ประวัติเมืองสงขลา (36) ลานคนเมือง


สงขลาเคยมีลานกว้างอยู่บริเวณหลังสถานีรถไฟ ด้านถนนรามวิถี แต่ลานนี้ก็หายไปกับการสร้างอาคารพาณิชย์เมื่อยี่สิบกว่าปีก่อน

ลานคนเมือง คงเป็นคำที่เพิ่งเกิดขึ้นไม่นานมานี้เอง แปลตามตัวก็คือสถานที่สาธารณะกว้าง ๆ ไว้ให้ชาวบ้านร้านตลาดเข้ามาใช้ประโยชน์

ที่โด่งดัง มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันดี เห็นจะเป็นลานคนเมือง บริเวณศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร ซึ่งใช้เป็นสถานที่จัดงานมหกรรมสินค้าราคาประหยัด เป็นเวทีแสดงดนตรี การแสดงทางศิลปวัฒนธรรม หรือแม้แต่เป็นที่ชุมนุมทางการเมืองในบางสถานการณ์

ลานคนเมือง เกิดขึ้นเพราะสังคมเมืองในเขตเทศบาลมีการขยายตัวมากขึ้นเรื่อย ๆ นับวันจะหาพื้นที่กว้าง ๆ โล่ง ๆ จัดกิจกรรมตามเทศกาลงานประเพณีได้ยากขึ้นทุกที

หากเป็นสมัยก่อน คงไปจัดกันที่ลานวัด สนามโรงเรียน สนามหน้าศาลากลาง หรือหน้าที่ว่าการอำเภอ อย่างเพลงนัดพบหน้าอำเภอ ที่คุณพุ่มพวง ดวงจันทร์ เคยขับร้องไว้นั่นเอง

นับตั้งแต่จัดตั้งเทศบาลเมืองสงขลาขึ้นในปี พ.ศ. 2478 จนพัฒนายกฐานะเป็นเทศบาลนครสงขลาเมื่อสิบปีที่แล้ว (พ.ศ. 2542) สงขลาเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ ขณะที่พื้นที่เขตเทศบาลขยายตัวไม่ได้อีก

ด้วยเหตุที่เป็นเมืองเก่าสองทะเล พื้นที่คับแคบ ประชาชนชาวเมืองสงขลาเพิ่มมากขึ้น ขาดพื้นที่สาธารณะแบบที่นครใหญ่ ๆ ในประเทศที่พัฒนาแล้วมักจะจัดสร้างไว้ ที่เรียกกันว่า สแควร์หรือจัตุรัส

ที่จริงสงขลาเคยมีลานกว้างอยู่บริเวณหลังสถานีรถไฟ ด้านถนนรามวิถี แต่ลานนี้ก็หายไปกับการสร้างอาคารพาณิชย์เมื่อยี่สิบกว่าปีก่อน หลังยกเลิกการเดินรถไฟสายหาดใหญ่-สงขลาไม่นาน

ทำให้ตลาดนัดหลังสถานีรถไฟ ต้องเหลือพื้นที่แคบลง ออกมาขายกันบนทางเท้าริมถนนรามวิถีและถนนปละท่า จนกีดขวางการสัญจรและเป็นภาพที่ไม่น่าดูนัก หอนาฬิกาประจำเมืองเองก็ถูกรื้อทิ้งไปโดยยังไม่มีการสร้างใหม่ขึ้นแทน

ลานกว้างอีกแห่งที่มีการจัดงานฤดูร้อนเป็นประจำทุกปี คือบริเวณใกล้กับสระบัว แหลมสมิหลา จนชาวเมืองสงขลาเรียกกันติดปากว่า งานแหลม ซึ่งเปลี่ยนเป็นงานกาชาดในปัจจุบัน

เมืองสงขลาจะพัฒนาไปในทิศทางไหน เป็นเมืองท่องเที่ยว ศิลปวัฒนธรรม เศรษฐกิจหรืออุตสาหกรรม

เทศบาลดูจะมีบทบาทมากทีเดียว หลายสิ่งหลายอย่างที่ทำให้สงขลาเป็นอย่างที่เห็นทุกวันนี้ สะท้อนวิสัยทัศน์ของผู้บริหารบ้านเมือง คือ นายกเทศมนตรีในยุคสมัยนั้น ๆ ได้อย่างชัดเจน

จากสวนเสรี สวนสาธารณะเก่าแก่ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2486 มาถึงสวนสองทะเลที่แหลมสนอ่อน ยังถือว่าเป็นลานที่อยู่ห่างไกลจากเขตชุมชนอยู่ ต่อมาเทศบาลนครสงขลาได้ใช้พื้นที่ว่างซึ่งเป็นที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย บริเวณริมถนนกำแพงเพชร ซึ่งเป็นเขตทางรถไฟสายแยกไปท่าเรือ ถมดินทับรางรถไฟเก่าจัดสร้างเป็นลานคนเมือง

มีประติมากรรมชื่อ สามหลักผสมเกลียว เป็นหนึ่งเดียวในบ่อยาง โดยศิลปิน สมหมาย มาอ่อน ติดตั้งไว้ให้เป็นจุดเด่นของที่นี่ และกำลังปรับปรุงขยายพื้นที่ไปถึงถนนไทรบุรี

แต่สิ่งที่น่าเสียดาย คือ ร่องรอยทางรถไฟเก่าซึ่งเป็นทางรถไฟสายประวัติศาสตร์ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 6 กำลังถูกทำลายลงไปอีก หมุดหลักเขตต์ รฟล. (รถไฟหลวง) เก่าแก่ถูกฝังจมอยู่ใต้พื้นซีเมนต์

โดยยังไม่มีหน่วยงานราชการใด เห็นความสำคัญของเอกลักษณ์เมืองสงขลาเหล่านี้เลย

หมายเลขบันทึก: 607861เขียนเมื่อ 5 มิถุนายน 2016 15:46 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 มิถุนายน 2016 06:49 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท