วิธีการตัดลิ้นเบื้องต้นสำหรับทรัมเป็ต Tonguing ตอนที่ 1


การตัดลิ้น (Tonguing) คือ การใช้ลิ้นเพื่อให้เกิดความชัดเจนของโน้ต มิใช่เพื่อหยุดลม เราใช้ส่วนของปลายลิ้นในการตัดลิ้นโดยการเคลื่อนไหวขึ้นและลง ไม่ใช่เข้าและออกเด็ดขาด บริเวณที่ปลายลิ้นควรสัมผัสเวลาตัดลิ้นคือ บริเวณโคนฟันบนด้านหน้าระหว่างเหงือกและโคนฟัน เราสามารถหาที่สัมผัสนี้ได้ด้วยการพูดคำว่า “ทา” หรือ “ทิป” นี้คือตำแหน่งที่ดีที่สุดสำหรับการตัดลิ้น และเมื่อตัดลิ้นแล้วลิ้นควรกลับมาอยู่ที่ตำแหน่งเดิม ไม่ดึงลิ้นไปทางด้านหลังเพื่อไม่เป็นการขัดขวางลม

นักดนตรีประเภทเครื่องลมทองเหลืองใช้คำพูดหรือพยางค์ในการตัดลิ้นที่แตกต่างกันไปตามช่วงเสียง (range) เพื่อให้ช่องปากมีความเหมาะสมกับความเร็วลมที่ใช้ในการตัดลิ้นในช่วงเสียงต่างๆ เช่น

  • “ooh” “อู” ใช้สำหรับช่วงเสียงต่ำ
  • “ah” “อา” ใช้สำหรับช่วงเสียงกลาง
  • “ee” “อี” ใช้สำหรับช่วงเสียงสูง

ทั้งนี้ขึ้นการเลือกใช้พยางค์ขึ้นอยู่กับความถนัดของแต่ละบุคคล อาจเปลี่ยนตัวอักษรเป็น ด หรือ ท จะได้ดังนี้

  • “dooh/ดู” หรือ “tooh/ทู” ใช้สำหรับช่วงเสียงต่ำ
  • “dah/ดา” หรือ “tah/ทา” ใช้สำหรับช่วงเสียงกลาง
  • “dee/ดี” หรือ “tee/ที” ใช้สำหรับช่วงเสียงสูง

สำหรับอักษร “ด” เหมาะสำหรับการออกเสียง (articulation) ที่บางเบา และ “ท” เหมาะเป็นอย่างมากสำหรับการออกเสียงแบบ legato

การตัดลิ้นให้มีประสิทธิภาพที่ดีนั้นมาจากการวางรูปปากที่ดี (embouchure) และลมที่ใช้ (breath control) ทำงานไปพร้อมกัน ส่วนการผลิตเสียงให้มีความดังเบานั้นขึ้นอยู่กับการใช้ลมมิใช่การทำงานของลิ้น อย่าลืมว่าเสียงมาจากลม ไม่ใช่ลิ้น เพราะฉะนั้นการฝึกตัดลิ้นเราจึงควรให้ความสำคัญเรื่องของการใช้ลมให้ถูกต้องเป็นอันดับแรก



ประเภทของการตัดลิ้น

Single Tonguing คือ การตัดลิ้นด้วยการใช้พยางค์เดียวแบบเดียวกัน ได้แก่ “tah tah tah tah” จะแสดงในโน้ตด้วยอักษรย่อ “t-t-t-t”


Multiple Tonguing การตัดลิ้นประดภทนี้ต้องผ่านการฝึกฝนการตัดล้ินแบบ single tongue ให้ชำนาญเสียก่อน การตัดลิ้นชนิดนนี้มักจะพบในรูปแบบจังหวะที่ต้องตัดลิ้นด้วยความเร็วอยู่เหนือความสามารถที่จะใช้การตัดลิ้นแบบ single tongue ซึ่ง Multiple Tongue มี 2 แบบได้แก่

1.Duple Tonguing ใช้สำหรับรูปแบบของกลุ่มจังหวะ 2, 4,8 … โดยการสลับไปมาสองพยางค์ได้แก่ “tah-kah” จะแสดงในโน้ตด้วยอักษรย่อ “t-k” ส่วนที่เป็น “Tah/t” การตัดลิ้นเป็นแบบเดียวกับ Single Tonguing และ “kah/k” เสียงมาจากเพดานลิ้นด้านหลัง มิใช่ลำคอ ให้ฝึกพูดเพื่อให้เกิดความเข้าใจก่อนการบรรเลง หากต้องการแบบ legato สามารถเปลี่ยนพยางค์ได้เป็น “dah-gah”



2.Triple Tonguing ใช้สำหรับรูปแบบของกลุ่มจังหวะ 3, 6, 9 … คือการออกเสียงสามพยางค์ มีการซ้ำพยางค์เดิม 1 พยางค์ได้ดังนี้ “tah – tah - kah”


อุปสรรคของการใช้ Multiple Tonguing คือ การออกเสียงพยางค์ “K” ที่ไม่แข็งแรงเท่า “T” นั้นเอง เราจึงควรฝึกซ้อมการใช้ “K” เป็นพิเศษเพื่อความคมชัด

ข้อแนะนำในการฝึกซ้อม Multiple Tonguing

1.ควรเริ่มฝึกจากช่วงเสียงกลางคือ G เพราะเป็นช่วงเสียงที่สบาย ไม่ต่ำและไม่สูงเกินไป เหมาะสำหรับการเริ่มฝึก จากนั้นเพิ่มช่วงเสียงให้กว้างมากขึ้น

2.ฝึกฝนการออกเสียง “K” ด้วยการ เป่า-หยุด เป่า-หยุด ด้วยความช้าเพื่อฟังและพิจารณา



3.เพื่อให้เกิดความเท่ากันของเสียงระหว่าง “T” และ “K” สามารถเพิ่ม accent ที่ K เป็นการเพิ่มความคมชัดในการออกเสียงมากขึ้น

4. ควรฝึกซ้อมจากช้า ค่อยๆเพิ่มความเร็วขึ้น และเมื่อเข้าใจการทำงานของการตัดลิ้นแล้วจึงฝึกซ้อมกับเครื่องเคาะจังหวะ (metronome)

5.ควรหมั่นฝึกซ้อมเป็นประจำทุกวัน (practice routine) จะทำให้เรามีทักษะการตัดลิ้นที่คงประสิทธิภาพที่ดี เพราะถ้าหากขาดการฝึกซ้อม ไม่ต่อเนื่อง จะทำให้เราใช้การตัดลิ้นมีประสิทธิภาพที่ต่ำลง ตัดลิ้นได้ไม่คล่องแคล่วเหมือนเดิม หรือหากหยุดการฝึกซ้อมไปอาจทำให้ความสามารถในการตัดลิ้นแบบ multiple tongue หายไป


ปัญหาโดยทั่วไปของการตัดลิ้น

1.มีการใช้ลิ้นที่มีความเกร็งมากเกินไป ทำให้การตัดลิ้นมีความเอื้อย ช้าลง และการตัดลิ้นมีแรงกระแทกที่รุนแรงมากเกินไป ควนปล่อยให้ลิ้นมีการใช้งานที่เป็นธรรมชาติ ใช้ลิ้นให้ถูกหมายถึงใช้ปลายลิ้นให้มากในทิศทางขึ้นและลง

2.เสียงของโน้ตในแต่ละตัวมีความยาวไม่เท่ากัน เนื่องจากการใช้ลมที่ไม่ต่อเนื่อง แก้ไขได้โดยการควมคุมลมให้มีความต่อเนื่องเท่ากันทุกตัวในการตัดลิ้นทั้ง “T” และ “K”


เกล็ดจากผู้เชี่ยวชาญ

จาก Keith Johnson

-คุณครูกับนักเรียนเสียเวลาไปมากกับการหาว่า จุดที่ลิ้นสัมผัสตอนตัดลิ้นอยู่ที่ใดกันแน่ ความจริงแล้วเราเพียงพูดหรือร้องออกแบบเองว่าแบบใดเหมาะสมกับเราแล้วจึงก่อน แล้วจึงลองบรรเลงกับเครื่องดนตรี


จากอาจารย์อลงกรณ์ เหล่าสายเชื้อ (2nd Trumpet จากวง Thailand Philharmonic Orchestra)

-การตัดลิ้น ไม่ใช่การเป่าสั้น

-ห้ามใช้พยางค์ปิดในการใช้ตัดลิ้นที่จะทำให้ลิ้นขวางทางลมเช่น “ทัด/ดัด/ตุ๊ด/ทิด” เป็นต้น

-หากคุณกำลังซ้อมตัดลิ้นอยู่ เป่าให้ยาวเข้าไว้ให้ tone เสียงเหมือนเป่า slure

**** ตอนที่ 2 จะมีแขกรับเชิญมาให้ความรู้พวกเราด้วยนะคะ โดยอาจารย์อลงกรณ์ เหล่าสายเชื้อ หรือ อาจารย์กอฟคะ ท่านจะได้ฟังเสียงทรัมเป็ตของอาจารย์กอฟเป่าการตัดลิ้นในทุกรูปแบบเบื้องต้น ขอเชิญทุกท่านศึกษาในตอนที่ 1 นี้ไปก่อนนะคะ ****


อ้างอิง

-Teaching Brass A Resource Manual (second edition) by Wayne Bailey, Patrick Miles, Alan Siebert, William Stanlry, Thomas Stein.

-Learning to Teach Through Playing A Brass Method by Herbert C. Mueller

คำสำคัญ (Tags):
หมายเลขบันทึก: 603116เขียนเมื่อ 8 มีนาคม 2016 11:28 น. ()แก้ไขเมื่อ 8 มีนาคม 2016 11:55 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท