กิตตินุช(14)


ฝึกประสบการณ์

16 พ.ย. 2549 

วันนี้เช็คเทปวีดีโอ(จำนวนมาก-*-)และเขียนหน้าเทปว่าเป็นเทปเกี่ยวกับอะไรเพื่อที่จะดูได้ว่าสามารถนำไปใช้ใหม่ได้อีกหรือไม่จากนั้นก็นำไปใส่ตู้เรียงให้เรียบร้อย แต่กว่าจะเช็คหมดก้ปาเข้าไปครึ่งวันแล้วล่ะค่ะ  จากนั้นก็มาช่วยพี่แป้งกับพี่อุ๋ยเช็คสปอตวันคนพิการสากลเพื่อที่จะดูความเรียบร้อยก่อนที่จะส่งไปที่ฝ่ายตรวจสอบก่อนออกอากาศ ในช่วงบ่ายได้คุยกับพี่แอ้(ผู้ประกาศข่าวสาวสวย)เกี่ยวกับเรื่องการสอบผู้ประกาศค่ะ พี่แอ้ให้คำแนะนำมาว่า ถ้าอยากสอบผู้ประกาศให้ฝึกอ่านข่าวพระราชสำนักแล้วก็ให้สมัครในฐานะของพิธีกรทางวิทยุของวิทยุชุมชนค่ะ เพราะจะได้นำไปใช้จริงค่ะ ดิฉันมีบทความเกี่ยวกับการสอบผู้ประกาศมาให้อ่านด้วยนะคะ เผื่อสนใจค่ะ

ดร.สุทิติ ขัตติยะ ได้กล่าวไว้เรื่อง"เป็นผู้ประกาศไม่ยาก... ถ้าเข้าใจ"ว่า

ผู้เขียนสอบบรรจุเข้ารับราชการครั้งแรกที่กรมประชาสัมพันธ์ในตำแหน่งที่มีชื่อว่า “ เจ้าหน้าที่กระจายเสียง ระดับ 3” ซึ่งก็คือ ผู้ประกาศ นั่นเอง และจากประสบการณ์ในตำแหน่งนี้ที่ค่อนข้างยาวนาน ทำให้ผู้เขียนเข้าใจและเรียนรู้แนวทางการปฏิบัติหน้าที่การเป็นผู้ประกาศ เทคนิคการเป็น
ผู้ประกาศ รวมทั้งคุณสมบัติที่ดีของผู้ประกาศ และได้ยึดถือเป็นหลักในการทำงานมาโดยตลอด

ผู้ประกาศ คือ บุคคลที่ทำหน้าที่อ่านออกเสียงและพูดทางวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์การอ่านหรือการพูดของผู้ประกาศถือว่าเป็นเสียงประกอบประเภทหนึ่งในกระบวนการผลิตรายการทั้งวิทยุและโทรทัศน์ สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (กพ.) ได้กำหนดให้หน่วยงานวิทยุและโทรทัศน์สังกัดของกรมประชาสัมพันธ์จำแนกบุคคลที่ทำหน้าที่เป็นผู้ประกาศ ออกเป็น 2 ประเภท
โดยถือเกณฑ์ของคุณวุฒิทางการศึกษาเป็นหลัก กล่าวคือ ผู้ประกาศ หมายถึง บุคคลที่มีวุฒิทางการศึกษาต่ำกว่าปริญญาตรี และเจ้าหน้าที่กระจายเสียง หมายถึง บุคคลที่มีคุณวุฒทางการศึกษาตั้งแต่ระดับปริญญาตรีขึ้นไป

แนวทางการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่กระจายเสียงหรือผู้ประกาศมี 2 ลักษณะ คือ การอ่านและการพูด การอ่านเป็นการทำหน้าที่ของสื่อกลางระหว่างสถานีฯ กับผู้ชมและผู้ฟัง เช่น การแจ้งรายการ การอ่านข่าว การบรรยาย การถ่ายทอดสดหรือการรายงานเหตุการณ์นอกสถานที่ เป็นต้น ส่วนการพูด เป็นการเชื่อมโยงเนื้อหาของรายการเฉพาะรายการใดให้กลมกลืน เป็นการนำเสนอต่อผู้ชมให้เป็นไปอย่างราบรื่นและต่อเนื่อง รวมทั้งเกิดความน่าสนใจ ซึ่งบางทีเราก็เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า ผู้ดำเนินรายการ โดยในบางโอกาส ผู้ประกาศอาจจำเป็นต้องเป็นผู้ร่วมสนทนาหรือทำหน้าที่เป็นผู้สัมภาษณ์บุคคลที่มาร่วมรายการด้วย ดังนั้น ผู้ประกาศจึงควรมีความเข้าใจในบทบาทหน้าที่ เรียนรู้และพัฒนาเทคนิคของการเป็นผู้ประกาศเพื่อยึดถือเป็นแบบแผนในการปฏิบัติงาน

โดยพื้นฐานแล้ว เสียงที่พูดหรืออ่าน ต้องแสดงออกถึงบุคลิกภาพและลักษณะของตนเอง
อย่างแท้จริงด้วยการเปล่งสำเนียงให้เป็นไปตามธรรมชาติโดยไม่จำเป็นต้องปรุงแต่ง และการออกเสียงต้องให้ถูกต้องตามอักขรวิธีของหลักเกณฑ์การอ่านออกเสียงภาษาไทย เช่น ตัวควบกล้ำ ตัว ร ล หรือ ระดับของคำและความหมาย เป็นต้น ซึ่งเราสามารถศึกษาและค้นคว้าได้จากพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานและคู่มือการใช้คำราชาศัพท์ สิ่งที่ควรคำนึงอีกประการหนึ่งก็คือ จังหวะของการอ่านและการพูด การหยุดระหว่างการอ่านและการพูดต้องให้ตรงกับตำแหน่งของประโยค เพื่อให้สื่อ  ได้ตรงกับความหมาย เพราะการหยุดระหว่างการอ่านและการพูดในตำแหน่งที่ไม่สมควรอาจทำให้ความหมายเปลี่ยนไปได้ ดังที่เราเคยได้ยินตัวอย่างกันเสมอ เช่น กินยานี้แล้วแข็ง - แรงไม่มีโรคภัยเบียดเบียน เป็นต้น ดังนั้นการแบ่งวรรคตอนจึงเป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องหยุดให้ตรงตามวรรคและความในบท ไม่หยุดแยกคำ แยกความหรือที่ควรหยุดก็ไม่หยุด

นอกจากนี้ ยังมีเทคนิคสำคัญอีกประการหนึ่ง ก็คือความแตกต่างของลีลาการอ่านและการพูด โดยเฉพาะรูปแบบของการอ่านย่อมจะไม่เหมือนกัน วิธีการอ่านข่าวต้องมีความคล่องแคล่วทันอกทันใจ ไม่ทอดจังหวะ ย้ำคำหรือเน้นความ แต่ต้องมีน้ำหนักคำและน้ำหนักความ ส่วนวิธีการอ่านสารคดีต้องเน้นจังหวะ เน้นคำและเน้นความให้มีน้ำเสียงหนักและเบา เพื่อทำให้ผู้ชมได้สัมผัสกับบรรยากาศและคล้อยตามเรื่องราวของสารคดีนั้น และวิธีการอ่านสปอต คำประกาศหรือ คำประชาสัมพันธ์ก็ต้องอ่านให้กระชับชัดเจน เน้น ย้ำ ลงน้ำหนักคำและความ เพื่อกระตุ้นเร้าใจให้ผู้ชมเกิดความเร้าใจติดตาม และสำหรับวิธีการอ่านกวีนิพนธ์ ก็อยู่ที่ท่วงทำนองเสนาะของการอ่านกาพย์ กลอน โคลง และฉันท์ที่ผู้ประกาศต้องเรียนรู้ฉันทลักษณ์ของคำประพันธ์นั้น และนำไปใช้อย่างถูกต้อง การทอดเสียงและจังหวะ รวมทั้งอารมณ์เป็นปัจจัยที่ขาดไม่ได้ในอ่านกวีนิพนธ์ ซึ่งในส่วนของรายการโทรทัศน์นั้น การอ่านและการพูดที่ดีและมีความเหมาะสมจะเป็นเสน่ห์หรือแรงจูงใจประการสำคัญที่ทำให้ผู้ชมสนใจผลผลิตของรายการโทรทัศน์

มีตำราหลายเล่มกล่าวถึงคุณสมบัติที่พึงประสงค์สำหรับผู้ประกาศหลายประการ ดังนี้ เป็นผู้ที่มีหน้าตาดี เสียงดีและชัดเจน มีความเชื่อมั่นในตนเอง ใจเย็นไม่ตื่นเต้นตกใจง่าย มีอารมณ์ขัน ใบหน้ายิ้มแย้มแจ่มใสและรื่นเริงเบิกบานอยู่เสมอ ซึ่งผู้เขียนเคยได้รับคำแนะนำจากผู้ประกาศอาวุโสรุ่นพี่ว่า “เสียงที่ผ่านมาจากมุมปากที่มีรอยยิ้ม จะเป็นเสียงที่มีรอยยิ้มด้วยเช่นกัน”

ก่อนจาก ขอจบด้วยการสรุปหลักสำคัญของเทคนิคการเป็นผู้ประกาศที่ดี เพื่อจะได้จดจำและนำไปใช้สามประการ ดังนี้ เน้นอักขรวิธี มีจังหวะ ผสมด้วยลีลา © สถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย กรมประชาสัมพันธ์

ข้อมูลจากhttp://tv11.prd.go.th/center/main/modules.php?name=Content&pa=showpage&pid=13

คำสำคัญ (Tags): #ฝึกประสบการณ์
หมายเลขบันทึก: 60405เขียนเมื่อ 16 พฤศจิกายน 2006 20:19 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 16:23 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท