วันที่ 34 ข่าวดีหรือข่าวร้าย (1 กรกฎาคม 2559)


ข่าวดีหรือข่าวร้าย วันนี้ครูพี่เลี้ยงไม่อยู่ไปอบรมที่เขตทั้งวัน ครูได้มอบหมายงานให้ทำและปฏิบัติหน้าที่สอนแทน หกคาบเบา ๆ สู้ไม่สู้ ต้องบอกตัวเองให้สู้ ๆ แต่ครูก็ไม่ได้ทิ้งเราไปไหนนะ คอยถามตลอดว่าเป็นยังไงบ้าง มีปัญหาอะไรหรือเปล่า แค่นี้ก็มีกำลังใจมากพอแล้ว

นิเทศ คาบที่สองฉันกับครูพี่เลี้ยงมีสอนทั้งคู่ จึงนำข้อสอบ O-NET ไปฝากให้ครู ป.6/4 ช่วยคุมเด็กทำข้อสอบ จากนั้นฉันก็ไปสอนสุขศึกษา ป.5/5 วันนี้สอนเรื่องการเปลี่ยนแปลงทางเพศ เริ่มต้นด้วยการขออาสาสมัคร ผู้หญิง 1 คน ผู้ชาย 1 คน แล้วถามว่านักเรียนมีเพศตรงกับเพื่อนคนใด มีลักษณะเหมือนหรือแตกต่างจากเพื่อนต่างเพศยังไงบ้าง จากนั้นก็เปิดวิดีทัศน์ การเปลี่ยนแปลงทางเพศด้านร่างกายของเพศหญิงและเพศชายให้นักเรียนดู นักเรียนให้ความสนใจในสื่อการสอนมาก มีส่วนร่วมในการตอบคำถาม หลังจากนั้นเป็นการเปิดวิดีทัศน์พฤติกรรมที่เป็นปัญหาของวัยรุ่น แต่เกิดปัญหาเมื่อคลิปที่เตรียมไว้เปิดไม่ได้และเน็ตก็ไม่ดี ระหว่างนั้นฉันก็ชวนนักเรียนคุยถึงการเปลี่ยนแปลงทางเพศด้านจิตใจ อารมณ์ สังคม ตัวอย่างการเปลี่ยนแปลงทางเพศด้านจิตใจ เช่น เชชื่อมั่นในตนเองง รักเพื่อน ตามใจเพื่อน สนใจเพศตรงข้าม เป็นต้น การเปลี่ยนแปลงทางเพศด้านอารมณ์ เช่น ชอบทำอะไรตามใจตนเอง อารมณ์วู่วาม หงุดหงิด โกรธง่าย ก้าวร้าว เป็นต้น การเปลี่ยนแปลงทางเพศด้านสังคม เช่น ต้องการเป็นที่ยอมรับของเพื่อน ๆ เริ่มเชื่อถือและฟังเพื่อนมากกว่าพ่อแม่ เลียนแบบเพื่อนและสังคม เป็นต้น เมื่อสามารถเปิดวิดีทัศน์ได้ก็ได้รับความสนใจจากนักเรียนเป็นอย่างมาก นักเรียนสามารถเข้าใจในสิ่งที่เราต้องการสิ่อความหมาย จากนั้นก็ร่วมกันสรุปสิ่งที่ได้เรียนรู้โดยวิธีการซักถาม และมอบหมายให้นักเรียนทำงานเขียนแผนผังความคิดการเปลี่ยนแปลงทางเพศด้านต่าง ๆ พอสอนเสร็จเปิดประตูห้องออกไปก็เจอกับอาจารย์นิเทศ ตกใจอย่างบอกไม่ถูก แล้วก็ไปนั่งคุยตรงลานกีฬา อาจารย์ก็ถามถึงการสอนในวันนี้ มีการตรวจแผนการสอน ได้รับคำแนะนำดี ๆ เพื่อนำไปพัฒนาแผนการสอนให้เป็นแผนที่ดีและสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น เมื่อถามถึงปัญหาระหว่างการสอนก็มีปัญหาตอนเปิดวิดีทัศน์ แต่แก้ไขสถานการณ์เฉพาะหน้าด้วยการชวนพูดคุย มีปัญหาเรื่องคอมพิวเตอร์และไมค์เพราะอยู่หลังห้อง ทำให้นักเรียนลังเลว่าต้องหันไปหน้าห้องหรือหลังห้อง แต่ที่ประทับใจมากที่สุดก็คืออาจารย์จำหนูได้ เพราะตอนที่สอบสัมภาษณ์เข้าโครงการได้เข้ารับการสัมภาษณ์กับอาจารย์และอาจารย์ท่านอื่นอีกสองท่าน ขอบคุณนะคะที่วันนี้แวะเวียนมาหา รับฟังปัญหาและให้คำปรึกษาเพื่อนำไปพัฒนาการสอนและพัฒนาตัวเองต่อไป :)

อาจารย์นิเทศ (ขอบคุณรูปภาพจากภัณฑิรา ศรีใจ)

สอนแทนครูพี่เลี้ยง คาบที่สี่สอนห้อง ป.5/2 วันนี้แอม (ภัณฑิรา ศรีใจ) มาช่วยสอน ตอนแรกมีเด็กสงสัยว่าครูแอมสอนคณิตศาสตร์ไม่ใช่เหรอ ฉันก็บอกว่าครูแอมเก่ง ครูแอมสอนได้ทุกวิชา วันนี้ไม่ได้สอนอะไรมาก เฉลยแบบฝึกหัดและมอบหมายงานให้เด็กไปทำเป็นการบ้าน

ข้าวซอย เมนูวันนี้คือข้าวซอย ของหวานคือเฉาก๊วย ตอนที่เด็กยังไม่ขึ้นมาก็กินของหวานไปก่อน พอเด็กขึ้นมาก็ไปคุมเด็กกินข้าว ถ้าเป็นเมนูเส้นเด็ก ๆ จะได้กินข้าวเร็ว เพราะเส้นมันจะอืด จากนั้นถึงเวลาของเรา ระหว่างที่กินก็มีไลน์กลุ่มเด้ง ให้นักศึกษาที่ได้รับคำสั่งประชุมพร้อมกันเวลา 13.00 น. ตอนแรกก็งงว่าคำสั่งอะไร สรุปคือคำสั่งงานเสริมนอกจากงานสอน เพื่อให้นักศึกษาได้รับประสบการณ์เรียนรู้ได้ครบสมบูรณ์และเกิดความสะดวกในการปฏิบัติงานและเกิดประโยชน์ต่อราชการ โดยให้นักศึกษามีการหมุนเวียนกันไปยังจุดต่าง ๆ เดือนนี้ฉันได้เรียนรู้งานที่หอกิตติธรรม มีประชุมตอนบ่ายและก็มีสอนด้วย แต่ยังดีที่ท่านรองประชุมไม่นาน

คาบที่ห้า หลังจากประชุมเสร็จรีบไปห้องวิทยาศาสตร์ นักเรียน ป.5/1 เข้าแถวรอหน้าห้อง ฉันรีบเตรียมตัว เตรียมอุปกรณ์การทดลอง วันนี้เราจะทำกิจกรรมเรื่องเสียงเคลื่อนที่ไปได้อย่างไร ตอนแรกให้นักเรียนนำหูไปแนบกับโต๊ะ แล้วก็ใช้ไม้เคาะขาโต๊ะที่เป็นราวเหล็ก จากนั้นถามนักเรียนว่าได้ยินเสียงหรือไม่ เมื่อนักเรียนตอบว่าได้ยิน ก็ถามอีกว่าแล้วเสียงเคาะมาถึงหูของเราได้อย่างไร นักเรียนก็ช่วยกันตอบ แต่ฉันยังไม่เฉลย ชวนให้ทำกิจกรรมขั้นต่อไป ให้นักเรียนทำความเข้าใจวิธีการทำกิจกรรม ตรวจสอบความเข้าใจและลงมือปฏิบัติ การทดลองจะทำอยู่สองรอบ รอบแรกใช้ไม้เคาะส้อมเสียงแล้วนำปลายขาส้อมเสียงข้างหนึ่งจ่อที่ผิวน้ำที่บรรจุในภาชนะ แล้วสังเกตการเปลี่ยนแปลง รอบที่สองทำเหมือนเดิมแต่ใช้หูแนบข้างภาชนะ จะพบว่าผิวน้ำเกิดการสั่น เมื่อให้หูแนบข้างภาชนะก็จะได้ยินเสียง

คาบที่หก สอนเสร็จรีบขึ้นไปคุมนักเรียน ป.6/3 ทำข้อสอบ O-NET เมื่อครูพี่เลี้ยงไม่อยู่อะไรที่เราพอจะช่วยได้ก็ช่วย นี่ขนาดทำข้อสอบนะเสียงดังมาก เริ่มปวดหัว เราบอกอะไรเขาไม่ค่อยเชื่อฟังเพราะเราไม่ได้สอนเขา ไม่ได้นับถือเราเป็นครูด้วยซ้ำ

คาบสุดท้าย ไม่ไหวก็ต้องไหว เมื่อเด็กถามว่าครูหมูเหนื่อยไหม หนูเห็นครูสอนตั้งแต่เช้า ครูได้พักบ้างไหม ครูไหวหรือเปล่า ตอนแรกเหนื่อยนะ แต่พอเด็ก ๆ ถามมันทำให้หายเหนื่อย ก็บอกไปว่าครูไม่เหนื่อยหรอก แค่นี้สบายมาก จากนั้นก็เริ่มสอน สอนเรื่องเดียวกับ ป.5/1 สอนน่ะไม่เท่าไหร่แต่คุมชั้นเรียนให้อยู่ในความสงบนี่สิ วันนี้โหดบ้าง ใจดีบ้าง เด็กก็เชื่อฟังบ้าง ไม่เชื่อฟังบ้าง แต่ที่ประทับใจเกือบน้ำตาไหลคือ ตอนที่สอนเสร็จมีเด็กผู้ชายรูปร่างใหญ่คนหนึ่งไม่ยอมออกจากห้อง ฉันก็ถามว่านี่จะเรียนต่อใช่ไหม เด็กคนนั้นก็พูดว่า ผมขอโทษที่ไม่ตั้งใจเรียน ผมขอโทษที่ผมไม่เชื่อฟังครู ผมไม่ได้ตั้งใจ เพื่อนชวนผมคุย ครูหมูอึ้งสิคะ แล้วก็บอกไปว่า ครูรู้ว่าเธอเป็นเด็กดี ตั้งใจเรียน ที่ครูดุหรือเรียกชื่อเธอเพราะต้องการให้เธอกลับมาสนใจเรียนอีกครั้ง คราวหน้าก็ตั้งใจเรียนให้มาก ๆ นะ ครูจะรอดู

ปิดท้าย ถ้าถามว่าวันนี้เหนื่อยหรือไม่ เหนื่อยนะแต่เหนื่อยบางช่วง มันก็มีความรู้สึกดี ๆ ที่ได้รับจากนักเรียนก็ทำให้ครูหมูหายเหนื่อย ได้รับความห่วงใยจากครูพี่เลี้ยง ก็ทำให้หายเหนื่อย เหนื่อยกายแต่ไม่เหนื่อยใจ สู้ต่อไปคุณครูหมู

หมายเลขบันทึก: 609546เขียนเมื่อ 1 กรกฎาคม 2016 23:12 น. ()แก้ไขเมื่อ 1 กรกฎาคม 2016 23:13 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท