เรื่องเล่าเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้จากการประชุมเครือข่ายมหาวิทยาลัยยั่งยืนแห่งประเทศไทยครั้งที่ 2 ปี 2559 ที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่


เครือข่ายมหาวิทยาลัยยั่งยืนแห่งประเทศไทย (Sustainable University Network of Thailand หรือ SUN Thailand) เริ่มขึ้นภายหลังจากการลงนามบันทึกความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยภายในประเทศไทยจำนวน 16 มหาวิทยาลัยเมื่อวันที่ 16 ธันวาคม พ.ศ.2558 ปัจจุบันมีสมาชิกเครือข่ายรวมทั้งสิ้นจำนวน 17 สถาบันการศึกษา โดยมีมติให้จัดประชุมร่วมกันทุกๆ 3 เดือน ซึ่งการประชุมครั้งแรกของปีนี้จัดขึ้นในวันที่ 16 กุมภาพันธ์โดยมีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยรับเป็นเจ้าภาพ สำหรับการประชุมครั้งที่ 2 ของเครือข่ายฯได้รับความอนุเคราะห์จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่รับเป็นเจ้าภาพจัดประชุม โดยการประชุมนี้จัดขึ้นเมื่อวันศุกร์ที่ 13 พฤษภาคมที่ผ่านมา

ผมเองในฐานะประธานเครือข่ายฯได้มีโอกาสเข้าร่วมการประชุมครั้งนี้ จึงอยากรู้สึกแบ่งปันความรู้สึก และประสบการณ์ดีๆที่ได้รับจากการประชุมเครือข่ายฯครั้งนี้ผ่านการเล่าเป็นตัวหนังสือให้กับหลายๆท่าน การประชุมเริ่มขึ้นในช่วงเช้าซึ่งทางเจ้าภาพได้วางกรอบกิจกรรมในช่วงเช้านี้เป็นการบรรยายภาพรวม และเยี่ยมชมกิจกรรมการดำเนินการด้านกายภาพและสิ่งแวดล้อมของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ก่อนด้วยเพราะสภาพอากาศที่ร้อนจัดในจังหวัดเชียงใหม่ แล้วจึงต่อด้วยการประชุมเครือข่ายฯอย่างเป็นทางการในช่วงประมาณ 11 นาฬิกา กิจกรรมในช่วงเช้าเริ่มต้นขึ้นภายใต้บรรยากาศการต้อนรับของคณะบริหารและบุคลากรมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ที่อบอุ่น ทางเจ้าภาพเลือกสถานที่การจัดกิจกรรมการประชุมในช่วงเช้านี้ด้วยสถานที่บริเวณ Visit CMU ที่เป็นลานกว้างภายนอกอาคาร ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวนี้ประกอบไปด้วยสิ่งปลูกสร้างเล็กๆจัดไว้รองรับนักท่องเที่ยวที่ต้องการเข้าเยี่ยมชมมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ หลังจากกล่าวต้อนรับอย่างเป็นทางการโดยศาสตราจารย์ ดร.วัชระ กสิณฤกษ์ รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการและพัฒนาคุณภาพการศึกษา เราก็ได้รับฟังการบรรยายจาก ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ณัฐ วรยศ ปฏิบัติการแทนอธิการบดีในงานฝ่ายกายภาพและสิ่งแวดล้อม ในภาพรวมของการบริหารจัดการด้านกายภาพและสิ่งแวดล้อมของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งปัจจุบัน มช มีนโยบายการขับเคลื่อนเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนขององค์กรอย่างชัดเจนภายใต้แนวคิด Sustainable Green and Clean Campus ต่อด้วยการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ด้านการจัดการผังแม่บทของ มช โดย อาจารย์ ดร.เอกชัย มหาเอก ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายกายภาพและสิ่งแวดล้อม ซึ่งท่านได้เล่าถึงแนวคิดการออกแบบผังแม่บทของ มช ภายใต้แนวคิด Smart Growth ที่ประกอบด้วยการวาง Zoning การวางแผนด้านการจราจรและขนส่ง รวมถึงสาธารณูปโภค โดยมีกรอบของการวางแผนและพัฒนาตามตัวชี้วัดที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล ผนวกกับแนวทางการออกแบบอย่างยั่งยืน Leadership in Environmental Design ถัดจากนั้นเป็นการนำเสนอโครงการ Visit CMU ที่ผมถือได้ว่าเป็นไฮไลท์สำคัญหนึ่งของ มช โครงการนี้ถือเป็นการผลิกวิกฤตให้เป็นโอกาสของทางมหาวิทยาลัยที่น่าเรียนรู้อย่างมาก จากสถานการณ์ปัญหาความต้องการเข้ามาเยียมชม มช ของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ส่งผลกระทบต่อการเรียนการสอน และการดำรงชีวิตของนักศึกษาภายในมหาวิทยาลัย ซึ่งทางผู้บริหารได้ปรับเปลี่ยนกลยุทธ์การดำเนินงาน โดยแทนที่จะปิดกั้นห้ามไม่ให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาภายในเขตรั้วมหาวิทยาลัย เป็นการดำเนินงานเชิงบวกด้วยการบริหารจัดการพื้นที่ต้อนรับ และจัดเป็นโปรแกรมการท่องเที่ยวที่สามารถจัดระเบียบการเยี่ยมชม และหารายได้จากการท่องเที่ยวให้กับมหาวิทยาลัยได้อย่างน่าชื่นชมอย่างยิ่ง ปิดท้ายช่วงแรกด้วยการบรรยายด้านการบริหารจัดการจราจรและการขนส่งภายในมหาวิทยาลัยโดย รองศาสตราจารย์ ดร.ธนารักษ์ สุวรรณประพิศ รองอธิการบดีฝ่ายพัฒนาคุณภาพนักศึกษา ไฮไลท์อยู่ที่การบริหารจัดการด้านการขนส่งในระดับ mass scale ของทาง มช ที่ปรับเปลี่ยนมาใช้รถขนส่งที่ใช้พลังงานไฟฟ้าเป็น Feeder เพื่อขนส่งบุคลากร และนักศึกษาภายในมหาวิทยาลัย รวมถึงการพัฒนาสารสนเทศของ Application Smart Phone ที่สามารถเชื่อมโยงใช้งานกับเส้นทาง และเวลาการวิ่งของรถขนส่งพลังงานไฟฟ้าดังกล่าวได้เป็นอย่างดี

จบการบรรยายที่ Visit CMU เจ้าภาพได้เชิญทางเครือข่ายฯนั่งรถไฟฟ้าไปที่อ่างแก้ว พื้นที่แหล่งน้ำสำคัญของมหาวิทยาลัย ที่นี้เราได้รับฟังการบรรยายและแลกเปลี่ยนประสบการณ์ด้านการบริหารจัดการสาธารณูปโภคภายในมหาวิทยาลัยกับ คุณนิคมบัววังโป่ง หัวหน้างานออกแบบและก่อสร้าง ทั้งเรื่องของการบริหารจัดการน้ำ ไฟฟ้า และอื่นๆ ภายในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยเฉพาะการบริหารจัดการน้ำในช่วงวิกฤตภัยแล้งที่มหาวิทยาลัยกำลังเผชิญหน้าอยู่ในขณะนี้ รวมถึงแผนการบริหารจัดการในอนาคต ซึ่งทางมหาวิทยาลัยกำลังขยายแหล่งกักเก็บน้ำขนาดใหญ่เพิ่มเติม รวมถึงแผนการบริหารจัดการด้านพลังงานไฟฟ้าที่รองรับการขยายตัวของมหาวิทยาลัยในอนาคต จบการบรรยายที่อ่างแก้ว เจ้าภาพพาเรานั่งรถบัสไปยังสถาบันวิจัยและพัฒนาพลังงานนครพิงค์ ซึ่งตั้งอยู่ที่ ต.แม่เหียะ ที่นี่เราได้รับฟังการบรรยายและเยี่ยมชมการดำเนินงานของสถาบันฯ ทั้งงานด้านพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน โครงการก่อสร้างและติดตั้งระบบผลิตก๊าซชีวภาพจากขยะมูลฝอยมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โครงการผลิตก๊าซ CBG เพื่อทดแทนก๊าซ NGV เพื่อนำมาใช้เป็นเชื้อเพลิงให้กับ รถบัส CBG (ขส.มช.) ของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดย ผศ.ดร.พฤกษ์ อักกะรังสี ผู้อำนวยการ สถาบันวิจัยและพัฒนาพลังงานนครพิงค์

จบการเยี่ยมชมในภาคเช้า เรากลับมายังสำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่เพื่อทำการประชุมเครือข่ายฯครั้งที่ 2 อย่างเป็นทางการ เนื้อหาสาระโดยสรุปจากการประชุมเครือข่ายครั้งที่ 2 ประกอบด้วย

  • ที่ประชุมมีมติรับทราบการจัดทำเวปไซด์เครือข่ายฯ http://www.sunthailand.org
  • ที่ประชุมมีมติตัดสินผลการประกวดออกแบบตราสัญลักษณ์ของเครือข่าย โดยจะมีการจัดพิธีมอบรางวัลให้กับผู้ชนะเลิศการประกวดในการประชุมเครือข่ายฯครั้งที่ 3 ที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น
  • ที่ประชุมมีมติรับรองการแต่งตั้งกรรมการจัดการประชุมประจำปีของเครือข่ายฯ รวมถึงมติรับรองวันเวลา สถานที่ และกิจกรรมการประชาสัมพันธ์การจัดประชุมดังกล่าว ซึ่งจะจัดขึ้นในวันที่ 28-29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559 ที่มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา ภาพรวมของกิจกรรมประกอบการบรรยายโดยผู้ทรงคุณวุฒิ เวทีเสวนาย่อย และเวทีการนำเสนอผลงานแบบปากเปล่า
  • ที่ประชุมมีมติรับรองแนวทางการรับเพิ่มสมาชิกเครือข่าย โดยสถาบันการศึกษาที่สนใจสามารถดาว์นโหลดแบบฟอร์มการสมัครเข้าร่วมเป็นสมาชิกเครือข่ายเพิ่มเติมได้ที่เวปไซด์ของเครือข่ายฯ
  • ที่ประชุมมติรับรองการจัดประชุมเครือข่ายฯครั้งที่ 3 ในเดือนสิงหาคม ซึ่งได้รับความอนุเคราะห์จากมหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นเจ้าภาพจัดการประชุม

ภายหลังการประชุมเสร็จสิ้น สมากชิกเครือข่ายได้รับประทานอาหารกลางวันร่วมกัน ก่อนกลับยังได้รับภาพถ่ายหมู่รวม และไส้อั่วเป็นของที่ระลึกติดไม้ติดมือกลับบ้านอย่างอบอุ่นจากเจ้าภาพจัดการประชุมอีกด้วย ในความคิดส่วนตัว ผมเองได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้จากการประชุมเครือข่ายฯครั้งนี้ที่อยากขยายความสู่อีกหลายๆท่าน ในหลายเรื่องหลายมิติ

  • ผมเรียนรู้ว่า การบริหารจัดการด้านกายภาพและสิ่งแวดล้อมในระดับมหาวิทยาลัยนั้นจะทำแบบเชิง Tactic ไม่ได้ ต้องมีการวางแผนในระดับเชิงยุทธศาสตร์ และกลยุทธ์ ที่สำคัญต้องมีนโยบายที่ดีและเข้มแข็ง เข้มแข็งในที่นี้คือผู้บริหารระดับสูงต้องมีความตั้งใจ และจริงใจอย่างยิ่งในการกำหนดเป็นนโยบายระดับมหาวิทยาลัย และต้องเอาจริงเอาจังในการขับเคลื่อนนโยบายดังกล่าวไปสู่ระดับส่วนงาน และระดับอื่นๆ
  • การสร้างความตระหนักในเรื่องของสิ่งแวดล้อมเป็นสิ่งสำคัญที่ผู้บริหารในทุกระดับของมหาวิทยาลัยต้องให้ความสำคัญในการนำสู่การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของนักศึกษา และบุคลากร หากสถาบันการศึกษาที่ถือว่าเป็นแหล่งสร้างองค์ความรู้ใหญ่ของประเทศไม่สามารถทำได้ แล้วเราจะหวังพึ่งใคร จริงหรือไม่?
  • มหาวิทยาลัยต้องเป็นที่พึ่งของสังคมได้ ผลิตผลจากงานวิจัยที่นักวิชาการ นักวิจัยที่อยู่ภายในมหาวิทยาลัยเป็นผู้รังสรรค์ ต้องตอบโจทย์การพัฒนาสังคม และการพัฒนาประเทศ ผมเองไม่ได้มีอคติกับงานวิจัยที่มุ่งเน้นผลผลิตด้านการตีพิมพ์ แต่ผมอยากให้นักวิจัยได้มีโอกาสเพิ่มมุมมองของการประยุกต์ใช้งานให้มากขึ้น การลงทุนด้านวิจัยจะได้เป็นการลงทุนที่คุ้มค่า และเกิดประโยชน์ต่อสาธารณะในภาพรวม
  • การพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาสถือเป็นเรื่องที่ผู้บริหารต้องมีความอดทน และปรับทัศนคติการคิดจากเชิงลบให้เป็นเชิงบวก ผมชอบมากกับปัญหาที่ มช เผชิญจากนักท่องเที่ยวต่างชาติจำนวนมากเข้ามาอยากเยี่ยมชมภายในมหาวิทยาลัย ในช่วงต้นเกิดปัญหามากมาย จากการไม่มีมารยาทของนักท่องเที่ยวบางคนเข้าไปรบกวนการเรียนการสอน เข้าไปใช้สิ่งอำนวยความสะดวกร่วม แต่ผู้บริหารมหาวิทยาลัยกลับใช้ความอดทน และการตั้งสติ พลิกวิกฤตดังกล่าวกลับมาเป็นโอกาสที่ปัจจุบัน มช สามารถบริหารจัดการการท่องเที่ยวภายในให้เป็นระเบียบไม่กระทบต่อทัศนียภาพ และกิจกรรมการเรียนการสอน และการดำรงชีวติของนักศึกษา และบุคลากรภายในมหาวิทยาลัย นอกจากนี้ยังสามารถหารายได้จากการท่องเที่ยวดังกล่าวเป็นระดับตัวเลข 7 หลักต่อเดือนได้ในปัจจุบัน
  • สิ่งท้ายสุดที่ผมอยากแชร์จากการประชุมครั้งนี้คือ งานด้านกายภาพและสิ่งแวดล้อม อาจไม่ใช่พันธกิจหลักของสถาบันอุดมศึกษา เหมือนกับงานด้านการศึกษา และวิจัย แต่ถือเป็นองค์ประกอบที่สำคัญยิ่งโดยเฉพาะการเรียนในศตวรรษที่ 21 ด้วยเพราะเป็นเรื่องในแนวกว้างที่ต้องการผู้บริหารที่เข้าใจและตั้งใจในการวางรากฐานของการพัฒนาองค์กรอย่างยั่งยืน การมีผังการบริหารจัดการด้านกายภาพที่เป็นระบบจะทำให้มหาวิทยาลัยแก้ไขปัญหาจากการขยายตัวขององค์กรในระยะยาวได้อย่างไม่กระทบต่อสภาพภูมิทัศน์และการใช้ชีวิตของนักศึกษา และบุคลากรภายในมหาวิทยาลัยมากจนเกินไป การใส่ความตระหนักเรื่องสิ่งแวดล้อมจะทำให้บัณฑิตที่มหาวิทยาลัยผลิตออกไปรับใช้สังคม เป็นบัณฑิตที่มีคุณภาพอย่างแท้จริงไม่ใช่เป็นเพียงแรงงานที่มุ่งแต่มิติเชิงเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียว

แล้วพบกันใหม่ครับในการประชุมเครือข่ายมหาวิทยาลัยยั่งยืนแห่งประเทศไทยครั้งที่ 3 ที่มหาวิทยาลัยขอนแก่นจะเป็นเจ้าภาพในเดือน สิงหาคม นี้ครับ

รองศาสตราจารย์ ดร.กิติกร จามรดุสิต

รองอธิการบดีฝ่ายสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาอย่างยั่งยืน มหาวิทยาลัยมหิดล

ประธานเครือข่ายมหาวิทยาลัยยั่งยืนแห่งประเทศไทย ปี 2559

หมายเลขบันทึก: 606440เขียนเมื่อ 15 พฤษภาคม 2016 11:04 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 พฤษภาคม 2016 11:04 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท