สมาธิ ในพระคาถาอันเป็นโอวาทปาติโมกข์


ในบันทึกที่แล้ว ( ศีล ในพระคาถาอันเป็นดอวาทปาติโมกข์ )ได้เล่าถึงบาทแรกของพระคาถาอันเป็นโอวาทปาติโมกข์ ซึ่งก็คือ สพฺพปาปสฺส อกรณํ เอนทรี่นี้จะขอเล่าถึงบาทต่อไป คือ กุสลสฺสูปสมฺปทา ต่อ

คงจำได้อยู่นะคะ ว่าที่เรียกว่า บาท กับที่เรียกว่า คาถา คืออะไรบ้าง

กุสลสฺสูปสมฺปทา มาจาก กุสล + อุป + สมฺปทา โดยมีคำแปลอย่างนี้ค่ะ

กุสล (กุ-สะ-ละ) หากเป็นคำนามจะแปลว่าความดีงาม, ความงาม, สิ่งที่ดี, ความสบาย, บุญ, กุศล,ความไม่มีโรค และหากเป็นคำขยายคำนามอีกที จะแปลว่า ไม่มีโรค, ไม่มีโทษ, ถูกต้อง, มีฝีมือ, ฉลาด, ชำนาญ, คล่อง, มั่งคั่ง, ดี, งาม, เหมาะ, ควร, ถูก (ไม่ผิด), ถูกต้อง

อุป (อุ-ปะ) แปลว่า เข้าไป ใกล้ มั่น

สมฺปทา (สัม-ปะ-ทา) แปลว่า ความถึงพร้อม, ความดี, คุณชาติเป็นเครื่องถึงพร้อม, ความเจริญ, สมบัติ

ดังนั้น กุสลสฺสูปสมฺปทา จึงรวมแปลว่า การยังกุศลให้ถึงพร้อม

ดังที่ได้เล่าไว้ในเอนทรี่ที่แล้วว่า บาป หมายความรวมถึงทั้งการทำความชั่ว และ การไม่ทำความดี ดังนั้น การไม่ทำบาป ก็คือการไม่ทำชั่วกับการทำความดี และเพียงการหักห้ามใจไม่ทำบาป หรือก็คือ มีการหักห้ามกระทำทางกาย วาจา ใจ ก็ได้ชื่อว่าทำบุญ สร้างกุศลแล้ว แต่การทำบุญหรือสร้างกุศลกรรมในเบื้องต้นอย่างนี้ยังไม่ถือว่าเพียงพอค่ะ ต้องทำกุศลที่เกิดขึ้นแล้ว ให้เจริญงอกงาม ให้เป็นความดีงามอย่างแท้จริง ไม่มีโทษเจือ ไม่โน้มไปในทางที่เกิดโทษในภายหลังด้วย

มาดูการทำกุศลที่เกิดขึ้นแล้วให้ถึงพร้อมกันทีละส่วนนะคะ

ในส่วนของการไม่ทำความชั่ว

เมื่อหักใจไม่ทำชั่ว โดยปกติแล้วในระยะแรกๆที่เราห้ามใจจากการกระทำชั่วเพราะเรารู้ดีว่ามีผลทำให้ถูกลงโทษ ทำให้ถูกติฉินนินทา ทำให้ไม่ได้รับการสนับสนุนจากบุคคลทั่วไป แม้การห้ามนี้จะเป็นบุญ เป็นกุศล แต่ก็ยังเป็นกุศลที่ยังไม่ถึงพร้อมด้วยธรรมอันเป็นกุศลเนื่องจากเป็นเพียงห้ามการกระทำที่เกิดจากความกลัวต่อโทษ โดยที่ใจอาจจะยังอยากที่จะทำชั่วอยู่แต่ข่มไว้เพราะนึกถึงโทษที่จะได้รับ ซึ่งถ้าหากไม่มีการอบรมใจให้เห็นคล้อยตามว่าเป็นกรรมที่ไม่สมควรจริงๆ หากพบเหตุการณ์เฉพาะหน้าให้เกิดตัณหาขึ้นอย่างเดิม ก็ต้องขวนขวายห้ามความอยากอยู่ร่ำไป ตัณหานั้นเมื่อถูกขัดก็ย่อมก่อให้เกิดความทุกข์ ทุกข์มากๆเข้า วันหนึ่งก็ทนไม่ไหว ต้องไหลตามกิเลสไปได้ในที่สุด

การหักใจไม่ทำบาปนั้นยากมากๆค่ะ เช่น อยากคิดไปตามความต้องการในเรื่องที่ไม่สมควรสักเรื่องหนึ่ง แค่จะหักใจไม่ให้คิดก็ยากยิ่งแล้ว เพราะคิด(สังขาร) ไปแล้วมีความเพลิน มีความสุข และเพราะสุขเป็นอาหารที่จิตต้องการอยู่เสมอไม่ว่าจะเป็นสุขจากทางไหน จึงเป็นหน้าที่ของเรา ที่จะกำหนดลงไป (กำหนดรู้) ว่า สุขไหนหยาบ สุขไหนประณีต สุขที่มาจากเหตุไหนควรเสพ จากเหตุไหนไม่ควรเสพ แต่ควรละ บรรเทา ทำให้สิ้นไป

โดยธรรมชาติของการห้ามใจจากบาปแต่ละครั้ง จะเกิดทั้งทุกข์และสุขในช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน คือ ทุกข์เพราะตัณหาถูกขัด อึดอัดเพราะความที่จิตดิ้นรน กระสับกระส่าย จะกลับไปทำตามตัณหาเพื่อเสพให้ได้ กับ สุขที่เกิดจากการห้ามใจได้สำเร็จ (ดังที่ได้เรียนไว้แล้ว ว่า เมื่อเราทำงานใดงานหนึ่งสำเร็จ จะเกิดปีติ สุข ขึ้น) แต่สุขที่เกิดในระยะแรกๆนั้น น้อยมากจนบุคคลทั่วไปไม่สามารถรู้สึกได้ คงรู้สึกได้แต่ความทุกข์ที่เกิดจากการถูกขัดของตัณหาเท่านั้น เมื่อไม่รู้สึกถึงสุข จึงมักไม่พอใจในการกระทำห้ามบาปอันเป็นบุญของตนนั้น บางทีห้ามใจได้สักครั้ง แต่กลับปล่อยใจไหลตามกิเลสไปหลายๆครั้ง จึงกลายเป็น เดินหน้าหนึ่งก้าวแต่ถอยหลังไปหลายๆก้าว สุดท้าย ก็หยุดอยู่ไกลจากจุดที่ควรจะไปออกไปเรื่อยๆ เลยกลายเป็นว่าแม้จะได้ “ลิ้มรส”ของความดับ แต่ก็กลับหลงใหลในบาปมากยิ่งขึ้นเรื่อยๆ

ทั้งนี้เพราะสุขจากการทำตามตัณหานั้นเกิดได้ง่าย แต่สุขจากการดับตัณหานั้นเกิดได้ยาก บุคคลต้องอดทนฝึกตนไประยะหนึ่งจึงจะได้สุขจากความดับ จิตจึงเลือกที่จะอยากได้สุขที่หามาได้ง่ายๆมาเป็นอาหารหล่อเลี้ยงมากกว่า

ดังนั้น แม้การทำบุญด้วยการห้ามใจไม่ยอมตามกิเลสนี้จะทำให้เกิดทุกข์ ก็ควรรู้ว่าทุกข์ในปัจจุบันนี้มีสุขเป็นวิบาก เป็นสุขที่ไม่กลับกลายเป็นทุกข์ภายหลัง ควรทำความพอใจในการกระทำหักห้ามของตน สมดังที่ตรัสไว้ในพระคาถาหนึ่งว่า

ปุญฺญเจ ปุริสา กยิรา กยิราเถนํ ปุนปฺปุนํ

ตมฺหิ ฉนฺทํ กยิราถ สุโข ปุญญสฺส อุจฺจโย ฯ

ถ้าบุรุษพึงทำบุญไซร้ พึงทำบุญนั้นบ่อยๆ

พึงทำความพอใจในบุญนั้น

เพราะว่า การสั่งสมขึ้นซึ่งบุญนำมาซึ่งสุข.

และบุญจะถูกสั่งสมขึ้นจนกลายเป็นสุขได้ ก็ต้องอาศัยเมตตา คงเคยได้ยินประโยคที่ว่า เมตา เป็นพื้นฐานของพุทธศาสนากระมังคะ ไม่ว่าจะทำอะไร หากมีเมตตาเป็นจุดเริ่มก็จะสำเร็จในทุกที่ไปค่ะ ดังนั้นการที่จะทำกุศลที่เกิดขึ้นแล้วให้ถึงพร้อมนี้ก็ต้องอบรมเมตตาให้เกิดขึ้นจึงจะสำเร็จ

ท่านให้เมตตาตนเป็นอันดับแรกเพราะตนเป็นบุคคลที่เรารักมากที่สุด เมื่อรักมาก ก็ย่อมอยากให้ตนพบแต่สิ่งดีๆที่ไม่กลับกลายเป็นทุกข์ภายหลัง คือเมตตาตนด้วยการทำในสิ่งดี ไม่อยากให้ใจที่ยังคลายความเห็นว่าเป็นตนยังไม่ได้จะยิ่งยินดีในบาป ห้ามใจไม่ทำบาปก็เพื่อตนจะได้ไม่ต้องพบกับทุคติ ปิดทางไปสู่อบายของตนเสีย เมตตาผู้อื่นโดยเอาตัวเราเข้าเปรียบ ว่าเราไม่อยากให้ใครมาทำอย่างไรกับเรา เราก็ไม่ควรทำกับเขาอย่างนั้น เมื่ออบรมเมตตาให้เกิดขึ้น การไม่เบียดเบียนผู้ใดจึงไม่ใช่เป็นเพราะเพียงการกลัวการถูกลงโทษ ไม่ใช่เพราะต้องการสิ่งตอบแทน (เช่น ความเชื่อที่ว่า รักษาศีลแล้วจะรวย) แต่เพราะเมตตาไม่อยากให้เขาเดือดร้อน ไม่อยากเบียดเบียนเขา ปรารถนาให้เขามีความสุข

ในส่วนของการทำความดี

การทำความดีอันเป็นบุญนั้น เมื่อยังคลายความเห็นว่าเป็นตนไม่ได้ การทำความดี ก็มักมีตัวตน ของตน เข้าไปเกี่ยวข้องด้วย คือทำแล้วนอกจากผู้อื่นจะได้รับประโยชน์ ตนยังพลอยได้รับผลประโยชน์ด้วย อีกทั้งบางครั้ง การทำความดีในช่วงต้นๆก็ยังไม่มีประโยชน์ตนเข้ามาเกี่ยวข้อง เป็นการทำด้วยกุศลฉันทะอย่างแท้จริง แต่พอทำไปทำไป ตัณหากลับเข้ามารับช่วงต่อ กลายเป็นว่าเดิมทำเพื่อผู้อื่นแต่ต่อมามีความคิดขอให้ตนพลอยได้ผลประโยชน์เพิ่มเข้ามาด้วย ภาวะอย่างนี้ก็เป็นเรื่องที่ต้องระวังค่ะ

เช่น ช่วยเหลือผู้อื่นแล้วก็อยากให้มีผู้พบเห็นและยกย่องตน บริจาคเงินเพื่อการกุศลแล้วก็อยากให้มีคนชื่นชมว่าเป็นคนใจบุญ เดิมปรนนิบัติพ่อแม่อย่างดีเพราะอยากตอบแทนคุณท่าน แต่ต่อมากลับอยากให้ใครๆเห็นว่าตนเป็นคนกตัญญูและสรรเสริญตน เดิมเขียนเผยแผ่ธรรมเพราะอยากให้ผู้อื่นเห็นความงามของธรรม แต่ต่อมามีความอยากให้ผู้คนจดจำตนไว้เผื่อในอนาคตตนจะได้ใช้ประโยชน์จากความทรงจำของผู้คนแทรกเข้ามา อย่างนี้เป็นต้น

อันที่จริง การทำดีที่ยังหวังผลตอบแทนนั้นไม่ใช่ความผิดเพราะจัดเป็นสัมมาทิฏฐิ เพียงแต่ว่าเป็นสัมมาทิฏฐิที่ยังเป็นโลกิยะ คือเมื่อมีความเห็นว่าเป็นสิ่งดีๆของตน ตนควรได้รับผลตอบแทน ก็ทำให้มีตัวตนวนไปรับผลอยู่เนืองๆ เมื่อต้องการผลแล้ว หากไม่มีผลคือการชื่นชม ยกย่อง ตอบแทนก็จะกลับกลายเป็นทุกข์หรือท้อเพราะการกระทำดีนั้นๆได้

คงเคยได้ยินประโยคที่ว่า จะทำดีไปทำไม ทำไปก็ไม่มีใครเห็น กระมังคะ นี่คือผลของการสร้างกุศลแล้ว แต่ไม่ยังกุศลให้ถึงพร้อมด้วยธรรมที่เป็นกุศล กุศลที่สร้างจึงกลับกลายเป็นอกุศลไป

ดังที่ได้กล่าวแล้วว่าเมตตาเป็นพื้นฐานของธรรมต่างๆในศาสนาพุทธ จึงทำให้แม้ตั้งใจจะทำความดี ก็ต้องอบรมตนด้วยเมตตาอยู่เสมอๆด้วย โดยเมตตาตนด้วยคิดว่าหากทำดี ทำบุญ แล้วหวังผลตอบแทนตน ผลที่หวังนั้นนอกจากจะนำความไม่ยินดี ความทุกข์ มาให้ภายหลังแล้ว ยังจะโน้มใจให้ตกต่ำลงเรื่อยๆ จนในที่สุดก็อาจกลายเป็นไม่ยินดีในดารทำบุญ เมื่อไม่ยินดีในการทำบุญ ใจก็จะยินดีในบาป (ดังพระคาถาที่ยกมาในเอนทรี่ที่ผ่านมา )

ควรอบรมตนว่าพึงทำความดีเพื่อฝึกการละ คลายตระหนี่ อันจะทำให้เข้าถึงความสุขจากการปล่อยวาง อันทำให้ทางสู่สุคติที่สร้างขึ้นแล้วไม่ถูกรื้อถอนลงในภายหลังด้วยตัณหา

อบรมตนว่าที่เมตตาช่วยเหลือผู้อื่นด้วยความหวังคืออยากให้เขาพ้นทุกข์ ช่วยเหลือเขาเพื่อประโยชน์แก่ตัวเขาอย่างแท้จริง สมความหมายของเมตตา คือความเป็นมิตร ความปรารถนาดีต่อกันเท่านั้น

แม้แต่เมตตา ยังต้องอบรมให้ถึงพร้อม

เมื่ออบรมเมตตาอันทำให้ไม่ทำความชั่ว เพียรทำความดีแล้ว อันเป็นการยังกุศลให้ถึงพร้อมแล้ว ตัวเมตตาเอง ก็ต้องอบรมให้ถึงพร้อมด้วยเช่นกันค่ะ คือ อบรมให้เป็นเมตตาที่บริสุทธิ์ ไม่ให้มีเหตุใกล้คือ "เสน่หา" แทรกเข้ามา จนทำให้เมตตาที่ไม่หวังผลตอบแทนต่อตนอันเป็นกุศลฉันทะ ถูกตัณหามารับช่วงต่อจนทำให้กลายเป็นเมตตาที่หวังได้รับผลของเมตตาตอบแทน กลับกลายเป็นความมีเยื่อใย มีความรักฉันชู้สาว และกลายเหตุแห่งทุกข์ได้

อย่างเช่น เราเมตตาเพื่อนร่วมงานที่เป็นเพศตรงข้ามที่มีคู่แล้วคนหนึ่ง เพราะความดีงามของเขาเราจึงอยากให้เขามีความสุข จึงพยายามหาโอกาสสนับสนุนเขาอยู่เนืองๆ แต่การพยายามทำอะไรเพื่อใคร ก็ต้องมีเขาและสิ่งที่เนื่องด้วยเขามาตั้งอยู่ในใจจึงจะคอยคิดหาทางทำอะไรให้เขาได้ นานๆเข้า ความเป็นเขาก็วนเวียนอยู่ในใจเรา หากไม่มีสติคอยกำกับ ตัณหาก็พร้อมจะมารับช่วงต่อ ความดีงามที่ตามเห็นจึงได้กลายเป็นความดีงามที่เราหวังจะครอบครอง เป็นความผูกพัน เกิดความปรารถนาในทางชู้สาวไป และความที่เราไม่รู้ว่าใจถูกอะไรครอบงำเข้าแล้ว จึงมักถลำลึกจนกลายเป็นเหตุแห่งทุกข์ไปในที่สุดได้

อีกทั้งควรพยายามอบรมให้เมตตาที่เกิดแล้ว เป็นเมตตาที่ไม่เป็นประมาณ เมตตาเสมอหน้า ไม่เลือกพวกเขาพวกเรา ทุกวันนี้ ที่โลกเรามีปัญหา ส่วนหนึ่งก็มาจากเมตตาที่มีให้แต่พวกพ้องตนด้วยเหมือนกัน

เมตตายังเป็นอีกเหตุที่เกื้อกูลแก่ปัญญา เพราะการอบรมตนให้เมตตาเป็นเมตตาที่บริสุทธิ์ หรือเพื่อให้พบกับความดับ หรือเพื่อให้เป็นเมตตาไม่เป็นประมาณ ให้ไม่มีความเป็นตนเข้าไปรับผลตอบแทนด้วยอยู่บ่อยๆนั้น ต้องอาศัยการพิจารณาเนืองๆ เมื่อพิจารณาบ่อยๆ ปัญญาก็ย่อมงอกงามขึ้น

ผลของการยังกุศลให้ถึงพร้อมด้วยเมตตา

เมตตาเป็นบ่อเกิดของศีล อันเป็นโอกาสให้จิตเป็นสมาธิ เนื่องจากเมื่ออบรมตนด้วยเมตตาไม่ว่าจะเพื่อไม่ทำความชั่ว หรือทำความดี เมื่อใดที่ทำสำเร็จจิตจะเกิดกระบวนการที่นำไปสู่สมาธิที่เรียกว่า ธรรมสมาธิ ๕ นั่นคือจิตจะเบิกบานขึ้น (ปราโมทย์) แล้วความเบิกบาน ความอิ่ม ก็จะทวีขึ้นจนแผ่ซ่านไปทั้งใจและกาย (ปีติ) ซึ่งอันที่จริงความอิ่มใจหรือปีตินี้ เกิดขึ้นพร้อมๆกับความรื่นสบาย แต่ความที่ปีติมีกำลังมากกว่า เราจึงไม่รู้สึกถึงความสบายนั้น จนเมื่อปีติอ่อนกำลังลงและดับ (ปัสสัทธิ) เราจึงรู้สึกถึงความรื่น ความสบาย (สุข) นั้น และเมื่อสุขดับ จิตก็จะสม่ำเสมอ ตั้งมั่น (สมาธิ) กระบวนธรรมจึงเกิด-ดับ เกิด-ดับ ส่งกันเป็นทอดๆอย่างนี้ ตั้งแต่

ปราโมทย์ - ปีติ - ปัสสัทธิ - สุข - สมาธิ

อันที่จริง กระบวนธรรมธรรมสมาธิ ๕ นี้ เกิดกับเราในชีวิตประจำวันได้เรื่อยๆค่ะ อย่างเช่น เวลาเราไปทำสังฆทานแล้วปีติ เพียงแต่เราไม่รู้ว่ากระบวนธรรมได้เกิดขึ้นแล้ว และจะจบลงที่สมาธิ จึงไม่ได้จิตที่เป็นสมาธิมาทำงานทางปัญญา เป็นการปล่อยโอกาสไปอย่างน่าเสียดาย

เพราะเมื่อจิตเป็นสมาธิจะรู้เห็นได้ตามที่เป็นจริง คือ รู้ว่าจิตกำลังถูกธรรมใดครอบงำอยู่ รู้ว่าอาสวะใดไหลออกมาย้อมใจ รู้ว่ากุศลที่สร้างมีผลต่อใจอย่างไร รู้ว่าควรหาทางละ บรรเทา ทำสิ่งใดให้สิ้นไป รู้ว่าสิ่งใดได้บรรเทาลงไปแล้ว อย่างนี้เป็นต้น และเมื่อจิตเป็นสมาธิ จิตจะมีกำลัง เหมาะที่ทำงานทางปัญญานั่นคือการพิจารณาเรื่องใดๆให้รู้เห็นแง่มุมต่างๆทั้งคุณและโทษมากขึ้น ลึกซึ้งมากขึ้น เห็นแจ้งมากขึ้น

ยิ่งเห็นแจ้งถึงทั้งคุณและโทษในสิ่งหนึ่งมากขึ้นเท่าใด ก็จะยิ่ง “ยังใจให้กลับ” จากสิ่งนั้นได้มากขึ้นเรื่อยๆ จึงทำให้ในยามที่พบกับสิ่งนั้นๆเฉพาะหน้า ก็จะหวั่นไหวกับสิ่งนั้นที่ได้พบเห็นทางตา หู เป็นต้น น้อยลงเรื่อยๆ จนสามารถวางใจเป็นกลางกับสิ่งนั้นๆได้อย่างแท้จริงในที่สุด และเพราะค่อยๆวางใจเป็นกลางกับสิ่งต่างๆได้ อุเบกขาธรรมจึงเจริญขึ้นไปด้วย จึงดึงสิ่งต่างๆเข้าหาตนด้วยราคะ ผลักสิ่งต่างๆออกจากตนด้วยโทสะ น้อยลงไปเรื่อยๆ

สิ่งที่มี ที่เกิดขึ้น จึงค่อยๆสักแต่ว่าเป็นสภาวะที่ปรากฏ แม้สิ่งเหล่านั้นจะเป็นสภาพไม่น่ายินดี ก็จะอยู่กับสิ่งเหล่านั้นได้โดยไม่ทุกข์

ปัญญาจึงแก่กล้าขึ้น จนนำไปสู่ปัญญาสูงสุดอันพาตนหลุดพ้นหรือ ”วิชชา” ในท้ายที่สุด

ก็สำหรับบุคคลที่ยังคลายความเห็นว่าเป็นตนไม่ได้ การที่มีใจมองเห็นด้วยความเป็นกลางไปทีละเรื่อง ทีละเรื่อง ทำสุขหยาบให้ประณีตขึ้นเรื่อยๆ พบสุขทั้งในปัจจุบัน ได้ทำทางสู่สวรรค์และนิพพานไว้เบื้องหน้า จะหาอะไรประเสริฐได้ไปมากกว่าความเป็นอย่างนี้อีกหรือคะ

คำสำคัญ (Tags):
หมายเลขบันทึก: 603408เขียนเมื่อ 14 มีนาคม 2016 10:57 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 มีนาคม 2016 11:07 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท