ความเป็นชนบทในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้


โดยที่ผู้ลงแรงได้รับ “เงิน” เป็นผลตอบแทนพร้อมกับภาระการแบกรับความเสี่ยงจากภัยธรรมชาติอีกด้วย ระบบโลกสมัยใหม่ ชักจูงให้ชาวชนบทใฝ่ฝันและไขว่คว้าหาชีวิตตามอย่างคนเมือง

ในยุคการข้ามพรมแดน ปรากฏการณ์การแลกเปลี่ยนเทคโนโลยี เศรษฐกิจ การเมืองและวัฒนธรรม ซึ่งเป็นไปอย่างกว้างขวางและรวดเร็ว ทำให้ขีดความสามารถต่างๆ มีความเป็นไปได้มากขึ้น ภาพตัวแทนของวิถีชีวิตในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในทัศนะเดิมของคนนอกนั้น “ความด้อยพัฒนาและความเป็นชนบท” รวมทั้งการจินตนาการความยากจนของวิถีชีวิต ที่เต็มไปด้วยความงมงายผ่านพิธีกรรมบูชาฟ้าฝน หรือผีต่างๆ นำมาซึ่งความพยายามในการปลดปล่อยประเทศ

ความล้าหลังในภาคเกษตรกรรม ในทัศนะของผู้มีอำนาจสูงสุดของประเทศ นำมาซึ่ง “แผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติ” เพื่อกำหนดทิศทางการทำงาน โดยมุ่งเน้นความเป็นอุตสาหกรรมตามประเทศอื่นๆ ซึ่งมิได้มองเห็นความจริงด้านต้นทุนเดิมของประเทศ และแน่นอนว่า พื้นที่ชนบท ถูกเลือกเป็นพื้นที่ทดลองโครงการใหม่ๆครั้งแล้วครั้งเล่า การจัดตั้งโรงงานมาพร้อมกับวาทกรรมการสร้างงานให้แก่คนในชุมชน ผลักดันให้คนละทิ้งงานเกษตรและมุ่งหน้าสู่การขายแรงงาน เจ้าของที่ดินผันตัวเองเป็นคนรับจ้างในที่ดินของตัวเองจากการเข้ามาของนายทุนข้ามชาติ ในรูปแบบของเกษตรพันธสัญญา ส่งผลให้รูปแบบการทำงาน ต้องเป็นไปตามข้อตกลงหรือตามใจผู้ลงทุน หนำซ้ำผลผลิตเหล่านั้น กลับถูกนำกลับไปยังประเทศนายทุน โดยที่ผู้ลงแรงได้รับ “เงิน” เป็นผลตอบแทนพร้อมกับภาระการแบกรับความเสี่ยงจากภัยธรรมชาติอีกด้วย ระบบโลกสมัยใหม่ ชักจูงให้ชาวชนบทใฝ่ฝันและไขว่คว้าหาชีวิตตามอย่างคนเมือง เช่น วัตถุนิยม แฟชั่น วิถีชีวิต เป็นต้น สังคม ประเพณีและวัฒนธรรม ที่ถือเป็นมกดกภูมิปัญญาของชนบท ถูกเปลี่ยนแปลงจากวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไป เช่น พิธีกรรมบูชาธรรมชาติเพื่อให้การเกษตรอุดมสมบูรณ์ ถูกแทนที่ด้วยปุ๋ยเคมีและยาฆ่าแมลง ที่ส่งผลเสียต่อสุขภาพทั้งเกษตรกรรมและผู้บริโภค ภาพการรักษาพยาบาลด้วยปราชญ์ในหมู่บ้าน แท้จริงคือ มีสถานีอนามัยทุกตำบลและโรงพยาบาลทุกอำเภอ ลูกหลานรุ่นใหม่ถูกต้อนเข้าสู่ระบบการศึกษาสมัยใหม่ ซึ่งเป็นโอกาสเดียวที่จะหลุดจากวงจรเกษตรและยกระดับชีวิตได้ ในขณะเดียวกัน พื้นที่ชนบท ก็มิได้ถูกจำกัดไว้เป็นพี้นที่ชีวิตของเฉพาะคนชนบทอีกต่อไป การขยายตัวของเมืองนำพาให้ผู้คนต่างถิ่นเข้ามาครอบครองบ้านและที่ดินในพื้นที่เหล่านี้ วาทกรรมการเป็นครัวของโลกของภูมิภาคนี้ ยังคงมีความย้อนแย้งระหว่างทฤษฎีและแนวทางปฏิบัติ ตราบเท่าที่ชนบทยังคงถูกมองว่าเป็นสิ่งล้าหลัง ภาวะการละทิ้งงานในภาคเกษตรกรรมจากความกดดันของสังคม อาจเป็นบ่อเกิดของความไม่สมดุลทางการพัฒนาของประเทศ และภูมิภาคต่อไปได้

ดังนั้น การย้ำเน้นการพัฒนานับเป็นสิ่งที่ควรกระทำควบคู่ไปกับการเปลี่ยนแปลงอย่างยั่งยืน ที่ทำให้ความเหลื่อมล้ำระหว่างผู้คนในเมืองและวิถีชนบทเกิดขึ้นน้อยที่สุด การทำความเข้าใจพื้นที่ชนบท จึงมิใช่เพียงการจินตนาการด้วยความคิดซึ่งถูกแช่แข็ง หากแต่เป็นการเรียนรู้ในลักษณะของ “ชนบทที่มีการพลวัต” นั่นเอง


ส่วนหนึ่งของงานเขียนส่งอาจารย์

วิชา วิกฤติโลก

11/11/2015

หมายเลขบันทึก: 605927เขียนเมื่อ 4 พฤษภาคม 2016 04:54 น. ()แก้ไขเมื่อ 4 พฤษภาคม 2016 05:05 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท