ประวัติเมืองสงขลา (44) สถานีสอง


ระหว่างสองเทศบาลนคร จำเป็นต้องมีขนส่งระบบราง

ทางรถไฟจากสถานีชุมทางหาดใหญ่มุ่งหน้าขึ้นไปด้านเหนือ นอกจากแนวทางรถไฟไปพัทลุงแล้ว ยังเหลือร่องรอยของรางรถไฟเก่าสายสงขลา ขนานไปกับถนนรัถการ อยู่ในสภาพสมบูรณ์ แม้จะยกเลิกการเดินรถไปแล้วกว่า 30 ปี

สองข้างทางรถไฟตามแนวเขตทางกว้างด้านละ 40 เมตรนั้น ก่อนหน้านี้ไม่นานเคยเป็นชุมชนแออัด เรียกกันว่าชุมชนสถานีสอง แต่ทางเทศบาลนครหาดใหญ่ได้เช่าพื้นที่ทำโครงการปรับปรุงภูมิทัศน์และก่อสร้างตลาดสดน่าซื้อ

ที่มาของชื่อสถานีสองนั้น ก็เนื่องมาจากในยุค พ.ศ. 2510 ทางการรถไฟได้กำหนดให้บริเวณที่รับส่งสินค้าซึ่งอยู่ห่างจากอาคารสถานีชุมทางหาดใหญ่มาทางทิศเหนือราว 600 เมตร เป็นป้ายหยุดรถไฟ มีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการว่า ป้ายหยุดรถตลาดหาดใหญ่ หรือตลาดเทศบาล

ขบวนรถไฟที่จอดรับส่งผู้โดยสารที่ป้ายหยุดรถแห่งนี้ คือรถไฟสายหาดใหญ่-สงขลาและสายสงขลา-กันตัง เฉพาะสายสงขลาในขณะนั้นมีรถไฟวิ่งถึงวันละ 12 เที่ยว (ไป 6 กลับ 6) และเมื่อออกจากหาดใหญ่ก็จอดรายทางตามป้ายหยุดรถต่าง ๆ รวม 10 ป้ายคือ ตลาดเทศบาล คลองแห คลองเปล เกาะหมี ตลาดน้ำน้อย บ้านกลางนา ตลาดพะวง น้ำกระจาย บ้านบางดาน และวัดอุทัย ก่อนสุดปลายทางที่สถานีสงขลา

ชาวบ้านที่มากับรถไฟ หลายคนต้องไปต่อรถโดยสารประจำทางที่บริเวณหอนาฬิกา ถ้าลงที่สถานีแห่งที่สองนี้จะใกล้กว่าไปลงที่สถานีใหญ่ อีกทั้งสถานีสองยังใกล้กับตลาดสดเทศบาลอีกด้วย สามารถจับจ่ายซื้อของแล้วรอรถไฟได้เลย

ค่าโดยสารสมัยนั้น 2 บาท หากเป็นนักเรียนก็ครึ่งราคาคือ 1 บาท

ที่จริงแล้วบริเวณสถานีสองนี้ เคยเป็นชุมชนมาก่อน กลุ่มที่เข้ามาปลูกสร้างบ้านเรือนในยุคแรก ๆ ก่อนมีสถานีสองเป็นชาวไทยมุสลิมที่อพยพมาจากชุมชนไทยมุสลิมใกล้เมืองหาดใหญ่ คือบ้านท่าไทรและบ้านโคกเมา เนื่องจากต้องการนำผลผลิตทางการเกษตรมาขายในตัวเมืองหาดใหญ่ มีการสร้างมัสยิดในปี พ.ศ. 2504 และเรียกชุมชนบริเวณนี้ว่า ชุมชนใกล้ตลาด

เมื่อมีการขยายตัวทางการค้า ชุมชนก็ขยายตัวตาม แต่เมื่อการคมนาคมขนส่งทางรถยนต์สะดวกมากขึ้น รถไฟก็เริ่มโรยรา ซบเซาและยกเลิกขบวนรถไฟสายสงขลา-กันตังไปในราว พ.ศ. 2518

ต่อมาในปี พ.ศ. 2520 รถไฟชานเมืองหาดใหญ่-สงขลาก็ลดเหลือเพียง 2 ขบวนต่อวัน และยกเลิกทั้งหมดเมื่อวันที่ 1 ก.ค.2521 พร้อมทั้งสถานีสองก็ต้องปิดตัวเองตามไปด้วย

ขณะที่กรุงเทพมหานคร เมืองหลวงของไทย กำลังแก้ปัญหาการจราจรและการขนส่งมวลชนด้วยโครงการรถไฟฟ้านับสิบสาย ส่วนโครงการแลนด์บริดจ์เชื่อมอันดามันและอ่าวไทยที่ปากบาราก็มีขึ้นเพื่อการขนส่งสินค้า พัฒนาเศรษฐกิจ

อดคิดถึงสถานีสองและขบวนรถไฟสงขลา-หาดใหญ่-กันตังไม่ได้ ถ้ายังมีอยู่จนถึงทุกวันนี้ และได้รับการพัฒนาต่อยอด นี่แหละคือต้นแบบของขนส่งมวลชนและขนส่งเชื่อมอันดามันกับอ่าวไทยอย่างแท้จริง

ผมยังเห็นว่าระหว่างสองเทศบาลนคร จำเป็นต้องมีขนส่งระบบราง ที่เหมาะสมทั้งด้านเศรษฐกิจ พลังงาน สังคมและสิ่งแวดล้อม

หมายเลขบันทึก: 607869เขียนเมื่อ 5 มิถุนายน 2016 16:16 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 มิถุนายน 2016 06:46 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท