ประวัติเมืองสงขลา (45) ช่อง 10 หาดใหญ่


ละครไทยยอดฮิตในสมัยนั้นคือ ผู้กองยอดรักและประชาชนชาวแฟลต แต่ถ้าเป็นหนังจีน ต้องยกให้กระบี่ไร้เทียมทาน

นักสะสมภาพถ่ายเก่าเมืองสงขลาท่านหนึ่ง นำภาพขาวดำถ่ายภายในตลาดสดเทศบาลหาดใหญ่มาให้ช่วยกันวิเคราะห์ว่าน่าจะถ่ายในช่วงเวลาใด

ตอนแรกดูเสื้อผ้า เครื่องแต่งกายของชาวบ้าน พ่อค้า แม่ค้าในตลาด ผู้หญิงนุ่งผ้าถุงแล้ว นึกย้อนไปไกลถึงยุค 2480 สมัยแรกตั้งเทศบาลตำบลหาดใหญ่ใหม่ ๆ เลย

เพิ่งมานึกได้ เมื่อเห็นสายอากาศโทรทัศน์แบบก้างปลาอยู่บนหลังคาตึกแถวแบบเก่าริมถนนมนตรี ปริศนาก็เริ่มคลี่คลาย ช่วงเวลาเริ่มแคบลงมาทันที

แม้เมืองไทยของเราจะเริ่มมีโทรทัศน์มาตั้งแต่ พ.ศ. 2498 ที่รู้จักกันในนามช่อง 4 บางขุนพรหม แต่ก็มีรัศมีการแพร่ภาพออกอากาศอยู่แต่ในกรุงเทพและปริมณฑลเท่านั้น รัฐบาลเริ่มมีนโยบายให้จัดตั้งสถานีโทรทัศน์ในส่วนภูมิภาคขึ้นตั้งแต่ พ.ศ. 2502

สำหรับจังหวัดสงขลา ตั้งสถานีโทรทัศน์ขึ้นที่หาดใหญ่ตั้งแต่ พ.ศ. 2503 และเริ่มแพร่ภาพออกอากาศเป็นครั้งแรกในวันที่ 2 พ.ค. 2505 มีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการว่า สถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย จังหวัดสงขลา สังกัดกรมประชาสัมพันธ์ แต่ชาวบ้านนิยมเรียกกันทั่วไปว่า ทีวีช่อง 10 หาดใหญ่ ตามช่องความถี่ในการแพร่ภาพและสถานที่ตั้งสำนักงาน

ระยะแรกออกอากาศด้วยระบบขาวดำ 525 เส้น โทรทัศน์สมัยนั้นใช้สายนำสัญญาณแบบแบนสีดำ ข้างในมีลวดสองเส้น ช่างเรียกสาย 300 โอห์ม เดี๋ยวนี้หาดูได้ยากขึ้นเรื่อย ๆ เปลี่ยนมาใช้สายกลมสีขาวหมดแล้ว

ช่อง 10 หาดใหญ่เริ่มพัฒนาระบบจากขาวดำเป็นสีราว พ.ศ. 2515 โดยทางช่างเทคนิคได้พยายามดัดแปลงเครื่องส่งเดิมให้ออกอากาศเป็นสีได้ แต่ในขณะนั้นก็มีข้อจำกัดคือเป็นภาพสีเฉพาะรายการที่ใช้ฟิล์ม ส่วนละครโทรทัศน์ที่บันทึกเทปและรายการถ่ายทอดสด ยังเป็นขาวดำอยู่

ก่อนหน้าปี 2524 นั้น ชาวจังหวัดสงขลาและบริเวณใกล้เคียงมีโทรทัศน์ให้รับชมเพียงช่องเดียว ยังไม่เกิดสงครามเปลี่ยนช่องทีวีของเด็ก ๆ ในครอบครัวให้เห็น แม้ว่ายังพอมีทางเลือก สามารถรับสัญญาณโทรทัศน์ของมาเลเซียได้อีก 2 ช่อง คือ RTM1 (เริ่มแพร่ภาพในปี 2506) และ RTM2 (เริ่มปี 2512) ไว้เปลี่ยนบรรยากาศ แม้ภาพจะไม่ค่อยชัดเพราะไกลสถานี และฟังภาษามลายูไม่ออกก็ตาม

ผังรายการของช่อง 10 หาดใหญ่ยุค 2523 มีหลายอย่างที่ยังอยู่ในความทรงจำของคนรุ่นอายุ 35 ปีขึ้นไป วันธรรมดาเปิดสถานีตอน 4 โมงเย็น ส่วนเสาร์อาทิตย์เปิดตั้งแต่ 9 โมงเช้า ปิดสถานีตอนเที่ยงคืน ช่วงหัวค่ำหยุดออกอากาศชั่วคราวเพื่อประหยัดไฟฟ้า ถ่ายทอดข่าวเพียงวันละ 1 ชั่วโมงตอนสองทุ่ม

ละครไทยยอดฮิตในสมัยนั้นคือ ผู้กองยอดรักและประชาชนชาวแฟลต แต่ถ้าเป็นหนังจีน ต้องยกให้กระบี่ไร้เทียมทาน ซึ่งทางช่อง 10 ได้นำเทปจากส่วนกลางช่อง 3 มาออกอากาศ

ความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่เกิดขึ้น เมื่อช่อง 7 สีได้ขยายเครือข่ายสู่ส่วนภูมิภาค ตั้งสถานีถ่ายทอดสัญญาณบนเขาคอหงส์ และละครดาวพระศุกร์ที่มีคุณมนฤดี ยมาภัยแสดงคู่กับคุณพล พลากรก็โด่งดังสุดขีด

วันนี้จานรับดาวเทียมสีต่าง ๆ ทั้งเล็กและใหญ่เริ่มแทนที่สายอากาศก้างปลา หากต้องอ่านช่วงเวลาในภาพถ่ายบ้านเมือง มองหาหลังคาบ้าน คำตอบอาจจะอยู่ในภาพก็ได้

หมายเลขบันทึก: 607870เขียนเมื่อ 5 มิถุนายน 2016 16:18 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 มิถุนายน 2016 06:45 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท