ประวัติเมืองสงขลา (42) วัดแจ้ง


ผมเคยคิดเล่น ๆ ด้วยความสงสัยว่ามนุษย์คนแรกที่ขึ้นมาบนยอดเขาตังกวนเป็นใคร

มาถึงสงขลาแล้ว ต้องไม่พลาดขึ้นไปชมทิวทัศน์บนยอดเขาตังกวน ปัจจุบันมีลิฟต์ให้บริการสะดวกสบาย ไม่ต้องเหนื่อยปีนขึ้นทางบันไดฝั่งตะวันตกด้านวัดแหลมทรายจนเหงื่อเปียกชุ่มโชกเหมือนแต่ก่อน

เมื่อใดที่พอจะปลีกตัวจากภาระหน้าที่ในชีวิตประจำวันได้ ผมจะหาโอกาสขึ้นไปบนยอดเขาตังกวนเสมอ บนนั้นจะมองเห็นทัศนียภาพได้กว้างไกล เห็นแผ่นดินเมืองสงขลาที่คั่นกลางระหว่างสองทะเล

เดือนพฤศจิกายนถึงธันวาคมเป็นช่วงฤดูลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ ลมที่พัดพาเอาความแห้งแล้งและหนาวเย็นมาสู่ประเทศไทย แต่ก็พัดผ่านทะเลอ่าวไทย พาความชุ่มชื้นและฝนมาสู่ภาคใต้ตอนล่างอีกด้วย สงขลาจึงมีฝนตกหนักที่สุดในช่วงเวลาที่ผ่านมา

คลื่นลมแรงยังกัดเซาะชายฝั่งบริเวณหาดชลาทัศน์อย่างน่ากลัว จนต้องนำยางรถยนต์ไปกันไว้ชั่วคราว จนกว่าจะหาวิธีที่ดีกว่านี้ในการเอาชนะธรรมชาติที่แปรปรวน

คนเรารู้จักปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมมาตั้งแต่ครั้งโบราณ จึงเลือกสร้างเมืองสงขลาริมฝั่งด้านทะเลสาบ อันคลื่นลมสงบกว่าฝั่งอ่าวไทย แม้ปัจจุบันย่านที่อยู่อาศัยจะขยายตัวออกไปบริเวณย่านวชิรา ถนนทะเลหลวงหลายสิบปีแล้ว แต่แผ่นดินส่วนใหญ่ฝั่งอ่าวไทยก็ใช้เป็นที่ตั้งของสถานที่ราชการ ที่ต้องขยับขยายหาที่ตั้งใหม่ เมื่อที่ตั้งเก่าภายในกำแพงเมืองสงขลาเริ่มคับแคบ

ภาพบรรยากาศที่ว่านี้ยังพอมองเห็นได้ เมื่อขึ้นมาชมทิวทัศน์บนยอดเขาตังกวน ขึ้นมากี่ครั้งก็เป็นภาพเดิม ๆ แต่ไม่น่าเบื่ออย่างที่คิด เพราะมีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นตลอดเวลา ตามการเจริญเติบโตของเมือง

ผมเคยคิดเล่น ๆ ด้วยความสงสัยว่ามนุษย์คนแรกที่ขึ้นมาบนยอดเขาตังกวนเป็นใคร และเขาจะมองเห็นภาพแผ่นดินแห่งนี้เป็นอย่างไร แม้จะไม่มีคำตอบสำหรับเหตุการณ์ที่ผ่านไปแล้วนับพันนับหมื่นปี

เมื่อไม่นานมานี้ ผมพบภาพถ่ายเก่าแก่ภาพหนึ่ง ตีพิมพ์อยู่ในหนังสือที่รฦกแห่งการเปิดทางรถไฟหลวงสายใต้ ๒๔๕๙ มีคำอธิบายใต้ภาพว่า ภูมิภาพ สงขลา ดูไปจากเขาตังกวน

พิจารณาดูแล้ว นับเป็นภาพถ่ายวิวจากเขาตังกวนที่เก่าแก่ที่สุดภาพหนึ่ง อีกไม่นานก็จะมีอายุครบ 100 ปีแล้ว ในภาพไม่ได้ระบุวันเดือนปีที่ถ่าย แต่ต้องก่อน พ.ศ. 2459 อย่างแน่นอน ผมนำภาพไปลงไว้ในกระทู้ที่ห้องสนทนาของเว็บไซต์กิมหยงดอทคอม เพื่อช่วยกันแลกเปลี่ยนความคิดเห็น

สงขลาเมื่อ 90 กว่าปีที่แล้ว มีอาคารบ้านเรือนหนาแน่นเฉพาะบริเวณเมืองเก่าแถวถนนนครใน ส่วนด้านตะวันออกของถนนรามวิถี นอกจากสถานีรถไฟสงขลาแล้ว แผ่นดินส่วนที่เหลือยังเป็นที่โล่งรกร้าง สลับกับป่ารก เห็นวัดโคกขี้หนอนหรือวัดเพชรมงคลอยู่ในดงต้นไม้ไกล ๆ

แต่อาคารสูงเด่นเป็นสง่า ที่อยู่ใกล้เขาตังกวนนั้น ใช้เวลาพิจารณากันอยู่นาน จึงทราบว่าเป็นอุโบสถวัดแจ้ง วัดเก่าแก่อีกแห่งของเมืองสงขลา อุโบสถสร้างโดยท่านผู้หญิงสุทธิ์ ท่านผู้หญิงในพระยาวิเชียรคีรี (เม่น ณ สงขลา) ซึ่งได้สร้างวัดศาลาหัวยางอีกแห่งหนึ่งด้วย และมีลักษณะสถาปัตยกรรมเป็นแบบเดียวกัน คือแบบรัชกาลที่ 4

อุโบสถวัดแจ้งจึงนับเป็นโบราณสถานอีกแห่งคู่บ้านคู่เมืองสงขลา ทราบมาว่าขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างบูรณะ แล้วเสร็จเมื่อใดน่าหาโอกาสเข้าไปชม หนอนหรือวัดเพชรมงคลอยู่ไกล ๆ่นานก็จะมีอายุครบ 100 ปีแล้ว ในภาพไม่ได้ระบุวันเดือนปีท

หมายเลขบันทึก: 607867เขียนเมื่อ 5 มิถุนายน 2016 16:09 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 มิถุนายน 2016 06:47 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท