ปลาทูกับการจัดการความรู้


หลังจากปลาทูย่างแล้วจะเป็นอะไรต่อ ถ้าเป็นบ้านผมนะครับ ย่างแล้วก็คงจะเอาไปป่นทำน้ำพริกครับ หรือไปคลุกข้าวกินก็ได้ครับ ไม่กินเป็นตัวๆ เหมือนคนรวยแถบภาคกลางครับ

ผมขอชื่นชมกับนวัตกรรมทางความคิดของ อาจารย์ประพนธ์  ผาสุขยืด ที่สร้างปลาทู มาเป็นต้นแบบของการจัดการความรู้จนกลายเป็นปลาทูระดับโลกแล้วครับ แล้วก็แตกลูกหลานเป็นปลาทูสารพัดชนิด ตั้งแต่ปลาทูห้าร้อยหัว ปลาทูรูปร่างเหมือนปลาไหล ปลาทูขึ้นบก ปลาทูบินได้ มีตัวอย่างให้เห็นอยู่มากมาย ที่เป็นรูปแบบต่างๆ ของการจัดการความรู้ จนกระทั่งสุดท้าย อาจารย์ประพนธ์ กำลังโฆษณาขายหนังสือการจัดการความรู้ฉบับปลาทูย่าง ผมคิดว่าเป็นนวัตกรรมตัวใหม่อีกแล้วครับ เพราะผมมองเห็นได้ชัดเจนว่า หลังจากปลาทูย่างแล้วจะเป็นอะไรต่อ ถ้าเป็นบ้านผมนะครับ ย่างแล้วก็คงจะเอาไปป่นทำน้ำพริกครับ หรือไปคลุกข้าวกินก็ได้ครับ ไม่กินเป็นตัวๆ เหมือนคนรวยแถบภาคกลางครับ ที่เอาปลาทูไปวางคู่กับน้ำพริกกะปิ แล้วเรียกว่า "น้ำพริกปลาทู" บ้านผมนะครับ ไม่เคยเอาปลาทูไปวางคู่กับน้ำพริก มีแต่เอาปลาทูไปคลุกลงเป็นน้ำพริกเลยครับ เรียกว่า "น้ำพริกปลาทู" เช่นเดียวกันครับ

เห็นไหมครับ แค่น้ำพริกปลาทู ยังแตกต่างกันเลยครับ ตรงนี้สะท้อนอะไรครับ ผมเข้าใจเองว่าเป็นเรื่องความคิดและการจัดการทรัพยากรครับ คนรวยกินปลาทูเป็นตัว หรือสองสามตัวก็ได้ เท่าที่ผมเคยเห็น วางเต็มจานก็เคยมี แต่คนจนต้องเอาลงไปคลุกลงในน้ำพริกครับ เพื่อจะได้กินกันอย่างทั่วถึง โดยเฉพาะวัฒนธรรมอีสานที่เราชอบทำป่นปลา ป่นปู กันเป็นปกติ ก็ด้วยเหตุผลของทรัพยากรนี่แหล่ะครับ ฉะนั้น การจัดการความรู้ก็เช่นเดียวกันครับ สไตล์ที่เราทำงานอยู่ในปัจจุบันก็เสมือนป่นปลาทู คนที่ไม่รู้จักป่นปลาทูก็อาจจะไม่เชื่อครับ ว่าเป็นปลาทูจริงหรือเปล่า แม้กระทั่งลองชิมดูแล้วก็ยังอาจไม่เชื่อก็ได้ เช่น อาจคิดว่า เอาปลาช่อนมาป่น แล้วใส่กลิ่นปลาทูเข้าไป หรือหลอกเอาปลาหลังแข็งมาทำเป็นน้ำพริกปลาทูก็ได้ แล้วใครล่ะครับที่มั่นใจว่า นี่คือน้ำพริกปลาทู จริงๆ ก็คงจะเป็นคนที่ทำน้ำพริกนั่นละครับที่รู้ว่าตัวเองทำน้ำพริกปลาทูจริงหรือไม่ หรืออีกคนหนึ่งที่จะมั่นใจก็คือ คนที่มานั่งดูว่าเขาใช้ปลาทูจริงๆ ตรงนี้แปลาว่าอะไรครับ  ควาหมายที่ผมแฝงไว้คือ มีแต่คนที่จัดการความรู้อยู่เท่านั้นที่รู้ว่าสิ่งที่เราทำอยู่นั้นจริงหรือไม่จริง และคนที่จะเข้าใจเราได้มากหน่อยก็คือ คนที่คอยมาตามดูว่าเราทำหรือไม่ทำ อย่างใกล้ชิดพอสมควร เพื่อจะได้รู้ว่าเราไม่แอบเอาปลาอื่นมาทำแทนปลาทู

สิ่งที่เรามั่นใจในทีมงานของเราตอนนี้เราไม่มีปลาทูเป็นตัวให้เห็นครับ มีแต่ป่นปลาทู ที่ทั้งหัว ตัว และหาง ปนอยู่ในน้ำพริกปลาทูนั่นแหล่ะครับ จะเชื่อไม่เชื่อต้องมาดูเอาเองครับ ผมบอกไปก็ไม่มีประโยชน์ ไม่มีใครยกตัวเองให้ลอยได้ครับ แม้แต่กระโดดก็ยังตกมาเช่นเดิม นี่คือปรัชญาจีนครับ ผมก็อยู่ในสภาพเดียวกัน หวังว่าจะมีคนมาช่วยให้มีคนอื่นเข้าใจเราครับ อย่างไรก็ตามผมยังมั่นใจในน้ำพริกปลาทูผมอยู่ครับ ว่าไม่ได้เอาปลาฉลาด หรือปลาหมอ มาทำครับ

คำสำคัญ (Tags): #ปลาทู
หมายเลขบันทึก: 60539เขียนเมื่อ 17 พฤศจิกายน 2006 10:04 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 พฤษภาคม 2012 18:16 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
  • สวัสดีครับท่านอาจารย์ดร.แสวงที่เคารพครับ
  • อาจารย์สะท้อนภาพของความแตกต่างในบริบทต่าง ๆ ได้ชัดเจนมากเลยครับ
  • ผมก็เคยพบประสบการณ์ปลาทูแบบคนรวยในกรุงเทพฯเหมือนกันครับ วันนั้นเป็นงานบุญขึ้นบ้านใหม่ที่พี่สาวครับ เราก็ไปซื้อปลาทูที่ตลาด อตก. กัน เดินไปเห็นปลาทูกรุงเทพฯแล้วตกกะใจครับ ตัวละ 70 บาท หรือถูก ๆ ก็สองตัวร้อย
  • ครั้นนำกลับมาทำน้ำพริกปลาทูถวายพระ พระก็ฉันไปนิดเดียวครับ สิ่งนั้นสื่อถึงความลำบากในการที่พระจะฉันในบริบทนั้น ปลาตัวใหญ่ ๆ จะฉันต่อหน้าญาตโยมสะดวกได้อย่างไร ที่ดีที่สุดก็คือหั้นเป็นชิ้นพอคำ แต่ถึงกระนั้นจะซื้อตัวใหญ่มาทำไม ในเมื่อต้องมาหั่น สู้ซื้อตัวเล็ก ๆ ดีกว่า
  • ซื้อตัวใหญ่มาเพื่อโชว์ว่าดูดี แต่ผลประโยชน์ในการใช้จะดีหรือไม่ดีก็ไม่เป็นไร สร้างภาพให้ดูดีเฉย ๆ ประเด็นนี้เป็นสิ่งที่น่าคิดของการจัดความรู้เมืองไทยเหมือนกันครับ

ขอบคุณครับ

นี่แหละที่ผมเป็นห่วง เกรงว่าเราจะใช้รูปแบบเดียวกันที่อาจจะใช้ได้บางแห่งเท่านั้น

ผมอยากจะเห็นความหลากหลาย แต่ใช้ได้จริง

ผมคิดว่าไว้คุยกันวันที่ ๑-๒ ธันวา น่าจะดีนะครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท