48 ปี 4 ยุค จากโรงเรียนผู้ช่วยพยาบาลสู่คณะพยาบาลศาสตร์(5)


ยุคที่ 4

คณะพยาบาลศาสตร์ (พ.ศ.2549 - ปัจจุบัน)

วันที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2546 คณะรัฐมนตรีได้มีการอนุมัติหลักการให้จัดตั้งมหาวิทยาลัยในจังหวัดนราธิวาส โดยการรวมสถาบันการศึกษาเดิมที่มีอยู่ในจังหวัดเพื่อจะได้ใช้ร่วมกันให้เกิดประโยชน์สูงสุด มีการลงทุนน้อยที่สุดเท่าที่สามารถจะทำได้โดยไม่ขัดกับปรัชญาการศึกษาและภารกิจสถาบันเดิม โดยรัฐบาลมีนโยบายให้มหาวิทยาลัยในท้องถิ่นร่วมจัดการศึกษาระดับอุดมศึกษาและต่ำกว่าปริญญา เพื่อเป็นการกระจายโอกาสทางการศึกษาให้กับประชาชนในพื้นที่และจังหวัดใกล้เคียง

วันที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2548 มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ได้รับการสถาปนาขึ้น ตามพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ พ.ศ. 2548 ที่ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา (เล่มที่ 122 ตอนที่ 14 ก ลงวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2548) โดยการหลอมรวมสถาบันการศึกษาที่มีศักยภาพ จำนวน 4 สถาบัน คือ วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี นราธิวาส วิทยาลัยเทคนิคนราธิวาส วิทยาลัยการอาชีพตากใบ วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยี นราธิวาส นับตั้งแต่นั้นมาวิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี นราธิวาส จึงเปลี่ยนมาสังกัดมหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ โดยเป็นมหาวิทยาลัยที่เกิดจากความต้องการของประชาชนที่ต้องการให้มีมหาวิทยาลัยในพื้นที่เพื่อกระจายโอกาสทางการศึกษาให้กับคนในพื้นที่(สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ. 2548) ภายใต้บริหารงานของ ดร.จงรัก พลาศัย ที่ได้รับการโปรดเกล้าฯดำรงตำแหน่งอธิการบดีคนแรกของมหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ วิทยาลัยพยาบาลนราธิวาส จึงขอยกเลิกการเป็นสถาบันสมทบของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มีผลให้ผู้สำเร็จการศึกษา ตั้งแต่ปีการศึกษา 2548 เป็นต้นมาได้รับปริญญาพยาบาลศาสตรบัณฑิตของมหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์

ปี พ.ศ.2548 จึงมีการปรับปรุงหลักสูตรพยาบาลศาสตรบัณฑิต พ.ศ.2545 เพื่อให้สอดคล้องกับบริบทของมหาวิทยาลัย ผ่านการกลั่นกรองโดยคณะกรรมการพัฒนาคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ ซึ่งมี รองศาสตราจารย์ ดร.ทัศนา บุญทอง เป็นประธานฯ และมีผู้เชี่ยวชาญจากสถาบันการศึกษาการพยาบาลเข้ามาร่วมเป็นกรรมการ ดำเนินการพัฒนาหลักสูตรพยาบาลศาสตรบัณฑิต (ฉบับปรับปรุง พ.ศ.2548 ) ( พย.บ. Bachelor of Nursing Science Program : B.N.S.) ซึ่งเป็นหลักสูตรผ่านการอนุมัติจากสภามหาวิทยาลัย สภาการพยาบาล และสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษาและใช้มาจนถึงปัจจุบัน

วันที่ 14 พฤศจิกายน 2549 เปลี่ยนชื่อจากวิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี นราธิวาส เป็น คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ ตามประกาศในราชกิจจานุเบกษา ฉบับกฤษฎีกา (เล่มที่ 123 ตอนที่ 118 ก ลงวันที่ 27 พฤศจิกายน 2549) คณะพยาบาลศาสตร์ในปัจจุบัน เปิดสอนในระดับปริญญาตรีหลักสูตรพยาบาลศาสตรบัณฑิต ฉบับปรับปรุง พุทธศักราช 2548 สีประจำคณะ คือ สีขาว ดอกไม้ ประจำคณะ คือ ดอกปีบ การรับนักศึกษามีทั้งโดยวิธีรับตรง ซึ่งเน้นการกระจายโอกาสทางการศึกษาให้กับคนในพื้นที่ ซึ่งรวมถึงนักศึกษาทุน ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนใต้ และนักศึกษาที่ครอบครัวได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ และรับโดยวิธีแอดมิชชั่น ปีละประมาณ 100 คน เข้าศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยเป็นระยะเวลา 4 ปี สำเร็จได้รับปริญญาบัตรพยาบาลศาสตรบัณฑิต จากมหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์

การพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของมหาวิทยาลับนราธิวาสราชนครินทร์ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช โปรดเกล้าฯให้สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีเสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์มาเป็นองค์ประธานในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรให้ผู้สำเร็จการศึกษา จากมหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์เป็นครั้งแรก ณ หอประชุมคณะพยาบาลศาสตร์ ในวันที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2551 โดยพระสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีเสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์มาเป็นองค์ประธานในพิธีพระราชทานปริญญาบัตร ณ คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ อ.เมือง จ.นราธิวาส ในเดือนกันยายน เป็นประจำทุกปี ยังความปลาบปลื้มใจให้กับบุคลากรและนักศึกษา คณะพยาบาลศาสตร์ ตลอดจนผู้ปกครองและประชาชนในจังหวัดนราธิวาสอย่างหาที่สุดมิได้ การผลิตบัณฑิตพยาบาลนับตั้งแต่หลอมรวมเป็นมหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ ประกอบด้วยบัณฑิตที่สำเร็จการศึกษาหลักสูตรพยาบาลศาสตรบัณฑิตจำนวน 276 คน และหลักสูตรพยาบาลศาสตรบัณฑิต (ต่อเนื่อง)จำนวน 231 คน

การพัฒนาคณะเพื่อมุ่งสู่มาตรฐานการศึกษานั้น นับว่าเป็นประเด็นที่คณะพยาบาลศาสตร์ให้ความสำคัญมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในการเปลี่ยนผ่านสู่ระบบมหาวิทยาลัย คณะพยาบาลศาสตร์ได้รับการยอมรับให้เป็นคณะแกนนำในการพัฒนาคุณภาพการศึกษาของมหาวิทยาลัย ทั้งการจัดระบบกลไกการประกันคุณภาพ และการบริหารจัดการการประกันคุณภาพการศึกษาตามเกณฑ์สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ซึ่งได้ดำเนินการประเมินภายในระดับภาควิชาเป็นกลุ่มแรกๆหลังจากประกาศใช้เกณฑ์ ผลการประเมินระดับภาควิชา ระดับคณะ สำหรับปีการศึกษา 2552 ได้คะแนน 2.54 (คะแนนเต็ม 3 คะแนน) สำหรับการประเมินภายนอกโดยสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา(องค์การมหาชน) (สมศ.) คณะได้รับการประเมินครั้งที่ 2 เมื่อพฤษภาคม พ.ศ.2552 ด้วยคะแนน 4.53 (คะแนนเต็ม 5 คะแนน) ในระดับดีเยี่ยม และรายงานของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (กพร.) ผลการดำเนินงานปีงบประมาณ 2552 ได้คะแนน 3.51 (คะแนนเต็ม 4 คะแนน) ซึงผลการดำเนินการของคณะนั้นได้ส่งผลถึงการประกันคุณภาพระดับมหาวิทยาลัย ส่วนการรับรองสถาบัน

การศึกษาพยาบาลและการผดุงครรภ์จากสภาการพยาบาล อันเป็นสภาวิชาชีพที่ควบคุมมาตรฐานการจัดการศึกษาพยาบาลนั้น คณะฯได้รับการรับรองสถาบันเป็นระยะเวลา 3 ปีการศึกษา (ปีการศึกษา 2552-2554)

การบริหารงานคณะพยาบาลศาสตร์คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการทำงาน และการเรียนรู้ ตลอดจนสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆที่จะสามารถช่วยผู้เรียนให้สามารถศึกษาค้นคว้าหาความรู้ได้อย่างหลากหลาย ทันสมัยแม้อยู่ห่างไกลเมืองหลวง มีการจัดหาหนังสือ สื่อโสตทัศนูปกรณ์ สื่อการเรียนการสอน คอมพิวเตอร์ในการศึกษาค้นคว้าและการทำงาน รวมทั้งการพัฒนาห้องปฏิบัติการ มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างให้มีลักษณะแบนราบ ลดสายการบังคับบัญชา การดำเนินการต่างๆในรูปของคณะกรรมการ มีการนำเทคโนโลยีมาใช้ จัดทำ Website ของคณะ สามารถค้นคว้าทาง Internet ได้ทั้งระบบใช้สายและ ไร้สาย รวมทั้งการจัดหาฐานข้อมูลเพื่อการศึกษาวิจัยและบริหารงาน

การพัฒนาบุคลากรนับว่าเป็นหัวใจสำคัญ เพื่อการพัฒนาคณะพยาบาลศาสตร์ให้เป็นไปตามมาตรฐาน ตลอดจนการก้าวเข้าสู่การเป็นข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา ซึ่งได้สนับสนุนให้อาจารย์และบุคลากรศึกษาต่อ การพัฒนาตนเองด้วยการเข้ารับการอบรม การศึกษาดูงาน การสัมมนา ทั้งภายในและภายนอกคณะ ที่เปลี่ยนแปลงอย่างเห็นได้ชัดคือการพัฒนาอาจารย์เพื่อเข้าสู่ตำแหน่งวิชาการ ในตำแหน่งผู้ช่วยศาสตราจารย์กลุ่มแรกของมหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ จำนวน 11 คน ตั้งแต่วันที่ 4 ธันวาคม พ.ศ.2551

สถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ เป็นปัจจัยที่คณะพยาบาลศาสตร์ชายแดนใต้ตระหนักเป็นอย่างยิ่ง โดยความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของอาจารย์บุคลากร และนักศึกษาเป็นสิ่งสำคัญได้ มีการเตรียมความพร้อมระบบต่างๆเพื่อความปลอดภัย เช่น การเลือกแหล่งฝึกภาคปฏิบัติ ขยายแหล่งฝึกภาคปฏิบัติ การเลือกครูพี่เลี้ยง การออกข้อบังคับเรื่องค่าใช้จ่ายในแหล่งฝึก การติดตามสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ต่างๆ การบริหารจัดการเพื่อให้อาจารย์ บุคลากร และนักศึกษาสามารถหลีกเลี่ยงจากภัยสถานการณ์ในระหว่างศึกษาภายในคณะ และการเดินทางกลับที่พักอาศัย

การแสวงหาแหล่งทุนวิจัยทั้งภายในและภายนอกสถาบันเป็นส่วนสำคัญที่ต้องดำเนินการให้เพื่อสนับสนุนให้อาจารย์เป็นนักวิชาการ สามารถสร้างผลงานเชิงวิชาการให้เป็นที่ยอมรับ ตลอดจนการขอตำแหน่งทางวิชาการ รวมทั้งทุนการศึกษาสำหรับนักศึกษาพยาบาล โดยการสนับสนุนจากอาจารย์ ผู้มีจิตศรัทธา และมูลนิธิต่างๆ เพื่อให้เพียงพอในการใช้จ่ายเพื่อการศึกษา

หมายเลขบันทึก: 604187เขียนเมื่อ 29 มีนาคม 2016 08:27 น. ()แก้ไขเมื่อ 29 มีนาคม 2016 08:27 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

หายไปนานเลยครับ

ไม่ได้ข่าวเลยครับ

https://www.gotoknow.org/posts/604185

เรียน อาจารย์ขจิต หายไปนานทีเดียว คงต้องกลับมา ลปรร.อีกครั้ง แต่ยังเข้ามาอ่านบันทึกท่านอื่นอยู่นะคั

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท