ประวัติเมืองสงขลา (28) วิทยาลัยพยาบาล


กว่าจะมีวิทยาลัยพยาบาลแห่งนี้ก็ผ่านอุปสรรคมามากทีเดียว แรกเริ่มจัดตั้งนั้นมีชื่อว่า โรงเรียนพยาบาลผดุงครรภ์และอนามัยภาคใต้

เมื่อมีโอกาสนั่งรถจากหาดใหญ่มาเมืองสงขลา พอข้ามคลองสำโรงมาแล้วก็หมายถึงเข้าเขตเทศบาลนครสงขลา ถนนสายหลักกลางเมืองก็คือถนนไทรบุรีและถนนรามวิถี

ถนนทั้งสองสายเป็นถนนเก่าแก่คู่เมืองสงขลา ถนนไทรบุรีนั้นสร้างในสมัยรัชกาลที่ 4 ส่วนถนนรามวิถีนั้นสร้างในสมัยรัชกาลที่ 6 ตามแนวกำแพงเมืองเก่า

น่าสังเกตว่าฝั่งตะวันออกของถนนรามวิถีนั้นมีแต่สถานที่ราชการ วัดและโรงเรียน ไม่มีบ้านเรือนราษฎรอยู่เลย เนื่องจากเป็นที่ดินราชพัสดุ

สถานที่แห่งหนึ่งที่มีประวัติความเป็นมาน่าสนใจไม่น้อย ริมถนนรามวิถีก็คือ วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนีสงขลา ซึ่งตั้งอยู่ทางทิศใต้ของวัดโรงวาส เยื้องโรงพยาบาลสงขลาเดิมที่ปัจจุบันเป็นสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดไปแล้ว

วิทยาลัยพยาบาลแห่งนี้ นับเป็นสถานศึกษาสังกัดกรมการแพทย์ ให้การศึกษาทางด้านการพยาบาลและอนามัยโดยเฉพาะ จัดตั้งขึ้นเป็นแห่งแรกในภาคใต้

กว่าจะมีวิทยาลัยพยาบาลแห่งนี้ก็ผ่านอุปสรรคมามากทีเดียว แรกเริ่มจัดตั้งนั้นมีชื่อว่า โรงเรียนพยาบาลผดุงครรภ์และอนามัยภาคใต้ โดยนายแพทย์พันโทนิตย์ เวชวิศิษฐ์ อธิบดีกรมการแพทย์ในขณะนั้นเป็นผู้ดำริขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2497 ภายหลังที่ได้รับโอนกิจการของโรงพยาบาลสงขลามาจากเทศบาลเมืองสงขลาแล้ว

แต่ที่ดินของโรงพยาบาลสงขลามีเพียง 9 ไร่ จึงได้เจรจาขอที่ดินจากหน่วยราชการอื่นๆ หลายแห่ง แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ จนเห็นว่าควรไปจัดตั้งที่นครศรีธรรมราชหรือสุราษฎร์ธานีแทน

ต่อมาในปี พ.ศ. 2506 เมื่อนายแพทย์ฝน แสงสิงแก้วเป็นอธิบดีกรมการแพทย์ ได้พยายามเจรจาขอที่ดินจากป่าไม้เขตที่สงขลา และตกลงกันในหลักการแล้วว่าทางกรมป่าไม้ยินดีจะยกที่ดินให้บางส่วน แต่ท้ายที่สุดรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรก็มีนโยบายว่า ไม่สามารถยกที่ดินดังกล่าวให้ได้

นายแพทย์เล็ก มโนมัยอุดม ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสงขลาขณะนั้นได้พิจารณาเห็นว่าที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย ที่อยู่เยื้องกับโรงพยาบาล ไม่ได้มีการใช้ประโยชน์ ก่อนหน้านี้โรงเรียนสงเคราะห์ประชาเคยติดต่อขอเช่าที่ดิน แต่การรถไฟฯ คิดค่าเช่าตารางเมตรละ 5 บาทต่อปี ทางโรงเรียนเห็นว่าราคาสูงจึงยังไม่ได้ตกลง และบริษัทน้ำมันก็กำลังจะขอเช่าบริเวณนั้นอยู่ด้วย

ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสงขลาจึงได้แจ้งไปยังอธิบดีกรมการแพทย์ ขอให้รีบดำเนินการขอที่ดินเพื่อสร้างโรงเรียนพยาบาลโดยด่วน ซึ่ง พล.ต.อ.ไสว ไสวแสนยากร ผู้ว่าการการรถไฟฯ ขณะนั้นก็รับนำเรื่องเข้าที่ประชุม

5 ก.พ. 2506 จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ นายกรัฐมนตรีพร้อมคณะได้เดินตรวจราชการภาคใต้ ได้รับรายงานเรื่องนี้จากนายแสวง รุจิรัต ผู้ว่าราชการจังหวัด หลังจากนั้นผู้อำนวยการโรงพยาบาลสงขลาไปพบกับ พ.ต.แสง จุลละจาริตต์ รองผู้ว่าการการรถไฟฯ ฝ่ายการเดินรถและขนส่ง ซึ่งรับว่าจะช่วยเหลืออย่างเต็มที่

ในที่สุดการรถไฟฯ ก็ยินยอมยกที่ดินประมาณ 10 ไร่ให้ในปี พ.ศ. 2507 เพื่อสร้างโรงเรียนพยาบาล แต่ที่ดินส่วนที่อยู่ริมถนนรามวิถีนั้นเป็นที่ราชพัสดุในครอบครองของกระทรวงศึกษาธิการ ใช้เป็นบ้านพักข้าราชการ ทางกรมการแพทย์จึงต้องจัดหาที่อื่นสร้างบ้านพักใหม่ชดเชยให้

โรงเรียนพยาบาลฯ รับนักเรียนรุ่นแรกในปี พ.ศ. 2509 และปี 2517 ก็ได้ยกฐานะเป็นวิทยาลัยพยาบาล

หมายเลขบันทึก: 607810เขียนเมื่อ 4 มิถุนายน 2016 18:09 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 มิถุนายน 2016 06:32 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท