กิจกรรมบนฐานปัญญา ๒ : ปัญญา ๓ ฐานกับกิจกรรม


อนึ่ง ซุนวูกล่าวว่า "เราต้องมีทั้งกลยุทธเเละยุทธวิธี" กลยุทธ คือ หลักคิดที่ใช้ต้นทุนต่ำเเต่สามารถทำได้ผลดี เเละยุทธวิธีการหลักการลงมือทำงานในพื้นที่จริงกับสังคม ซึ่งเราต้องมีทั้งกลยุทธเเละยุทธวิธีในเรื่องการทำกิจกรรม ต้องเป็นกิจกรรมที่ตั้งอยู่บนฐานปัญญา โดยฐานปัญญาในที่นี้ หมายถึง หลักการของปัญญา ๓ ฐาน เป็นหลักของรูดอล์ฟ สไตเนอร์ ซึ่งเป็นการตีความหลักไตรสิกขาในพระพุทธศาสนา ได้แก่ ฐานกาย(ศีล) ฐานใจ(สมาธิ) เเละฐานคิด(ปัญญา) ซึ่งเราทุกคนต้องพัฒนาปัญญาทั้งฐานกาย ฐานใจ เเละฐานคิดไปพร้อมกัน ฉะนั้นกิจกรรมที่ตั้งอยู่บนปัญญา ๓ ฐานจึงเป็นกิจกรรมที่จะนำไปสู่การสร้างเสริม ทักษะการลงมือทำ(ฐานกาย) ทักษะการเข้าใจตนเอง(ฐานใจ) เเละทักษะทางการคิด(ฐานคิด)

ทฤษฎีสมอง ๓ ชั้น ปัญญา ๓ ฐาน ของรูดอล์ฟ สไตเนอร์ สรุปได้ดังนี้

๑. ฐานกาย (Reptilian brain)
สมองชั้นต้น สมองสัตว์เลื้อยคลาน
โหมดปกป้อง = กลัว
โหมดปกติ = กล้า
พัฒนาการมนุษย์ ๐-๗ ปี
ให้ได้ลงมือทำ เกลือกกลิ้งของจริง
เรียนรู้ด้วยความรู้สึกทางกาย
สู่การพัฒนาความรู้สึกตัวทั่วพร้อม

๒. ฐานใจ (Old mammalion brain)
สมองชั้นกลาง สมองสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมเก่า
โหมดปกป้อง = โกรธ เกลียด เซ็ง อิจฉา น้อยใจ
โหมดปกติ = ความรัก ชอบ ชื่นชม ให้อภัย
พัฒนาการมนุษย์ ๘-๑๔ ปี
รู้ถึงจิตใจตัวเอง รู้ถึงจิตใจผู้อื่น
จนสามารถปล่อยวางได้

๓. ฐานคิด (New mammalion brain)
สมองชั้นนอก สมองสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมใหม่ เช่น คน หรือ ลิง
โหมดปกป้อง = ยึดติด คิดเเต่เรื่องเดิม
โหมดปกติ = สร้างสรรค์ ยืดหยุ่น
พัฒนาการมนุษย์ ๑๕-๒๑ ปี
ช่วงเวลาแห่งการอยู่อย่างมีความหมาย
สามารถจับประเด็นได้และ มีปัญญา

การปรับใช้หลักปัญญา ๓ ฐานในกิจกรรม

๑.การออกแบบกิจกรรม (ในที่นี้กาย คือ บริบทกายภาพ, ใจ คือ ความรู้สึก,คิด คือ ความคิดเห็น)

  • ออกแบบโดยคำนึงถึงบริบทของปัญหา(กาย) ปัญหาคืออะไร เกิดขึ้นที่ไหน มีสาเหตุคืออะไร ตั้งเเต่เมื่อไร ใครที่เกี่ยวข้องบ้าง ปัญหานั้นส่งผลอย่างไร กับใคร เกิดอะไรขึ้นบ้าง โดยเอาข้อมูลเป็นตัวตั้ง เเละลงพื้นที่สำรวจอย่างชัดเจน
  • ออกแบบโดยเข้าใจความคิดเเละความเชื่อของกลุ่มเป้าหมาย เช่น โครงการพัฒนาชุมชนชาวบ้านมีความคิดเรื่องปัญหานี้ว่าอย่างไร มีความรู้สึกอย่างไร เเละความเชื่อของคนในระเเวกนั้นเป็นอย่างไร บางทีความเชื่ออาจสวนทางกับความคิดก็มี
  • ออกแบบให้เป้าหมายชัด สอดรับกับจุดประสงค์ที่นำไปสู่การแก้ไขปัญหาได้ โดยมองพื้นบริบท(กาย) เป็นตัวตั้ง
  • ออกแบบให้เกิดการมีส่วนร่วมของกลุ่มเป้าหมายมากที่สุด เช่น ให้ชุมชนออกมามีส่วนร่วมทางการเเสดงความคิดเห็น(คิด) เเละเเสดงความรู้สึก(ใจ) จากปัญหาที่เกิดขึ้น(กาย)

๒.การสร้างกิจกรรมเเละดำเนินกิจกรรม (ในที่นี้กาย คือ ทักษะทางกาย, ใจ คือ ทักษะทางใจ,คิด คือ ทักษะทางการคิด)

  • สร้างสรรค์กิจกรรมที่สอดรับกับสิ่งที่ควรเสริมให้กลุ่มเป้าหมาย ได้แก่
    เมื่อฐานคิดน้อยให้เสริมฐานคิด เช่น หลักการคิดวิเคราะห์ สังเคราะห์ ประเมิน ใคร่ครวญ-แยบคาย คุณค่าเเท้-คุณค่าเทียม เป็นต้น
    ฐานใจน้อยให้เสริมฐานใจ เช่น ความสามารถในการเข้าใจตนเอง เสริม EI หรือ ฝึกใจตนเอง เป็นต้น
    ฐานกายน้อให้เสริมฐานกาย เช่น เสริมทักษะการทำงาน การสื่อสาร การพูด บุคลิกภาพ การให้เกียรติ-ถ่อมตน เป็นต้น
  • การสร้างบรรยากาศกิจกรรมให้อยู่ในโหมดปลอดภัย "สบายใจเข้าร่วม" ซึ่งผู้เข้าร่วมจะเกิดความกล้า ความรัก สร้างสรรค์เเละยืดหยุ่น ไม่ควรเป็นกิจกรรมที่นำไปสู่โหมดปกป้อง เช่น ความกลัว ความเกลียดชัง ความไม่สร้างสรรค์เเละติดกรอบ เป็นต้น
  • เน้นผลลัพธ์ที่สร้างเสริมทักษะทางการคิด ทักษะทางใจ เเละทักาะทางกายเป็นสำคัญ ในกิจกรรมควรเรียนรู้ผ่านการลงมือทำแบบฐานกาย(Learning by doing) มีกิจกรรมทบทวนให้คิดให้เกิดทักษะการคิดเเละการทบทวนความรู้สึกให้เกิดการเข้าใจอารมรณ์(Reflection process)

๓.การประเมินผลกิจกรรมอย่างคุณภาพ (ในที่นี้กาย คือ ตัวโครงงานทั้งหมด-ทักษะทางกาย, ใจ คือ ทักษะทางใจ,คิด คือ ทักษะทางการคิด)

  • การประเมินตัวโครงการ เป้าหมาย จุดประสงค์ กิจกรรม ผลลัพธ์ "มีความสอดคล้องกันเพียงใด เเละเกิดผลอย่างไร ตามเป้าหมายมากน้อยเเค่ไหน" เหมือนการทบทวนศีล(กาย)
  • การประเมินตัวผู้เข้าร่วมในการเปลี่ยนแปลงด้านความคิด-ทักการคิด(คิด) ด้านความรู้สึก-ทักษะทางใจ(ใจ) เเละด้านพฤติกรรม-ทักษะการปฏิบัติงาน(กาย) โดยเน้นที่ตัวความเปลี่ยนแปลงความเปลี่ยนแปลงทั้งภายในเเละภายนอก

กระบวนทัศน์แบบองค์รวมในกิจกรรม

กระบวนทัศน์แบบองค์รวม คือ กระบวนทัศน์ใหม่ในทางปรัชญาเเละการศึกษาซึ่ง เป็นการมองจากภายในเชื่อมโยงสู่ภายนอก เป็นแนวความคิดที่เน้นการเรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลง (Transformative learning) โดยมองสรรพสิ่งอย่างเชื่อมโยงสู่กันเเละกัน(The same oneness) ครอบคลุมตั้งแต่การเรียนรู้จักตนเองอย่างลึกซึ้ง (Contemplative practices) การขยายศักยภาพของการเรียนรู้ การฝึกทักษะ ปฏิสัมพันธ์แห่งการเรียนรู้จากผู้อื่นและสรรพสิ่งอย่างเป็น
กัลยาณมิตร และการเข้าถึงคุณค่าของสาระต่าง ๆ ด้วยปัญญา (โยนิโสมนสิการ) ในที่สุด จึงสามารถจัดการความรู้ (Knowledge management) ให้เกิดประโยชน์ต่อชีวิตอย่างมีความสุขและพอเพียง
กระบวนทัศน์แบบองค์รวมในกิจกรรมเป็นเรื่องเดียวกันกับการศึกษา เพราะกิจกรรมเป็นรูปแบบในการจัดการเรียนรู้อีกวิธการหนึ่ง โดยความเป็นองค์รวมนี้ ควรสร้างเสริมความคิดเเละพฤติกรรมของเด็กในกิจกรรมได้ ดังนี้

  • กิจกรรมควรสร้างเสริมหลักการคิดเเยบคาย เเละเชื่อมโยงจากภายนอกสู่ภายในเเละจากภายในสู่ภายนอก ให้เห็นตนเอง เห็นผู้อื่นทั้งในภายในเเละภายนอก นั่น คือ การเข้าใจตนเองเเละเข้าใจผู้อื่นอย่างลึกซึ้ง "ดูอย่างไม่ตัดสิน ฟังอย่างน้อมใจฟัง เเละน้อมใจมาใคร่ครวญด้วยความเมตตา" โดยการไม่ตัดสิน
  • กิจกรรมควรเสริมหลักความเคารพซึ่งกันเเละกัน ให้เกียรติกันเเละกัน มองโลก มองปัญหาด้วยความจริง ทำงานด้วยความดี เเละมีความเมตตาที่งาม ซึ่งมีความสัมพันธ์อันดีต่อกันเเละกันในกิจกรรม
  • กิจกรรมควรเสริมให้มีอิสรภาพในการเรียนรู้ มีความยืดหยุ่น ไม่เร่งรีบจนเกินไป "ทีละก้าวเเต่มั่นคง"
  • กิจกรรมควรเสริมให้ได้ฝึกจัดการความรู้ตนเอง "สามารถทำ KM ตนเองด้วยตนเองได้" เช่น การเขียน การวาดภาพ หรือ การพูดคุยสนทนาเพื่อการเรียนรู้
  • กิจกรรมควรเสริมให้ได้พิจารณาเเยบคายเป็นสำคัญด้วยการเอาคำถามเป็นตัวตั้งเเล้วพยายามหาคำตอบ ด้วยการฝึกให้ดูความจริง ความดี เเละความงาม ของโลกเเละจิต จากการคิดเเละการลงมือทำ
  • กิจกรรมควรเสริมให้ได้ฝึกสร้างความรู้ด้วยตนเอง(Self Knowledge) เเละให้ฝึกการสะท้อนผลจากผู้อื่นเเละจัดการความรู้ของตนเอง เช่น การเรียนรู้แบบโปรเจค การเรียนรู้บนสภาพปัญหา การเรียนรู้ด้วยหน่วยที่สร้างขึ้นเอง เป็นต้น

กระบวนทัศน์แบบองค์รวมที่กล่าวมานั้น สำคัญ คือ การช่วยให้ผู้เข้าร่วมมองโลกอย่างองค์รวม ไม่ตัดสินเเละเเม้ตัดสินก็ชอบด้วยเหตุเเละผลอันสมควร สามารถเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง ซึ่งเป็นความคาดหวังสูงสุดของการเรียนรู้ โดยในมิติกิจกรรมเป้าหมายสูงสุด คือ สามารถเข้าใจตนเอง เข้าใจผู้อื่น อย่างลึกซึ้งเเละสามารถตั้งคำถาม ลงมือทำ จนถอดบทเรียนด้วยตนเองได้

หลักคุณค่าเเท้เเละคุณค่าเทียมในกิจกรรม

หลักความมีคุณค่าเเท้เเละคุณค่าเทียมเป็นหลักการให้ความหมายสรรพสิ่ง ซึ่งในทุกสรรพสิ่งทั้งมีความเเท้เเละความเทียมอยู่ในตัวมันเอง โดยคุณค่าเเท้เเละคุณค่าเทียม โดยสรุปมิติการเรียนรู้ผ่านกิจกรรมได้ ดังนี้

๑. คุณค่าแท้ หมายถึง ความหมาย คุณค่า หรือประโยชน์ของสิ่งทั้งหลาย ในแง่ที่สร้างสรรค์ เอื้อประโยชน์สุขต่อตนเอง สังคม เเละชาติ การช่วยเหลือผู้คน การมีความสุข มีจิตสำนึกพลเมือง เป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง เป็นผู้รักษาศิลปวัฒนธรรมอันดีงาม การปฏิบัติตามหลักวิชาการ หลักคุณธรรม หลักความพอเพียง หลักการเรียนรู้ เเละหลักการเปลี่ยนแปลงที่ดีงาม การทำกิจกรรมจึงควรเน้นไปที่การสร้างคุณค่าเเท้โดยตรง

๒. คุณค่าเทียม หมายถึง ความหมาย คุณค่า หรือประโยชน์ของสิ่งทั้งหลายที่ไม่สร้างสรรค์ เอื้อประโยชน์เพียงต่อตนเอง ขาดการช่วยเหลือสังคม มีมายาคติความสุข คือ เงิน ไม่มีจิตสำนึกพลเมืองเเต่จะปลูกฝังให้เอาตัวรอดเป็นยอดคน เป็นผู้วิจารณ์เเต่ไม่ลงมือทำ เสริมทักษะด้วยเเนวคิดเเบบลบให้มีภูมิคุ้มกันในภาวะสมองอยู่ในโหมดปกป้อง ปฏิบัติตามขนบที่ขาดการเเยบคายให้เชื่อโดยขาดปัญญา มักใช้ตรรกะวิบัติเทียบเคียงกิจกรรมกับชีวิตจริง เเละเปลี่ยนแปลงตนเองเพื่อมายาคติของบทบาท หน้าที่ หรือ สังคมเพื่อนพี่น้อง ซึ่งการทำกิจกรรมไม่ควรเน้นคุณค่าเทียมลักษณะเช่นนี้ด้วยประการทั้งปวง



หมายเลขบันทึก: 606390เขียนเมื่อ 14 พฤษภาคม 2016 16:30 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 พฤษภาคม 2016 16:30 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท