​ชิตัง เม - คำพูดสุดประเสริฐ


ทุกวันนี้ ประโยคที่พราหมณ์ชื่อจูเฬกสาฏกเปล่งออกมาด้วยความปีติอย่างที่สุดว่า “ ชิตัง เม ” หรือ “ ชิตํ เม ” ในภาษาบาลีเป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวาง บางท่านนำประโยคนี้ผูกพันกับการมีการได้ในทางปาฏิหาริย์ จึงใคร่นำที่มาของคำพูดนี้ตามที่อรรถกถาจารย์เล่าไว้และความหมายในใจผู้พูดประโยคนี้มาชวนพิจารณา แต่ก่อนจะชวนพิจารณาในลำดับต่อไป คงต้องนำต้นเรื่องตามที่อรรถกถาจารย์บรรยายไว้ มาเล่าสู่กันฟังก่อน


อรรถกถาจารย์บรรยายไว้ว่า ในสมัยหนึ่งที่พระพุทธเจ้าประทับอยู่ในเชตวัน พราหมณ์คนหนึ่งชื่อว่า จูเฬกสาฏกะมีผ้าสาฎกที่ใช้นุ่งเพียงผืนเดียว ดังนั้นเมื่อได้ยินว่าพระพุทธเจ้าจะแสดงธรรมในวิหาร เขาจึงปรึกษานางพราหมณี ว่าทั้งสองคนมีผ้าเพียงผืนเดียวคงไปฟังธรรมพร้อมกันไม่ได้ต้องสลับกันไป นางพราหมณีบอกว่านางจะไปตอนกลางวัน ให้พราหมณ์ไปตอนกลางคืน

คืนนั้น พราหมณ์นั่งฟังธรรมเกิดความเข้าใจในอรรถจนปีติแผ่ซ่านไปทั้งตัวกระทั่งอยากจะบูชาพระพุทธเจ้าด้วยข้าวของที่ตนมี ซึ่งก็คือผ้าผืนเดียวที่ตนนุ่งอยู่นี้ แต่ก็คิดขึ้นว่า ถ้าตนถวายผ้าสาฏกนี้ ทั้งตนและนางพราหมณีก็จะไม่มีใช้สอย ใจก็เกิดตระหนี่ขึ้น แต่ต่อมาก็เลื่อมใสใคร่จะถวายอีก แต่ความตระหนี่ก็เกิดขึ้นในใจอีก จิตที่ปรารถนาจะถวายและตระหนี่เกิดดับสลับกันไปมาอย่างนี้ตั้งแต่ยามแรกของคืนนั้นเป็นต้นไป

ในที่สุด ในช่วงท้ายของยามปลายในคืนนั้นเองพราหมณ์ก็คิดขึ้นมาว่า จิตที่ประกอบด้วยศรัทธาจนใคร่สละ กับจิตที่ประกอบด้วยตระหนี่จนทำให้สละไม่ได้ ได้สู้รบกันมาตั้งแต่ยามต้น หากตนไม่สามารถเอาชนะ จิตที่ประกอบด้วยความตระหนี่คงยกศีรษะตนออกจากอบายไม่ได้เป็นแน่ เมื่อคิดได้อย่างนี้จึงตัดสินใจให้จิตที่ประกอบด้วยศรัทธาเป็นปุเรจาริก คือเป็นหัวหน้า แล้วนำผ้าสาฏกไปวางถวายที่แทบพระบาทพระศาสดา

ขณะที่ซบศีรษะกับพระบาทนั้นเอง ก็เปล่งเสียงออกมาอย่างดังว่า

“ชิตัง เม”

“ชิตัง เม”

ชิตัง เมนั้น แปลว่า เราชนะแล้ว

ขณะนั้นเอง พระเจ้าปเสนทิโกศลกำลังประทับนั่งสดับพระธรรมอยู่ด้วย พอได้ยินเสียงดังขึ้นว่าเราชนะแล้ว ซ้ำแล้วซ้ำเล่าอย่างนั้นก็ทรงประหลาดพระทัย จึงให้ราชบุรุษไปสอบถามดู พอทรงทราบเรื่องราว ก็มีพระดำริว่า พราหมณ์ทำสิ่งที่ทำได้ยาก จึงรับสั่งให้พระราชทานผ้าสาฏกแก่ทั้งพราหมณ์คู่หนึ่ง

แต่พราหมณ์ก็ยังนำผ้าที่ได้รับพระราชทานมาถวายบูชาพระศาสดาอีก จึงพระราชทานให้เป็นทวีคูณขึ้นเรื่อยๆ คือ ๒ คู่ , ๔ คู่, ๘ คู่, ๑๖ คู่ , เขาก็ยังถวายผ้าเหล่านั้นแก่พระศาสดาอยู่ดี ในที่สุด เมื่อพระราชทานผ้าให้ถึง ๓๒ คู่ พราหมณ์ไม่อยากให้ใครๆพากันยกย่องว่าเขาไม่รับอะไรๆ สละผ้าที่ได้ทั้งหมด จึงรับผ้าเพื่อตนคู่หนึ่ง เพื่อนางพราหมณีคู่หนึ่ง ถวายผ้าที่เหลือแด่พระศาสดา

ฝ่ายพระเจ้าปเสนทิโกศล ทอดพระเนตรเห็นอย่างนั้น ก็มีพระประสงค์จะพระราชทานอีก จึงตรัสให้ราชบุรุษนำผ้ากัมพล ๒ ผืนจากในวังซึ่งมีค่าถึงหนึ่งแสนมาเพื่อมอบให้พราหมณ์ เมื่อพราหมณ์ได้ผ้าสูงค่าอย่างนั้น ก็คิดว่าผ้านี้ไม่ควรแม้แต่จะถูกต้องตัวตน จึงถวายเป็นผ้าดาดตรงเพดานเหนือพระแท่นบรรทมในพระคันธกุฏีผืนหนึ่ง อีกผืนดาดตามเพดานในที่ฉันของภิกษุในเรือนตน

เวลาเย็น พระเจ้าปเสนทิโกศลเสด็จมาเฝ้าพระศาสดา เห็นผ้าเข้าก็จำได้ เมื่อทรงทราบว่าพราหมณ์เป็นผู้ถวายก็ทรงมีดำริว่าพราหมณ์ก็เลื่อมใสในพระศาสดาเช่นเดียวกันกับพระองค์ จึงพระราชทานสิ่งต่างๆแก่พราหมณ์อย่างมากมายอย่างละ ๔ คือ ช้าง ๔, ม้า ๔, กหาปณะ (เงินตราในสมัยนั้น) ๔ พัน, สตรี ๔, ทาสี ๔, บุรุษ ๔, และบ้านส่วย ๔

เหล่าภิกษุเมื่อทราบเรื่อง พอถึงเวลาฟังธรรมก็พากันมาประชุมกันที่โรงธรรม ในช่วงเวลาก่อนที่พระศาสดาจะเสด็จมาถึง ก็พากันเล่าขานถึงเรื่องนี้ในโรงธรรมกันอย่างเซ็งแซ่ เมื่อพระศาสดาเสด็จมา ตรัสถามว่า เหล่าภิกษุคุยกันถึงเรื่องอะไร คุยเรื่องอะไรกันค้างไว้ เมื่อทรงทราบเรื่อง จึงได้ตรัสบอกว่า หากพราหมณ์สามารถที่จะถวายผ้าแก่พระองค์ในยามต้น เขาจะได้แต่ละอย่างที่เขานั้น อย่างละ ๑๖ ถ้าสามารถถวายได้ในยามกลาง จะได้แต่ละอย่างนั้น อย่างละ ๘ แต่เพราะถวายในเวลาจวนรุ่ง จึงได้แต่ละอย่างในจำนวนอย่างละ ๔ และตรัสด้วยว่า แท้จริง กรรมอันงามที่บุคคลทำคือเมื่อเกิดจิตอันประกอบด้วยกุศลกรรมนั้นเกิดขึ้นแล้ว ควรกระทำตามจิตอันเป็นกุศลนั้นทันที ควรห้ามจิตจากบาป ไม่ควรสร้างกุศลช้า เพราะว่ากุศลที่สร้างช้า เมื่อจะให้คุณ ก็ให้คุณช้าเช่นกัน จากนั้นจึงตรัสพระคาถานี้ว่า

อภิตฺถเรถ กลฺยาเณ ปาปา จิตฺตํ นิวารเย

ทนฺธํ หิ กรโต ปุญฺญํ ปาปสฺสมึ รมตี มโน ฯ

บุคคลพึงรีบขวนขวายในกรรมอันงาม พึงห้ามจิตจากบาป

เพราะว่า เมื่อบุคคลทำบุญช้า ใจจะยินดีในบาป

นี่คือที่มาของคำพูดที่ว่า ชิตัง เม ที่มาของคำตรัสอันเป็นคาถา และเรื่องราวของพราหมณ์ที่ตามมา ที่ชวนให้คิดไปว่า ไม่ว่าเราจะสละอะไร เราจะได้สิ่งที่สูงค่ากว่าสิ่งที่เราสละไปเป็นจำนวนมากตอบแทนการสละนั้นๆ จึงใคร่เชิญพิจารณากันถึงความหมายที่ว่า ชิตัง เม คือเราชนะแล้วนั้น พราหมณ์ชนะอะไร หรือ การที่พราหมณ์ได้สิ่งต่างๆตอบแทนจริงตามที่อรรถกถาจารย์เล่าไว้นั้น การตอบแทนนั้นตอบแทนต่ออะไร


มาพิจารณาที่คำว่า ชิตัง เม กันก่อน

เหตุที่ทำให้พราหมณ์ถวายผ้าแด่พระศาสดามาจากหลายเหตุที่เป็นกุศล คือการที่พราหมณ์ได้ฟังธรรม พิจารณาตาม แล้วเกิดความซาบซึ้งในความหมายของพระธรรมอันประเสริฐ อันนำคุณประโยชน์มาสู่ชีวิต เกิดศรัทธาในพระพุทธเจ้าจนใคร่จะบูชาพระองค์ เป็นเหตุที่เกิดตามๆกันมาในเบื้องต้น

กับเหตุที่เกิดตามๆกันมาในเวลาต่อมาคือ เพราะความที่พราหมณ์มีผ้าเพียงผืนเดียว เมื่อใคร่ครวญดูแล้วเห็นว่าตนยังจำเป็นต้องใช้สอยอยู่ จึงไม่อาจสละ แต่ต่อมา พราหมณ์สามารถแยกได้ว่า จิตเป็นสภาพเกิดดับ จิตที่ประกอบด้วยศรัทธาก็ดวงหนึ่ง เกิดขึ้นแล้วดับไป จิตที่ประกอบด้วยตระหนี่ก็อีกดวงหนึ่ง เกิดขึ้นแล้วก็ดับไปอีกเช่นกัน จิตที่ประกอบด้วยความตระหนี่มีกำลังมากกว่าจึงยึดครองใจตนไว้ พราหมณ์ต้องการสละจิตที่ประกอบด้วยอกุศลธรรมคือความตระหนี่อันเป็นอกุศล ต้องการรักษาจิตที่เป็นกุศลและทำให้เจริญ จึงตัดสินใจสละอกุศลธรรมออกจากจิต อันทำให้เกิดการสละผ้านุ่งตามมา

ดังนั้น ที่พราหมณ์พูดว่าเขาชนะแล้วนั้นจึงเป็นการชนะกิเลสในใจตนนั่นเอง

ผลของการสละ

เมื่อพราหมณ์สละผ้าอันเป็นผลจากความต้องการสละกิเลส สิ่งที่พราหมณ์ทำนั้น มีเจตนาเพียงสละความตระหนี่โดยไม่ได้หวังผลตอบแทนอื่นใด ซึ่งอานิสงส์อันเป็นผลตอบแทนตามธรรมที่พราหมณ์ได้รับในทันที ก็คือ สุขจากการสละกิเลสอันเป็นสุขที่เลิศอย่างยิ่ง แต่เพราะพราหมณ์สละช้า ผลที่ได้รับจึงช้า สมดึงที่ตรัสอธิบายแก่เหล่าภิกษุว่า การทำบุญช้า คุณจากการกระทำอันเป็นบุญก็จะเกิดช้าตามไปด้วย ดังจะเห็นได้ว่ากว่าที่พราหมณ์จะได้รับสุขอันเลิศก็เป็นเวลาจวนรุ่ง ทั้งๆที่พราหมณ์ควรได้รับสุขอันเลิศอย่างนี้ตั้งแต่ยามต้นของคืนนั้น

ส่วนผลตอบแทนอันเป็นสิ่งของต่างๆที่พราหมณ์ได้รับในภายหลังนั้น เป็นผลพลอยได้ที่ผู้อื่นที่มีศรัทธาเช่นเดียวกันกับพราหมณ์ปรารถนาจะให้แก่เขา ซึ่งผลนี้เป็นผลที่พราหมณ์ไม่ได้คาดหวัง

เมื่อทราบเรื่องราวของ ชิตัง เม อย่างนี้แล้ว ชาวพุทธควรวางใจอย่างไรกับการสละ

มีคำตรัสว่า คำสอนของพระองค์นั้น น้อมลงสู่การสละ การปล่อยวาง ความว่างจากความเห็นว่าเป็นตน ไม่ใช่การกระทำที่ทำให้เกิดอกุศลธรรมเช่น โลภ โกรธ หลง งอกงามในใจ ดังนั้นการสละใดๆ หากหวังว่าจะได้สิ่งที่สูงค่ากว่ากลับคืนมา เช่น สละเพื่อให้ได้ทรัพย์เป็นอันมากตอบแทน สละเพื่อให้ได้เกิดในสวรรค์ แม้อานิสงส์ของการสละนั้นจะตรัสว่ามีอยู่จริง แต่การหวังได้อานิสงส์นั้นก็เป็นสิ่งที่ไม่ทรงสรรเสริญ

จึงใคร่เสนอว่า เราควรแยกออกว่า

สิ่งใดการกระทำที่ควรทำ สิ่งใดเป็นผลของการกระทำนั้นๆ

สิ่งใดควรหวังว่าจะทำให้มาก สิ่งใดไม่ควรหวัง

นั่นคือ การกระทำอันเป็นบุญเป็นสิ่งที่เราควรทำและควรทำให้มาก แต่ขณะเดียวกันแม้จะรู้ว่าบุญมีผลอย่างไรก็ควรฝึกที่จะวางใจเป็นกลางกับอานิสงส์ที่ตรัสบอก เราควรเพียรทำเหตุคือการสละ แต่ไม่ควรหวังจะได้ผลคืออานิสงส์ของการสละ ถ้าผลจะเกิดก็เป็นเรื่องของผลที่เกิดจากเหตุแต่เราไม่ควรไปยึดมั่นกับผลของเหตุนั้น เพราะเมื่อหวังผลแล้วหากไม่ได้ดังที่หวังทุกข์ใหญ่อาจตามมาอย่างคาดไม่ถึง และวนเวียนในสังสารวัฏฏ์


อย่างเช่นพราหมณ์จูเฬกสาฏก หากพราหมณ์หวังว่าจะได้รับพระราชทานจากพระเจ้าปเสนทิโกศล หากพระองค์ไม่พระราชทานให้ พราหมณ์และนางพราหมณีจะต้องทุกข์ใจขนาดไหน การไม่มีผ้านุ่ง ให้ต้องขวนขวายหาใหม่ก็คงชวนให้การดำรงชีวิตยุ่งยากพออยู่แล้ว หากต้องทุกข์ใจเพราะไม่ได้อย่างที่หวังอีก ความทุกข์คงยิ่งถมทับทวี แต่เมื่อตั้งใจสละกิเลส แม้จะทุกข์กายอย่างไร ความสุขที่รู้ว่าตนสละกิเลสได้ก็คงหล่อเลี้ยงใจตนให้ผ่านพ้นทุกข์กายไปได้ ไม่มีทุกข์ใจมาซ้ำเติมกาย

เราๆที่กำลังฝึกการสละอยู่อาจไม่สามารถทำใจไม่ให้อยากได้ผลของการสละได้ จึงควรรู้ว่าการสละเพื่อตน ส่งผลให้มีตัวตนวนเกิดไปรับผลต่อไป ดังนั้นหากยังตัดใจสละตั้งแต่ของที่สละและผลของการสละยังไม่ได้ ก็ต้องรู้ว่ายังต้องเวียนว่ายพบทุกข์และสุข และเราควรมีการพิจารณาแล้วจึงสละ สละตามกำลังที่ตนทำได้ เพื่อป้องกันใจไม่ให้หลงใหล อยากได้ในผลของบุญจนเกินไปสมดังที่ท่านพุทธทาสเคยใช้คำว่า “เมาบุญ” เรียกการสละโดยไม่มีการพิจารณานี้ ส่วนอานิสงส์อื่นๆที่อาจตามมาเป็นต้นว่า มีคนสรรเสริญหรือให้สิ่งของตอบแทนเรา เราก็ควรรู้ทันเพื่อไม่ให้หลงยินดีจนกุศลกลายเป็นปัจจัยให้อกุศลในภายหลัง

ดังนั้น แม้เราอาจยินดีกับสิ่งดีๆทางโลกหรือหวังผลของการกระทำในระยะแรก แต่ต่อมาก็ควรน้อมลงสู่การสละเช่นกัน เช่น อาจพิจารณาให้วางใจเป็นกลางกับคำสรรเสริญนั้นๆด้วยอนุโมทนาที่เขาเกิดกุศลจิต ที่เขาพลอยยินดีกับสิ่งดีๆที่เขามองเห็นจนอาจถึงกับอาจกระทำตาม เป็นต้น เพื่อที่ว่าจะไม่หลงเพลินจนยึดมั่นในสิ่งเหล่านั้นจนกลายเป็นการสละเพื่อความหวัง สละเพื่อการได้ จนทำให้การสละก่อให้เกิดกิเลสและทุกข์ตามมา

อีกทั้งควรเข้าใจความหมายของบาปและบุญในแง่ที่ประณีตขึ้น คือ บาปมีความหมายหนึ่งว่ากรรมที่ทำให้สัตว์ถึงทุคติ ทุคติมีความหมายหนึ่งว่า ภูมิเป็นที่ตั้งแห่งทุกข์ ส่วนบุญคือเครื่องชำระบาป ดังนั้น การกระทำใดๆทั้งทางกาย วาจา ใจ ที่ก่อให้เกิดความทุกข์ในภายหลัง ทำอกุศลธรรมให้งอกงามในใจ ก็คือการกระทำอันเป็นบาปได้แล้ว

เช่น การนำตนไปเปรียบเทียบกับผู้อื่นแล้วเกิดความลำพองใจว่าตนเหนือกว่า เมื่อเห็นว่าเขาได้ดีก็เกิดความคิดหวังให้เขาเสียหาย การคิดหวังปองทรัพย์สินของเขาอยู่ในใจ(แม้จะไม่ได้ทำจริงๆ) การคิดหาถ้อยเสียดสีเพื่อไปว่ากล่าวให้เขาเสียใจ การขัดใจที่เขารู้ว่าเราทำในสิ่งที่ไม่ควรทำ การโกรธที่เขาว่ากล่าวตักเตือนเรา การหวังว่าเราจะเป็นที่กล่าวขวัญถึง การคิดปกป้องผู้อื่นเพราะเห็นแก่ประโยชน์ตน เป็นต้น

บาป จึงไม่ได้หมายความเฉพาะการกระทำผิดที่มองเห็นได้อย่างชัดเจน เช่น ทำร้ายร่างกาย ลักทรัพย์ ฯลฯ แต่อย่างใด

นี้คือที่มาของคำพูดที่ว่า ชิตัง เม ที่ใคร่ชวนพิจารณา

ที่ผู้ที่สละควรถามตัวเองว่า การสละของตน นำไปสู่ปลายทางคืออะไร

ตนสุขใจในการสละเพราะหวังเพียงชนะกิเลส หรือเพื่อประโยชน์แก่ส่วนรวมจริงหรือไม่ หรือสุขใจเพราะรู้ว่าสละแล้วจะได้อะไรตามมา

เมื่อสละแล้ว ตนพอใจในสิ่งที่มีแล้ว ได้แล้ว หรือไม่ หรือว่าแม้จะสละเท่าไรก็ยังรู้สึกว่ายังได้ไม่พอ

กระทั่ง สละเท่าไร ก็ยังไม่สุขใจในการสละได้สักที

หมายเลขบันทึก: 609030เขียนเมื่อ 23 มิถุนายน 2016 17:26 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2016 17:26 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

เห็นดอกกล้วยไม้ที่พี่วาดแล้วทำให้นึกถึงโจทย์งานศิลปะของลูกชายวัยเก้าขวบค่ะ

สวัสดีค่ะอาจารย์จันท์

ป่านนี้ลูกคงวาดสำเร็จแล้วมังคะ ^_^

สาธุๆ

ได้เรียนรู้และขอสาธุ

ที่ได้เผยแพร่ข้อคิดดีๆในหนังสือพิมพ์ด้วยครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท