ประวัติเมืองสงขลา (39) ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น


ปัญหาใหญ่ของการศึกษาประวัติศาสตร์ท้องถิ่น คือการขาดเอกสารชั้นต้น

เมื่อผมเริ่มสนใจศึกษาเรื่องเก่า ๆ ของสงขลา เมืองสองทะเลแห่งนี้ แหล่งใหญ่และสะดวก เพราะอยู่ใกล้มือที่สุดในการค้นคว้าประวัติศาสตร์ท้องถิ่น เห็นจะเป็นอินเทอร์เน็ต

หลังจากลองผิดลองถูกเข้าเว็บไซต์ต่าง ๆ ทั้งของหน่วยงานราชการ โรงเรียน อบจ. อบต. และเว็บไซต์ส่วนตัวต่าง ๆ แล้ว พอจะสรุปได้ว่ายังมีเนื้อหาเรื่องราวของเมืองสงขลาบันทึกไว้น้อยมาก ข้อมูลที่ได้จากหลายแหล่งเป็นการคัดลอกกันไปมาเท่านั้น และส่วนมากไม่ได้ระบุที่มาของต้นเรื่องเหล่านั้นไว้เสียด้วย

หนทางต่อไปที่มองเห็นเป็นแหล่งพึ่งพิงได้ คงเป็นพิพิธภัณฑ์ต่าง ๆ หอจดหมายเหตุแห่งชาติฯ สงขลา ตลอดจนหน่วยงานสำคัญอีกแห่ง คือสถาบันทักษิณคดีศึกษา

จึงขอรำลึกถึง และขอบพระคุณเจ้าหน้าที่หน่วยงาน เจ้าของข้อมูลทุกท่านเป็นอย่างยิ่ง

ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติสงขลา แม้สิ่งของที่รวบรวมไว้ส่วนใหญ่ จะเป็นโบราณวัตถุที่ได้จากการขุดค้น หรือการรับบริจาคจากประชาชน ยังไม่มีเอกสารและภาพถ่ายเก่าจัดแสดง (ซึ่งแน่นอนว่าอาจไม่ใช่ภาระหน้าที่หลักของพิพิธภัณฑ์แห่งนี้) แต่แหล่งที่จะให้ข้อมูลเบื้องต้นในภาพรวม เพื่อเป็นลายแทงในการแสวงหาหลักฐานเชิงลึกต่อไปได้ ก็คือศูนย์ข้อมูลกลางทางวัฒนธรรม จังหวัดสงขลา ซึ่งตั้งอยู่ริมรั้วพิพิธภัณฑ์นั่นเอง

แม้จะเป็นเพียงอาคารชั้นเดียวเล็ก ๆ และยังมีผู้สนใจเข้าใช้บริการข้อมูลไม่มาก แต่จากที่นี่ทำให้ผมทราบว่าจังหวัดสงขลามีหอสมุดแห่งชาติอยู่ถึง 3 แห่งด้วยกัน ได้แก่ 1. หอสมุดแห่งชาติวัดดอนรัก สงขลา 2. หอสมุดแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ สงขลา และ 3. หอสมุดแห่งชาติกาญจนาภิเษกสงขลา

หอสมุดที่วัดดอนรัก ซึ่งอยู่ใจกลางเมืองสงขลานั้น เน้นให้บริการแก่ชาวบ้านทั่วไป โดยเฉพาะเด็ก ๆ นักเรียน ผมเองเมื่อครั้งเรียนมัธยม ยังเคยนัดกับเพื่อนไปค้นหนังสือทำรายงานกันที่นี่

สำหรับหอสมุดเฉลิมพระเกียรติฯ อยู่ภายในสวนสาธารณะเทศบาลหาดใหญ่ที่คอหงส์ น่าดีใจที่ภายในมีห้องเฉพาะเก็บหนังสือเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ท้องถิ่นของเมืองสงขลาและพื้นที่ใกล้เคียง แม้จะยังไม่สมบูรณ์ มีจำนวนหนังสือน้อยอยู่

ยังไม่ได้ไปเยือนหอสมุดกาญจนาภิเษก คงต้องหาโอกาสไปนั่งอ่านหนังสือที่นั่นดูบ้าง

กล่าวกันว่า ปัญหาใหญ่ของการศึกษาประวัติศาสตร์ท้องถิ่น คือการขาดเอกสารชั้นต้น นิสิต นักศึกษาหรือนักวิจัยมักสรุปกันเพียงว่า เราขาดเอกสารดั้งเดิมที่เป็นต้นเรื่องและน่าเชื่อถือ

แต่หลังจากพยายามแวะเวียนไปเยือนแหล่งความรู้ต่าง ๆ อยู่ระยะหนึ่ง ก็เห็นว่าเอกสารทางประวัติศาสตร์ที่พอมีอยู่เหล่านั้น ก็น่าจะทำให้ผู้ที่สนใจนำไปค้นคว้าต่อยอดได้ เพียงแต่ยังขาดการรวบรวมที่ดี เอกสารต่าง ๆ จึงกระจัดกระจาย ทำให้ยากและใช้เวลามากในการศึกษา

จากพงศาวดารเมืองสงขลา หนังสือนำเที่ยวสงขลา พ.ศ. 2504 และสารานุกรมวัฒนธรรมภาคใต้ พ.ศ. 2529 ซึ่งเสมือนคัมภีร์บันทึกเรื่องเมืองสงขลาไปแล้ว สักวันหนึ่งเราน่าจะมีสารานุกรมวัฒนธรรมเมืองสงขลาไว้บันทึกประวัติศาสตร์ท้องถิ่นอีกเล่ม

หมายเลขบันทึก: 607864เขียนเมื่อ 5 มิถุนายน 2016 15:55 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 มิถุนายน 2016 06:48 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท