ปัญญา ในพระคาถาอันเป็นโอวาทปาติโมกข์


จากสองบันทึกที่แล้วคือ ศีล ในพระคาถา อันเป็นโอวาทปาติโมกข์ และ สมาธิ ในพระคาถา อันเป็นโอวาทปาติโมกข์ จะเห็นว่าการพาตนดำเนินตามทางที่จะพบกับความสุขที่ถาวร ไม่กลับกลายเป็นทุกข์ภายหลัง เริ่มต้นจากการไม่ทำบาปทั้งปวง (สพฺพปาปสฺส อกรณํ) อันเป็นศีล และทำกุศลให้ถึงพร้อม (กุสลสฺสูปสมฺปทา) ด้วยใจที่ตั้งมั่นอันเป็นสมาธิ

ซึ่งบาป หมายถึงการทำความชั่ว และไม่ทำความดี การหักใจไม่ทำบาปก็เท่ากับได้ทำบุญ สร้างกุศลขึ้นมาแล้วอันทำให้ไม่มีเหตุให้เดือดเนื้อร้อนใจ วิถีชีวิตก็เป็นปกติ มีศีล

และเพราะตั้งใจจะรักษาศีล จึงพยายามสำรวจกาย วาจา ใจ ของตนว่าได้ทำอะไรลงไป หรือ พยายามฝึกใจให้รู้ทันใจตนว่าต้องการสิ่งที่ไม่ควรทำหรือไม่เพื่อที่จะได้ไม่ทำในสิ่งนั้นๆ จึงเท่ากับว่าได้มีการฝึกให้มีสติอยู่ตลอดเวลาเพื่อที่จะไม่เผอเรอทำในสิ่งที่ไม่ควร หรือเมื่อทำสิ่งใดๆลงไปแล้ว ก็ใช้สติตามระลึกนำสิ่งที่ทำลงไปมาใคร่ครวญว่าควรหรือไม่ ควรปรับปรุงแก้ไขอย่างไร เมื่อเป็นอย่างนี้ สติจึงว่องไวขึ้นและเป็นไปเพื่อความดับ และเมื่อมีการฝึกแล้วสำเร็จอย่างไร ก็มีการทรงจำหรือที่ทางพระท่านเรียกว่ามี สัญญา ไว้อย่างนั้น เพื่อนำประสบการณ์ที่ดีมาใช้ในโอกาสต่อไป

จึงเป็นไปตามที่ปรากฏในสีลวเถรคาถาที่ว่า ศีลเป็นเบื้องต้น เป็นที่ตั้ง เป็นบ่อเกิดแห่งคุณความดีทั้งหลาย และเป็นประธานแห่งธรรมทั้งปวง

จากนั้นจึงฝึกฝนที่จะทำกุศลที่สร้างแล้วนี้ ให้ถึงพร้อม คือทำอย่างบริสุทธิ์ใจ ทำเพราะเป็นสิ่งที่ควรทำ ทำเพื่อเปลี่ยนลักษณะของความสุขอันเป็นอาหารจิต คือ เปลี่ยนจากสุขหยาบ มาเป็นสุขที่ประณีตขึ้นเรื่อยๆเพื่อที่สุขนั้นจะได้ไม่กลับกลายเป็นทุกข์ภายหลัง โดยพยายามฝึกตนยามไม่ทำชั่ว ก็ไม่ทำเพราะนอกจากจะกลัวผลของความชั่วแล้ว ยังไม่ทำเพราะไม่ต้องการเบียดเบียนใคร ยังละอายแก่ใจที่จะทำ ยามทำดีก็ทำด้วยจิตที่เสมอ ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหว ฝึกที่จะไม่มีตัวตนของตนเข้าไปรับผลประโยชน์ร่วมด้วย (สมาธิ) และฝึกน้อมลงสู่ความว่าง

เพราะหากไม่มีการฝึกอย่างนี้ ก็จะอยากให้สิ่งดีๆที่ตนทำมีผลตอบแทนตน เป็นที่ปรากฏ มีผลตอบแทนเป็นลาภ สักการะ ซึ่งถ้าหากไม่มีสิ่งเหล่านี้ตอบแทนกลับคืนมา ก็อาจจะหมดกำลังใจในการสร้างกุศล จนในที่สุด อาจหยุดสร้างกุศลไปได้ อีกทั้งการน้อมลงสู่ความว่าง ก็ทำให้คลายการยึดมั่นในสรรพสิ่งโดยเฉพาะความดีงามทั้งปวงว่าเป็นของตน อันมีผลให้สุขจากการทำดีกลับกลายเป็นทุกข์ในภายหลัง

อีกทั้งยังควรพอใจในการกระทำดังกล่าวเพื่อให้เกิดความสม่ำเสมอในการกระทำ เพราะการหักห้ามใจจากบาปนั้น เราจะทุกข์ในระยะแรกๆ จนเมื่อทำบ่อยๆ จึงจะรู้สึกถึงความสุขจากการดับของตัณหา การคลายตัวของกิเลส เพราะถ้าไม่พอใจเราก็จะไม่ขวนขวายดับ ปล่อยใจไหลไปตามกิเลสเป็นส่วนใหญ่ การกระทำเพื่อความดับบ้าง ไม่ทำบ้าง ทำให้การปฏิบัติเปรียบเหมือนการเดินก้าวหน้าถอยหลัง ในที่สุดอาจถอยมากกว่าก้าวจนหลงใหลในตัณหาแต่เข้าใจว่ากำลังดับตัณหาแทน

และจากคำพูดที่เราได้ยินบ่อยๆว่า ศีลเป็นฐานของสมาธิ สมาธิเป็นฐานของปัญญา ด้วยสองเหตุผลคือความหมายของสองพระคาถาแรก กับประโยคที่เราได้ยินมาบ่อยๆนี้ก็อาจทำให้เราเข้าใจไปว่า ต้องทำทั้งสองอย่างข้างต้นคือไม่ทำบาปทั้งปวงและทำกุศลให้ถึงพร้อมก่อนแล้วจึงค่อยพัฒนาตน ทำจิตให้ผ่องใส ขาวรอบ (สจิตฺตปริโยทปนํ) ด้านปัญญา

อันที่จริง การเดินตามทางที่พระพุทธเจ้าตรัส ต้องมีปัญญาประกอบอยู่ด้วยในทุกระยะทาง โดยปัญญาในระดับต้นแฝงอยู่ในศรัทธาเพราะไม่เช่นนั้นก็อาจกลายเป็นหลงงมงาย ไม่ก้าวไปในทางที่ควร ดังนั้น ปัญญาจึงถูกพัฒนาตั้งแต่ตนเริ่มต้นเดินตามทางที่ทรงชี้แนะด้วยการไม่ทำบาปทั้งปวงอันเป็นศีลแล้ว

สมดังที่ตรัสรับรองคำของพราหมณ์โปกรสาติ ในอัมพัฏฐสูตรที่ว่า “ข้อนี้เป็นอย่างนั้น ปัญญาอันศีลชำระให้บริสุทธิ์ ศีลอันปัญญาชำระให้บริสุทธิ์ ศีลมีในบุคคลใด ปัญญาก็มีในบุคคลนั้น ปัญญามีในบุคคลใด ศีลก็มีในบุคคลนั้น ปัญญาเป็นของบุคคลผู้มีศีล ศีลเป็นของบุคคลผู้มีปัญญา”

เพราะการมีศีลนั้น ศีลจะบริสุทธิ์ได้ก็ต้องอาศัยการอบรมเมตตาเกิดขึ้น การอบรมเมตตาทำให้ต้องพินิจพิจารณาด้วยใช้โยนิโสมนสิการอยู่บ่อยๆ และโยนิโสมนสิการก็เป็นจุดเริ่มต้นของการมีสัมมาทิฏฐิ ซึ่งเป็นตัวปัญญา ดังนั้นเมื่อพิจารณาบ่อยๆปัญญาก็ย่อมงอกงามขึ้นตามความบริสุทธิ์ของศีลที่ค่อยๆทวีความบริสุทธิ์ขึ้นเรื่อยๆ

สมดังที่สมเด็จพระสังฆราช (เจริญ สุวฑฬฒโน) ทรงอธิบายว่า สิ่งที่เกื้อกูลแก่ปัญญาคือ สติ สัญญา และความสม่ำเสมอ

และเมื่อพิจารณาตามองค์มรรคทั้ง ๘ เราก็จะพบว่า ตั้งแต่เริ่มต้นด้วยการไม่ทำบาป ด้วยความรู้ว่าภาวะที่กระวนกระวายนั้นเป็นอกุศลธรรม เป็นทุกข์ การทำบาปเป็นเหตุให้เกิดทุกข์ สภาวะที่สงบจากบาปคือความดับก็มีอยู่ บุคคลสามารถบรรลุภาวะนั้นได้ด้วยตน ไม่ต้องบนบานขอวอนจากสิ่งใดๆ รวมทั้งรู้ว่ามีวิธีการปฏิบัติใดบ้างที่จะนำไปสู่ความดับนั้น ความรู้อย่างนี้ก็คือ สัมมาทิฏฐิ นั่นเอง

และเมื่ออบรมตนด้วยเมตตาเพื่อให้ตนพบสุขที่ไม่มีโทษเจือ เมตตาเขาที่จะได้ไม่โกรธตอบจนกระทำการตอบโต้เขา ไม่เบียดเบียนเขา ก็คือการมีสัมมาสังกัปปะ

เมื่อเมตตาเขา เอาตนเข้าเปรียบ ว่าเราต้องการความจริงอย่างไร คนอื่นก็ต้องการอย่างนั้น จึงเว้นจากการพูดปด เราอยากให้คนอื่นพูดกับเราด้วยความอ่อนโยน พูดด้วยดีอย่างไร คนอื่นก็อยากให้เราพูดจากับเขาอย่างนั้น จึงเว้นจากการพูดคำหยาบ จากการพูดเพ้อเจ้อ จากการพูดส่อเสียดอันทำให้เกิดความแตกร้าว ก็คือการเรามีสัมมาวาจา

และเพราะมีเจตนาไม่เบียดเบียนเขาด้วยเมตตา จึงเว้นจากการฆ่า การถือเอาของที่เขาไม่ให้ การประพฤติล่วงเกินคนรักของเขา เว้นการประพฤติผิดในกาม ก็คือเรามีสัมมากัมมันตะ

และเพื่อที่จะ ไม่ลักทรัพย์ ในเบื้องต้นจึงเลี้ยงชีพอย่างสุจริต เพื่อที่จะไม่เบียดเบียนเขาไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม จึงค่อยๆทำอาชีพที่สุจริตนั้นให้ถูกธรรมมากยิ่งขึ้น เช่น ไม่ค้ากำไรเกินควร ไม่ค้าขายอาวุธ ไม่ค้ายาพิษ ไม่ค้าของมึนเมา การเลี้ยงชีพจึงค่อยๆเป็นสัมมาอาชีวะอย่างแท้จริง

และเมื่อเรามีความพยายามที่จะในการไม่ทำบาปและการทำกุศลให้ถึงพร้อมอยู่เสมอ ความพยายามอย่างสม่ำเสมอนั้นก็คือสัมมาวายามะ

การพยายามอย่างสม่ำเสมอเหล่านั้นจะประสบผลสำเร็จได้ ก็ต้องอาศัยการมีสติ ไม่ลืมหลง ไม่ลืมตามดูพฤติกรรมของตนทั้งทางกายและใจ ตามพิจารณาให้เข้าใจเหตุที่เกิดความรู้สึกต่างๆ สภาวะต่างๆ เพื่อกำจัดการเพ่งเฉพาะและโทมนัส เมื่อเป็นอย่างนี้ก็เท่ากับเรามีสัมมาสติ

และเพราะสงัดจากอกุศลธรรมทั้งหลาย จิตจึงสุขด้วยวิเวก กระทั่งอยู่เป็นสุขในปัจจุบันได้โดยไม่ต้องอาศัยการขวนขวายพิจารณาแต่อย่างใดด้วยผ่านการทำอย่างนั้นจนวางใจเป็นกลางได้แล้ว สติจึงบริสุทธิ์ด้วยอุเบกขา จึงเรียกว่ามีสัมมาสมาธิ

ทั้งหมดนี้เป็นองค์ธรรมที่ประกอบเข้าด้วยกันเป็นทางสายเดียว เมื่อประกอบกับหลักธรรมอื่นๆ เช่น สันโดษ สำรวมระวัง รู้จักประมาณในการเสพบริโภค พยายามชำระจิตอยู่อย่างสม่ำเสมอ ทางที่เดินก็จะหมุนวนสูงขึ้นไปเรื่อยๆดุจเกลียวสปริงที่หมุนจากปลายหนึ่งไปสู่อีกปลายหนึ่ง การหมุนวนนี้ เรียกว่าการ “แก่รอบ” ของมรรค

อย่างไรก็ดี การเดินทางตามมรรคนี้จะนำเราไปสู่ความสงบอันถาวรหรือปรินิพพานอันเป็นจุดหมายสูงสุดในพุทธศาสนาช้าเร็วเพียงไหนก็อยู่ที่ความพอใจของเรา เพราะพุทธศาสนาไม่ได้มีเป้าหมายว่าจะพัฒนาทุกคนให้แสวงหานิพพาน ให้เป็นนักบวช หากแต่มุ่งพัฒนาคนให้มีความสุขจากการใช้ชีวิตอย่างสมดุล ดังที่ตรัสว่า เพราะธาตุมีหลายธาตุ บุคคลจึงมีความพอใจ มีการปฏิบัติต่างๆกันออกไป

(ขอบคุณภาพจากอินเตอร์เนท)

ดังนั้น หากบุคคลใดยังไม่พร้อมจะแสวงหาโมกขธรรม ยังยึดมั่นในความเห็นว่าเป็นตน การเดินตามมรรคแม้จะไม่ต้องการพ้นโลก อย่างน้อยก็เป็นการทำตนให้เป็นตนที่ดี เพียงแต่ต้องรู้ว่า การยึดมั่นในสิ่งต่างๆว่าเป็นของตนเช่น ยึดมั่นในความดีว่าเป็นความดีของตน ตนทำ ตนควรได้รับผลตอบแทน เป็นเหตุให้มีตัวตนวนไปรับผลนั้นๆ และเมื่อมีตัวตนวนเกิด อย่างไรเสียก็ต้องผจญกับความแก่ เจ็บ ตาย พร่ำรำพันพิไร อันเป็นของคู่กับการเกิดเสมอ

แต่อย่างไรก็ดี มีคำตรัสของสมเด็จพระสังฆราช (เจริญ สุวฑฺฒโน) อยู่ว่า หากบุคคลปฏิบัติถูก แม้จะไม่แสวงหาความดับหรือนิพพาน แต่ด้วยปัญญาที่เพิ่มพูนขึ้น อย่างไรเสียก็ต้องพบนิพพานเข้าในสักวัน

และเพราะมรรคที่แก่รอบขึ้น บุคคลจึงพัฒนาตนให้ประณีตขึ้นเรื่อยๆ จากปุถุชนไปสู่กัลยาณชน จนถึงพระอริยในระดับต่างๆได้ ไม่ในกาลอันยืดยาวกาลใดก็กาลหนึ่ง

หมายเลขบันทึก: 603409เขียนเมื่อ 14 มีนาคม 2016 11:01 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 มีนาคม 2016 09:00 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

สาธุๆๆ...กับทุกๆท่านและผู้บรรยายบทความนี้ที่แจงความถ่องแท้ให้ปรากฎ....เจ้าค่ะ...

สาธุๆครับพี่

ชอบข้อความนี้เลยครับ

สติ สัญญา และความสม่ำเสมอ เกื้อกูลแก่ปัญญา..

ขอบคุณทุกท่านที่มาเยี่ยมกันมากค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท