อภิชญา วรพันธ์ : ​ทางใคร ก็ทางคนนั้น


ความตาย ...เป็นความแน่นอนของทุกชีวิต

ความโศกเศร้า ...เมื่อบุคคลอันเป็นที่รักต้องตาย ก็เป็นสิ่งที่แน่นอน ที่เกิดขึ้นกับบุคคลใกล้ชิดกับผู้ตายเช่นกัน

จากประสบการณ์ที่ได้ดูแลผู้ป่วยระยะท้ายนั้น เห็นได้ว่าผู้สูญเสียแต่ละรายแต่ละครอบครัว ก็มีวิธีการจัดการตนเองให้ครอบครัวคลายความโศกเศร้าด้วยวิธีการที่แตกต่างกัน และใช้ระยะเวลาที่แตกต่างกัน เช่น ทำสิ่งต่างๆ เสมือนเวลาผู้ตายยังมีชีวิตอยู่ การดำรงกิจวัตรประจำวันไว้ให้เหมือนที่เคยปฏิบัติ ก็ช่วยให้รู้สึกว่า สิ่งต่างๆ นั้นยังคงเหมือนเดิม เวลากินอาหาร ก็จะจัดจานไว้ให้ เมื่อถึงเวลานอน ก็เตรียมที่นอนไว้ จะไปไหน ก็เรียกไปด้วยเสมอ หากอยู่บ้าน ก็อาจทำสิ่งที่ผู้ตายชอบ เช่น การเปิดโทรทัศน์ให้ดู ทั้งนี้เพื่อให้รู้สึกว่ายังได้ทำกิจกรรมต่างๆ กับผู้ตายเหมือนเดิม เนื่องจากบางรายผู้ตายอาจเสียชีวิตเร็วมาก จนตั้งรับไม่ทัน หรืออาจยังไม่ยอมรับว่าได้เสียชีวิตไปแล้ว ซึ่งเมื่อทำไประยะหนึ่ง ก็จะรู้ด้วยตนเองว่า สิ่งที่ทำนั้น ก็เสมือนเป็นการหลอกตนเอง ซึ่ง ณ เวลาที่คิดได้ ผู้สูญเสียก็เริ่มจะยอมรับกับสิ่งที่เกิดขึ้นได้

หาสิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจทางด้านจิตวิญญาณ

บางราย จากที่ไม่ค่อยได้ทำบุญก็เริ่มทำบุญตักบาตร เข้าวัดปฏิบัติธรรม เพื่ออุทิศส่วนกุศลให้ผู้ตาย บางรายอาจเปลี่ยนศาสนา เพราะเชื่อมั่นว่า ผู้ตายอันเป็นที่รัก จะได้ไปอยู่ใกล้ชิดกับผู้นำทางจิตวิญญาณของศาสนานั้นๆ อีกทั้งมีกิจกรรมทางศาสนา การช่วยเหลือคนในสังคม เช่น การไปเยี่ยมคนไข้ตามบ้านหรือที่โรงพยาบาล การรวมกลุ่มทำสิ่งเหล่านี้ ล้วนเป็นการเยียวยาผู้สูญเสียโดยอัตโนมัติ เพราะมีความสบายใจว่า ผู้ตายได้ไปสู่ภพภูมิที่ดี ส่วนตนเอง ก็มีกลุ่มที่มีแนวคิดเดียวกันไปทำกิจกรรมเพื่อสาธารณประโยชน์ เป็นการใช้เวลาในแต่ละวันกับการทำสิ่งต่างๆ นอกบ้าน ซึ่งการคิดเรื่องทุกข์ของตนเองก็จะน้อยลง

สมาชิกใหม่

บางครอบครัว มีสมาชิกใหม่เพิ่มขึ้นมาในช่วงก่อนหรือหลังการสูญเสียไม่นาน จึงทำให้คนในครอบครัวใช้เวลาในแต่ละวันกับการดูแลสมาชิกใหม่ และมีความสุขกับการได้สมาชิกใหม่ ทุกข์จากการสูญเสียก็จะเบาบางลงบ้างไปโดยปริยาย

ทำงาน

หลังจากที่การสูญเสียผ่านไปแล้ว ญาติผู้ตายบางรายก็ใช้การทำงานเป็นสิ่งที่ทำให้ลืมทุกข์จากความสูญเสีย บางคนโหมทำงานอย่างหนัก ทำเกินกว่าวันละ 8 ชั่วโมง โดยมุ่งหวังว่า เมื่อเสร็จจากงานแล้ว จะได้เพลียเต็มที่จนสามารถหลับไปได้อย่างรวดเร็ว เพื่อจะไม่ได้มีเวลาสำหรับการคิดในเรื่องต่างๆ

ท่องเที่ยว

ช่วงก่อนที่ผู้ป่วยที่จะเสียชีวิต หลายครอบครัวคิดอยากจะพาผู้ป่วยไปเที่ยวตามแต่ผู้ป่วยต้องการ แต่ก็ไม่สามารถทำได้ เพราะสุขภาพของผู้ป่วยอาจไม่เหมาะที่จะเดินทาง หรือผู้ป่วยไม่อยากไป เพราะมีความลำบากในการเดินทาง หรือญาติไม่กล้าพาไป เพราะมีความวิตกกังวลว่า จะทำให้ผู้ป่วยอาการทรุดลง แต่เมื่อผู้ป่วยได้เสียชีวิตแล้ว หลายครอบครัวก็ปรับกิจวัตรใหม่ จากที่ไม่ค่อยไปเที่ยวไหน อยู่แต่กับบ้าน ก็เริ่มไปเที่ยวมากขึ้น โดยไปเที่ยวช่วงสุดสัปดาห์หรือช่วงวันหยุดยาว เพราะได้เห็นจากช่วงสุดท้ายของผู้ป่วยว่า ในบางสิ่งบางอย่างนั้น หากรอเวลา ก็อาจจะเลยเวลาที่สามารถทำได้ อีกทั้งการท่องเที่ยวก็ทำให้เกิดความสนุกเพลิดเพลิน ช่วยให้เวลาที่จะอยู่กับความทุกข์น้อยลงไปไม่มากก็น้อย

การช่วยเหลือญาติคนไข้เพื่อให้คลายจากความทุกข์ความเศร้านั้น การให้ความเป็นเพื่อน การช่วยเหลือในเรื่องต่างๆ ตามความเหมาะสมเท่าที่จะทำได้ ดูจะเหมาะสมที่สุดในสถานะของบุคคลที่ 3 เพราะเราคงไม่สามารถไปชี้แนะว่า วิธีไหนเหมาะกับใครได้ ส่วนการหาวิธีเยียวยาเพื่อให้คลายจากความทุกข์ ความเศร้าโศกนั้น ผู้สูญเสียแต่ละคนจะเป็นผู้เลือกว่า วิธีไหนที่เหมาะกับตนเอง

อภิชญา วรพันธ์

29 ก.พ.59

หมายเลขบันทึก: 602877เขียนเมื่อ 4 มีนาคม 2016 13:56 น. ()แก้ไขเมื่อ 4 มีนาคม 2016 13:56 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท