ชีวิตที่พอเพียง 2648. สหกรณ์ผู้บริโภค



หนังสือ หนึ่งเมล็ดพันธุ์ในมือเรา สหกรณ์ผู้บริโภคเซคัดสึคลับ บทที่หนึ่ง แปลโดยมุทิตา พานิช บอกเราว่า คนเล็กคนน้อยสามารถรวมตัวกันทำสิ่งที่ยิ่งใหญ่ได้ เป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่เพื่อสังคมที่พอเพียง ไม่ตกเป็นเหยื่อของลัทธิ ทุนนิยม วัตถุนิยม จนเกินไป

สหกรณ์อีกแล้ว เรื่องราวในหนังสือ ประสบการณ์ยิ่งใหญ่ ในหมู่บ้านเล็กๆ ก็เป็นผลงานของสหกรณ์ ที่ผมไปเห็นจากการไป ตระเวณชนบทญี่ปุ่น ก็เห็นผลงานริเริ่มสร้างสรรค์ของสหกรณ์เต็มไปหมด ทำไมสหกรณ์ญี่ปุ่นจึงมีการสร้างสรรค์มาก ทำไมสหกรณ์ไทยจึงมีผลตรงกันข้าม?

นี่คือตัวอย่างกลไกสำคัญของการพัฒนาจากฐานล่าง ที่เวลานี้รัฐบาลกำลังขับเคลื่อนขบวนการ ประชารัฐ ที่กำลังเสี่ยงต่อการที่จะถูกฮุบโดยทุนใหญ่ร่วมกับข้าราชการ ที่ญี่ปุ่นสหกรณ์เป็นกลไกสร้างความเข้มแข็ง ให้แก่ประชาชนฐานล่างได้จริงๆ

โปรดสังเกตว่าระบบการปกครอง ระบบการเมือง และระบบสังคมของญี่ปุ่น เอื้อให้เกิดกิจกรรมของ ภาคประชาชนอย่างแท้จริง ในลักษณะของความสัมพันธ์แนวราบ

นี่คือเรื่องราวของ “ผู้บริโภคที่ทำการผลิต” ปลดปล่อยตัวเองออกจากการเป็นลูกค้า ที่ถูกตลาดครอบงำ หันมารวมตัวกันสร้างความสัมพันธ์กับผู้ผลิต ในลักษณะของความสัมพันธ์แนวราบ และเป็นช่องทางให้ร่วมกัน สร้างสรรค์ การผลิตและการบริโภค ให้ได้สินค้าที่มีคุณภาพดี มีความปลอดภัย ตรงความต้องการ ในราคาที่เป็นธรรม คำนึงถึงความสมดุลของระบบนิเวศน์ ความปลอดภัยของสิ่งแวดล้อม และตรวจสอบย้อนกลับ (traceability) ไปยังแหล่งผลิตได้

จากจุดเริ่มต้นเล็กๆ เมื่อสี่สิบปีก่อน ที่สมาชิก ๒๐๐ คน รวมตัวกันซื้อนมสดวันละ ๒๐๐ ขวด เวลานี้สหกรณ์ผู้บริโภคเซคัดสึคลับมีสมาชิกกว่า ๓๔๐,๐๐๐ คน ใน ๑๘ จังหวัด มีสินค้ากว่า ๑,๘๐๐ รายการ มีมูลค่าหุ้นกว่า ๓๗ ล้านล้านเยน มีเงินหมุนเวียนรายปี ๘๒.๓ พันล้านเยน

อ่านรายละเอียดในหนังสือแล้ว ผมตีความว่า กลุ่มผู้นำของสหกรณ์มีอุดมการณ์ที่ชัดเจน ที่ต้องการต่อต้าน ลัทธิทุนนิยม กำไรนิยม เขาไม่เรียกสิ่งที่ขายว่า “สินค้า” ใช้คำใหม่ว่า “วัตถุดิบบริโภค” ผมว่าเขาละเอียดอ่อน ในเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างผู้ผลิตกับผู้บริโภคมาก ไม่ต้องการให้อยู่บนฐานของการทำการค้า (ที่ยึดกำไรเป็นตัวตั้ง) แต่ต้องการให้อยู่บนฐานของความร่วมมือช่วยเหลือเกื้อกูลกัน

ในเล่มมีเรื่องราวของการขยายเครือข่าย เชื่อมโยงกับเหตุการณ์ในบ้านเมือง เช่นเรื่องนโยบายลด การปลูกข้าวของรัฐบาล มีรายละเอียดเรื่องข้าว เรื่องหมู และที่สำคัญยิ่งคือเรื่องคุณภาพด้านความปลอดภัยของ วัตถุดิบบริโภค ที่สหกรณ์มีกระบวนการตรวจเยี่ยมแหล่งผลิต เพื่อให้มั่นใจว่าได้มาตรฐานจริงๆ


วิจารณ์ พานิช

๒๖ มี.ค. ๕๙


หมายเลขบันทึก: 605443เขียนเมื่อ 26 เมษายน 2016 16:59 น. ()แก้ไขเมื่อ 26 เมษายน 2016 16:59 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท