ปลุกพลัง-เปลี่ยนพฤติกรรมวัยโจ๋ สร้างชุมชนให้น่าอยู่ “บ้านโพธิ์ศรีใต้”


กิจกรรมต่างๆ ที่จัดขึ้น นอกจากจะบรรลุวัตถุประสงค์ ลดการมั่วสุม เที่ยวเตร่ และการเล่นเกมแล้ว ยังได้เปลี่ยนความคิดและปรับพฤติกรรมของวัยรุ่น จากที่เคยติดเกมงอมแงม กลายมาเป็นเยาวชนแกนนำที่ช่วยงานของชุมชนอย่างขะมักเขม้น

หมู่บ้านที่อยู่ห่างจากตัวอำเภอไม่มากนักแค่ 2.5 กิโลเมตรอย่างบ้านโพธิ์ศรีใต้ ริมแม่น้ำมูล อ.พิบูลมังสาหาร จ.อุบลราชธานี ทำให้หมู่บ้านแห่งนี้ซึมซับรับเอาวัฒนธรรมเมืองเข้ามาไม่น้อย ส่งผลต่อพฤติกรรมของวัยรุ่นและเยาวชน ทั้งมั่วสุม ติดเกม แว้นมอเตอร์ไซค์สร้างความรำคาญให้คนในชุมชน

ชาวบ้านโพธิ์ศรีใต้ จึงเข้าร่วมโครงการชุมชนน่าอยู่ของสำนักสร้างสรรค์โอกาสและนวัตกรรม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) โดยมุ่งหวังให้เกิดกลไกภายในชุมชน อย่างสภาผู้นำชุมชน เข้ามาแก้ไขปัญหาเด็กและเยาวชน ด้วยการสร้างจิตสำนึกการมีส่วนร่วมและรับผิดชอบต่อชุมชน

“ปัญหาใหญ่ที่สุดในช่วงที่ผ่านมา คือ เด็กติดเกม ใช้ชีวิตอยู่ในร้านเกมวันละหลายๆ ชั่วโมง ทำให้เสียการเรียน เราจึงตกลงว่าจะทำโครงการเกี่ยวกับเยาวชน เพื่อให้เด็กๆ เลิกเล่นเกม แล้วหันมาทำกิจกรรมอื่น” นายสัมฤทธิ์ ไชยโกฏิ ผู้ใหญ่บ้านโพธิ์ศรีใต้ เล่าถึงจุดเริ่มต้นของโครงการ

ทางผู้ใหญ่บ้านและทีมสภาผู้นำชุมชนจึงร่วมกันคิดกิจกรรมเพื่อให้เด็กๆ ทำในเวลาว่าง โดยเริ่มต้นชักชวนเด็กแกนนำจำนวนหนึ่งก่อน และเปิดโอกาสให้ช่วยกันคิดทำกิจกรรม เริ่มจากงานลอยกระทงเมื่อปลายปีก่อน เด็กๆ จะเป็นคนทำทั้งหมด จนกระทั่งกลายเป็นงานใหญ่ของอำเภอ ทำให้เด็กๆ และเยาวชน เข้าร่วมกับกลุ่มแกนนำมากยิ่งขึ้น ต่อมาจึงร่วมกันจัดงานวันเด็ก กระทั่งเปิดโอกาสให้กลุ่มเด็กและเยาวชนบ้านโพธิ์ศรีใต้ จัดตั้ง “สภาเยาวชนบ้านโพธิ์ศรีใต้” ขึ้น ซึ่งขณะนี้มีสมาชิกแล้วจำนวน 63 คน

ขณะเดียวกันยังได้จัดกลุ่มกิจกรรมขึ้น 4 ฐาน มีเยาวชนประมาณ 20 คนที่ร่วมซ้อมมวยทุกวันหลังเลิกเรียนและสามารถสร้างรายได้จากเงินค่าตัวอีกด้วย เพื่อให้เด็กและเยาวชนได้เข้าร่วมกิจกรรมและศึกษาความรู้จากปราชญ์ชาวบ้านตามความสนใจของตัวเอง ได้แก่










1.กลุ่มสมุนไพร เรียนรู้สรรพคุณ การปลูกและการใช้ประโยชน์









2.กลุ่มจักสานตะกร้า เป็นการใช้เวลาว่างสานตะกร้าจำหน่ายเป็นรายได้เสริม
3.กลุ่มทำหมากเบ็ง(พานบายศรี) อนุรักษ์ภูมิปัญญาและวัฒนธรรมของชุมชน
4.กลุ่มมวยไทย


“จากการดำเนินโครงการทำให้เด็กและเยาวชนไม่รวมตัวมั่วสุมดื่มเหล้า เล่นเกมเหมือนในอดีต การทะเลาะวิวาทก่อความวุ่นวายในชุมชนก็หายไปด้วย และเวลาชุมชนมีกิจกรรมต่างๆ กลุ่มเยาวชนกลายเป็นกำลังสำคัญในการจัดกิจกรรม เกิดสัมพันธภาพที่ดีระหว่างเด็กและผู้สูงอายุในชุมชน เปลี่ยนภาพลักษณ์จากเคยเป็นตัวปัญหามาเป็นพลังทางสังคม” ผู้ใหญ่บ้านโพธิ์ศรีใต้ กล่าว

กิจกรรมต่างๆ ที่จัดขึ้น นอกจากจะบรรลุวัตถุประสงค์ ลดการมั่วสุม เที่ยวเตร่ และการเล่นเกมแล้ว ยังได้เปลี่ยนความคิดและปรับพฤติกรรมของวัยรุ่น จากที่เคยติดเกมงอมแงม กลายมาเป็นเยาวชนแกนนำที่ช่วยงานของชุมชนอย่างขะมักเขม้น

ทนงศักดิ์ กรอบสันเทียะ หรือ “เจม” นักศึกษาอาชีวะ วัย 17 ปี เยาวชนจากบ้านโพธิ์ศรีใต้ เป็นคนหนึ่งที่ผันตัวเองจากเด็กติดเกมวันละ 8-10 ชั่วโมง มาเป็นแกนนำชักชวนเพื่อน “ก่อการดี” ใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ด้วยการทำกิจกรรมเพื่อชุมชนและร่วมสืบสานวัฒนธรรมประเพณี

เจม เล่าว่า เมื่อก่อนทุกๆ เช้า วันเสาร์-อาทิตย์ เขาจะปั่นจักรยานไปเล่นเกมที่ร้านในตัวเมือง ตั้งแต่ 8 โมงเช้า และออกจากร้านตอน 6 โมงเย็น ข้าวเช้าข้าวเที่ยงแทบจะไม่ได้กิน ทำแบบนี้ทุกสัปดาห์ ไม่เล่นไม่ได้ เพราะสนุก ชวนเพื่อนคนอื่นๆ ไม่ไป เขาก็ไปคนเดียวไม่สนใจใคร เงินที่เอาไปเล่นก็มาจากเงินค่าขนมไปโรงเรียนที่ยายให้ทุกวัน

หลังจากเล่นเกมมาตั้งแต่ป.4 จากที่ต้องออกไปเล่นที่ร้านในตัวเมือง จนในชุมชนของตัวเองมีร้านเกมถึง 3 ร้าน ทำให้เด็กๆ ในชุมชนติดเกมกันมากขึ้น บางคนเล่นทุกเช้าก่อนเข้าเรียนก็มี พอมีที่เล่นก็เกิดการมั่วสุม บ้างก็ขับมอเตอร์ไซค์แว้น เที่ยวแตร่ สูบบุหรี่ สร้างความรำคาญให้คนในชุมชน

“เมื่อเข้าโครงการกับเพื่อนๆ ได้ช่วยกันคิดช่วยกันทำ จนเรารู้สึกเบื่อเวลาไปเล่นเกม เพราะอยู่กับเพื่อนมีอะไรทำเยอะแยะสนุกกว่า เราอยากอยู่ตรงนี้กับเพื่อน ก็ค่อยๆ ลดเวลาเล่นเกมลง จนไม่ไปเล่นเลย พอเพื่อนๆ หันมาใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ ร้านเกมในหมู่บ้านก็ไม่มีคนเข้าไปเล่น จนตอนนี้ปิดตัวลงไปแล้ว” เจม เล่า

ขณะที่ น.ส.ยุพาพร ทองจันทร์ หรือ “น้องเก๋” ประธานสภาเยาวชนบ้านโพธิ์ศรีใต้ กล่าวว่า สภาเยาวชนมีกิจกรรมให้เด็กและเยาวนได้มีส่วนร่วมทำกิจกรรมร่วมกัน มีฐานการเรียนรู้ทั้งหมด 4 กิจกรรม แล้วแต่ความสนใจ ซึ่งบางกิจกรรมสามารถสร้างรายได้เสริมให้เด็กๆ ได้อีกด้วย ทุกๆ กิจกรรมของโครงการทำให้เวลาว่างของเด็กลดลง เพราะเวลาที่หายไปนั้น คือ การทำกิจกรรมร่วมกับชุมชน

ทางด้าน ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ กล่าวถึงโครงการชุมชนน่าอยู่ ว่า หัวใจอยู่ที่การสร้างสภาผู้นำชุมชนที่ขับเคลื่อนแก้ปัญหา ด้วยการดึงผู้นำชุมชนที่ไม่จำเป็นต้องมีตำแหน่งทางการ แต่เป็นกลุ่มคนที่พร้อมและทุ่มเทเข้ามาช่วยเหลือชุมชน ได้มาประชุมพร้อมกันเป็นประจำ เพื่อวิเคราะห์ปัญหาอย่างเป็นระบบ และร่วมกันแก้ไขอย่างเป็นขั้นตอน ซึ่งจากผลของโครงการชุมชนน่าอยู่ทั่วประเทศที่มีมากกว่า 1000 แห่ง บ่งชี้ว่ากระบวนการเหล่านี้เป็นประโยชน์ เพราะชุมชนแต่ละแห่งเลือกปัญหาที่หลากหลายแตกต่างกันและแก้ปัญหาได้ตามบริบทของตัวเอง ซึ่งทาง สสส. คาดหวังว่าชุมนจะสามารถพัฒนาต่ออย่างยั่งยืนและอยู่ได้ด้วยตัวเอง ขณะเดียวกันผลพวงจากการดำเนินโครงการก่อเกิดเป็นองค์ความรู้ เกิดเป็นเครือข่ายการเรียนรู้ขยายผลไปยังชุมชนข้างเคียงออกไป

ทั้งนี้บ้านโพธิ์ศรีใต้ ได้เลือกประเด็นเด็กและเยาวชนขึ้นมา โดยเฉพาะปัญหาเด็กติดเกมและอบายมุข ซึ่งกระบวนการแก้ปัญหาถือว่า มีวิธีการที่ดีในการใช้จิตวิทยา และกระบวนการรวมกลุ่มมาทำกิจกรรมที่สอดคล้องกีบวัฒนธรรมปละประเพณีตลอดทั้งปี ไม่ใช้การสอนสั่งแบบในอดีต แต่สนับสนุนให้เด็กได้มาร่วมคิดร่วมทำ ร่วมรับผิดชอบต่อสังคม ซึ่งเป็นเงื่อนไขดึงเด็กอออกมาจากปัญหา สร้างสรรค์การแสดงออก และสร้างการเป็นผู้นำ สร้างการเรียนรู้ภูมิปัญญาจากปู่ยาตายาย แล้วได้ความสัมพันธ์ที่ดีในครอบครัวและชุมชนอีกด้วย

เด็กและเยาวชนบ้านโพธิ์ใต้ ถือเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของเยาวชนที่รู้จักคุณค่าในตัวเอง ด้วยการลุกขึ้นมาจัดการตัวเองอย่างมีศักยภาพ และเป็นอนาคตที่จะช่วยสร้างชุมชนน่าอยู่


หมายเลขบันทึก: 607812เขียนเมื่อ 4 มิถุนายน 2016 18:22 น. ()แก้ไขเมื่อ 4 มิถุนายน 2016 18:22 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท