เทคนิค 3วิ เพื่อวิจารณญาณ


วิจารณญาณ ถูกเข้าใจว่าเป็นเรื่องของ critical thinking การคิดวิเคราะห์ แต่เมื่อค้นลึกลงไปถึงวิธีคิดและผลของการคิด จะพบว่าวิจารณญาณไม่ใช่เป็นเพียงการคิดเชิงวิพากษ์เพื่อรื้อถอน หรือวิจารณ์เพื่อแสดงข้อดีข้อเสียเท่านั้น แต่มีขั้นตอนในการแสดงการคิด ซึ่งต้นทางสำคัญคือ Vienna Circle ได้เสนอเป็น critical mind ได้แก่ analysis, appreciation, application หรือ 3A ซึ่ง ศ.กีรติ บุญเจือ บัญญัติเป็น 3วิ คือ วิเคราะห์ วิจักษ์ และวิธาน

วิที่ 1 คือ วิเคราะห์ เพื่อแยกแยะประเด็นต่างๆให้ชัดเจนนั้น โสคราติสนักปราชญ์กรีกเสนอชุดของคำถามเรียกว่าวิธีโสคราตีส (Socratic method) สำหรับการประเมินข้อความ ข้อถกเถียง เนื้อหา ด้วยคำถามปลายเปิด เช่น

สิ่งนี้มีความหมายว่าอย่างไร
ข้อสรุปได้มาอย่างไร
เชื่อได้อย่างไรว่าเป็นสิ่งที่ถูกต้อง
แหล่งข้อมูลที่ใช้มาจากใหน
ถ้าผิดจะเกิดอะไรขึ้น
แหล่งหรือบุคคลอ้างอิงที่เห็นแย้งพร้อมกับคำอธิบาย
ทำไมประเด็นนี้จึงมีความสำคัญ
จะรู้ได้อย่างไรว่าคน ๆ นั้นพูดความจริง
คำอธิบายที่เป็นทางเลือกอื่นสำหรับประเด็นนี้มีอะไรบ้าง

วิที่ 2 คือ วิจักษ์ เพื่อประเมินคุณค่าของแต่ละประเด็นที่ได้วิเคราะห์ไว้ และแสดงคุณค่านั้นออกมา ซึ่งคุณค่านี้จะมองเป็นคุณค่าที่มีต่อตนเองหรือผู้อื่นก็ได้

คุณค่าเปรียบเสมือนทับหลังของปราสาทโบราณ (sublime) ซึ่งสวยงามสูงส่ง แต่ทับหลังจะสวยได้ ปราสาทนั้นต้องมั่นคง คุณค่าจึงต้องมองผ่านกรอบคิด 5 เสา 2 ฐาน คือ ฐานนิยามและประวัติศาสตร์ เสาปรัชญา จิตวิทยา วิทยาศาสตร์ สังคมวิทยา และศาสนา ซึ่งต้องมองผ่านวิที่ 1 คือ วิเคราะห์อีกด้วย

การประเมินคุณค่าแสดงออกเป็น 2 ด้านคือ
1. คุณค่าในเชิงจริยศาสตร์ ประเมินเป็นความถูก-ผิด ความดี-ไม่ดี ความสุข-ทุกข์ ซึ่งเชื่อมโยงไปสู่เกณฑ์คุณค่าของลัทธิ ความเชื่อ ประเพณี วัฒนธรรมและศาสนาต่างๆ
2. คุณค่าในเชิงสุนทรียศาสตร์ ประเมินเป็นกระแสความชอบ ความชื่นชอบ ที่มีอยู่ในสังคมมนุษย์

วิที่ 3 คือ วิธาน เพื่อนำข้อวิเคราะห์ที่มีคุณค่ามาประยุกต์ใช้ในแนวทางที่ดี

ดีอย่างไร ก็ดีอย่างสากล เกณฑ์ดีอย่างสากล พิจารณาตามแนวคิดของอริสโตเติล ได้แก่
1. กระทำด้วยความรอบคอบ รอบรู้ เป็นปัญญาปฏิบัติ
2. กระทำด้วยความเข้มแข็ง มุ่งมั่น ไม่ย่อท้อต่ออุปสรรค
3. กระทำด้วยความพอเพียง ไม่น้อยเกินไป ไม่มากเกินไป พอเหมาะพอสม
4. กระทำด้วยใจที่คำนึงถึงผู้อื่น แบ่งให้คนที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ปันให้คนที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง ให้ทุกๆ คนได้ประโยชน์ร่วมกัน และนำไปสู่ความสุข

การประยุกต์ใช้จึงไม่ได้มองเพียงแค่ประสิทธิภาพคือทำซ้ำได้ แต่มองประสิทธิผล คือ ผลที่เกิดขึ้นสุดท้าย และการกระทำนั้นจะต้องมีพลังที่จะขับเคลื่อนไปข้างหน้า ซึ่งเรียกว่า พลังแห่งยุค ได้แก่
1. พลังแห่งการสร้างสรรค์ หากหยุดนิ่งเท่ากับถอยหลัง ดังนั้นจะต้องสร้างสรรค์เพื่อมุ่งไปข้างหน้า
2. พลังแห่งการปรับตัว ทุกการสร้างสรรค์ย่อมมีการรื้อทำลายบางอย่างลง ต้องจำกัดความเสียหาย และเปิดให้แต่ละฝ่ายได้ปรับตัวกันก่อน
3. พลังแห่งการร่วมมือ เมื่อแต่ละฝ่ายปรับตัวแล้ว ก็แสวงจุดร่วม สงวนจุดต่าง กระทำการในส่วนที่เห็นพ้องต้องกันไปได้ก่อน
4. พลังแห่งการแสวงหา เมื่อร่วมมือกันไประยะหนึ่ง ก็จะเกิดการชะลอเพื่อปรับระดับคุณภาพของผลที่เกิดขึ้น หากพอใจก็จะมีคุณภาพในระดับนั้น แต่การแสวงหาจะทำให้มีส่วนหนึ่งที่ยังคงขยับไปข้างหน้าอย่างไม่หยุดยั้ง

ทั้งนี้พลังทั้ง 4 นี้จะหนุนเนื่องต่อกันไปไม่จบสิ้น แต่ในทุกขั้นของการกระทำก็จะต้องประเมินตามเกณฑ์ของอริสโตเติล เพื่อให้การกระทำล้วนเป็นความประพฤติดี เป็นคุณธรรม เป็นจริยธรรม ไปในขณะเดียวกัน

คำสำคัญ (Tags): #วิจารณญาณ
หมายเลขบันทึก: 607189เขียนเมื่อ 25 พฤษภาคม 2016 11:06 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 พฤษภาคม 2016 11:06 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท