สัญชาตญาณที่มองไม่เห็นของนวัตกร


หากประสบการณ์ท่านมองออกแล้วว่าอะไรที่ทำแล้วล้มเหลว อะไรที่ทำแล้วสำเร็จ ท่านอยู่ในจุดที่ควรเลิกเรียนรู้อย่างที่เคยเป็น อย่างที่เป็นระบบระเบียบ แต่ควรถามว่าจะก้าวสู่การเป็นนวัตกรหรือไม่ ก็แค่นั้น !

คุณคิดว่าอะไรที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนานวัตกรรมมากที่สุดระหว่าง วัฒนธรรมองค์กร (Culture, ซึ่งเป็นเรื่องภายในองค์กร) องค์ความรู้ (Knowledge, ผมเหน็บไปที่การเรียน MBA) และสภาพแวดล้อมทีไม่เอื้อต่อการสร้างนวัตกรรม (Environment, เน้นไปที่ภายนอกองค์กร) ... ผมเริ่มต้นด้วยคำถามนี้ในการฝึกอบรมให้กับบริษัทเอกชนแห่งหนึ่ง ที่ก่อนการเริ่มต้น ทาง HR ได้มานั่งพูดคุยถึงนโยบายที่ผู้บริหารพยายามผลักดันเรื่องนวัตกรรมเพื่อให้เกิดผลิตภัณฑ์ใหม่ๆออกสู่ตลาด แต่ HR ท่านนี้ได้เล่าถึงอุปสรรคสำคัญคือเรื่องคน ที่ไม่มีความกระตือรือร้น จึงพยายามใส่คอร์สอบรมต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลักสูตร Mini MBA จากมหาวิทยาลัยชื่อดังแห่งหนึ่ง (อาจไม่ตรงประเด็นเรื่องส่งเสริมการสร้างนวัตกรรมเสียทีเดียว) ... ผู้เข้าร่วมหลายท่านเลือกตอบข้อ 1 หรือ 3 มีน้อยมากที่จะเลือกข้อ 2 ซึ่งเป็นคำตอบที่ผมเฉลยออกไปบนทัศนส่วนตัว ผมคิดว่าองค์ความรู้ในรูปแบบที่เราพยายามแสวงหาจากองค์ความรู้ที่มีรูปแบบ โดยเฉพาะที่เขาจัดเตรียม package สำเร็จรูปในหลักสูตร MBA นี่แหละ คืออุปสรรคที่ก่อให้เกิดทางตันแก่นวัตกรรมได้มากที่สุด แล้วผมก็บอกว่า วันนี้จะขอดู "Sense" ของการเป็นนวัตกรของท่าน (ในมุมมองของผม) มันอาจจะเป็น weak signal ที่ไม่มีใครสังเกตเห็นหรือเผยแพร่มาก่อนก็เป็นได้ รวมถึงการให้เหตุผลแก่คำตอบในตอนท้ายของการอบรม ... ช่วงพักเที่ยง ก็มีน้อง staff ทีมงานของผมมาเล่าให้ฟังว่า มีเสียงกระซิบอันหนาหูถึงความเบื่อหน่ายที่ผมใช้กระบวนการใน workshop ซ้ำๆ ถึง 5 รอบ กินเวลาช่วงเช้าทั้งหมดและกำลังจะกินอีกราว 15% ของช่วงบ่ายที่กำลังจะเริ่ม จึงขอให้ผมช่วยทำอะไรบางอย่างกับบรรยากาศที่เกิดขึ้น บรรยากาศที่เข้าทางผม ^^

innovator_1

หลังเสร็จสิ้น session หนึ่งที่ต่อเนื่องมาจากช่วงเช้า ผมก็ได้เฉลยถึงสัญชาตญาตการเป็นนวัตกรที่ผมเกริ่นในตอนต้นที่ไม่น่าจะมีหนังสือหรือการบรรยายที่ไหนกล่าวถึงอย่างเป็นรูปธรรม โดยใบ้ว่า ท่านน่าจะสังเกตเห็นจากที่ผมได้อุตส่าห์ออกแบบ workshop เป็นกระบวนแล้วให้ท่านทำซ้ำวนเวียนอยู่ถึง 5 รอบ ท่านสังเกตเห็นอะไรที่จะส่งเสริมให้ท่านเป็นนวัตกรได้อย่างมีนัยยะ ท่านหนึงตอบว่าการสื่อสาร ท่านหนึ่งตอบความคิดสร้างสรรค์ อีกท่านตอบการเรียนรู้ประสบการณ์จากคนอื่นแล้วนำมาเรียนรู้ แลอื่นๆ ผมเฉลยว่า ความเบื่อหน่ายนี่แหละคือจุดสังเกตว่าท่านจะสร้างนวัตกรรมได้หรือไม่ และการอดทนจนผ่านจุดที่ไม่เกิดความรู้สึกว่าอดทน บนกระบวนการ หน้าที่การงาน รวมไปถึงบรรยากาศที่ซ้ำๆ ซ้ำๆ ซ้ำๆ ซ้ำๆ อย่างนี้ไปเรื่อยๆ นี่แหละ แสดงว่าท่านมีโอกาสสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ได้แล้ว เพราะอะไรจึงเป็นเช่นนั้น ...

young businessman too overwork to asleep

หากท่านคิดว่าความคิดแปลกใหม่คือปัจจัยสำเร็จต่อการสร้างนวัตกรรมแล้วละก็ ถูกเพียงเสี้ยวเดียว (ไม่ถึงครึ่งด้วย) ถ้าคิดแปลก สร้างสรรค์ บนฐานที่ไม่แข็งแรง ผมเรียกมันว่า "ความคิดที่ไม่มีคุณภาพเพียงพอต่อการทนความเสี่ยง" แตกต่างจากความคิดจากคนมีประสบการณ์ (คนที่มีชัวโมงบินสูง ไม่ใช่คนที่มีอายุเยอะเสมอไป) ผ่านการคิดซ้ำ ยิ่งทดลองซ้ำยิ่งน่าเชื่อถือ ซ้ำๆๆๆๆๆๆ จนรู้ว่าอะไรควรอะไรไม่ควร ปิดมุมล้มเหลวมาในระดับหนึ่ง จนเข้าสู่การคิดแหวกแปลกแนวด้วยความรู้เท่าถึงการณ์ ผมเรียกสิ่งสร้างสรรค์จากความคิดระดับนี้ว่า "ความคิดที่มีคุณภาพเพียงพอต่อการทนความเสี่ยง" สรุปได้ว่า ไอเดียใหม่ทั้งคู่แต่แบบหลังเสี่ยงน้อยกว่า ดังนั้น หากท่านเบื่อแล้วล้มเลิก ก็ยากที่จะไปสู่จุดที่เกิดนวัตกรรมได้ ตรงกันข้ามหากบริหารความเบื่อได้ดี อยู่กับงานที่วนเวียนอย่างมีความสุข สังเกตและปรับปรุงในทุกรอบของกระบวนการที่ซ้ำจนอิ่มตัว แล้วเริ่มเล่นท่ายาก ท่าแปลกพิศดาร ทีนี้แหละ รากฐานที่ไปสู่นวัตกรรมก็จะแข็งแรง โดยส่วนตัวเชื่อว่าบุคคลที่ประสบความสำเร็จในสิ่งประดิษฐ์พลิกโลกตั้งแต่ยุคก่อนเอดิสันจนถึงยุคหลังสตีฟ จ๊อบ คือนักบริโภคความเบื่อตัวยงกันทั้งสิ้น เพียงแต่พวกเขาสามารถแปลรูปความเบื่อเป็นความมันส์ ด้วยแรงจูงใจ ความรักในสิ่งที่ทำได้สำเร็จ ทีนี้ก็อยู่ที่ท่านหละ จะทำอย่างไรกับความเบื่อที่ไม่ควรหลีกหนี

innovator_4

ประเด็นสุดท้าย คือ ใยคำตอบจึงเป็นความรู้เช่นที่ MBA ประทานให้ ... ก็เพราะที่เป็น Explicit (จับต้องรับรู้ได้) มักจะสร้างกรอบทางความคิดให้ขาดจินตนาการ แถมยังเป็นกรอบที่ใช้ซ้ำมาแล้วไม่รู้กี่ครั้ง ตำราพิมพ์ไปแล้วกี่เล่ม แนวทางการคิดต่างๆที่เป็นกรอบจะสร้างความสามารถทางการแข่งขันที่ยากต่อการลอกเรียนแบบต่อสมรรถนะนั้นได้อย่างไร ในเมื่อรากเหง้าความคิดก็มาจากไม่กี่แหล่งที่ซ้ำๆกัน ต่างจากประสบการณ์ของคนๆหนึ่งที่บอกไม่ได้ตอบไม่ถูก หรือที่เรียกว่า Tacit Knowledge อย่างนี้แล้วจะมาเลียนแบบอย่างไร แต่ความยากอยู่ที่การสกัดออกมาให้สื่อสารได้ ให้สร้างมูลค่าได้ ให้ประยุกต์ใช้ได้ จึงต้อง optimize ทั้ง explicit และ tacit ให้ไปด้วยกัน ... มันน่าเจ็บใจหรือไม่ที่ มาร์ก ซัคกกก ซักอย่าง แห่ง Facebook ถูกตีตราว่าเป็นนวัตกรระดับโลกด้วยความรู้ที่สั่งสมมาไม่กี่ปี ต่างกับหลายท่านที่ทำวนซ้ำจนความเบื่อเกาะกินไม่ให้เงินเดือนขยับได้สะดวกมากว่า 20 ปี เมื่อไหร่ท่านจะแปรรูปความเบื่อนั้นได้สำเร็จเสียที ในเมื่อทุกอย่างมันพร้อมตั้งนานแล้ว ... หากประสบการณ์ท่านมองออกแล้วว่าอะไรที่ทำแล้วล้มเหลว อะไรที่ทำแล้วสำเร็จ ท่านอยู่ในจุดที่ควรเลิกเรียนรู้อย่างที่เคยเป็น อย่างที่เป็นระบบระเบียบ แต่ควรถามว่าจะก้าวสู่การเป็นนวัตกรหรือไม่ ก็แค่นั้น !

อ้างอิง : thanakrit.net

หมายเลขบันทึก: 605342เขียนเมื่อ 24 เมษายน 2016 14:05 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 เมษายน 2016 14:05 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ขอบคุณมากๆครับ

ได้เรียนรู้หลายเรื่องเลยครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท