วังวนแห่งความไม่รู้: การเสพติดสกัดกั้นความรู้


ถ้าเราจะจัดการความรู้ เราจะต้องจัดเวลาให้เหมาะสม อาจจะต้องทำล่วงหน้าก่อนใช้ความรู้เล็กน้อย ไม่ใช่มาถามเมื่อสาย ทำอะไรไม่ได้แล้ว

จากประสบการณ์การทำงานกับชุมชน พบว่า สิ่งที่ชาวบ้านยังไม่ค่อยเปลี่ยนแปลงด้านการจัดการความรู้ ส่วนใหญ่เนื่องมาจากการติดยึดอยู่กับความรู้เดิมๆ หรือบางทีก็ไม่ใช่ความรู้ แต่เป็นการปฏิบัติที่เคยชินสืบต่อกันมา ซึ่งถือว่าเป็นการเสพติดทางการปฏิบัติ ทำให้ไม่เกิดการพัฒนาความรู้ หรือไม่มีการเรียนรู้ ในทางกลับกัน หน่วยงานราชการที่ไม่ค่อยมีการเรียนรู้ก็อาจเนื่องมาจากการเสพติดกับระบบ ระเบียบ วิธีการทำงาน และชุดความรู้ที่ปฏิบัติสืบต่อกันมา โดยไม่คิดว่าเราจะทำให้ดีกว่าเดิมได้อย่างไร ด้านนี้ก็เป็นเรื่องของการเสพติดระบบราชการจนเคยชิน ทำงานแบบเช้าชาม เย็นชาม ไม่มีการเปลี่ยนแปลง เพราะการเปลี่ยนแปลงอาจทำให้เกิดความยุ่งยากในการทำงาน สู้ทำงานกับสิ่งที่เสพติดอยู่แล้วไม่ได้ เช่นเดียวกับคนขับรถสิบล้อที่เคยชินกับการเสพติดยาบ้า เพื่อการขับรถหามรุ่งหามค่ำ ก็ถือว่าการเสพยาบ้าง่ายกว่าการไม่เสพยาบ้า ผมคิดอย่างนี้ใครเห็นแย้งอย่างไรก็ว่ามาเลยครับ

ประเด็นของสิ่งเสพติดเหล่านี้ ทำให้เราเคยชินจนไม่คิดจะทำอย่างอื่น แล้วพอมีคนถามว่า ทำไมคนขับรถบรรทุกสิบล้อไม่เลิกเสพยาบ้า คนขับรถสิบล้อก็จะถามคืนว่า แล้วจะให้ผมทำอย่างไรในการขับรถไปส่งของคืนนี้ ไม่ไปก็ถูกไล่ออก คำตอบก็มาลงล่องเดิม คือ "ต้องเสพยาบ้า" แบบไม่มีคำตอบอื่น หรือคนที่ทำงานกลางคืนในปัจจุบันนี้ก็ติดกาแฟกันงอมแงม พอถามว่า ทำไมต้องดื่มกาแฟ ก็ได้รับคำตอบว่า หากไม่ดื่มคืนนี้ก็ไม่ได้ทำงาน เพราะจะหลับซะก่อน คำถาม-คำตอบแบบนี้ ไม่มีทางออกครับ เพราะเราทำงานแบบเสพติด เราไม่คิดอย่างอื่น ไม่มีการเตรียมการ ไม่มีการวางแผน มาถามกันง่ายๆ ตอนวาระจำเป็น ไม่มีคำตอบครับ

ฉะนั้น ถ้าเราจะจัดการความรู้ เราจะต้องจัดเวลาให้เหมาะสม อาจจะต้องทำล่วงหน้าก่อนใช้ความรู้เล็กน้อย ไม่ใช่มาถามเมื่อสาย ทำอะไรไม่ได้แล้ว ดังเช่นตัวอย่างที่กล่าวมาข้างต้น ที่เป็นสาเหตุให้เกิดความไม่รู้ แล้วก็วนเวียนอยู่ในวังวนของความไม่รู้เช่นนั้นต่อไป

คำตอบที่จะเป็นคำสำคัญในการแก้ไขเรื่องนี้น่าจะเป็น การเตรียมการล่วงหน้าในการจัดการความรู้ ว่าเราจะใช้ความรู้นั้นเมื่อไหร่ ตามจังหวะเวลาที่เหมาะสม ไม่ใช่ว่าจะจัดความรู้เมื่อไหร่ก็ได้ และที่สำคัญไม่ควรทำอะไรก่อนการจัดการความรู้ครับ หรือถ้าจะทำก็ระวังความผิดพลาดและลดความเสี่ยงไว้ด้วยครับ ใครเห็นต่างมุมอย่างไรก็อภิปรายได้เลยเต็มที่ครับ 

หมายเลขบันทึก: 60521เขียนเมื่อ 17 พฤศจิกายน 2006 09:48 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 16:23 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท