สิงห์บุรีใช้พลังงานในชุมชนพึ่งตนเอง ลดค่าใช้จ่ายต่อยอดสร้างรายได้


สิ่งที่ยาก คือการลงมือทำ เช่นการทำเตาแก๊สชีวภาพที่ต้องใช้เวลาเรียนรู้ จะต้องเผาให้เป็น เพราะถ้าเผาไม่เป็นถ่านก็จะกลายเป็นขี้เถ้า ดังนั้นชาวบ้านจะต้องเรียนรู้พื้นฐานตั้งแต่การสังเกตควันไฟ ต้องใช้ไม้ขนาดไหน ตากแดดกี่ครั้งถึงจะนำไปเผาเป็นถ่านได้ หรือการเผาถ่านเพื่อเก็บน้ำส้มควันไม้ก็จะต้องรู้อีกว่าต้องเผาอย่างไรให้มีน้ำส้มควันไม้ออกมาให้ได้เก็บ ทุกอย่างเป็นหลักสูตรที่ชาวบ้านต้องเรียนรู้อย่างจริงจัง


ข้อมูลจากการสำรวจสภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือน พ.ศ.2557 ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่าประเทศไทยมีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยเดือนละ 20,892 บาทต่อครัวเรือน เป็นค่าใช้จ่ายด้านพลังงาน 2,377 บาท หรือคิดเป็นร้อยละ11.4 ของค่าใช้จ่ายทั้งหมด ซึ่งพลังงานที่เป็นค่าใช้จ่ายหลักมาจากน้ำมัน แก๊สโซฮอลล์ และไฟฟ้า

เมื่อเปรียบเทียบ ปี 2556 และ 2557 พบว่า ค่าใช้จ่ายด้านพลังงานเฉลี่ยต่อเดือนเพิ่มขึ้น จาก 2,084 บาท เป็น 2,377 บาท หรือเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 14.1 และมีแนวโน้มจะเพิ่มสูงขึ้นทุกๆ ปี เพราะพลังงานเหล่านี้เข้ามามีบทบาทในวิถีชีวิตของครัวเรือนมากขึ้น และปริมาณความต้องการใช้พลังงานเพิ่มมากขึ้น เท่ากับว่ารายจ่ายก็ต้องเพิ่มมากขึ้น ซึ่งย่อมส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตในช่วงที่เศรษฐกิจฝืดเคืองเช่นนี้

พลังงานทางเลือก หรือ พลังงานชุมชนแบบพึ่งตนเอง จึงเป็นทางเลือกให้ชาวบ้านรู้คุณค่าของพลังงานและใช้ประโยชน์ได้อย่างสูงสุด และช่วยลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นในครัวเรือนให้น้อยลงไปด้วย


เช่นที่ชาวบ้านใน 3 จังหวัด 9 ตำบล 90 หมู่บ้าน ได้แก่ นนทบุรี สิงห์บุรี และ พระนครศรีอยุธยา เป็นตัวอย่างของพื้นที่ที่หันมาส่งเสริมให้เกิดพลังงานชุมชนพึ่งพาตนเอง โดยการขับเคลื่อนของเครือข่ายด้านพลังงานชุมชน ภายใต้ โครงการสร้างเสริมตำบลอยู่ดีมีสุขด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม โดยได้รับการสนับสนุนจากสำนักสร้างสรรค์โอกาสและนวัตกรรม (สำนัก6) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ซึ่งจัดกระบวนการเรียนรู้ด้านการใช้พลังงานให้กับชาวบ้านให้เกิดประโยชน์สูงสุด พร้อมทั้งผลิตเครื่องใช้ในครัวเรือนอย่างง่าย เป็นการประหยัดพลังงาน ช่วยลดค่าใช้จ่ายในครัวเรือน และสามารถผลิตเพื่อจำหน่ายสร้างรายได้อีกด้วย


เชิด พันธุ์เพ็ง ผู้รับผิดชอบโครงการ กล่าวว่า โครงการสร้างเสริมตำบลอยู่ดีมีสุขด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อมเริ่มมาตั้งแต่ปี 2555 โดยเป็นโครงการที่ต่อยอดมาจากโครงการส่งเสริมการใช้พลังงานในครัวเรือนของกระทรวงพลังงาน มีพลังงานจังหวัดเป็นผู้รับผิดชอบ แต่เราพบว่าเมื่อโครงการเสร็จสิ้นแล้วกลับไม่มีการต่อยอดหรือส่งเสริมอย่างต่อเนื่อง บางแห่งชาวบ้านได้แค่เข้ารับการอบรม แต่ไม่เคยนำมาใช้เป็นรูปธรรมเลย

ดังนั้น เพื่อไม่ให้ฐานความรู้ที่มีอยู่เดิมสูญเปล่า โดยเบื้องต้นเราได้ทำการคัดเลือกแกนนำชุมชนเพื่อมาอบรบกระบวนการเรียนรู้และการจัดการด้านพลังงานก่อนเป็นลำดับแรก จากนั้นจึงจัดเวทีสัญจรในแต่ละพื้นที่เพื่อให้ความรู้เรื่องพลังงานแก่ชุมชน เป้าหมายคือให้ชาวบ้านได้รู้ว่า พลังงานมีกี่ประเภท อะไรบ้าง และการจะประหยัดพลังงานต้องทำอย่างไร จากนั้นก็ทำแผนเสนอไปยังองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เพื่อให้การสนับสนุนและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง

นอกจากจะสอนความรู้เรื่องการจัดการพลังงานในครัวเรือนแล้ว เชิด ยังสร้างจิตสำนึกในการใช้ไฟฟ้าอย่างประหยัด สอนการผลิต เตาแก๊สชีวมวล ใช้แทนเตาหุงต้มในครัวเรือนโดยใช้กิ่งไม้มาเป็นฟืนแทนการไปซื้อถ่านหรือซื้อแก๊สหุงต้มราคาแพง ซึ่งต้นทุนการผลิตถือว่าต่ำมากทั้งยังให้ความร้อนสูง ไร้ควันเหมือนแก๊สหุงต้ม และเมื่อเผาไหมเสร็จแล้วยังได้ถ่านเก็บไว้ใช้ด้วย และสามารถผลิตเพื่อจำหน่ายสร้างได้ เช่นที่ บ้านม่วงหมู่ ต.โพทะเล อ.ค่ายบางระจัน จ.สิงห์บุรี สามารถรวมกลุ่มผลิตเตาแก๊สชีวมวลจำหน่ายสร้างรายได้ให้ครัวเรือนอีกทางหนึ่ง


นอกจากนี้ ยังมี แบตเตอรี่ดิน ที่ทำจากถ่านชีวมวลเพื่อเป็นแหล่งจ่ายไฟขนาดเล็กในครัวเรือนได้เช่นกัน โซลาเซลล์ น้ำหมักแก๊สชีวภาพ เตาเก็บควันไฟเพื่อทำแก๊สชีวภาพ

“เราสอนหมด เรามุ่งเน้นสอนเทคโนโลยีใหม่ๆ นวัตกรรมใหม่ๆ “เรียนรู้จริง ทำจริงทำเป็น” ตำบลไหนอยากได้อะไรเราก็ไปสอน สิ่งที่เน้นย้ำ คือ ทำอย่างไรที่จะลดค่าใช้จ่ายให้มากที่สุด อย่าลงทุน ให้ใช้ของที่เรามี ไม่มีแกลบก็ใช้ฟืน อย่าไปซื้ออะไรเข้ามาทำ” เชิด บอก

ผู้รับผิดชอบโครงการ ยอมรับว่า สิ่งที่ยาก คือการลงมือทำ เช่นการทำเตาแก๊สชีวภาพที่ต้องใช้เวลาเรียนรู้ จะต้องเผาให้เป็น เพราะถ้าเผาไม่เป็นถ่านก็จะกลายเป็นขี้เถ้า ดังนั้นชาวบ้านจะต้องเรียนรู้พื้นฐานตั้งแต่การสังเกตควันไฟ ต้องใช้ไม้ขนาดไหน ตากแดดกี่ครั้งถึงจะนำไปเผาเป็นถ่านได้ หรือการเผาถ่านเพื่อเก็บน้ำส้มควันไม้ก็จะต้องรู้อีกว่าต้องเผาอย่างไรให้มีน้ำส้มควันไม้ออกมาให้ได้เก็บ ทุกอย่างเป็นหลักสูตรที่ชาวบ้านต้องเรียนรู้อย่างจริงจัง

โครงการสร้างเสริมตำบลอยู่ดีมีสุขด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อมจึงเป็นโครงการที่ช่วยจุดประกายการเรียนรู้ให้ชุมชน และลงมือปฏิบัติเพื่อลดรายจ่าย หากทำได้ดี ยังเป็นช่องทางในการสร้างอาชีพได้อีกด้วย

หมายเลขบันทึก: 609726เขียนเมื่อ 4 กรกฎาคม 2016 16:31 น. ()แก้ไขเมื่อ 4 กรกฎาคม 2016 16:31 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท