ขอแค่...เราคุยกัน บ้านเธอ บ้านฉันก็น่าอยู่ ร่วมสร้างชุมชนและท้องถิ่นให้น่าอยู่กับ สสส.


ผู้ใหญ่โชคชัย ลิ้มประดิษฐ์ อดีตผู้ใหญ่บ้านหนองกลางดง กล่าวไว้ว่านั่นคือการพูดคุยกันในชุมชน ช่วยแก้ไขได้ทั้งหมด เพราะการคุยนั้นเป็นที่มาของสัญญาประชาคม อันเป็นข้อตกลงร่วมกันที่จะนำพาชุมชนให้ไปในทิศทางไหน


“ในความคิดเห็นของผม มองชุมชนน่าอยู่ใน 2 ประเด็น คือหนึ่งด้านสิ่งแวดล้อม ภายในชุมชนต้องมีธรรมชาติที่ดี ที่อยู่อาศัยเป็นระเบียบเรียบร้อย ถนนสองข้างทางต้องสะอาดไม่มีขยะหรือหญ้าขึ้นรกราเต็มไปหมด และสองคือเยาวชนเข้มแข็ง ต้องไม่ติดยาเพสติด ไม่มั่วสุม ไม่สร้างความเดือนร้อนให้คนในชุมชน” ประวิทย์ รัตนพงศ์ ผู้ใหญ่บ้านม้าร้อง หมู่ 4 ตำบลพงศ์ประศาสตร์ อ.บางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์ และย้ำว่า ถ้า 2 ประเด็นนี้สำเร็จ ชุมชนมีความเป็นระเบียบเรียบร้อยมองไปทางไหนก็สวยงาม ไม่มีมลภาวะทางสิ่งแวดล้อมบ้านเมืองมันก็น่าอยู่ ส่วนเด็กและเยาวชนก็ต้องส่งเสริมให้มีศักยภาพ ให้เขาเติบโตมาอย่างเข้มแข็งและเป็นกำลังสำคัญที่มีศักยภาพพัฒนาของชุมชนต่อไปในอนาคต

แต่สำหรับคำว่า “น่าอยู่” ในความหมายของสำนักสร้างสรรค์โอกาสและนวัตกรรม (สำนัก6) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เห็นว่า ชุมชนท้องถิ่นเป็นฐานหลักของสังคม หากเพิ่มแนวคิดการพัฒนาระดับชุมชนและท้องถิ่นให้เข้มแข็ง น่าอยู่ ปลอดภัย มีพัฒนาการพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน ทั้งด้านสังคม การศึกษา วัฒนธรรม เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม จะส่งผลให้ประชาชนในชุมชนมีสุขภาวะที่ดี และถ้าทุกชุมชนมุ่งมั่นดำเนินการอย่างกว้างขวาง ประเทศไทยก็จะพัฒนาอย่างมีทิศทาง เป็นประเทศที่น่าอยู่

ชุมชนจะเข้มแข็ง น่าอยู่ และพึ่งตนเองได้ ต้องอาศัยความรับผิดชอบ การเรียนรู้ ร่วมคิดร่วมทำ ตลอดจนอาศัยความร่วมมือและข้อมูลทางวิชาการจากหน่วยงานในท้องถิ่นไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานภาครัฐหรือเอกชน เพื่อปรับเปลี่ยนวิธีคิด ปรับพฤติกรรมการผลิตและการบริโภคโดยยึดหลักปรัชญาพอเพียง รักษาสิ่งแวดล้อม เน้นการพึ่งตนเอง เป็นสังคมเอื้ออาทร พึ่งพาอาศัยกันได้ และไม่ทอดทิ้งกัน


หากย้อนกลับไป แนวคิด “ชุมชนน่าอยู่” เริ่มที่บ้านไม้เรียง อ.ฉวาง จ.นครศรีธรรมราช

ในอดีตเมื่อประมาณสามสิบปีที่แล้ว ไม้เรียงโด่งดังด้วยเรื่องแร่ที่เขาศูนย์ มีผู้คนทั่วประเทศหลั่งไหลไปขุดสมบัติ จนทำให้ชุมชนไม้เรียงกลายเป็นแดนเถื่อน หาร่องรอยของการเป็นชุมชนพึ่งตนเองไม่ได้เลย แต่ไม้เรียงวันนี้ต่างจากวันวานแบบหน้ามือเป็นหลังมือ

ประยงค์ รณรงค์ คือผู้มีปัญญาบารมีประจำชุมชน เมื่อกระตุก กระตุ้น กระแทกกระทั้นให้ทุกคนในไม้เรียงได้เห็นพลังทางปัญญาของตนเอง เมื่อช่วยกันแก้ไขปัญหายางพาราในช่วงต้นทศวรรษที่ 2520 ด้วยการกำหนดราคาขายเอง สร้างโรงงานแปรรูปยางของชุมชนเองด้วยการระดมทุนของชาวบ้านเป็นเงิน 1 ล้านบาท จนกลายเป็นต้นแบบการพัฒนาที่รัฐบาลในยุคนั้นนำไปสร้างถึง 700 แห่งทั่วประเทศ แต่ราคายางที่สูงกว่าราคาตลาดไม่ใช่ความยั่งยืนที่แท้จริง ชาวไม้เรียง ซึ่งนำโดย “น้ายงค์” จึงคิดหาเหตุปัจจัย และไปไกลกว่าชุมชนอื่น เมื่อสร้าง "แผนแม่บทยางพาราไทย" ร่วมกับชาวสวนยางนครศรีธรรมราช

ไม้เรียงไม่ได้หยุดเพียงแค่ยางพารา แต่พวกเขาพบว่า ปัญหาของชุมชนมีความซับซ้อน เรื่องต่างๆ สัมพันธ์กันหมด ถ้าจะแก้ปัญหาชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้าน จำเป็นต้องทำอย่างมีแบบมีแผน มียุทธศาสตร์ที่ชุมชนคิดเอง เพราะชาวไม้เรียงเชื่อว่าการพัฒนายั่งยืนต้องทำแบบบูรณาการ ตอบสนองชีวิตของชุมชน จึงต้องมี "ข้อมูลชุมชน" เพื่อนำมาเป็นฐานพัฒนาแผนการดำเนินงานจัดการชีวิตของตนเอง หรือที่เรียกว่า "แผนชุมชน"

การทำแผนแม่บทชุมชนนำไปสู่การพัฒนาระบบเศรษฐกิจของชุมชน จัดระเบียบชีวิตและเศรษฐกิจของชุมชน ทำกินทำใช้ในส่วนที่ทำได้ เป็นการลดรายจ่ายซึ่งเท่ากับเพิ่มรายได้ ลดการพึ่งพาผลผลิตจากตลาดภายนอก มีการจัดระบบการผลิต การบริโภค การตลาด การแปรรูป การจัดกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่างๆ เหล่านี้คือการประกอบการของชุมชนที่เรียกวันนี้ว่า “วิสาหกิจชุมชน”

ตามแผนแม่บทชุมชนของบ้านไม้เรียง มีวิสาหกิจชุมชนกว่า 50 รายการ ซึ่งเกิดจากการเรียนรู้และการจัดการชีวิตของตนเองอย่างมีแบบมีแผน ตั้งแต่การผลิตข้าวปลาอาหาร พืชผัก ยาสมุนไพร ของใช้ในครัวเรือน สุขภาพ การจัดตั้งกองทุน และการจัดการทรัพยากรต่างๆ

ความสำเร็จรอบด้านที่ไม้เรียง ทำให้ชุมชนแห่งนี้เปิดหลักสูตรปริญญาตรีการปกครองท้องถิ่น คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหงเมื่อปี 2546 มีคนเข้าเรียนถึง 38 คน และทุกวันนี้ยังทำหน้าที่เป็นศูนย์การศึกษาและพัฒนาของคนที่สนใจจากทั่วประเทศ


หากจะมองหา “ต้นแบบ” อีกชุมชนหนึ่ง คงต้องชี้ไปที่บ้านหนองกลางดง ตำบลศิลาลอย อำเภอสามร้อยยอด จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เมื่อครั้งที่มี โชคชัย ลิ้มประดิษฐ์ หรือผู้ใหญ่โชค เป็นผู้ใหญ่บ้าน เขามักบอกใคร่ต่อใคร ว่าได้แรงบันดาลใจในการพัฒนาบ้านหนองกลางดงมาจากบ้านไม้เรียง โดยมีเคล็ดลับที่เพิ่มเข้ามา คือการดึงคนในชุมชนเข้ามารวมกันแก้ไขปัญหาของตัวเอง

“ความสุขของคน คือการได้คุย ได้แสดงออก พึงพอใจที่ได้พูด ซึ่งถือเป็นการปลดปล่อยอย่างหนึ่ง แต่การพูดนั้นต้องอยู่ภายใต้กรอบของการเป็นประชาธิปไตยในชุมชนหรือ” ผู้ใหญ่โชค ตีกรอบของการสร้างชุมชนให้น่าอยู่อย่างสั้นๆ แต่ดูเหมือนความหมายลึกซึ้ง


ด้วยเหตุนี้บ้านหนองกลางดงจึงสร้างชุมชนภายใต้แนวคิดของชุมชนประชาธิปไตยมาโดยตลอด เริ่มจากการก่อตั้ง “สภาชุมชน” หรือสภาผู้นำ ซึ่งสมาชิกมาจากตัวแทนกลุ่มอาชีพต่างๆ ในหมู่บ้าน รวมกับตัวแทนที่เป็นทางการอีกจำนวนหนึ่ง ได้แก่ผู้ใหญ่บ้านหนึ่งคน และสมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบลอีกสองคน

สภาชุมชนจะประชุมร่วมกันทุกเดือน เมื่อประชุมเสร็จ ผู้ใหญ่บ้านจะเรียกประชุมชาวบ้านทั้งหมู่บ้านในวันถัดไป โดยจะนำสิ่งที่สภาฯ ได้พูดคุยกันมาขอประชามติจากชาวบ้าน ว่ามีความคิดเห็นอย่างไร เมื่อชาวบ้านยอมรับได้ ก็จะดำเนินการในเรื่องนั้นๆ ต่อไป

“ความสำคัญของประชาธิปไตยในชุมชนนั้น ผู้นำต้องลดอัตตาลงให้ได้ เราต้องเปลี่ยนตัวเองจากผู้นำเดี่ยวมาเป็นผู้นำกลุ่ม ต้องทำศัตรูให้มาเป็นมิตร ต้องคุยกับทุกกลุ่มได้” ผู้ใหญ่โชค บอกอย่างนั้น

เมื่อวางโครงสร้างการบริหารชุมชนเรียบร้อยแล้ว จึงเริ่มทำแผนชุมชนเมื่อปี 2544 โดยตั้งต้นจากการจัดทำระบบฐานข้อมูลชุมชน ใช้การสำรวจบัญชีครัวเรือนเป็นเครื่องมือ พบว่าขณะนั้นชาวบ้านหนองกลางดงมีหนี้สินรวมทั้งหมด 13.8 ล้านบาท โฉนดที่ดินกว่า 80% ในหมู่บ้านอยู่ในธนาคาร เพื่อนำเงินไปซื้อโทรศัพท์มือถือ รถกระบะ รถมอเตอร์ไซค์ หรือสร้างบ้านราคาแพง

ข้อมูลที่ได้มีประโยชน์อย่างยิ่ง เพราะทำให้ทุกคนในชุมชนรู้ถึงปัญหาที่ตัวเองเผชิญอยู่ และสิ่งแรกที่อยากแก้ไขคือลดหนี้ลงให้ได้

"เรามาช่วยกันคิดลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ เช่นการผลิตปุ๋ยชีวภาพแทนการใช้ปุ๋ยเคมี การเพิ่มมูลค่าผลผลิต จากเดิมในพื้นที่ปลูกสับปะรด 631 ไร่ แต่ผลผลิตเป็นลูกเล็กขายไม่ได้ราคา จึงของบประมาณจากองค์การบริหารส่วนตำบล สร้างโรงกวนสับปะรด จนเพิ่มมูลค่าได้ 1-2 ล้านบาทต่อปี รวมถึงการจัดทำร้านค้าชุมชน ปั๊มน้ำมัน ซึ่งมีการทำสัจจะร่วมกันในหมู่บ้านว่าจะไม่ซื้อของจากข้างนอก และการจัดตั้งกองทุนชุมชน กู้ยืมในดอกเบี้ยต่ำ"

ปัจจุบันที่ดินบ้านหนองกลางดง 72% กลับถึงมือเกษตรกรอีกครั้ง คนในชุมชนมีรายรับเพิ่มขึ้นเกือบ 40 ล้านบาทต่อปี และมีหนี้สินลดลงเหลือเพียง 7.8 ล้านบาทเท่านั้น

ถ้าทำให้มองเห็นภาพชัดๆ ของการทำให้ชุมชนหมู่บ้านมีความ "น่าอยู่" นั้น ประกอบด้วย 5 ปัจจัยด้วยกัน ได้แก่

ผู้นำ คือแม่ทัพของชุมชน จะเป็นผู้ชักชวนให้คนในชุมชนร่วมคิด ร่วมสร้าง แล้วเดินไปด้วยกัน

ข้อมูล ซึ่งประโยคที่ว่า “ข้อมูลดีมีชัยไปกว่าครึ่ง” เป็นจริงเสมอ

การมีส่วนร่วม ในทุกๆ ด้านของทุกๆ คน นั่นเอง

แผนชุมชน เป็นทิศทางของชุมชนที่ใช้ข้อมูลของชุมชนให้เกิดประโยชน์ โดยผ่านการร่วมคิด ร่วมทำด้วยกัน ซึ่งเป็นผลมาจากการใช้ข้อมูลให้เป็นประโยชน์นั่นเอง

การสื่อสาร อันเป็นการส่งต่อเรื่องราวเพื่อให้สมาชิกชุมชนเกิดการมีส่วนร่วม

จากแนวคิดนี้นี่เอง เป็นที่มาของโครงการร่วมสร้างชุมชนและท้องถิ่นให้น่าอยู่ โดย สสส. ที่เริ่มต้นขึ้นเมื่อปี 2553 ในการเชิญชวนชุมชนและท้องถิ่น ให้เสนอตัวเข้าร่วมโครงการเพื่อร่วมสร้างสรรค์ชุมชนและท้องถิ่นของตัวเองให้น่าอยู่


ตลอดระยะเวลาดำเนินโครงการ 5 ปีที่ผ่านมาก มีชุมชนต่างๆ เข้าร่วม 2,340 โครงการ สสส.ใช้งบประมาณทั้งสิ้น 399.39 ล้านบาท ค้นพบชุมชนตัวอย่าง และได้บุคคลต้นแบบด้านสุขภาวะมากมาย

รศ.นพ.อำนาจ ศรีรัตนบัลล์ ประธานกรรมการบริหารแผนสร้างสรรค์โอกาสและนวัตกรรม สสส. มีส่วนสำคัญยิ่งในการผลักดันโครงการนี้ โดยจุดเริ่มมาจากการไปเยี่ยมหมู่บ้านหนองกลางดงของผู้ใหญ่โชค และรู้สึกทึ่งถึงโครงสร้างบริหารชุมชนที่น่าสนใจ

“เออ ดีแฮะ” อาจารย์อำนาจรู้สึกแบบนั้น หลังจากฟังผู้ใหญ่โชคเล่าถึงกระบวนการต่างๆ ที่นำมาใช้กับหมู่บ้านหนองกลางดง โดยเฉพาะสองสิ่งสำคัญที่อาจารย์อำนาจชอบเป็นพิเศษ คือการใช้ข้อมูลชุมชนให้เป็นประโยชน์จนนำไปสู่แผนชุมชน และความสม่ำเสมอของการประชุมสภาผู้นำที่ประชุมกันทุกเดือน

“น่าทึ่งมากที่เขาประชุมกันเป็นประจำไม่เคยขาด ผู้ใหญ่โชคเองก็บอกว่าในวันประชุม จะไม่รับนัด หรือรับแขกที่ไหนเลย ต้องเข้าประชุมกับลูกบ้าน เขาให้ความสำคัญถึงขนาดนั้น” ประธานกรรมการบริหารแผนสร้างสรรค์โอกาสและนวัตกรรม สสส.บอก และย้ำว่า “เราไม่ได้หวังอะไรมากมาย ผมขอแค่ให้ชุมชนที่เข้าร่วมโครงการนำหลักบริหารจัดการ 2 ข้อของบ้านหนองกลางดงนำไปปรับใช้กับชุมชนตนเอง นั่นคือความสม่ำเสมอของการประชุมพูดคุย และการนำข้อมูลของชุมชนมาศึกษาเพื่อนำไปสู่การพัฒนา”

บ้านม้าร้อง อำเภอบางสะพาน ถือเป็นอีกชุมชนที่นำแนวคิดของการทำให้หมู่บ้านและชุมชนน่าอยู่ไปปรับใช้กับชุมชนตัวเอง โดยเฉพาะการจัดตั้งสภาชุมชน หรือสภาผู้นำ ถือว่ามีประโยชน์ต่อชุมชนอย่างมาก ซึ่งผู้ใหญ่บ้าน ประวิทย์ รัตนพงศ์ เชื่อว่า ความเข้มแข็งของสภาผู้นำชุมชนสามารถพัฒนาต่อยอดไปยังหลายๆ โครงการ ตามแผนพัฒนาชุมชนที่วางไว้ ก่อเกิดเป็นกลุ่มกิจกรรมที่สามารถเป็นอาชีพเสริมสร้างรายได้ และความความสามัคคีให้กับคนในชุมชน เช่น กลุ่มธนาคารต้นไม้ กลุ่มแปรรูปไม้ กลุ่มผู้สูงอายุ กลุ่มปุ๋ยอินทรีย์ กลุ่มผู้เลี้ยงโค กลุ่มธนาคารความดี กลุ่มป่าเศรษฐกิจ และอื่นๆ

“โครงสร้างการบริหารงานแบบเดิม ที่ให้ อบต. หรือเทศบาล เป็นคนกำหนดเป้าหมายของหมู่บ้าน ทำให้งานล่าช้า เพราะเหมือนกับโยนให้คนทำเพียงคนเดียว แต่ถ้าขับเคลื่อนโดยสภาชุมชน ทุกคนมีส่วนร่วมในการออกแบบกำหนดเป้าหมายชุมชนของตัวเอง” ผู้ใหญ่ประวิทย์ ว่า


นอกจากนี้ ยังมีอีกหลายๆ หมู่บ้านที่ เปลี่ยนโครงสร้างการบริหารจัดการหมู่บ้าน โดยมี “สภาชุมชน” แล้วใช้ “ข้อมูล” หมู่บ้านมาเป็นฐาน เพื่อสร้าง “แผนชุมชน” อย่างเช่นที่บ้านสำโรง ตำบลท่าสว่าง อำเภอเมือง จังหวัดสุรินทร์ นำโดย พีรวัศ คิดกล้า ผู้ใหญ่บ้าน เปลี่ยนจาก “ชุมชนติดลบ” กลายเป็น “ชุมชนต้นแบบ” ที่มีคนมาศึกษาดูงานเกือบ 200 คณะต่อปี คุณภาพชีวิตของสมาชิกชุมชนดีขึ้นเกินกว่าคาดหวังภายในระยะเวลาแค่สองปีเท่านั้น ซึ่งในวันนี้ “บ้านสำโรง” ทุกครัวเรือนปลูกผักกินเองในบ้านอย่างน้อย 10 ชนิด แยกขยะได้สำเร็จจนกล้าปฏิเสธรถขนขยะจากอบต. ลดการพึ่งพาจากภายนอกได้เกือบร้อยเปอร์เซ็นต์

ขณะที่บ้านโพธิ์ศรีใต้ ตำบลโพธิ์ศรี อำเภอพิบูลมังสาหาร จังหวัดอุบลราชธานี โดยสัมฤทธิ์ ไชยโกฏิ ผู้ใหญ่บ้าน ใช้แนวคิดชุมชนน่าอยู่ สร้างการมีส่วนร่วม ชักชวนกลุ่มวัยรุ่นหรือเยาวชนในหมู่บ้านจะเข้าไปร่วมเกือบทุกกิจกรรม หลังจากก่อนหน้านี้วัยรุ่นกลุ่มเดียวกัน พากับจับกลุ่มมั่วสุม เที่ยวเตร่ ขับมอเตอร์ไซค์แว้นเสียงดัง และจำนวนไม่น้อยใช้ชีวิตในร้านเกมถึง 10 ชั่วโมงต่อวัน

ตัวอย่างเหล่านี้มีจุดร่วมกันอย่างหนึ่ง อย่างที่ ผู้ใหญ่โชคชัย ลิ้มประดิษฐ์ ว่านั่นคือการพูดคุยกันในชุมชน ช่วยแก้ไขได้ทั้งหมด เพราะการคุยนั้นเป็นที่มาของสัญญาประชาคม อันเป็นข้อตกลงร่วมกันที่จะนำพาชุมชนให้ไปในทิศทางไหน

ด้วยเหตุนี้-ขอแค่เราคุยกัน ชุมชนก็น่าอยู่แล้ว


หมายเลขบันทึก: 609723เขียนเมื่อ 4 กรกฎาคม 2016 15:49 น. ()แก้ไขเมื่อ 4 กรกฎาคม 2016 15:49 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท