ประวัติเมืองสงขลา (47) น้ำกระจาย


แม้สถานีน้ำกระจายจะไม่มีผู้โดยสารคึกคักเหมือนสงขลา แต่การตั้งสถานีที่นี่ช่วยอำนวยความสะดวกในการขนส่งผลิตผลทางการเกษตรออกสู่ตลาด

แม้จะเคยเป็นหมู่บ้านเล็ก ๆ อยู่ท่ามกลางสวนมะพร้าว คนต่างถิ่นไม่ค่อยมีใครรู้จัก แต่บ้านน้ำกระจายก็เป็นชุมชนเก่าแก่ มีหลายสิ่งหลายอย่างที่น่าจะบันทึกไว้ช่วยจำ

น้ำกระจายอยู่ห่างจากตัวเมืองสงขลามาทางทิศใต้ราว 10 กิโลเมตรเศษ ในท้องที่ตำบลพะวง อำเภอเมืองสงขลา มีถนนอย่างดีเชื่อมกับเมืองสงขลามาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 เมื่อครั้งพระยาวิเชียรคิรี (บุญสัง) ตัดถนนสงขลา-ไทรบุรี ในปี พ.ศ. 2405 ซึ่งต่อมาตั้งชื่อว่าถนนกาญจนวนิช

เมื่อสร้างทางรถไฟสายใต้ ทางรถไฟช่วงสงขลา-อู่ตะเภา-พัทลุง ก็เป็นเส้นทางช่วงแรก ๆ ที่เปิดเดินรถ โดยมีสถานีรายทางระหว่างสงขลากับอู่ตะเภา 3 สถานี คือ น้ำกระจาย ควนหิน และน้ำน้อย เปิดเดินรถครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2456

ดังนั้น เมื่อเกือบร้อยปีที่แล้ว ถ้านั่งรถไฟออกจากสถานีสงขลา สถานีแรกก็คือสถานีน้ำกระจายนั่นเอง ที่น่าสังเกตคือในแผนที่มณฑลนครศรีธรรมราชในสมัยรัชกาลที่ 6 มีระบุชื่อสถานีไว้ว่า สถานีน้ำจาย ตกคำว่า กระ ไป คงเป็นเพราะเรียกแบบคนใต้ที่มักตัดคำให้สั้นลง โดยเฉพาะคำที่ขึ้นต้นว่ากระในภาษาไทยภาคกลาง เช่น กระบอก คนใต้ก็จะเรียก บอก เฉย ๆ

ถ้าเช่นนั้น ชื่อน้ำกระจายมาจากไหน อันนี้ยังไม่ทราบแน่ชัด เคยได้ยินมาบ้างว่าบริเวณแถบนี้เป็นที่ราบเชิงเขา ลาดลงสู่ทะเลสาบสงขลา ในหน้าน้ำไม่ค่อยมีปัญหาน้ำท่วมเพราะสามารถกระจายน้ำลงสู่ทะเลสาบได้อย่างรวดเร็ว อีกทั้งยังมีคลองอีก 2 คลอง คือคลองวงและคลองน้ำกระจายช่วยระบายน้ำได้อีก

แต่ผมเองก็ไม่ค่อยอยากยึดถือเอาเรื่องเล่าข้างต้นนี้เป็นข้อยุติ เพราะไม่น่าเชื่อว่าคนใต้จะนำคำว่ากระจายมาใช้เป็นชื่อหมู่บ้าน ด้วยมิใช่คำใต้แท้อย่างที่กล่าวแล้ว อีกประการหนึ่ง ตำบลข้างเคียงคือ ตำบลน้ำน้อยนั้น ก็ใช่ว่าจะมาจากเป็นพื้นที่กันดารขาดแคลนน้ำแต่อย่างใด มีเรื่องเล่าว่ามาจากคำว่าน้ำย้อย เพราะมีน้ำตกไหลลงมาจากภูเขา

ในอดีตแม้สถานีน้ำกระจายจะไม่มีผู้โดยสารคึกคักเหมือนสงขลา แต่การตั้งสถานีที่นี่ช่วยอำนวยความสะดวกในการขนส่งผลิตผลทางการเกษตรออกสู่ตลาด เมื่อยกเลิกรถไฟสายสงขลาไปในปี พ.ศ. 2521 ที่พักผู้โดยสารก็ถูกรื้อออก เหลือเพียงฐานเสาให้เห็นเล็กน้อยอยู่ที่ลานดินใต้ต้นเลียบใหญ่ ข้างศาลเจ้าพ่อต้นเลียบ

ชุมชนบ้านน้ำกระจายเติบโตมาอย่างช้า ๆ ค่อยเป็นค่อยไป โรงเรียนประชาบาลตำบลพะวง 1 ตั้งขึ้นราวปี พ.ศ. 2468 โดยใช้ศาลาการเปรียญวัดน้ำกระจายเป็นที่เรียน หนังกั้น ทองหล่อ ศิลปินแห่งชาติสาขาศิลปะการแสดง (หนังตะลุง) ปี 2529 ก็เป็นศิษย์เก่ารุ่นแรก ๆ ต่อมาโรงเรียนได้ย้ายมาตั้งริมถนนกาญจนวนิช เมื่อปี พ.ศ. 2484 ให้ชื่อว่าโรงเรียนบ้านน้ำกระจาย

ความเจริญเริ่มเข้าสู่น้ำกระจายมากขึ้น เมื่อมีการตัดถนนแยกไปสะพานติณสูลานนท์ ทางหลวง 408 เชื่อมถนนสงขลา-ปัตตานีและตัดถนนสงขลา-หาดใหญ่สายใหม่ จนกลายเป็นห้าแยกน้ำกระจายที่มีการจราจรคับคั่งที่สุดแห่งหนึ่งของสงขลา

ตรงนี้จะเป็นสถานีรถไฟน้ำกระจายในอนาคต หากโครงการขนส่งมวลชนระบบรางเชื่อมโยงหาดใหญ่-สงขลา (สงขลาเรลลิงก์) ได้รับการฟื้นฟูและพัฒนาขึ้นมาอีกครั้ง

หมายเลขบันทึก: 607872เขียนเมื่อ 5 มิถุนายน 2016 16:24 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 มิถุนายน 2016 06:45 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท