ชีวิตที่พอเพียง 2619. ผู้นำแห่งอนาคต


ผมเสนอว่า ในมิติทางการศึกษาสมัยใหม่ การศึกษาต้องฝึกฝนมิติภาวะผู้นำให้แก่เด็ก หรือแก่คนทุกคน นั่นคือ ในยุคนี้ คนทุกคนต้องมีทักษะภาวะผู้นำ และทักษะภาวะผู้นำ (leadership skills) เป็นทักษะที่ซับซ้อนชุดหนึ่ง ที่ทำให้บุคคลนั้น เป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง (change agent) ร่วมกับคนอื่นๆ ในที่ทำงาน ในชุมชน ในสังคม และในโลก ผู้นำแห่งอนาคต ในมุมมองของผม จึงต้องเป็น change agent ไม่ว่าจะไปอยู่ที่ใด ไปทำงานอะไรที่ใด เขาต้องไปร่วมขบวนสร้างการเปลี่ยนแปลงดีๆ ให้แก่ที่ทำงาน ชุมชน สังคม และโลก


โครงการผู้นำแห่งอนาคต จัดการประชุม วิชาการ ในวันเสาร์ที่ ๑๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๙ เรื่อง “คุณธรรม นำร่วม และการเปลี่ยนผ่าน : ภาวะผู้นำภูมิปัญญาตะวันออก”

ผมไปร่วมประชุมตลอดวัน ได้ความรู้มากมาย ทั้งเรื่องปรัชญาตะวันออก ในช่วงเช้า และเรื่องผลการ วิจัยในตอนบ่าย บรรยากาศตอนบ่าย ทำให้ผมย้อนรำลึกถึงชีวิตสมัยทำงานที่ สกว. ที่มีการจัดประชุมนำเสนอ ความก้าวหน้าของงานวิจัย ให้ผู้ทรงคุณวุฒิให้ความเห็นและคำแนะนำ เพื่อปรับปรุงผลงาน

สิ่งที่ผมแปลกใจก็คือ ไม่มีการทำความชัดเจนของนิยามคำว่าผู้นำแห่งอนาคต ทั้งๆ ที่โครงการนี้ดำเนินการมาระยะหนึ่งแล้ว มีผลงานหนังสือตีพิมพ์มากมาย ซึ่งดูได้ ที่นี่ และผู้จัดการประชุมแจกหนังสือ นำร่วม ร่วมนำ 2และ ผู้นำที่แท้ แห่งศตวรรษที่ 21 ด้วย รวมทั้งมีหนังสือ ระบบการสร้างผู้นำสำหรับประเทศไทยยุคใหม่ ของ ศ. นพ. ประเวศ วะสี ด้วย

ซึ่งตีความได้ว่า ผู้นำยุคใหม่เป็นผู้นำแนวระนาบ เป็นผู้นำรวมหมู่ หรือ “นำร่วม ร่วมนำ” นั่นเอง แต่วิทยากรบนเวทีในวันนี้ไม่ได้นิยามตามนี้ กลับใช้นิยามแบบเก่า คือ ผู้นำที่มีอำนาจเหนือ ตำแหน่งเหนือ ทำให้การตีความเรื่องราวต่างๆ ที่นำมาเสนอขาดการตีความไปยังนิยามใหม่ อย่างน่าเสียดาย

หากถือตามสาระอันลึกซึ้งในหนังสือ ผู้นำที่แท้ แห่งศตวรรษที่ 21 เรากำลังพูดถึงคนที่มี “ธาตุแท้” ในตัวเอง ที่มาจากการฝึกฝนบ่มเพาะ จนมีความเป็นตัวของตัวเอง และมีพลังและทักษะในการปฏิสัมพันธ์กับคนอื่น เพื่อสร้างสรรค์ให้แก่ส่วนรวม แต่ผมก็ยังไม่ปิ๊งกับแนวทางดังกล่าว เพราะมันยังเป็นแนวทาง “ผู้นำ” ที่เป็นคนพิเศษ มีโอกาสพิเศษเท่านั้น

ผมชอบแนวทาง “ผู้นำ” ในมิติของการศึกษาในศตวรรษที่ ๒๑ มากกว่า ดังนั้น เมื่อ อ. ดร. อดิสร จันทรสุข รองคณบดีคณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้ทำหน้าที่ผู้ดำเนินรายการ “จี้” ให้ผมพูด โดยผมไม่ได้ยกมือขอพูดเลย ตลอดเวลาตั้งแต่เช้าจนเกือบถึงเวลาเลิกงาน ผมจึงเสนอนิยามของ “ผู้นำ” ในความหมาย ทางการศึกษาสมัยใหม่ ที่อาจเรียกว่า การศึกษาแห่งศตวรรษที่ ๒๑

ผมเสนอว่า ในมิติทางการศึกษาสมัยใหม่ การศึกษาต้องฝึกฝนมิติภาวะผู้นำให้แก่เด็ก หรือแก่คนทุกคน นั่นคือ ในยุคนี้ คนทุกคนต้องมีทักษะภาวะผู้นำ และทักษะภาวะผู้นำ (leadership skills) เป็นทักษะที่ซับซ้อนชุดหนึ่ง ที่ทำให้บุคคลนั้น เป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง (change agent) ร่วมกับคนอื่นๆ ในที่ทำงาน ในชุมชน ในสังคม และในโลก

ผู้นำแห่งอนาคต ในมุมมองของผม จึงต้องเป็น change agent ไม่ว่าจะไปอยู่ที่ใด ไปทำงานอะไรที่ใด เขาต้องไปร่วมขบวนสร้างการเปลี่ยนแปลงดีๆ ให้แก่ที่ทำงาน ชุมชน สังคม และโลก

ทักษะภาวะผู้นำแบบนี้ ต้องไม่ใช่สร้างโดยการจับไปเข้ารับการฝึกอบรมเฉพาะกิจ ๓ วัน, ๕ วัน หรือ ๑ เดือน แต่ต้องทำโดยบูรณาการอยู่ในการเรียนรู้ตามปกตินั่นเอง นักเรียนก็เรียนบูรณาการในหลักสูตรนั่นเอง

แต่ที่สำคัญคือ ต้องเป็นการเรียนแบบที่ไม่เน้นการถ่ายทอดความรู้สำเร็จรูป ต้องจัดการเรียนแบบให้ นักเรียนลงมือปฏิบัติเป็นทีม แล้วไตร่ตรองสะท้อนคิดร่วมกัน ครูไม่สอนแบบถ่ายทอดความรู้ เปลี่ยนไปทำหน้าที่ “คุณอำนวย” โค้ช หรือผู้จัด scaffolding ช่วยให้นักเรียนสร้างความรู้ขึ้นในตนได้ หากครูตั้งคำถามเพื่อไตร่ตรอง สะท้อนคิดมิติภาวะผู้นำ ศิษย์ก็จะค่อยๆ งอกงามมิติดังกล่าวขึ้นในตน ผ่านความมั่นใจตนเอง ความอ่อนน้อม ถ่อมตน ความเคารพผู้อื่น ฟังผู้อื่นเป็น และมีวิจารณญาณต่อสิ่งต่างๆ เห็นความเป็นจริงในหลากหลายแง่มุม

ผมได้เขียนบันทึกเรื่องทักษะภาวะผู้นำไว้ ที่นี่

ทั้งหมดนั้น อยู่ในหนังสือ เรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลง


วิจารณ์ พานิช

๑๔ ก.พ. ๕๙


หมายเลขบันทึก: 603545เขียนเมื่อ 16 มีนาคม 2016 10:57 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 มีนาคม 2016 10:57 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท