เงินล้นโลก แต่ประชาชน ไม่มีเงิน แล้วเงินอยู่ที่ไหน


แน่นอนว่า ปัญหาที่เกิดขึ้น จะนำไปสู่วิกฤติครั้งใหญ่ในโลก ไม่ใช่แค่เพียง "ภาคการเงิน" แต่ใน "ภาคสังคม" ที่ประชากรส่วนใหญ่ของโลกลำบากยากจน รัฐบาลประเทศต่างๆ จะตกที่นั่งลำบาก เกมการเมืองระหว่างประเทศจะรุนแรงมากขึ้น และพัฒนากลายเป็นความขัดแย้ง ที่จะนำไปสู่ "สงครามใหญ่" ที่กำลังส่อเค้าจะเกิดขึ้นเป็นธรรมชาติของมนุษย์ เมื่อไม่พอกินก็หงุดหงิด เมื่อหงุดหงิดก็ต้องหาทางระบายออกด้วย "ความรุนแรง" เสมอ...

Feb 22) รายงาน: 'เงินล้นโลก'เศรษฐกิจเน่าถึงยุคฝากเงินต้องเสียดอก : เป็นเรื่องที่ไม่เคยเกิดมาก่อน ในระบบเศรษฐกิจโลกที่ทั่วโลกมีปริมาณเงินสดหมุนเวียนมากมายมหาศาล เกิดภาวะ "เงินล้นโลก" เพราะประเทศ "ขาใหญ่" ต่างๆ พากันพิมพ์เงินออกมาใช้เอง ทั้ง สหรัฐฯ ยุโรป จีน ญี่ปุ่น แต่กลับไม่ได้ช่วยทำให้ "มนุษยชาติ" กินดีอยู่ดีขึ้นแม้แต่น้อยแถมยังกลับลำบากซ้ำไปกว่าเดิมอีก...กำลังเกิดอะไรขึ้นกันแน่ แล้วโลกต่อไปในอนาคต จะเดินไปในทิศทางใด?

ที่น่าสนใจพอๆ กับ "เงินล้นโลก" ก็คือ "ราคาน้ำมัน"ที่ถูกลงอย่างต่อเนื่อง และมีการคาดการณ์กันว่า ในอีก 10 ปีข้างหน้า โอกาสที่จะเห็นน้ำมันราคาแพง ไม่มีทางเป็นไปได้ เกิดเป็นภาวะ "น้ำมันล้นโลก" เช่นเดียวกันในอดีตที่ผ่านมาถ้าราคาน้ำมันถูก เศรษฐกิจโลกจะคึกคักมากมายมหาศาลเพราะ "น้ำมัน" ถือเป็น "สินค้าทุน" ที่สำคัญของการผลิตทั่วโลก แต่ยุคนี้กลับแปลกไป ราคาน้ำมันที่ถูกลง กลับไม่ได้ทำให้ภาคธุรกิจมีกำไรเพิ่มขึ้น ทั้งๆ ที่ต้นทุนลดลง

นักเศรษฐศาสตร์พยายามหาทฤษฎีมาอธิบายปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น แต่ไม่ว่าจะใช้ทฤษฎีไหน ก็ไม่สามารถอธิบายได้ เพราะเรื่องที่กำลังเกิดขึ้น กลายเป็นเรื่อง "นอกตำรา"ทำให้พวกมนุษย์ทฤษฎี "จนปัญญา" ไปตามๆ กันว่ากันแบบบ้านๆไม่ต้องคิดอะไรกันมาก ปรากฏการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นในทุกวันนี้ แม้จะมีเงินล้นโลก น้ำมันราคาถูกแต่ประชากรส่วนใหญ่ของโลก "ไม่มีกำลังซื้อ"สิ่งที่จะอธิบายเรื่องราวได้ทั้งหมดก็คือ "เงิน" ที่กำลังล้นโลกอยู่นี้ ดันไปจมอยู่กับ "เศรษฐี" เพียงไม่กี่คนในโลก ที่กุมระบบเศรษฐกิจของโลกไว้ในมือ

กลุ่มแรก เป็นกลุ่มที่ร่ำรวยมากที่สุดก็คือ "กองทุน"ของประเทศต่างๆ ในรูปของ "เงินสำรองระหว่างประเทศ"และ "กองทุนความมั่งคั่ง" ของแต่ละประเทศ และ "กองทุนรวมภาคเอกชน" ที่ดูดเงินของระบบเอาไว้เป็นส่วนใหญ่ แม้ไม่เคยมีใครคำนวณได้ว่า เงินที่จมอยู่กับ "กองทุน" ทั้งหมดจะมีปริมาณมากน้อยเท่าไหร่ แต่สถานการณ์ที่เกิดขึ้น ทำให้พอมองออกว่า "กองทุนรวม" ที่กำเงินสดไว้ในมือมากมายมหาศาล เข้าไปแสวงหากำไรจากธุรกิจต่างๆ จาก "ตลาดหุ้น" ทั่วโลก ตลาดน้ำมัน ตลาดทองคำ ตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้า ตลาดโภคภัณฑ์ ตลาดสินแร่ต่างๆ

กองทุนพวกนี้แหละ ไม่ต้องลงทุนในภาคธุรกิจที่แท้จริงเพียงเข้าไป "เก็งกำไร" ซื้อหุ้นทุบหุ้น ซื้อน้ำมัน ซื้อทองแล้วก็ทุบราคา โกยกำไรเข้ากระเป๋า ทำให้เงินที่หมุนเวียนอยู่ในระบบ ไปตกอยู่ในมือกลุ่มๆ นี้หมด

กลุ่มที่สอง ร่ำรวยไม่แพ้กัน ก็คือ "กลุ่มผู้มีอิทธิพล"ในแต่ละประเทศ ที่มีเงิน "นอกบัญชี" เป็นจำนวนมากมายมหาศาลเช่นเดียวกัน แต่ไม่รู้ว่ามีปริมาณเท่าไหร่เหมือนกันยกตัวอย่างในประเทศไทย เคยมีคนจาก "แบงก์ชาติ" พูดไว้ชัดเจนว่า ปริมาณเงินที่หมุนอยู่ "นอกระบบ" ในประเทศไทยมีจำนวนมากกว่า "เงินในระบบ" มากมายหลายเท่านักการที่ประเทศไทยเจอวิกฤติเศรษฐกิจมาหลายครั้งและสามารถเดินผ่านวิกฤติต่างๆ มาได้ เพราะเรามี "เงินนอกระบบ" หล่อเลี้ยงเศรษฐกิจอยู่...กลุ่มที่สาม กลุ่มธุรกิจผูกขาดในแต่ละประเทศ คงไม่ต้องพูดอะไรกันมาก เชื่อว่าคนทั้งโลกต่างรู้ดีว่า ในแต่ละประเทศ ล้วนมีธุรกิจผูกขาดด้วยกันทั้งนั้น เพียงแต่ว่าจะออกกฎหมายมาป้องกันการผูกขาดทางการค้า เข้มงวดได้มากเพียงใด แต่อย่างว่าแหละ "กฎหมาย" มีช่องโหว่เสมอ ลองคนเราต้องการที่จะถือหุ้นในกิจการอะไรก็ตาม เขาสามารถสร้างตัวแทน "นอมินี" เข้ามาถือหุ้นแทนได้มากมาย เป็นเรื่องกลไกทางธุรกิจที่ไม่ว่าประเทศไหนๆ ในโลก ก็ทำเหมือนกันหมด

ดังนั้น วิธีการแก้ไข "กับดักเศรษฐกิจ" ที่โลกกำลังเผชิญหน้าอยู่ก็คือ ทำอย่างไรที่จะให้ "เงินทุน" ของผู้มั่งคั่งทั้งหลาย กระจายลงสู่ภาคธุรกิจที่แท้จริง และกระจายลงสู่ประชาชน เรื่องนี้ถือเป็น "โจทย์ใหญ่" ที่ นักเศรษฐศาสตร์สมัยใหม่ จะต้องคิดช่วยหาทางออก หาทางกระจายเม็ดเงินออกไป ให้ทั่วถึง เพื่อให้เกิด "กำลังซื้อ" ขึ้นมาอีกครั้งในโลกให้ได้

ถ้าทำไม่ได้ โลกจะเกิดวิกฤติรุนแรง จะมีประเทศต่างๆต้องล้มหายตายจากไปจำนวนมาก ที่เริ่มเห็นกันชัดๆ แล้วก็คือ ประเทศในตะวันออกกลาง ที่เจอวิกฤติน้ำมันราคาถูก"จากเศรษฐี กลายเป็นยาจก" และน่าจะหมดทางเยียวยาด้วย เพราะสินค้าสำคัญของตะวันออกกลาง คือ "น้ำมัน"กลายเป็นสินค้าที่ไม่มีราคา ถึงดูดขึ้นมาขาย แต่จะให้รุ่งเรืองอู้ฟู่เหมือนเก่าคงยาก ข้อสำคัญในแต่ละประเทศ มี "ค่าใช้จ่าย" ด้านงบประมาณที่สูงมากเกินจำเป็น ต่อไปคงต้องกู้หนี้ยืมสิน และเป็นหนี้สินพัวพันไปอีกนานเท่านาน...

ประเทศที่ทั่วโลกจับตามองมากที่สุดคือ ซาอุดีอาระเบียที่กำลังเดินหน้าไปสู่ "ภาวะล้มละลาย" ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้าเมื่อปลายปี 2558 ที่ผ่านมา กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ได้นำรายงานผลการสำรวจเศรษฐกิจและการเงินของโลก (World Economic and Financial Surveys)ออกเผยแพร่ โดยระบุว่า ประเทศซาอุดีอาระเบีย กำลังจะล้มละลายภายใน 5 ปี หลังจากประเมินออกมาว่า งบประมาณรายจ่ายของซาอุฯปี 2015 ติดลบ 21.6 % และปี2016 จะติดลบ 19.4 %

นักวิเคราะห์มองว่า ยุคแห่งการพึ่งพาน้ำมัน เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลก ในช่วง 5 ทศวรรษที่ผ่านมา ทำให้ซาอุฯชะล่าใจ และไม่เร่งพัฒนาอุตสาหกรรมอื่น มาช่วยกระจายความเสี่ยงจากการพึ่งพาธุรกิจค้าน้ำมัน ซึ่งครองสัดส่วนถึง 90% ของรายได้งบประมาณของประเทศ

นอกจากนี้ ราชวงศ์ซาอุฯ ยังใช้จ่ายอย่างฟุ่มเฟือยและผลาญเงินไปกับด้าน "กลาโหม" มากมายมหาศาล ในฐานะพี่ใหญ่ของประเทศมุสลิมนิกายซุนหนี่ ซาอุฯจำเป็นต้องส่งทหารเข้าไปสู้รบกับฝ่ายนิกายชีอะห์ ในหลายพื้นที่ทั่วตะวันออกกลาง ทั้งในซีเรีย เยเมน อิรัก และเลบานอน

นอกจากการขายน้ำมันแล้ว ซาอุฯ แทบไม่มีรายได้ทางอื่น ประเทศนี้ไม่มีการเก็บภาษีเงินได้ ดอกเบี้ยรับและปันผลหุ้น แม้รัฐบาลจะดิ้นรนด้วยการออกขายพันธบัตร แต่ IMF ประเมินว่า ซาอุฯจะขาดดุลงบประมาณ 20% ของจีดีพีหรือราว 140,000 ล้านดอลลาร์ พร้อมชี้ว่า ราคาน้ำมันที่จะทำให้งบประมาณซาอุฯสมดุล อยู่ที่ 106 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล...ยากมากๆ

หาก ซาอุฯ ขาใหญ่ในตะวันออกกลาง มีอันเป็นไป คงไม่ต้องพูดถึงประเทศอื่นๆ คงรับผลกระทบกันถ้วนหน้า

อีกประเทศที่ทั่วโลกให้ความสนใจมากกว่าตะวันออกกลาง ก็คือ จีน ที่ทำท่าอาการจะหนักพอๆ กันคือ "หนี้เสีย"ในระบบธนาคารของจีน ที่กำลังจะบานเป็นดอกเห็ด

ธนาคารกลางจีนเผยใน วันที่ 16 ก.พ. ระบุว่าระหว่างเดือน ม.ค.ที่ผ่านมา กลุ่มธนาคารในจีน ได้ปล่อยกู้รวมมูลค่าสูงถึง 2.51 ล้านล้านหยวน ซึ่งเพิ่มเกือบสามเท่าของการปล่อยกู้ในเดือนก่อนหน้า และยังทุบสถิติการปล่อยกู้ในครั้งก่อน คือการอัดฉีดสินเชื่อ 1.89 ล้านล้านหยวนในเดือน มี.ค. ปีพ.ศ. 2552 สำหรับแพ็กเกจกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งมโหฬาร เพื่อสู้วิกฤติการเงินในขณะนั้น

การปล่อยกู้เงินอย่างรวดเร็ว อาจจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่อาจจะก่อให้เกิดหนี้เสียอย่างรวดเร็วขึ้นในระบบได้เช่นเดียวกัน ในช่วงที่เศรษฐกิจโลกชะลอตัว

Hayman Capital Management ผู้จัดการกองทุนเฮดจ์ฟันด์รายใหญ่ของสหรัฐฯ เตือนว่าระบบธนาคารจีนจะขาดทุน "กว่า 400% แซงหน้ายอดขาดทุนของ กลุ่มธนาคารสหรัฐฯ ในช่วงวิกฤติซับไพร์ม หากมีหนี้เน่าในระบบเพียง 10%ธนาคารจีน จะเสียหายประมาณ 3.5 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ...หากเสียหายจริงตามที่กองทุนคาดการณ์ เงินที่เสียหายสามารถซื้อประเทศไทย ได้ 10 ประเทศพอดี

แม้ "หนี้เน่า" ยังไม่เกิดขึ้นจริง แต่มีโอกาสเกิดได้ค่อนข้างมาก เพราะทั่วโลก "ขาดกำลังซื้อ" การส่งออกของจีนเอง ก็ย่ำแย่ เดือน ม.ค.ที่ผ่านมา สำนักงานศุลกากรของจีนรายงานว่า ภาคการส่งออกปรับลดลง 11.2% อยู่ที่ 177,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อเทียบปีต่อปี เช่นเดียวกับภาคการนำเข้าที่ปรับลง 18.8% อยู่ที่ 114,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ฯ

จีน คงต้องมีมาตรการพยุงเศรษฐกิจขนานใหญ่ในปีนี้ออกมาอีกหลายระลอก โดยเฉพาะทำอย่างไร ให้นักลงทุนเกิดความเชื่อมั่น เรียกความเชื่อมั่นกลับมาให้ได้

ส่วนประเทศที่ "สะท้อน" ปัญหาเงินล้นโลก ได้ดีที่สุดก็คือ "ญี่ปุ่น" ที่ ธนาคารกลางญี่ปุ่น หรือ BOJ ใช้อัตราดอกเบี้ยติดลบ คือ ถ้าคุณเอาเงินไปฝากธนาคาร แบงก์ก็จะหักเงินผู้ฝาก กลายเป็นว่า จากนี้ต่อไปในอนาคต ใครฝากเงินแบงก์ อาจจะต้องเสียค่าฝาก เป็นเทรนด์ใหม่ในโลก ที่นำโดย ญี่ปุ่น

ธนาคารกลางญี่ปุ่น ได้ตัดสินใจใช้ อัตราดอกเบี้ยติดลบเพื่อบรรเทาความกังวลที่ว่าราคาน้ำมันที่ร่วงลง และเศรษฐกิจในประเทศเกิดใหม่ ที่ชะลอตัวอาจจะขัดขวางความพยายามที่จะบรรลุเป้าหมายเงินเฟ้อที่ 2%

โดยปรับอัตราดอกเบี้ยเงินฝากของเงินที่ธนาคารพาณิชย์ ในญี่ปุ่นฝากไว้กับ BOJ จากเดิมที่ 0.1% มาเป็นการกำหนดอัตราดอกเบี้ย 3 ขั้น ซึ่งมีอัตราดอกเบี้ยขั้นต่ำที่สุดอยู่ที่ -0.1% (อัตราดอกเบี้ย 3 ขั้น ได้แก่ 0.1%, 0%และ-0.1% ขึ้นอยู่กับปริมาณเงินที่ธนาคารพาณิชย์ในญี่ปุ่นฝากไว้กับ BOJ) ขณะที่วงเงินที่ BOJ จะเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่น ยังคงเดิมที่ 80 ล้านล้านเยน ต่อปี

เราเดินมาถึงจุดนี้กันได้อย่างไร? ในเมื่อสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้น ไม่ได้เป็นไปตามภาวะการณ์ปกติ และยังไม่มีหนทางที่จะออกจากปัญหาที่ชัดเจน

แน่นอนว่า ปัญหาที่เกิดขึ้น จะนำไปสู่วิกฤติครั้งใหญ่ในโลก ไม่ใช่แค่เพียง "ภาคการเงิน" แต่ใน "ภาคสังคม" ที่ประชากรส่วนใหญ่ของโลกลำบากยากจน รัฐบาลประเทศต่างๆ จะตกที่นั่งลำบาก เกมการเมืองระหว่างประเทศจะรุนแรงมากขึ้น และพัฒนากลายเป็นความขัดแย้ง ที่จะนำไปสู่ "สงครามใหญ่" ที่กำลังส่อเค้าจะเกิดขึ้นเป็นธรรมชาติของมนุษย์ เมื่อไม่พอกินก็หงุดหงิด เมื่อหงุดหงิดก็ต้องหาทางระบายออกด้วย "ความรุนแรง" เสมอ...

Source: สยามรัฐ

คุณฉัตรชัย มงคลวิเศษไกวัล กรรมการที่ปรึกษา มูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ ได้นำมาเผยแพร่ใน line กลุ่ม iHDC เห็นว่าเป็นเรื่องสำคัญ จึงคิดว่า จะนำเรื่องนี้ไปสนทนาในรายการ "เปลี่ยน เป็น เปลี่น " ในหัวข้อ "ประชาชนทั่วๆไปควรทำอย่างไรกับสิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน และในอนาคต" กำลังหาแขกรับเชิญเพื่อนำมาสนทนาในรายการ หากท่านใดสนใจสนทนาในเรื่องดังกล่าวโปรดติดต่อได้ที่ e-mail address : [email protected]

ม.ล.ชาญโชติ ชมพูนุท

26 ก.พ.2559

หมายเลขบันทึก: 602332เขียนเมื่อ 26 กุมภาพันธ์ 2016 13:35 น. ()แก้ไขเมื่อ 26 กุมภาพันธ์ 2016 13:35 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท