ประวัติเมืองสงขลา (38) พญานาคในป่าสน


เมื่อพบแต่เฉพาะส่วนหางของพญานาคที่นี่ คงต้องเดินต่อเพื่อไปยังส่วนหัวของพญานาค

แม้จะเผชิญหน้ากับปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งอย่างต่อเนื่อง แต่สิ่งที่หาดสมิหลาได้เปรียบชายหาดในเมืองท่องเที่ยวชายทะเลสำคัญอื่น ๆ และเป็นความภาคภูมิใจของชาวสงขลาคือ หาดสมิหลายังคงความเป็นชายหาดสาธารณะ

ในขณะที่หาดดัง ๆ มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักหลายแห่งของไทย พื้นที่ติดทะเลถูกพัฒนาเป็นโรงแรม รีสอร์ท ร้านอาหารเบียดเสียดกันแน่น จนบางครั้งหาทางลงจากถนนไปยังชายหาดไม่ได้

หากต้องการจะชมความงามของทิวทัศน์ริมหาด คงหลีกเลี่ยงไม่พ้น ต้องเป็นลูกค้าของโรงแรม ทั้ง ๆ ที่หาดทรายชายทะเลก็เป็นที่สาธารณะ

จึงนับเป็นโชคดีของสงขลา ที่ชายหาดภายในเขตเทศบาล ความยาวกว่า 7 กิโลเมตร ตั้งแต่ริมเขื่อนที่แหลมสนอ่อนจรดปากคลองสำโรงที่เก้าเส้งนั้น พื้นที่ติดหาดเป็นที่ตั้งของสถานที่ราชการและที่ดินราชพัสดุทั้งหมด นักท่องเที่ยวและชาวบ้านสามารถเข้าไปพักผ่อน ใช้ประโยชน์ได้อย่างเต็มที่และสบายใจ

เพียงแต่เมื่อได้ชื่อว่าเป็นชายหาดสาธารณะแล้ว ไม่มีผู้ประกอบการธุรกิจ โรงแรม รีสอร์ทเข้ามาดูแลรักษาความสะอาด ภาระหน้าที่นี้จึงต้องตกเป็นของเทศบาล และประชาชนที่เข้ามาเที่ยวนั่นเอง

ผมเลือกเอาช่วงเย็น ซึ่งพระอาทิตย์คล้อยไปทางทิศตะวันตกแล้ว เดินเล่นชมความงามของหาดสมิหลาไปตามถนนชลาทัศน์ ตั้งต้นจากบริเวณลานวัฒนธรรม สุดปลายถนนทะเลหลวง เดินขึ้นไปทางทิศเหนือเรื่อย ๆ จนกว่าจะเหนื่อยเมื่อยขา

เข้าสู่เดือนพฤศจิกายน เดือนที่ฝนตกชุกที่สุดในรอบปีของสงขลา วันนี้แม้ฝนจะยังไม่ตั้งเค้ามา แต่ชาวบ้านและนักท่องเที่ยวก็บางตา ซุ้มร้านขายขนม เครื่องดื่มและของที่ระลึกริมถนนปิดบริการเป็นส่วนมาก

ริมถนนด้านชายหาด มีประติมากรรมสมัยใหม่ให้ชมเป็นระยะ ๆ หยุดพักขาอ่านคำบรรยายที่ป้ายก็น่าเพลิดเพลินไม่น้อย

จากลานวัฒนธรรม เดินมาได้กิโลครึ่ง ถึงปลายถนนสะเดา ตรงนี้อยู่ระหว่างสนามกีฬาติณสูลานนท์กับสนามกอล์ฟ มีประติมากรรมแบบไทยตั้งเด่นอยู่ นั่นคือส่วนหางของพญานาค

ลักษณะเป็นประติมากรรมแบบลอยตัว ดูได้รอบด้าน สร้างด้วยโลหะทองเหลืองรมสนิมเขียว ออกแบบโดยอาจารย์มนตรี สังข์มุสิกานนท์ รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยทักษิณ โดยอิงความเชื่อที่ว่า พญานาคเป็นสัญลักษณ์ของน้ำและความอุดมสมบูรณ์

เมื่อพบแต่เฉพาะส่วนหางของพญานาคที่นี่ คงต้องเดินต่อเพื่อไปยังส่วนหัวของพญานาค

เดินผ่านด้านหลังสนามกอล์ฟ ถนนชลาทัศน์มาสิ้นสุดที่วงเวียนกลับรถหลังโรงแรมบีพี สมิหลา กลางวงเวียนมีประติมากรรมรูปคนอ่านหนังสือ มีที่นั่งพักผ่อน

อ้อมโรงแรม ผ่านหน้ารูปปั้นเงือกทอง เลี้ยวซ้ายเข้าถนนราชดำเนิน ผ่านหน้าประตูเมืองสงขลาจำลอง จนถึงสี่แยกถนนสุขุม เลี้ยวขวาไปทางชายหาด ถึงลานชมดาว ส่วนลำตัวหรือสะดือของพญานาคอยู่ที่นี่ โค้งครึ่งวงกลม สามารถเดินลอดใต้ลำตัวพญานาคได้

จากนั้นเดินผ่านป่าสนร่มรื่นไปตามถนนแหลมสนอ่อน จนสุดปลายแหลมที่ริมเขื่อน หัวพญานาคความสูง 9 เมตรอยู่ที่นี่ พ่นน้ำลงสู่ปากอ่าวทะเลสาบสงขลา อยู่ห่างจากส่วนหางเกือบ 4 กิโลเมตร

ดวงอาทิตย์ลับเขาแดงลงไปแล้ว ขากลับคงต้องนั่งรถกลับบ้าน เพราะเดินไม่ไหว

หมายเลขบันทึก: 607863เขียนเมื่อ 5 มิถุนายน 2016 15:52 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 มิถุนายน 2016 06:48 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท