เรื่องเล่าสถานที่สำคัญในมหาวิทยาลัยมหาสารคาม


พิพิธภัณฑ์บ้านอีสาน

พิพิธภัณฑ์บ้านอีสาน เกิดขึ้นจากการก่อตั้งสถานีวิจัยวลัยรุกขเวช มหาวิทยาลัยมหาสารคาม เพื่อศึกษาพันธุ์ไม้ พันธุ์ไผ่ พืชสมุนไพร ซึ่งเป็นเรื่องของวิทยาศาสตร์ ต่อมาจึงมีการเพิ่มเติมการแสดงเกี่ยวกับสังคมวัฒนธรรมของอีสาน จึงจัดตั้งพิพิธภัณฑ์บ้านอีสานตามแบบประเพณีเดิม

พิพิธภัณฑ์บ้านอีสาน เกิดขึ้นจากความคิดที่ว่า "การศึกษาที่สมบูณ์จะต้องสร้างความสัมพันธ์ที่สมดุลกัน ระหว่างวิทยาศาสตร์และสังคมศาสตร์" การจัดสร้างพิพิธภัณฑ์บ้านโบราณอีสานเพื่อที่จะอธิบายสภาพชีวิตของสังคมและวัฒนธรรมอีสานด้วยข้าวและน้ำ เพราะอีสานเป็นสังคมเกษตรกรรมทำนา ที่ต้องอาศัยน้ำเป็นหลักสำคัญและยังจะโยงไปสัมพันธ์กับวิถีการดำรงชีวิตที่ผู้คนจะต้องเกี่ยวข้องกันเรื่อง ปลง พืชพันธุ์ป่าไม้ และรวมทั้งเกลือด้วย จากนั้นจึงดำเนินการสร้างพิพิธภัณฑ์ด้วยการสร้างบ้านเรือนที่อยู่อาศัยของชาวอีสาน คือที่อยู่อาศัยของชีวิตครอบครัว ซึ่งจะรวมไปถึงความสัมพันธ์ของระบบเครือญาติเพื่อนบ้าน

พิพิธภัณฑ์บ้านอีสาน ตั้งอยู่ในสถานีวิจัยวลัยรุกขเวช มหาวิทยาลัยมหาสารคาม บริเวณที่ตั้งพิพิธภัณฑ์จัดให้มีลานบ้านอยู่ตรงกลาง โดยมีบ้านแต่ละหลังอยู่โดยรอบ พยายามรักษาต้นไม้และบริเวณรอบๆ หมู่บ้านยังเป็นป่าโคกดงเค็ง ซึ่งใช้เป็นสถานที่ในการศึกษาพืชพันธุ์ของสถานีวิจัยวลัยรุกขเวช

ภายในพิพิธภัณฑ์เป็นแหล่งรวบรวมข้อมูล จัดแสดงชีวิตความเป็นอยู่สะท้อนให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระบบเครือญาติ ทั้งยังเป็นการอนุรักษ์สถาปัตยกรรมท้องถิ่นอีกด้วย รวมทั้งแสดงการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากภูมิปัญญาของชาวอีสาน โดยนำข้อมูลเหล่านั้นจัดแสดงในบ้านแต่ละหลังซึ่งเป็นบ้านอีสานรูปแบบเดิมจากชุมชนต่างๆ เช่น เรือนของชาวแสก เรือนผู้ไท บ้านแต่ละหลังได้จัดแสดงเรื่องต่างๆ กัน ประกอบด้วย เรือนพันธุ์ข้าว เรือนประมงน้ำจืด เรือนทอผ้า เรือนหมอยา เรือนเครื่องดนตรี โดยมีสิ่งของจัดแสดงอยู่ภายใน เช่น เครื่องมือจับปลา เครื่องมือทอผ้า สมุนไพร เป็นต้น ผู้ชมยังสามารถจับสิ่งของเหล่านั้นได้ ที่นี่นับเป็นอีกตัวอย่างหนึ่งที่พยายามบอกให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติในรูปแบบง่ายๆ และใกล้ตัวที่สุด

หมายเลขบันทึก: 609428เขียนเมื่อ 30 มิถุนายน 2016 01:20 น. ()แก้ไขเมื่อ 30 มิถุนายน 2016 01:47 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท