nobita
นาย ชัยพร รัตนดิลก ณ ภูเก็ต

อย่าฝากความหวังให้สถานศึกษาสอนวิชาศีลธรรมแต่เพียงฝ่ายเดียว


สืบเนื่องจากการได้อ่านจดหมายข่าวรัฐบาลเพื่อประชาชน ฉบับวันที่ ๑ เมษายน พ.ศ. ๒๕๕๙ ตามบันทึกที่แล้วนั้น ในคอลัมน์การศึกษา ได้นำเสนอข่าว "พัฒนาคุณภาพเด็กไทยด้วย วิชาศีลธรรม" ซึ่งในเนื้อหาสาระของข่าวผมก็อ่านแบบงง ๆ เพราะ มีแต่เพียงบอกว่าวิชาศีลธรรมนั้นถูกบรรจุอยู่ในหลักสูตรชาติปี พ.ศ. อะไรก็ว่าไป อยู่ในหมวดอะไร ๆ ต่าง ๆ นั้น ซึ่งโดยส่วนตัวผม แทบจะบริโภคสาระอะไรไม่ได้เลยในข่าวนี้ แต่อย่างน้อยที่สุด ก็ยังได้หัวเชื้อความคิดที่จะนำมาเขียนบันทึกนี้ต่อไปได้

ผมได้ค้นคว้าเพิ่มเติมอีกเล็กน้อย และได้ความรู้จาก อ.นิธิ เอี่ยวศรีวงศ์ ซึ่งท่านได้เขียนบทความไว้ใน มติชน เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2558 (่อ่านฉบับเต็มได้ตามลิงค์) เรื่องวิชาศีลธรรม ไว้ และผมได้นำข้อความบางส่วนมาบันทึกไว้ในนี้ ดังนี้

" "ศีลธรรม" ในความหมายที่แท้จริงคือความคิดและความรู้สึกที่เกี่ยวกับคนอื่น สัตว์อื่น และสิ่งอื่น คือไม่ใช่ความคิดที่เกี่ยวกับประโยชน์ตน ไม่ว่าจะเป็นประโยชน์ทางโลกหรือทางธรรมก็ตาม

ศีลธรรมคือความคิดความรู้สึกต่อคนอื่น, สัตว์อื่น, สิ่งอื่นก็จริง แต่เป็นความคิดความรู้สึกที่ก่อให้เกิดพันธะทางสังคมต่อตัวเราด้วย

อย่าลืมว่าศีลธรรมไม่ได้มีไว้ให้เรียนเพื่อรู้ (หรือสอบ) แต่รู้เพื่อให้เกิดพันธะทางสังคมแก่ตนเอง การเรียนแบบเปิดกว้างจึงจำเป็นอย่างยิ่ง ไม่อย่างนั้นก็ไม่มีวันที่จะเห็นแนวทางในการแก้ปัญหาที่มีประสิทธิภาพได้เลย

ไม่มีใครสอนวิชาศีลธรรมที่ลอยอยู่โดดๆ โดยไม่สัมพันธ์กับบริบทชีวิตจริงของผู้เรียนได้ ที่เขาพูดว่าพ่อแม่เป็นครูสอนศีลธรรมคนแรกนั้นใช่เลย เพราะท่านไม่ได้สอน "วิชา" ศีลธรรม แต่นำเอามิติทางศีลธรรมเข้าไปเกี่ยวข้องกับประสบการณ์จริงในชีวิตของลูก (เช่น คุยกันว่าจะแก้ปัญหาถูกเพื่อนรังแกอย่างไรโดยไม่ใช้ความรุนแรง เพราะความรุนแรงเป็นภัยต่อส่วนรวม...เป็นการแก้ปัญหาเพื่อประโยชน์ตนก็จริง แต่วางบนพื้นฐานของประโยชน์ท่าน)

ถึงแม้ไม่มี "วิชา" ศีลธรรมให้ใครสอน แต่โรงเรียนไปถึงมหาวิทยาลัยควรสอนศีลธรรมในทุกวิชาที่เรียน เพราะไม่ว่าจะเป็นความรู้อะไร ก็ล้วนมีมิติทางศีลธรรมแฝงอยู่ทั้งสิ้น

มิติทางศีลธรรมเป็นสิ่งที่แทบจะพูดได้ว่าเป็นธรรมชาติของมนุษย์ เพราะมนุษย์เป็นสัตว์ฝูงที่นึกคิดอะไรนอกสัญชาตญาณได้ การคงอยู่ของฝูงจึงมีความสำคัญต่อการคงอยู่ของมนุษย์

และ อ.นิธิ ได้ปิดท้ายบทความไว้ว่า สรุปก็คือ ควรสอนในสถาบันการศึกษาทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นศีลธรรม ศาสนาทั้งในส่วนที่เป็นปรากฏการณ์ทางสังคมและวิถีล้ำลึกเพื่อเข้าใจตนเอง แต่จะสอนอย่างไรโดยไม่ต้องมีในหลักสูตรต่างหากที่สำคัญกว่า ผมเชื่อว่าครูอาจารย์ไทยทำได้ ถ้าได้รับการส่งเสริมอย่างถูกต้อง "

ศีลธรรม เป็นเรื่องที่จำเป็นต้องตระหนักให้มากที่สุด เพราะสังคมรอบ ๆ ตัวเราทุกคนในวันนี้และวันข้างหน้า มีแนวโน้มที่เราจะได้เจอคนที่กล้า เก่ง ฉลาด ปราชเปรื่อง แต่.. กลัวความจริง กลัวความถูกต้อง เห็นแต่ประโยชน์ตัวเป็นที่ตั้ง วางเฉยต่อความดีความและเพื่อนพ้องในสังคม และอะไรต่าง ๆ อีกมาก ๆ ซึ่งล้วนแล้วแต่จะทำให้บ้านนี้ เมืองนี้ สังคมนี้ต้องร้อนลุ่ม สับสน วุ่นวายกันไม่รู้จบสิ้น ซึ่งเป็นผลมากจากการที่คนมีความบกพร่องในศีลธรรม จรรยาอันดี

ในฐานะของผู้ที่อยู่นอกแวดวงของสถานศึกษา ผมไม่อาจจะกล่าวได้ว่า สาเหตุที่คนในปัจจุบันมีความบกพร่องในศีลธรรมนั้นเป็นเพราะสถานศึกษามิได้จัดให้มีการอบรมบ่มนิสัย หรือสั่งสอนเหล่าบรรดาศิษยานุศิษย์ในเรื่องศีลธรรม จรรยาอย่างจริง ๆ หรือเคร่งครัด อะไรทำนองนี้

ผมมีความเห็นว่า การสั่งสอนเรื่องศีลธรรม นั้น ไม่ควรฝากความหวังไว้กับสถานศึกษา ครูบาอาจารย์ แต่เพียงฝ่ายเดียว หากแต่ เราทุกคนที่เป็นพ่อ แม่ ผู้ปกครอง ซึ่งอยู่ใกล้ชิดลูกหลาย ญาติสนิททั้งหลาย ควรเริ่มต้นเป็นแบบอย่างที่ดี และให้การอบรมบ่มนิสัยแก่สมาชิกในครอบครัว ให้รู้ รัก และมีศีลธรรม ทั้งต่อตนเอง และต่อสมาชิกในครอบครัว เพื่อนบ้านและสังคม การสั่งสอนและปลูกฝังเรื่องที่เกี่ยวกับจิตวิญญาณ อย่างวิชาศีลธรรมนั้น ต้องดำเนินไปอย่างต่อเนื่องตลอดเวลา เพื่อให้เกิดการซึมซับและเห็นผลโดยอัตโนมัติ และเมื่อถึงจุดนั้น ความสุขอันเกิดจากสังคมสงบสุขจะกลับมาสู่ชาติ และบ้านเมืองไทยอีกครั้ง เหมือนในสมัยก่อน ๆ ที่เคยเจอและสัมผัสได้เมื่อไม่นานที่ผ่านมา

หมายเลขบันทึก: 604490เขียนเมื่อ 3 เมษายน 2016 13:29 น. ()แก้ไขเมื่อ 4 เมษายน 2016 09:19 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

อ่านบันทึกนี้แล้ว ผู้อ่านมีหลายอารมณ์ เริ่มฟุ้งซ่านค่ะ 555

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท