วิสาหกิจชุมชนกลุ่มทำขนมมันรังนก หมู่ 2 บ้านทุ่งใหญ่ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา


วิสาหกิจชุมชนกลุ่มทำขนมมันรังนก หมู่ 2 บ้านทุ่งใหญ่ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา<?xml:namespace prefix = o ns = "urn:schemas-microsoft-com:office:office" />

นางสาวภมรรัตน์ ชุมภูประวิโร

บทคัดย่อ

วัตถุประสงค์หลักของบทความชิ้นนี้คือศึกษาเกี่ยวกับภูมิปัญญาท้องถิ่นของเรา และปัจจัยที่มีผลต่อความเข้มแข็งของชุมชนในหมู่บ้าน ซึ่งเป็นกลุ่มผู้ประกอบการ ในเครือกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต ประกอบกิจกรรมแปรรูปอาหารจากหัวมันเทศ มุ่งเน้นที่จะเพิ่มมูลค่าให้กับวัตถุดิบที่มีอยู่ จากครัวเรือนภายในชุมชน ในตำบลทุ่งใหญ่ ซึ่งเกิดขึ้นจากรวมตัวกันของบุคคลในชุมชนบ้านทุ่งใหญ่ หมู่ที่ 2 ตำบลทุ่งใหญ่อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลาที่ดำเนินการประกอบกิจการการทำสวนมันเทศ ผลิตสินค้าแปรรูปขนมขบเคี้ยวจากมันเทศโดยใช้วัตถุดิบในชุมชนที่มีการพัฒนาศักยภาพและขีดความสามารถของชุมชนทำให้เกิดรายได้พึงพาตนเองได้ และสร้างเศรษฐกิจในชุมชนให้เข้มแข็ง สามารถต่อสู้อุปสรรคต่าง ๆ โดยใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นในการคิดค้นผลิตภัณฑ์ขนมมันรังนกให้มีรสชาติที่อร่อย และรักสุขภาพ เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคให้มากยิ่งขึ้น ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายทุกระดับอายุให้มีรสมันเค็มหวานในตัวซึ่งเป็นรสชาติที่ติดปากลูกค้ามากที่สุดและคุณภาพดี สะอาดถูกหลักอนามัยเป็นที่ต้องการของตลาด จนยกระดับสินค้าขึ้นเป็นสินค้าประจำหมู่บ้านและพัฒนาถึงระดับธุรกิจขนาดย่อมซึ่งผลิตภัณฑ์ขนมมันรังนกผลิตเป็นสินค้าที่ขึ้นชื่อและมียอดจำหน่ายที่สูงในหมู่บ้าน

บทนำ

ในการจัดตั้งกลุ่มขนมมันรังนกในชุมชนทุ่งใหญ่จะต้องมีกลไกขับเคลื่อนวิสาหกิจชุมชนเป็นการพัฒนาในลักษณะองค์รวมที่เริ่มตั่งแต่ กระบวนการเรียนรู้ กระบวนการบริหารจัดการกลุ่ม กระบวนการพัฒนาการผลิตสินคาใหม่คุณภาพและกระบวนการตลาด ที่ได้มาซึ่งความร่วมมือร่วมใจ รายได้กลุ่มและชุมชนไปจนถึงการพึงตนเองได้ มีกลไกในการขับเคลื่อนวิสาหกิจชุมชนใช้รูปแบบคณะกรรมการขับเคลื่อน ภายใต้พระราชบัญญัติส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน พ.ศ. 2548 มาตรา 20(2)กำหนดให้มีคณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจชุมชนจังหวัด และจังหวัดสงขลามีการแต่งตั่งคณะอนุกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจชุมชนจังหวด/อำเภอ ที่มีการออกแบบคณะบุคคลตามหน่วยงานที่เกี่ยวของกับวิสาหกิจชุมชนทั่งภาคราชการ สถาบันการศึกษาบุคลากรท้องถิ่น เอกชน และองค์กรพัฒนาชุมชน มีบทบาทหน้าที่การกำหนดทิศทางการพัฒนาวิสาหกิจชุมชน การส่งเสริมและสนับสนุนวิสาหกิจชุมชนจังหวัดสงขลาในด้านความรู้วิชาการ เทคโนโลยีวัสดุ/อุปกรณ์ทุน และการตลาด ซึ่งในชุมชนแต่ละชุมชนจะมีความแตกต่างกันออกไปขึ้นอยู่กับความแตกต่างกันในแต่ละภูมิภาคและท้องถิ่น ภูมิทางสังคมเป็นปัจจัยพื้นฐานทางด้านชุมชน ในการจัดตั้งเป็นวิสาหกิจชุมชนให้สามารถพึงพาตนเองได้ และต่อยอดความรู้ และภูมิปัญญาท้องถิ่นของแต่ละท้องถิ่น ที่มีมาแต่บรรพบุรุษนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ เกิดผลผลิตแก่ชุมชนเพื่อสร้างรายได้ให้แก่ชุมชน โดยการนำวัตถุดิบในชุมชนที่มีอยู่มาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์โดยนำเอาเทคโนโลยีสมัยใหม่ ผนวกกับภูมิปัญญาท้องถิ่น สร้างผลิตภัณฑ์ที่ตรงต่อความต้องการในท้องตลาด และสร้างการเรียนรู้ และจิตสำนึกรักในชุมชน ให้บุคคลในชุมชนรู้จักคุณค่าของทรัพยากร ภูมิปัญญา วัฒนธรรมท้องถิ่น ในชุมชนเพื่อสร้างรายได้เป็นสินทรัพย์ที่มีค่าควรอนุรักษ์ไว้

วัตถุประสงค์

บทความชิ้นนี้ศึกษาถึงการแปรรูปเศรษฐกิจและการนำภูมิปัญญาท้องถิ่นมาใช้ “กลุ่มขนมมันรังนก ผู้ผลิตผลิตภัณฑ์ขนมมันรังนกบ้านทุ่งใหญ่” โดยเน้นการศึกษาเจาะลึกลงในกลุ่ม การผลิตถึงที่มาที่ไปในการจัดตั้งเป็นวิสาหกิจชุมชน โดยมีวัตถุประสงค์หลัก 4 ประการคือ

วัตถุประสงค์ประการที่หนึ่ง ศึกษาถึงปัจจัยที่มีผลต่อความเข้มแข็งและเศรษฐกิจในชุมชนโดยเฉพาะเน้นการแปรรูปผลิตภัณฑ์มันเทศตามความต้องการในการบริโภคศึกษาถึงการนำวัตถุดิบที่มีอยู่ในชุมชนนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์และเพิ่มรายได้ให้แก่ชุมชน

วัตถุประสงค์ประการที่สอง วิเคราะห์อุตสาหกรรมและการวิเคราะห์ตลาด โดยวิเคราะห์จากสภาพธุรกิจ ลักษณะทั่วไปของลูกค้าสภาพการแข่งขันทางธุรกิจของผลิตผลิตภัณฑ์ขนมมันรังนก

วัตถุประสงค์ประการที่สาม วิเคราะห์ปัจจัยของธุรกิจ โดยวิเคราะห์จากปัจจัยภายใน และปัจจัยภายนอกของผลิตผลิตภัณฑ์ขนมมันรังนก

วัตถุประสงค์ประการที่สี่ ศึกษาลักษณะของผลิตผลิตภัณฑ์ขนมมันรังนกในการดำรงอยู่ ปรับตัว และต่อสู้กับระบบทุนนิยมในด้านต่างๆ โดยการศึกษาจากแผนบริหารจัดการ แผนการตลาดแผนการผลิตแผนการเงิน และแผนฉุกเฉินหรือแผนประเมินความเสี่ยงของผลิตผลิตภัณฑ์ขนมมันรังนก

การจัดทำกลุ่มขนมมันรังนก ผู้ผลิตผลิตภัณฑ์ขนมมันรังนก

ที่ตั่ง กลุ่มขนมมันรังนก ผู้ผลิตผลิตภัณฑ์ขนมมันรังนก ตั้งอยู่ที่ ที่ทำการผู้ใหญ่บ้าน ม. 2 ต.ทุ่งใหญ่ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา

รายละเอียดเป็นการนำมันมาแปรรูปเป็นขนม รับประทานง่าย กรอบ อร่อย ไม่ใส่สารกันบูด ปริมาณการผลิต 3,000 ถุง/เดือน

ประวัติความเป็นมาของหมู่บ้าน

บ้านทุ่งใหญ่ จากการสัมภาษณ์ทราบว่า เดิมบริเวณนี้เป็นพื้นที่ราบลุ่มเป็นทุ่งนา มีอาณาเขตกว้างใหญ่มาก ชาวบ้านเรียกว่าทุ่งใหญ่ ต่อมาเมื่อมีคนมาอาศัยอยู่รวมกันมากขึ้นจึงเรียกว่า บ้านทุ่งใหญ่ผู้ใหญ่บ้านคนปัจจุบัน คือนายจรูญ เจริญมาก บ้านเลขที่ 5 หมู่ที่ 2ตำบลทุ่งใหญ่ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลาโทร. 08-4196-2426

สภาพทั่วไปของหมู่บ้าน เป็นพื้นที่ลาดเชิงเขา มีเนื้อที่หมู่บ้าน 2,187 ไร่ พื้นที่ทำการเกษตร 900 ไร่ตั้งอยู่หมู่ที่ 2 ตำบลทุ่งใหญ่ อยู่ห่างจากอำเภอหาดใหญ่ไปทางทิศเหนือ ประมาณ 15 กิโลเมตร

การคมนาคม การเดินทางราษฎรในหมู่ที่ 2 บ้านทุ่งใหญ่ ส่วนใหญ่เดินทางโดยรถยนต์ ซึ่งทางรถยนต์สามารถเดินทางได้ 2 เส้นทางทาง คือ

1. ถนนกาญจนวนิช

2. ถนนปุณณกัณฑ์

ลักษณะภูมิประเทศ/ภูมิอากาศ บ้านทุ่งใหญ่ ตั้งอยู่ในเขตอิทธิพลของลมมรสุมเมืองร้อน มีลมมรสุมพัดผ่านทุกปีคือมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ เริ่มตั้งแต่กลางเดือนตุลาคม ถึงกลางเดือนมกราคม และมรสุมตะวันออกเฉียงใต้ เริ่มตั้งแต่กลางเดือนพฤษภาคม ถึงกลางเดือนตุลาคม จากอิทธิพลของลมมรสุมดังกล่าวส่งผลให้มี 2 ฤดู คือ ฤดูร้อนเริ่มตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ ถึงเดือนกรกฎาคม แต่อากาศจะไม่ร้อนมากนักเนื่องจากอยู่ใกล้ทะเล ส่วนฤดูฝนเริ่มตั้งแต่เดือนสิงหาคม มกราคม

จำนวนประชากร/จานวนครัวเรือน บ้านทุ่งใหญ่ หมู่ที่ 2 ตำบลทุ่งใหญ่ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา มีประชากรอาศัย อยู่จำนวน 154 ครัวเรือน ประชากรชายจำนวน 227 คน ประชากรหญิง 190 คน รวมทั้งสิ้น 417 คน (ข้อมูล จปฐ. ปี พ.ศ. 2551)

ศาสนา ราษฎรนับถือศาสนาพุทธ

วัฒนธรรมและประเพณีท้องถิ่น ราษฎรมีการสืบทอดวัฒนธรรม และประเพณี ที่ดีงามต่าง ๆ ของท้องถิ่น เช่น การรำมโนราห์ การทำบุญตักบาตร การทำบุญเดือนสิบ การรดน้ำดำหัวผู้สูงอายุ การทอดกฐิน ประเพณีชักพระ ลอยกระทง ฯลฯ

การศึกษา ราษฎรบ้านทุ่งใหญ่ ทุกคน ได้รับการศึกษา อย่างน้อยขั้นพื้นฐาน และราษฎรทุกคนสามารถอ่าน เขียน ภาษาไทยได้ดี ถึงแม้ไม่มีโรงเรียนในหมู่บ้าน แต่ก็มีโรงเรียนระดับประถมศึกษาอยู่ ภายในตำบล คือ โรงเรียนบ้านทุ่งใหญ่ ตั้งอยู่ในพื้นที่หมู่ที่ 3 ตำบลทุ่งใหญ่ ซึ่งเป็นพื้นที่ติดต่อกันและมีโรงเรียนระดับมัธยมศึกษา คือ โรงเรียนหาดใหญ่พิทยาคม

การสาธารณสุข ราษฎรบ้านทุ่งใหญ่ หมู่ที่ 2 ส่วนใหญ่ ได้รับการดูและด้านสุขภาพนามัยเป็นอย่างดี มีอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านคอยดูแลให้คำแนะนำในเรื่องของการดูแลสุขภาพและหากมีการเจ็บป่วยเล็กน้อยก็สามารถที่จะไปใช้บริการที่สถานีอนามัยทุ่งใหญ่ ซึ่งตั้งอยู่ หมู่ที่ 5 ตำบลทุ่งใหญ่

สภาพทางสังคม มีการปลูกสร้างบ้านเรือนมีความคงทนถาวร มีการจัดบ้านเรือนเป็นระเบียบถูก สุขลักษณะ ครอบครัวอบอุ่น ประชาชนสุขภาพดี คนอายุ 35 ปีขึ้นไปได้รับการตรวจสุขภาพ ประจำปี เด็กและเยาวชนได้รับการศึกษาภาคบังคับทุกคน ประชากรอายุ 15-60 ปี อ่านออก เขียน ได้ ประชาชน ปฏิบัติตนตามศาสนกิจอย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 ครั้ง ผู้สูงอายุและคนพิการได้รับ การดูแลจากครอบครัวและ อบต. อย่างทั่วถึง คนในครัวเรือนเข้าเป็นสมาชิกกลุ่มที่จัดตั้งขึ้นใน หมู่บ้าน และมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็น เพื่อประโยชน์ของชุมชน คนในหมู่บ้านใช้ ชีวิตตามวิถีเศรษฐกิจพอเพียง

โครงสร้างการปกครอง ปัจจุบันมี นายจรูญ เจริญมาก เป็นผู้ใหญ่บ้าน มีผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านฝ่ายปกครอง และฝ่ายรักษาความสงบ ช่วยดูแลชาวบ้าน มีอาสาสมัครประจำหมู่บ้าน ซึ่งหมู่บ้านนี้ก็อยู่กันอย่าง สงบตลอดมา ไม่มีการแบ่งคุ้มบ้าน

สภาพทางเศรษฐกิจ สำหรับการประกอบอาชีพหลัก คือ ทำสวน ยางพารา และมีอาชีพรอง คือเลี้ยงสัตว์ ทำสวนผลไม้และรับจ้างในโรงงาน อุตสาหกรรม สำหรับการทำสวนยางพารา ไม่สามารถทำได้ ตลอดทั้งปี ใน 1 ปีจะมีการเว้นช่วง 2 ครั้ง คือ ช่วงฤดูฝนประมาณ 1-2 เดือน และ ช่วงยางผลัดใบอีก 1-2 เดือน ซึ่งเฉลี่ยแล้ว สามารถประกอบอาชีพได้เพียง 8 เดือน ใน 1 ปี

กลุ่มองค์กรต่าง ๆ ในชุมชน

1. กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต

2. กองทุนหมู่บ้าน

3. กลุ่มทำขนมมันรังนก

4. กลุ่มสตรีอาสาพัฒนา

5. อาสาสมัครสาธารณสุขมูลฐานชุมชน

6. กลุ่มผู้สูงอายุ

ผลิตภัณฑ์ชุมชน ผลิตภัณฑ์หลัก ยางพารา ผลิตภัณฑ์รอง มันเทศ ผักพื้นบ้าน ผักสวนครัว สินค้าของชุมชนส่วนใหญ่จะจำหน่าย ตามตลาดนัดชุมชน และตลาดสดในอำเภอ หาดใหญ่

ภูมิปัญญาท้องถิ่น ปราชญ์ชุมชน ผู้เชี่ยวชาญด้านอาชีพในชุมชน บ้านทุ่งใหญ่ ตำบลทุ่งใหญ่มีภูมิปัญญาท้องถิ่น และปราชญ์ชาวบ้านที่น่าส่งเสริมหลายด้าน เช่น

1. ด้านประเพณีวัฒนธรรม เช่น รำมโนราห์

2. ด้านภูมิปัญญาท้องถิ่น เช่น การจักสาน

3. ด้านการเกษตร เช่น การขยายพันธุ์ไม้ผล การกรีดยาง

ความเป็นมาของการจัดทำกลุ่มขนมมันรังนกผู้ผลิตผลิตภัณฑ์ขนมมันรังนก

สมาชิกได้มีการรวมกลุ่มกันเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2540 เนื่องจาก ต.ทุ่งใหญ่ มีการปลูกมันเทศจำนวน 4 หมู่บ้าน ปลูกหลังจากการเกี่ยวข้าวเสร็จ และมีการผลิตกันเป็นจำนวนมาก จึงรวมกลุ่มกันทำขนมมันรังนก ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์แปรรูปจากมันเทศที่ผลิตได้ในหมู่บ้าน ซึ่งการรวมกลุ่มในชุมชน จะมี กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตจำนวน 5 กลุ่ม กลุ่มทำขนมมันรังนกจำนวน 1 กลุ่ม

สภาพการรวมตัว เมื่อสินค้าหมดจะมีการนัดหมายเพื่อทำขนมกัน ทุกวันพุธของอาทิตย์จะนัดหมายกันทำช่วงบ่าย หลังจากการประกอบอาชีพหลักแล้ว คือการทำสวนยาง

สภาพทั่วไปของชุมชน/กลุ่ม สมาชิกของกลุ่มเป็นสตรีอาสาพัฒนา จำนวน 15 คน การซื้อวัตถุดิบจะซื้อในหมู่บ้าน ซื้อของสมาชิกบางคนที่มีการปลูกมันเทศ

มันเทศ ( Sweet Potato )

มันเทศ เป็นพืชอาหารของมนุษย์และสัตว์ โดยใช้ทั้งหัว เถา ใบ และยอดอ่อน มาประกอบอาหารทั้งคาวและหวาน เช่น แกงเลียง แกงคั่ว มันเชื่อม มันเทศรังนก ทำไส้ขนมต่างๆ
ในด้านอุตสาหกรรม มีการสกัดแป้งมันเทศเป็นส่วนผสมของอาหารเด็ก และกาว เป็นต้น นอกจากนี้มันเทศยังใช้เป็นอาหาร สัตว์ได้หลายชนิด เช่น สุกร วัว ควาย กระต่าย เป็ด ไก่ และปลา เป็นต้น

พันธุ์

พันธุ์มันเทศแบ่งตามอายุการเก็บเกี่ยวได้ 3 พวก คือ

- พันธุ์เบา อายุประมาณ 90 วัน หลังจากปลูกจนถึงเก็บเกี่ยว เช่น พันธุ์พิจิตร 1 พจ. 113-7, พจ. 115-1, พจ. 166-5

- พันธุ์กลาง อายุประมาณ 120 วัน หลังจากปลูกจนถึงเก็บเกี่ยว เช่น พันธุ์แม่โจ้ พันธุ์ห้วยสีทน

- พันธุ์หนัก อายุประมาณ 150 วัน หลังจากปลูกจนถึงเก็บเกี่ยว เช่น พันธุ์โอกุด (เกษตร)


การปลูก ฤดูการปลูก
มันเทศปลูกได้ทุกฤดูกาลตลอดทั้งปี แต่โดยทั่วไปนิยมปลูกในฤดูฝนและฤดูหนาว

- ฤดูฝน ควรปลูกช่วงเดือนมิถุนายน-กันยายน
- ฤดูหนาว ควรปลูกช่วงเดือนตุลาคม-มกราคม

- ฤดูร้อน นิยมปลูกหลังนา ช่วงเดือนกุมภาพันธ์-พฤษภาคมในแหล่งที่มีการชลประทานดี สามารถปลูกได้ 3-4 ครั้งต่อปี

การเตรียมแปลง

ควรไถดะ ตากดิน 7-10 วัน แล้วจึงไถแปรหรือไถพรวนยกแปลงปลูกมันเทศให้สูงขึ้นเป็นรูปสามเหลี่ยม สูง 45-60 เซนติเมตร แต่ละร่องห่างกัน 100 เซนติเมตร


ระยะปลูก

- ระยะระหว่างต้น 30 เซนติเมตร

- ระยะระหว่างแถว 100 เซนติเมต

การคัดเลือกท่อนพันธุ์

การปลูกมันเทศควรใช้เถาช่วงยอด ยาว ประมาณ 30 เซนติเมตร มันเทศจะมีการลงหัว ได้ดีกว่าส่วนอื่น


การดูแลรักษา

มันเทศเป็นพืชที่ปลูกง่าย ไม่จำเป็นต้องดูแลเอาใจใส่มากเหมือนพืชผัก แต่เพื่อให้ได้ผลผลิตสูง หัวมีคุณภาพดี ควรดูแลรักษา ดังนี้


การปลูกซ่อม

ควรทำการปลูกซ่อมหลังจากปลูกมันเทศแล้ว ประมาณ 15 วัน


การให้น้ำ

- ในฤดูฝน หลังฝนตก ไม่จำเป็นต้องรดน้ำ จะให้น้ำเฉพาะระยะปลูกใหม่ๆ เพื่อให้มันเทศตั้งตัวได้

- ในฤดูหนาวและฤดูแล้งหลังจากให้น้ำจนมันเทศเจริญเติบโตทางส่วนยอดดีแล้ว ควรให้น้ำเดือนละ 2-3 ครั้ง ขึ้นกับสภาพ ดิน แสงแดด ความร้อน และกระแสลม

การใส่ปุ๋ย

- ปุ๋ยเคมี ควรเป็นปุ๋ยสูตร 13-13-21 อัตรา 80-100 กิโลกรัมต่อไร่ แบ่งใส่ 2 ครั้ง โดยรองก้นหลุมก่อนปลูก และหลังจากปลูก 45 วัน

- ปุ๋ยคอกที่เหมาะสม ควรเป็นมูลวัว มูลควาย ไม่ควรใส่ปุ๋ยยูเรีย มูลเป็ด มูลไก่ จะทำให้มันเทศมีการเจริญเติบโตทางยอดมากงามแต่ใบไม่มีการลงหัว


การกำจัดวัชพืช

ควรมีการกำจัดวัชพืช เดือนละ 1-2 ครั้ง โดยวิธีการถอน ถากหญ้า ใช้สารเคมีคุมวัชพืช และการใช้สารเคมีฆ่าวัชพืช โดยตรง

การตลบเถา

มันเทศจะมีการแตกรากใหม่ที่ส่วนข้อ หากปล่อยไว้อาจเจริญเป็นหัวมันเทศเล็กๆ จะมีผลให้หัวที่โคนต้นมีขนาดเล็กลง

ดังนั้นหลังปลูก 1-2 เดือน และทุกๆ เดือนควรตลบเถามันเทศขึ้นหลังแปลง
การป้องกัดกำจัดโรคและแมลง

โรคที่สำคัญ คือ โรคใบจุด หากจำเป็นต้องฉีดพ่นสารเคมี ควรใช้ไดโฟลาแทน หรือแมนโคเซ็บ ฉีดพ่นทุก 5-7 วันต่อครั้ง

โรคหัวเน่า ป้องกันโดยระมัดระวังอย่าให้หัวมันเทศเป็นแผลขณะขุด ขนส่ง

แมลงที่สำคัญ คือ ด้วงงวงมันเทศ หนอนเจาะเถามันเทศ หนอนชอนใบ และเพลี้ยอ่อน ป้องกันโดยใช้สารคาร์โบซัลแฟน เช่น พอสซ์ อัตรา 60 ซี.ซีต่อน้ำ 20 ลิตร จุ่มยอดมันเทศ ก่อนปลูกนาน 5-10 นาที และฉีดพ่นทุก 15-20 วันหากพบการระบาดรุนแรง หรือใช้สารโมโนโครโตฟอส เช่น อโซดริน อัตรา 40 ซี.ซี. ต่อน้ำ 20 ลิตร ฉีดพ่นเมื่อพบเพลี้ยอ่อนระบาด

การเก็บเกี่ยว

ระยะเวลาการเก็บเกี่ยวมันเทศ ผลผลิตมันเทศ จำนวนหัว ขนาด และน้ำหนักหัว ขึ้นกับชนิดของพันธุ์ สภาพแวดล้อม และฤดูปลูก โดยทั่วไปมันเทศมีอายุเก็บเกี่ยว 90-150 วัน เครื่องมือที่นิยมใช้ในการเก็บเกี่ยว คือ จอบ ไถเทียมวัว ไถ เดินตาม เป็นต้น การใช้ไถหัวหมู ที่ปรับระยะที่เหมาะสมไถระหว่างแถว จะเก็บเกี่ยวได้รวดเร็ว แต่อาจทำให้หัวหัก เป็นแผลเน่าได้และส่วนหัวมันเทศที่เหลืออยู่ในไร่ ต้องใช้จอบช่วยขุดต้นทุน / ผลตอบแทน
ต้นทุนการผลิต2-3 บาท/กิโลกรัม
ราคาที่เกษตรกรขายได้3-5 บาท/กิโลกรัม
ผลตอบแทน1-2 บาท/กิโลกรัม
(กำไรสุทธิ หักต้นทุนแล้ว 2,300-4,600 บาท/ไร่)
ผลผลิตเฉลี่ย 2,300 กิโลกรัม/ไร่

ประโยชน์ของมันเทศ ( Sweet Potato ) สรรพคุณและประโยชน์ของมันเทศ

มันเทศนั้นสามารถทำอาหารได้ทั้งคาว ทั้งหวาน เช่น แกงมัสมั่น แกงคั่ว หรือจะทำเป็นขนมหวานอย่างมันรังนก และขนมบวดมันเทศก็ได้ เรามาดูประโยชนของมันเทศกันบ้าง

มันเทศ

ชื่อของมันเทศนั้น ถ้าเป็นชื่อสามัญเขาจะเรียกกันว่า Sweet Potato แต่ถ้าเป็นชื่อทางวิทยาศาสตร์จะเรียกว่า Ipomoea batatas ถ้าเป็นภาคเหนือกับภาคอีสาน บางคนจะเรียกมันเทศนี้ว่า "มันแกว" ต้นกำเนิดของมันเทศนั้นมาจาก เกาะไฮติ และแถวๆ อเมริกากลาง

คุณทางทางอาหารของมันเทศ

- มันเทศ 100 กรัมจะให้พลังงาน 93 กิโลแคลอรี

- โปรตีน 0.6 กรัม

- คาร์โบไฮเดรต 22.5 กรัม

- ไขมัน 0.1 กรัม

- แคลเซียม 98 มิลลิกรัม

- ฟอสฟอรัส 46 มิลลิกรัม

- เหล็ก 0.76 มิลลิกรัม

- วิตามินบี 0.02 มิลลิกรัม

- วิตามินซี 34 มิลลิกรัม

- เบต้า แคโรทีน 175 ไมโครกรัม

สรรพคุณของมันเทศ

- ป้องกันการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ

- บรรเทาโรคความดันโลหิต

- ช่วยรักษาโรคโลหิตจาง

- บำรุงม้าม

- บำรุงกระเพาะ

- ช่วยระบบย่อยอาหาร

ลักษณะที่โดดเด่นของขนมมันรังนก

ลักษณะที่โดดเด่นมีความกรอบ ไม่ใส่สารกันบูด สามารถย่อยได้ง่าย และเป็นของว่างที่ทำมาจากพืชผักสวนครัว สำหรับคนรักสุขภาพ

การวิเคราะห์อุตสาหกรรม และการวิเคราะห์ตลาดผลิตภัณฑ์ขนมมันรังนก

สภาพธุรกิจผลิตภัณฑ์ขนมมันรังนก เป็นขนมขบเคี้ยว ที่นิยมบริโภคกันอย่างแพร่หลาย เป็นธุรกิจที่สามารถเข้าออกในตลาดทำได้ง่าย ไม่มีกระบวนการผลิตที่ยุ่งยาก ส่วนใหญ่ใช้แรงงานคนเป็นหลัก ลงทุนน้อย

ลักษณะทั่วไปของลูกค้าครอบคลุมลูกค้าทุกวัยเพราะเป็นของขบเคี้ยวทานเวลาไหนก็ได้ และไม่มีผลเสียต่อสุขภาพ เนื่องจากไม่ได้ใส่สารกันบูด

ความสัมพันธ์กับชุมชน

ฝีมือแรงงาน และวัตถุดิบ มาจากคนในชุมชนอย่างแท้จริง จึงทำให้คนในชุมชนมีรายได้มีงานทำ มีการรวมกลุ่มเตรียมสมาชิกให้ได้รับความรู้ สร้างความเข้าใจตรงกันในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ สมาชิกได้รับผลประโยชน์ ทั้งในแง่ของรายได้ ความรัก ความสามัคคี การแบ่งปันและเอื้ออาทรแก่ชุมชน

สภาพการแข่งขันทางธุรกิจผลิตภัณฑ์ขนมมันรังนก คู่แข่งขันในธุรกิจเดียวกัน( Business and Rivalry)

-หมู่ 6 ต.ทุ่งใหญ่ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา

-กลุ่มแม่บ้าน ขนมมันรังนก หมู่ 5 บ้านนายด่าน

ความยากง่ายในการเข้าสู่ธุรกิจ ( Barrier to Entry)

ธุรกิจ การผลิตภัณฑ์ขนมมันรังนกเป็นธุรกิจที่สามารถเข้าออกได้ง่าย เนื่องจากการผลิตไม่มีความยุ่งยากสลับซับซ้อนมากนัก ส่วนใหญ่ใช้แรงงานคนในการผลิต ลงทุนน้อย แต่เป็นการแข่งขันกันเชิงนวัตกรรม เรื่องของสูตรการผลิต และความสามารถในการทำการตลาด ได้แก่ ฉลากผลิตภัณฑ์ และรูปลักษณ์ของผลิตภัณฑ์

สินค้าทดแทน ( Substitute Products)

-ผลิตภัณฑ์เผือกสติ๊ก

-ผลิตภัณฑ์กล้วยฉาบ

-ผลิตภัณฑ์มันฝรั่งทอดกรอบ

อำนาจต่อรองของผู้ซื้อ(Bargaining Power of Buyers)

ผลิตภัณฑ์หนังขนมมันรังนก เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีผู้ผลิตน้อยราย และส่วนใหญ่การเข้าสู่ตลาดระดับบนมีน้อย ทำให้คู่ค้ามีการต่อรองน้อย และผลิตภัณฑ์เป็นที่ต้องการของตลาดสินค้า ตามร้านขายของชำในหมู่บ้าน และร้านค้าสวัสดิการ ร้านค้าทั่วไป ค่อนข้างให้โอกาส

อำนาจต่อรองของแหล่งวัตถุดิบ ( Bargaining power of Suppliers)

กลุ่มออมทรัพย์ขนมมันรังนก เป็นกลุ่มผู้ผลิตขนมมันรังนก เป็นที่เชื่อถือของร้านค้า และร้านขายของชำ รวมทั้งการให้ซื้อวัตถุดิบในราคาที่ค่อนข้างสูงกว่ารายอื่นๆ ทั้งยังชำระเป็นเงินสด ทำให้เป็นที่ต้องการขายของแหล่งวัตถุดิบต่างๆ

การวิเคราะห์ปัจจัยของธุรกิจ

1. การวิเคราะห์ปัจจัยภายใน

-จุดแข็ง (Strengths)

1) ผู้นำมีความรู้และประสบการณ์

2)ผลิตภัณฑ์ขนมมันรังนก มีคุณค่าทาง โภชนาการสูง เหมาะกับผู้บริโภคที่รักษาสุขภาพ

3)วัตถุดิบมีคุณภาพในท้องถิ่น

4) การผลิตใช้เทคโนโลยีไม่สูงมากนัก

5)ต้นทุนการผลิตต่ำ

-จุดอ่อน (Weaknesses)

1)ผลิตภัณฑ์มีอายุการเก็บรักษาสั้น 30 วัน

2)ปริมาณเงินทุนมีจำกัด หากต้องการขยายกิจการ หรือนำ

เทคโนโลยีมากใช้ ต้องหาแหล่งเงินกู้

3) การแพ็คผลิตภัณฑ์ไม่สวยมากนัก

4)ผลิตภัณฑ์ ขนมมันรังนก ใช้วัตถุดิบของ

ชุมชน ที่มีการผลิตน้อย จำนวนวัตถุดิบจึงไม่

สามารถกำหนดปริมาณได้ ต้องขึ้นกับศักยภาพการผลิตของ

ชุมชน

2. การวิเคราะห์ปัจจัยภายนอก

-โอกาส(Opportunities)

1)นโยบายส่งเสริมสินค้า ในชุมชน

2) ชื่อเสี่ยงของสถานที่ผลิตด้านคุณภาพสินค้า

3) ความมุ่งเน้นการรักษาสุขภาพของผู้บริโภคในปัจจุบันที่ต้องการรับประทานอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการ

4) ผลิตภัณฑ์สามารถรับประทานได้ทุกชาติ ศาสนา

5)ความกว้าหน้าทางเทคโนโลยี คิดค้นเรื่องบรรจุภัณฑ์สามารถช่วยยืดอายุของผลิตภัณฑ์ได้นานวันยิ่งขึ้น

-อุปสรรค(Threats)

1)สภาพ ลมฟ้าอากาศที่ขาดช่วงในภาคใต้ ทำให้เป็นอุปสรรคต่อผลผลิตมันเทศ

2) ช่องทางการตลาดในพื้นที่ห่างไกลทำได้ยากเนื่องจากอายุผลิตภัณฑ์สั้น จึงต้องหยุดกิจกรรมสู่ตลาดใหญ่

แผนบริหารจัดการผลิตภัณฑ์ขนมมันรังนก

ข้อมูลธุรกิจ

ชื่อกิจการกลุ่มขนมมันรังนก

ที่อยู่ที่ทำการผู้ใหญ่บ้าน ม. 2 ต.ทุ่งใหญ่ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา

รูปแบบของการดำเนินธุรกิจแปรรูปอาหาร จากวัตถุดิบในชุมชน

ราคาขายราคาขายส่ง 4 บาท ราคาขายปลีก 5 บาท

ระยะเวลาดำเนินการ15 ปี

ผู้นำ นางขิน ปานสี

วิสัยทัศน์

ผลิตภัณฑ์ดี มีคุณภาพ พัฒนาคนเพื่อชุมชนเข้มแข็ง

พันธะกิจ

1)พัฒนาผลิตภัณฑ์ขนมมันรังนก อย่างต่อเนื่อง

2) พัฒนาการผลิตให้ได้ตามเกณฑ์มาตรฐาน

3)คืนกำไรสู่ชุมชน

เป้าหมายทางธุรกิจ

1)ระยะสั้น พัฒนาผลิตภัณฑ์ ให้มีอายุการเก็บรักษาไม่น้อยกว่า 1 เดือน

2)ระยะปานกลาง กระจายสินค้าได้ทุกชุมชน

3)ระยะยาว ส่งเป็นสินค้าออกภายในตลาด

ปัจจัยแห่งความสำเร็จ

1)ผู้นำ ที่มีทั้งความรู้และประสบการณ์

2)คุณภาพของผลิตภัณฑ์ ที่เป็นที่ต้องการของผู้บริโภค

3) ความเป็นผู้นำทางการตลาดของผลิตภัณฑ์ขนมมันรังนก

นโยบายการจ่ายเงินปั้นผล และการแบ่งผลประโยชน์

- การผลกำไร จะจ่ายเงินปันผลทุกวันที่ 31 มกราคม ของทุกปี ซึ่งกำหนดให้วัน ดังกล่าวเป็นวันประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้น และกำหนดให้วันที่ 31 ธันวาคม ของทุกปี เป็นวันสิ้นสุดทางบัญชี

- เงินทุนสำรอง กำไรก่อนปันผล ให้เก็บเป็นเงินทุนสำรองจำนวน 25 % ของกำไรสุทธิ

- เงินโบนัส คณะกรรมการสามารถจัดสรรเงินโบนัสจากกำไรสุทธิ หลังหักเงินสำรองจำนวน 15 % เป็นเงินโบนัสจากแก่คณะกรรมการบริหาร จำนวน 8 % และจ่ายแก่ พนักงานทั่วไป อีกกึ่งหนึ่ง

แผนการตลาด

1. เป้าหมายการตลาดและลูกค้าเป้าหมาย

1.1 กลุ่มลูกค้าเป้าหมาย ครอบคลุมทุกกลุ่ม วางแผนการตลาดให้มีรส เค็ม หวานมัน

1.2 เป้าหมายการตลาด สามารถถือส่วนครองการตลาดได้ 25 % สำหรับตลาดภายในชุมชน และระยะเวลา 3 – 5 ปี ในอนาคตสามารถ ส่งจำหน่ายตามตลาดนัดใหญ่ๆได้

2. กลยุทธ์ทางการตลาด

2.1กลยุทธ์ด้านผลิตภัณฑ์

-พัฒนาบรรจุภัณฑ์ ให้สามารถยืดอายุผลิตภัณฑ์ได้อย่างน้อย 2เดือน

-พัฒนาผลิตภัณฑ์ ด้านรสชาติที่สามารถต่อสนองความต้องการของผู้บริโภค ได้กว้างขวางยิ่งขึ้น

2.2กลยุทธ์ด้านราคา

-สร้างมาตรฐานราคาขายปลีก ขนาดเดียวกัน ราคาเดียวกัน

ทั่วตลาด

-ผลิตภัณฑ์มีปริมาณการบรรจุ หลายขนาด และมีระดับราคาที่

แตกต่างๆ กัน ตามตลาดที่วางจำหน่าย

2.3 กลยุทธ์ด้านช่องทางการจัดจำหน่าย

-ทำการตลาดเชิงรุก ในการเข้าสู่ตลาดบน ตลาดกลาง

-แต่งตั้งตัวแทนจำหน่ายทำการตลาดตลาดล่าง

2.4กลยุทธ์ด้านการส่งเสริมการตลาด

- จัด ผลิตภัณฑ์ให้ได้ชิมก่อนซื้อ

- เข้าร่วมงานแสดงและจำหน่ายสินค้า หมู่บ้าน

อย่างน้อยเดือนละ 1 ครั้ง เพื่อจำหน่ายสินค้าในราคาพิเศษ

กิจกรรมหรือการดำเนินงานทางการตลาด

1. จัดทำแบบสอบถาม ถามผู้บริโภคเกี่ยวกับความพึงพอใจ และขอเสนอแนะ เมื่อเข้าร่วมงานแสดงสินค้า

2. ร่วมกับสถาบันการศึกษาพัฒนาบรรจุภัณฑ์

3. เข้าร่วมงานเจรจาธุรกิจ กรมกรมส่งเสริมการส่งออก กระทรวงพาณิชย์ เพื่อหาช่องทาง ทางการตลาดทั้งในและต่างประเทศ

4. แจกสินค้าตัวอย่างเพื่อให้กลุ่มผู้บริโภคเป้าหมาย ทดลองชิม

5. จัดส่งบุคลากรเข้าอบรม องค์ความรู้เกี่ยวกับการตลาด

แผนการผลิต

สถานประกอบการในการผลิต

ที่ตั้ง กลุ่มขนมมันรังนก ผู้ผลิตผลิตภัณฑ์ขนมมันรังนก ตั้งอยู่ที่ ที่ทำการผู้ใหญ่บ้าน ม. 2 ต.ทุ่งใหญ่ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา

รายละเอียดเป็นการนำมันมาแปรรูปเป็นขนม รับประทานง่าย กรอบ อร่อย ไม่ใส่สารกันบูด ปริมาณการผลิต 3,000 ถุง/เดือน

ขั้นตอนการผลิต

นำวัตถุดิบหัวมันเทศ ที่ตัดแล้วมาล้างทำความสะอาด ปอกเปลือก จนเหลือเฉพาะเนื้อมันเทศ ล้างทำความสะอาด ตัดชิ้นตามขนาดที่ต้องการ และแช่ด้วยน้ำปูนใสโดยนำปูนแดงไปละลายในน้ำ แล้วรอให้ตกตะกอน นำหัวมันเทศที่หั่นแล้วไปแช่ในน้ำปูนใส แล้วนำขึ้นมาไปปรุงรสและทอดกรอบ บรรจุผลิตภัณฑ์ ออกวางจำหน่าย

กระบวนการผลิต

วัตถุดิบและส่วนประกอบ

1.มันเทศ 1 กิโลกรัม
2.น้ำตาลปี๊บ 10 กรัม
3.แบะแซ 10 กรัม
4.น้ำปูนใส
5.น้ำมันพืช

6. อุปกรณ์ในการผลิต ได้แก่ กระทะ ตะหลิว แก๊ส เครื่องแพ็คสูญญากาศ

3 ขั้นตอนเพื่อสุขภาพ

- ทอดกรอบ

- สลัดน้ำมัน

- แล้วบรรจุ

กระบวนการผลิต

1.ล้างมันเทศให้สะอาด ปอกเปลือก ฝานบางๆ ซอยฝอยเป็นเส้นยาวๆ

2.โรยมันลงทอดไฟกลาง อย่าคนเพราะเส้นยังไม่แข็ง จะทำให้เส้นไม่ตรง ขณะทอดน้ำมันจะขึ้นเป็นฟองเพื่อไล่ความชื้น พอเริ่มสุก กรอบเหลือง น้ำมันจะนิ่ง ฟองอากาศเริ่มเหลือน้อยหรือหายไป แสดงว่าใช้ได้ ให้ตักขึ้นพักไว้ให้สะเด็ดน้ำมัน

3. ตักขึ้นซับน้ำมัน

4.ใส่ น้ำเปล่า น้ำตาลปี๊บ แบะแซ ลงเคี่ยวให้เหนียว สังเกตดูให้น้ำตาลขึ้นฟองละเอียด รีบหรี่ไฟลง ใส่มันลงคลุกเบาๆ ให้น้ำตาลเคลือบทั่วกัน ตักขึ้นวางบนถาด

5.ใช้ช้อนหรือส้อม แยกมันเป็น 5 กอง อย่าใช้มือเพราะน้ำตาลร้อนและมีความเหนียวจะติดมือเหนอะหนะ ให้รีบแยกเร็วๆ ก่อนที่น้ำตาลแข็งตัว ขณะแยกไม่ต้องกังวลว่าทรงของมันรังนกไม่สวย พอเริ่มอุ่นเล็กน้อยให้ใช้มือจับตะล่อมหยิบโปร่งขึ้นมาแต่งรูปทรงให้สวยงามน่าทานนำวางลงบนกระดาษไขหรือกระทงกระดาษ

แผนรองรับระยะยาว

ลักษณะปัญหาหรือความเสี่ยง

1.วัตถุดิบหัวมันเทศในหมู่บ้านไม่เพียงพอต่อการผลิต

2.เงินทุนหมุนเวียนมีจำกัด

3.เกิดสภาวะวิกฤติ ฝนขาดช่วง

ผลกระทบที่จะเกิดขึ้น

1.ไม่สามารถส่งสินค้าให้คู่ค้าได้

2.ไม่มีเงินซื้อวัตถุดิบ เพื่อ สะต๊อก

3.ไม่สามารถพัฒนาการผลิตและการตลาดได้

4.ผลผลิตที่ได้มามีขนาดเล็ก และปริมาณการออกผลผลิตน้อย

แนวทางในการแก้ไข

1.หาวัตถุดิบจากที่อื่นทดแทน

2.วางแผนการสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ทดแทน อันได้แก่ กล้วย หรือ เผือกทอด

3.จัดทำแผนธุรกิจ

4.ระดมหุ้นจากสมาชิก

5.หาวัตถุดิบจากตลาดหรือชุมชนอื่นๆที่มีการปลูกมันเทศ มาทดแทน แต่เป็นในราคาเดียวกัน

บทสรุป

จากบทความนี้ดิฉันได้ลงพื้นที่และรวบรวมข้อมูลพื้นฐานที่มีในชุมชนว่าชุมชนของดิฉันมีอะไรที่น่าสนใจบ้าง เมื่อได้ศึกษาก็พบว่า วิสาหกิจชุมชนกลุ่มขนมมันรังนกเป็นกลุ่มวิสาหกิจที่น่าสนใจ เพราะชุมชนที่ดิฉันได้อาศัยอยู่นั้นประกอบอาชีพปลูกมันเทศ หรือภาษาถิ่นบ้านดิฉันเรียกว่า หัวมันเทศเมื่อนำผลผลิตที่ได้มาจำหน่ายก็ยังคงเหลือผลผลิตอยู่ส่วนหนึ่งที่ถูกคัดออกมา ทางกลุ่มแม่บ้านจึงประชุมกันว่าจะทำอย่างไรกับผลผลิตที่ไม่ได้จำหน่าย และได้ลงความเห็นว่าควรจัดตั้งเป็นกลุ่มขนมมันรังนก เพื่อนำผลผลิตมันเทศมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ขนมมันรังนก นอกจากนี้ได้ประชุมเรื่องการผลิตรสชาติว่าทำอย่างไรให้รสชาติเป็นที่ถูกใจแก่ผู้บริโภค รวมถึงการจัดหาสถานที่จัดจำหน่าย จากที่ดิฉันได้กล่าวมานี้เมื่อมองดูจะพบว่าการรวมตัวกันก่อเกิดเป็นกลุ่มขนาดย่อมทำให้เกิดเป็นอาชีพสร้างรายได้ให้แก่ชุมชน ทำให้ชุมชนเกิดความเข้มแข็ง สร้างความสามัคคีให้ชุมชน และทำให้คนในชุมชนรู้จักคุณค่าทรัพยากรที่มีอยู่ในท้องถิ่นของตน และรักษาไว้ให้ลูกหลานต่อไป

เอกสารอ้างอิง

1.องค์การบริหารส่วนตำบลทุ่งใหญ่

www.thungyai.go.th

2. ข้อมูลกลุ่มอาชีพ

www.thaitambon.com

ข้อมูลผลิตภัณฑ์ และกลุ่มอาชีพ ในตำบลทุ่งใหญ่

3. กลุ่มขนมมันรังนก บ้านทุ่งใหญ่

ข้อมูลจากประธานกลุ่มขนมมันรังนก นางขิน ปานสี

หมายเลขบันทึก: 603884เขียนเมื่อ 22 มีนาคม 2016 17:12 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มีนาคม 2016 17:22 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท