ปี่พาทย์ดึกดำบรรพ์ และละครหน้าพระที่นั่งเรื่อง " นเรนทราทิตย์ :วีระกษัตริย์ผู้ทรงธรรม "


เนื่องในโอกาสเฉลิมฉลอง ๙๙ ปีแห่งการสถาปนาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันเสาร์ที่ ๒๖ มีนาคม พ.ศ.๒๕๕๙ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี ได้เสด็จพระราชดำเนินมาทรงดนตรีไทย ปี่พาทย์ดึกดำบรรพ์ และทอดพระเนตรการแสดงละครบทพระราชนิพนธ์เรื่อง " นเรนทราทิตย์ :วีระกษัตริย์ผู้ทรงธรรม " ณ หอประชุมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ท้าวความเดิมตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อมีเจ้านายและขุนนางต่างประเทศเข้าเฝ้า ได้โปรดให้เจ้าพระยาเทเวศร์วงศ์วิวัฒน์ (หม่อมราชวงศ์หลาน กุญชร) ซึ่งดำรงตำแหน่งเจ้ากรมมหรสพขณะนั้น คิดจัดการแสดงดนตรีรับแขกเมืองขึ้น เจ้าพระยาเทเวศร์วงศ์วิวัฒน์ ได้เคยฟังการขับร้องและเพลงไทยอย่างคอนเสิร์ต ซึ่งสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัตติวงศ์ ทรงคิดจัดให้ทหารเล่น จึงกราบทูลขอให้ทรงช่วยอำนวยการการจัดเล่นดนตรีในกรมมหรสพ ให้เป็นไปตามพระราชประสงค์ ทั้งนี้สมเด็จเจ้าฟ้าฯกรมพระยานริศรานุวัตติวงศ์ ยังได้ทรงจัดบทร้องและเพลงดนตรีให้ด้วย

น่าจะเป็นด้วยความคิดสำคัญสองประการที่ว่า ลักษณะการประสมวงปี่พาทย์ที่มีมาแต่เดิม ซึ่งตีด้วยไม้แข็งนั้น มีเสียงดังและกร้าวมากเกินไปจนขาดความนุ่มนวลนั้นประการหนึ่ง และการขับร้องประสานเสียงชายหญิง มักไม่ได้เสียงที่ประสานเสียงกลมกลืนน่าฟังอีกประการหนึ่ง สมเด็จเจ้าฟ้าฯกรมพระยานริศรานุวัตติวงศ์ และเจ้าพรยาเทเวศร์วงศ์วิวัฒน์ จึงได้ทรงร่วมกันคิดปรับปรุงลักษฌะการประสมวงปี่พาทย์ขึ้นใหม่ ให้มีเสียงทุ้มนุ่มนวลชวนฟัง โดยยึดวงปี่พาทย์ไม้นวมเป็นหลัก แล้วตัดเครื่องดนตรีบางอย่างออกไป และเพิ่มเครื่องบางอย่างเข้าไป การปรับปรุงเปลี่ยนแปลงดังกล่าวมิได้เกิดขึ้นครั้งเดียว แต่ค่อยๆแก้ไขกันทีละเล็กละน้อยเรื่อยมา

วงดนตรีที่ประสมขึ้นใหม่ นอกจากจะใช้ขับร้องและบรรเลงเพลงประเภทเพลงเกร็ดและเพลงตับในงานต่างๆแล้ว ยังได้ใช้บรรเลงร่วมกับการแสดงละครภาพนิ่ง และบรรเลงร่วมกับการแสดงละครชนิดใหม่ ที่ได้ปรับปรุงขึ้นในเวลาต่อมา ด้วยเหตุที่เจ้าพรยาเทเวศร์วงศ์วิวัฒน์ ได้สร้างโรงละครขึ้นที่ถนนอัษฏางค์ ตำบลบ้านหม้อ และตั้งชื่อโรงละครแห่งนี้ว่า โรงละครดึกดำบรรพ์ ชื่อนี้จึงใช้เรียกละครและปี่พาทย์ที่คิดปรับปรุงขึ้นใหม่ และแสดง ณ โรงละครแห่งนี้ว่า ละครดึกดำบรรพ์และและปี่พาทย์ดึกดำบรรพ์ ซึ่งมีเครื่องดนตรี ๑๑ ชิ้น ประกอบด้วย ระนาดเอก ระนาดทุ้มไม้ ระนาดทุ้มเหล็ก ซ้องวงใหญ่ (๔ ชิ้นแรกตีด้วยไม้นวม) ชลุ่ย กลองตะโพนสองลูก ฆ้องหุ่ยแปดลูก ตะโพน กลองแขก ฉิ่ง และซออู้

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารีได้ทรงเล่าที่มาของละครพระราชนิพนธ์เรื่อง " นเรนทราทิตย์ :วีระกษัตริย์ผู้ทรงธรรม " ปรากฏในสูจิบัตรของละครนี้ว่า .." ในพ.ศ. ๒๕๑๙ ช้าพเจ้ายังศึกษาอยู่ชั้นปีที่ ๔ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ข้าพเจ้าสนใจศึกษาจารึกปราสาทหินพนมรุ้งที่กรมศิลปากรพบใหม่ ดร.อุไรศรี วรศะริน เป็นผู้สอน ในชั้นแรกมุ่งหมายเพียงเพื่อรวบรวมข้อมูลตีพิมพ์ในวารสารทางวิชาการเล่มใดเล่มหนึ่ง

ต่อมาเมื่อเข้าศึกษาที่บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร ศาสตราจารย์หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล ทรงแนะนำว่า ควรศึกษาด้านจารึก และประวัติศาสตร์ศิลปะ นำมาวิเคราะห์ประกอบกัน จะเป็นประวัติศาสตร์ที่สมบูรณ์เกี่ยวกับปราสาทหินพนมรุ้ง ข้าพเจ้าเห็นชอบกับพระดำรินี้ แต่เนื่องว่าเวลาศึกษามีไม่เพียงพอ จึงจำกัดลงเฉพาะด้านจารึก

จารึกปราสาทพนมรุ้งที่สำคัญที่สุดที่ศาสตรจารย์เซเดส์ แปลไว้ครึ่งหลักกับครึี่งหลังที่กรมศิลปากรค้นพบนั้น สวมกันได้พอดี ข้าพเจ้าจึงแปลใหม่ วิธีการแปลค่อนข้างซับซ้อน เพราะหินแตกไป และตัวอักษรลบเลือน ทำให้แปลได้ไม่ครบ เนื้อหาไม่ชัดเจน ต้องตีความสันนิษฐานเอามาก ลักษณะการประพันธ์เป็นฉันท์ชนิดต่างๆ ได้แก่ วสันตดิลก อุปชาติ อินทรวิเชียร อุเปนทรวิเชียร มาลินี โศลก และอารยา มีโวหารที่ลึกซึ้ง

เนื้อหาของกวีนิพนธ์นี้ เป็นเรื่องของกษัตริย์ทรงพระนามว่านเรนทราทิตย์ ซึ่งทรงสืบเชื้อสายจากราชสกุลอันยิ่งใหญ่ มีพระรูปโฉมงดงาม เป็นที่เสน่หาของเหล่าสตรี ทรงเป็นกวีที่เป็นเลิศ เป็นผู้มีปัญญาและความรู้ ทรงเป็นผู้แกล้วกล้าในสงตราม ในที่สุดได้ศึกษาหลักธรรมะในศาสนาพราห์มไศว นิกายพวกปาศุปตะ บำเพ็ญพรตอันแก่กล้า

ดูลักษณะอักษร น่าจะเป็นสมัยคริศตศตวรรษที่ ๑๒ ช่วงสุดท้ายมีการบอกศักราชเทียบกับคริสตศักราชที่ ๑๑๕๒ ตรงกับปลายรัชกาลพระเจ้าสูรยวรมัน หรือหลังระยะสูรยวรมันเพียงเล็กน้อย มีบุคคลชื่อหิรัณยะ สร้างรูปเคารพของบิดาชื่อ นเรนทราทิตย์เป็นทองหลังจากนเรนทราทิตย์ล่วงลับไปแล้ว

ในจารึกสันสกฤตมีชื่อ "สถูลาทริ" หรือ "สถูลไศละ" ซึ่งตรงกับภาษาเขมรว่า "พนมรุ้ง"

พ.ศ.๒๕๒๐ ข้าพเจ้าได้ไปที่ปราสาทพนมรุ้ง ที่อำเภอนางรอง (ปัจจุบันเป็นอำเภอเฉลิมพระเกียรติ) จังหวัดบุรีรัมย์เป็นครั้งแรก ผู้อธิบายคือ ศาสตรจารย์หม่อมเจ้ายาใจ จิตรพงศ์ ศาสตราจารย์หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล และ นายปิแอร์ ปิชาร์ด สถาปนิกชาวฝรั่งเศส ยิ่งทำให้ข้าพเจ้าสนใจงานนี้เพิ่มขึ้น นอกจากความสนใจด้านภาษาและวรรณคดีแล้ว สภาพภูมิศาสตร์ภูเขาไฟเก่า ทำให้สถานที่แห่งนี้น่าพิศวงยิ่งนัก

หลังการศึกษาสำเร็จในปี พ.ศ.๒๕๒๑ แล้ว ข้าพเจ้าใคร่ที่จะศึกษาประวัติศาสตร์ ศิลปะในปราสาทหินพนมรุ้ง และกวีนิพนธ์ในศิลาจารึกให้ละเอียดยิ่งขึ้น แต่ไม่มีเวลา จึงเว้นไม่ได้ทำต่อตามประสงค์

ในระยะหลัง ข้าพเจ้าได้แต่งบทประพันธ์เพื่อบรรจุเพลงสำเนียงต่างๆ เช่น สำเนียงจีน สำเนียงฝรั่ง สำเนียงแขก สำเนียงพม่า และทั่วๆไป มีความคิดจะเล่นสำเนียงเขมรบ้าง เมื่อไม่นานมานี้ ได้ไปทำงานด้านส่งเสริมการเกษตรในจังหวัดสุรินทร์ ชาวบ้านในโครงการเล่น "กันตรึม" ให้ฟัง ไพเราะจับใจยิ่งนัก จึงมานึกถึงพระเจ้านเรนทราทิตย์พระองค์นี้ เขียนเป็นบทเฉลิมพระเกียรติ แต่ไม่ใช้ข้อความในจารึก อาศัยจินตนาการของตนเอง ไม่หวังให้เป็นหลักฐานทางประวัติสาสตร์ ตั้งใจเพียงสร้างความพึงพอใจแก่ตนเอง ผู้ร่วมงานและผู้ชมการแสดงเท่านั้น "

นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณยิ่งใหญ่อันเปรียบประมาณมิได้ต่อชาวจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ได้รับพระราชทานโอกาสอันเป็นมิ่งมงคลเยี่ยงนี้ ขอพระองค์ทรงพระเจริญยิ่งยืนนาน ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อมฯ

...........................................................................................................................................................

ภาพบางส่วนจากข่าวในพระราชสำนัก




ความเห็น (3)

คงจะไพเราะมาก ๆ นะคะคุณป้าใหญ่

แค่เห็นก็อยากฟังแล้วครับ

อ่านที่พระเทพฯท่านรงบันทึก

มีพลังมากเลยครับ

ทรงพระเจริญ

ขอบคุณพี่ใหญ่มากครับที่บันทึกให้อ่าน

  • จันทวรรณ
  • ธวัชชัย
  • โอ๋-อโณ
  • ขจิต ฝอยทอง
  • ธิ
  • ยายธี
  • คนใต้โดยภรรยา
  • สวัสดีค่ะ ขอบคุณมากสำหรับกำลังใจมอบแก่บันทึกเสด็จพระราชดำเนินมาทรงดนตรีไทย ปี่พาทย์ดึกดำบรรพ์ และทอดพระเนตรการแสดงละครบทพระราชนิพนธ์เรื่อง " นเรนทราทิตย์ :วีระกษัตริย์ผู้ทรงธรรม " ณ หอประชุมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  • หลานทพญ.ธิรัมภา...นับเป็นความประทับใจของสำหรับผู้เข้าเฝ้าทุกคนในวันมหามงคลนี้เป็นอย่างยิ่งค่ะ
  • น้องดร.ขจิต...บทพระราชนิพนธ์นี้ สะท้อนพระอัจฉริยภาพทางการประพันธ์ศิลป์ประวัติศาสตร์ที่เป็นเลิศค่ะ
  • ..... อ่านต่อได้ที่: https://www.gotoknow.org/posts/604330
    พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
    ClassStart
    ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
    ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
    ClassStart Books
    โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท