างกาย อารมณ์ สังคม และสติปัญญา ได้เป็นอย่างดี

สุเมตตา แผ่นทอง ครูประจำ ศพด.วัดด่านจำกัด กล่าวว่า ในส่วนของสื่อการสอนในห้องเรียนนอกจากหุ่นมือ โรงเล่านิทาน แล้ว มีการจัดมุมการเรียนรู้ เช่น มุมอ่านหนังสือ เพื่อส่งเสริมนิสัยรักการอ่านให้แก่เด็กๆ เพื่อให้เด็กช่างสังเกต เสริมสร้างสติปัญญา และพัฒนาการอ่าน มุมดนตรี ก็ให้เด็กรู้จักเครื่องดนตรี ตลอดจนพัฒนาทักษะการฟัง มุมภูมิปัญญา จะส่งเสริมให้เด็กรู้จักภูมิปัญญาชาวบ้าน และวิถีชีวิตของผู้เฒ่าผู้แก่ ด้วยการนำเอาศิลปะพื้นบ้าน “รำมโนราห์” มาฝึกสอนให้เด็กๆ ได้เรียนรู้และซึมซับรากเง้าวัฒนธรรมประเพณีของท้องถิ่น นอกจากนี้ยังสอนเรื่องการจักสาน การทำขนมพื้นบ้านอีกด้วย


ส่วน สุมาลี เกิดบัวทอง ครูประจำ ศพด.บ้านท่าเลา กล่าวว่า สื่อประเภทเครื่องเล่นสนาม หรือ สนามเด็กเล่นเพื่อสำหรับการเรียนรู้ หรือBBL (Brain Based Learning) ก็นำเอายางรถยนต์ ยางมอเตอร์ไซค์ วัสดุไม้ ที่ได้ผู้ปกครองนำมามอบให้ มาทำเป็นเครื่องเล่นที่ชวยเสริมสร้างทักษะด้านด้านร่างกายและสังคม เช่น ตารางเดิน หลุมอากาศ บ่อทราย เป็นต้น

“ส่วนการลงมือทำนั้น ได้รับความร่วมมือจากผู้ปกครองมาช่วยกันทำหลายวันกว่าจะเสร็จ ซึ่งทุกคนก็เต็มใจที่จะสร้างเครื่องเล่นเพื่อลูกหลานตัวเอง ซึ่งเราเคยคิดว่าการพัฒนาเด็กผ่านกระบวนการเรียนรู้อย่าง BBL เป็นประโยชน์จริงเหรอ วันนี้เรายอมรับแล้วว่าทำได้จริง ว่าสามารถช่วยเริมสร้างพัฒนาการและทักษะให้กับเด็กได้เป็นอย่างดี” ครูสุมาลี บอก


ขณะที่ ภัทรกัณฑา ชนูดหอม ครูประจำ ศพด.อบต.นาหลวงเสน กล่าวว่า สื่อการสอนในห้องที่ผลิตขึ้นจะใช้วัสดุประเภทผ้าเป็นหลัก เพราะทนทานซึ่งหากใช้กระดาษก็จะฉีกขาดง่าย ซึ่งสื่อที่ผลิตขึ้นก็เช่น หุ่นนิ้ว หุ่นมือ หนังสือผ้า เป็นต้น เด็กก็รู้สึกตื่นเต้นอยากมาเรียน เมื่อก่อนเด็กที่เข้าใหม่ต้องใช้เวลานานในการปรับตัว แต่พอมีเครื่องเล่น มีสื่อช่วยให้เด็กก็ปรับตัวได้ง่าย

นอกจากประโยชน์ที่ต่อพัฒนาการที่เด็กจะได้รับแล้ว ยังช่วยพัฒนาศักยภาพครูในการนำเอาภูมิปัญญาชาวบ้านมาสร้างนวัตกรรมการสอนได้ และสร้างสัมพันธภาพความร่วมมือระหว่างผู้ปกครองได้เป็นอย่างดี

แม้ อบต.นาทองเสน จะเป็น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ขนาดเล็ก และมี ศพด.ในสังกัดถึง 3 แห่ง ซึ่งอาจมีเครื่องหมายคำถามถึงคุณภาพของ ศพด. ว่าจะมีการจัดการได้ดีเพียงใด แต่ที่ผ่านมาถือไม่เป็นอุปสรรคต่อความเชื่อมั่นคุณภาพการเรียนการสอนที่ผู้ปกครองไว้วางใจ “ใกล้ที่ไหนเรียนที่นั่น คุณภาพเหมือนกันทุกที่”


ทางด้าน ศิริวรรณ บุญกิจ ผู้ปกครอง กล่าวว่า อยากให้ลูกมาเรียนศูนย์ที่ใกล้บ้าน ซึ่งนอกจากรับ-ส่งสะดวกแล้ว ยังเชื่อมั่นในการเอาใจใส่ดูแล เพราะครูส่วนใหญ่เป็นคนในพื้นที่ที่รู้จักดี และครูก็มีศักยภาพและคุณภาพเหมือนกัน ฝากฝังกันได้ ไม่รู้สึกเป็นคนอื่น บางครั้งผู้ปกครองบางคนไปรับลูกช้า ครูก็ไปส่งเด็กที่บ้านเลยด้วย

นอกจากนี้ยังเห็นว่าครูมีจำนวนเพียงพอสามารถดูแลเด็กได้ทั่วถึง ลูกกลับบ้านมีพัฒนาการดีขึ้น ช่วยเหลือตัวเองได้บ้าง มาตอนแรกๆ จะบอกเวลาปวดท้องเข้าห้องน้ำไม่ได้ เดี๋ยวนี้เข้าห้องน้ำเองได้ และช่วยเหลือตัวเองด้านอื่นๆ ได้ดีขึ้นมาก และพัฒนาการด้านกล้ามเนื้อดีขึ้น

นี่คือผลของการมีส่วนร่วมทั้งท้องถิ่น ชุมชน และผู้ปกครอง หากประสานความร่วมมืออย่างลงตัว ประโยชน์ก็เกิดแก่เด็กๆ ในชุมชนนั่นเอง

หมายเลขบันทึก: 611331เขียนเมื่อ 27 กรกฎาคม 2016 15:03 น. ()แก้ไขเมื่อ 27 กรกฎาคม 2016 15:03 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท