รายวิชาศึกษาทั่วไป : ๐๐๓๒๐๐๒ กฎหมายและจริยธรรม (๑)


วันที่ ๒๐ - ๒๒ ธันวาคม ๒๕๕๘ ทีม CADL และคณาจารย์ผู้สอนรายวิชา ๐๐๓๒๐๐๒ กฎหมายและจริยธรรม จัดประชุมแลกเปลี่ยนเรียนรู้และถอดบทเรียน เพื่อพัฒนาการจัดการเรียนการสอนของรายวิชาดังกล่าว ณ อ.เชียงคาน จ.เลย อาจารย์ผู้สอนเกือบทั้งหมดเดินทางมาร่วมวงสนทนากัน ไปเพียง ๓ ท่าน ติดภาระราชการสำคัญที่ต้องไปเป็นกรรมการและประธานคุมสอบของ สพฐ.

ผู้ประสานงานรายวิชาคือ อาจารย์นพดล นิ่มหนู มีอาจารย์ผู้สอนรายวิชานี้ในภาคการเรียนที่ผ่านมา (๑/๒๕๕๘) มีทั้งหมด ๑๑ ท่าน เกือบทั้งหมดเป็นอาจารย์สังกัดคณะนิติศาสตร์ มีเพียง ๑ ท่านเท่านั้นที่มาจากวิทยาลัยการเมืองการปกครอง อาจารย์เกือบทั้งหมดเป็นอาจารย์ผู้สอนรายวิชา "กฎหมายในชีวิตประจำวัน" ซึ่งเป็นรายวิชาศึกษาทั่วไปในหลักสูตรเดิม (พ.ศ. ๒๕๕๔) ดังนั้นในการจัดการเรียนการสอนในรายวิชา ประเด็นสำคัญไม่ใช่เรื่อง "กฎหมาย" แต่เป็น จะสอนอย่างให้เป็น "กฎหมายและจริยธรรม"

เจตนาและเป้าหมายของรายวิชา ๐๐๓๒๐๐๒ กฎหมายและจริยธรรม ในหลักสูตรใหม่ (พ.ศ. ๒๕๕๘)

เจตนาสำคัญของการปรับปรุงหลักสูตรใหม่ ที่ลดจำนวนรายวิชาเหลือเพียง ๓๒ รายวิชาจากเกือบร้อยรายวิชาในหลักสูตรเดิม คือ การเพิ่มโอกาสของความสำเร็จในการขับเคลื่อนคุณลักษณะนิสิตที่พึงประสงค์ของหมวดวิชาศึกษาทั่วไป ที่กำหนดไว้ ๙ ประการ (อ่านได้ที่นี่)

เพราะไม่ว่าจะเป็นหลักสูตรเดิมหรือใหม่ จำนวนหน่วยกิตบังคับของหมวดวิชาศึกษาทั่วไปก็ไม่เพิ่มหรือขาด ยังต้องเรียน ๓๐ หน่วยกิตเท่าเดิม ในหลักสูตรใหม่ มีเพียง ๕ รายวิชาในกลุ่มวิชามนุษย์ศาสตร์และสังคมศาสตร์ ในขณะที่หลักสูตรเดิมมีมากกว่า ๒๑ รายวิชา เมื่อต้องเลือกเรียน ๓ รายวิชา อาจารย์ผู้สอนจึงต้องพัฒนารายวิชาให้บูรณาการมากขึ้น ซึ่งจะทำให้นิสิตได้เรียนอย่างรอบรู้ กว้างขวาง ทั่วไป ไม่ใช่ลงลึกเฉพาะสาขา และได้ฝึกทักษะที่จำเป็นต้องใช้ในการดำเนินชีวิตในศตวรรษที่ ๒๑ อย่างทั่วถึงกัน ซึ่งแต่ละวิชานั้น ก็จะเน้นเด่นในแต่ละด้านขององค์ความรู้หรือทักษะที่แตกต่างกัน

รายวิชา ๐๐๓๒๐๐๒ กฎหมายและจริยธรรม ไม่ควรเป็นการเรียน "วิชากฎหมาย" หรือ "วิชาจริยธรรม" แยกส่วนกัน แต่ควรเป็นรายวิชาบูรณาการที่ว่าด้วย "กฎหมาย" ที่นิสิตจำเป็นต้องรู้ เข้าใจ และเข้าถึงความหมายของการใช้เหตุผลเชิง "จริยธรรม" ของกฎหมายใกล้ตัวที่จำเป็นนั้นๆ ซึ่งเป็นทักษะสำคัญในการตัดสินใจได้อย่างถูกต้องในการดำเนินชีวิต

การจัดการเรียนการสอนในรายวิชา "กฎหมายและจริยธรรม" ไม่ควรเป็นรายวิชาบรรยาย ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ แต่ควรเน้นการสอนโดยใช้กรณีปัญหาเป็นฐาน หรือกรณีศึกษาเป็นฐาน โดยเน้นกระบวนการ เน้นการสืบค้นและอภิปรายโต้เถียงอย่างมีหลักการ ดังที่ ผศ.ดร.ปริญญา เคยมาถ่ายทอดแลกเปลี่ยน (ผมเขียนบันทึกการสอนไว้ ที่นี่ และ ) เช่น ท่านยกกรณีของการทะเลาะกันของเพื่อนบ้านสองคน ที่คนหนึ่งเป็นเจ้าของต้นมะม่วง ทะเลาะโต้เถียงกับอีกคนหนึ่งที่ต้องการผลมะม่วงที่หล่นล่วงจากกิ่งมะม่วงที่ยื่นล้ำมาฝั่งบ้านตนเอง หากทั้งสองคนมาฟ้องศาล แล้วให้นิสิตเป็นทนายหรือผู้พิพากษา จะตัดสินปัญหานี้อย่างไร นิสิตแต่ละกลุ่มต้องช่วยกันสืบค้นหามาตรากฎหมาย และใช้กฎหมายมาอภิปรายและโต้เถียงกันด้วยเหตุและผล ก่อนที่อาจารย์จะตัดสินเฉลยในตอนท้าย ทั้งในเชิงกฎหมาย และเชิงจริยธรรม ที่จะแนะนำให้นิสิตควรนำไปใช้ เช่น ประนีประนอมแบ่งปัน ให้อภัย ฯลฯ

ทบทวนและถอดบทเรียน ภาคการเรียน ๑/๒๕๕๘

๑.ประสบการณ์ที่ดีจากภาคการศึกษาแรก

๑.๑.อ.วิศิษย์ มีแนวปฏิบัติในการมอบหมายงานนิสิตเป็นกลุ่ม

  • แบ่งนิสิตเป็นกลุ่มๆ ละ ๒๕ คน ตั้งชื่อกลุ่ม
  • ใช้ระบอบประชาธิปไตย ในการบริหารงาน โหวตหัวหน้ากลุ่ม แต่งตั้งหัวหน้ากลุ่ม หรือ ผู้ประสานงานกลุ่ม ทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการดูสมาชิกทั้งหมด ทั้งการลา เช็คชื่อ และประสานกับนิสิต LA และกำหนดหน้าที่ของสมาชิกอย่าชัดเจน และรายงานการมีส่วนร่วมของแต่ละคน
  • สอนโดยยกกรณีตัวอย่างหรือสถานการณ์ ให้นิสิตแต่ละกลุ่มอภิปราย ทำ presentation หรือวีดีโอ และนำเสนอ แล้วให้นิสิตประเมินว่าดีหรือไม่ พิจารณาอย่างไร โดยอาจารย์จะเป็นผู้สังเกตประเมินอีกชั้นหนึ่ง
  • ไหว้ สวัสดีนิสิตก่อน ทำเป็นตัวอย่าง ... ทำให้ นิสิตไหว้อาจารย์ก่อน หลังจากทำเป็นตัวอย่าง ๒-๓ ครั้ง

๑.๒.อ.อมรเทพ (อ.แทน)

  • ให้นิสิต LA เป็นผู้เช็คชื่อ ด้วยวิธีการกำหนดที่นั่ง และมอบหมายงาน แล้วให้นิสิตเป็นผู้กรอกคะแนน แต่วิธีการนี้ จะมีปัญหานิสิตคุยกันเนื่องจากอยู่คณะวิชาเดียวกัน .... อาจารย์ควรแบ่งกลุ่มให้คละสาขาวิชากัน
  • ให้นิสิตนั่งสมาธิก่อนเรียน ทำให้นิสิตพร้อม นิ่ง ก่อนจะเริ่มเรียน

๑.๓.อ.ศักดิ์ชาย และอาจารย์นพดล ใช้ใบงานเป็นกลไกให้นิสิตเข้าเรียน โดยเก็บคะแนนจากใบงาน

๑.๔.อ.นพดล อ.อเมรเทพ และ อ.ศักดิ์ชาย (หลายท่าน) ใช้วีดีทัศน์

  • ใช้วีดีทัศน์ "รู้เท่าทันสื่อ" ของ กระทรวง ICT
  • ใช้วีดีทัศน์ของกรมการขนส่งทางบก
  • ใช้วีดีทัศน์ของ อ.ประจักษ์ ก้องกีรติ
  • ใช้วีดีทัศน์ของ ดร.วิชัย เสวกงาม ศึกษาศาสตร์ จุฬาฯ
  • คลิปสะท้อนสังคม "คลิปอุ้มลูกขี่มอเตอร์ไซด์"

๑.๕.อ. คะนอง ใช้วิธีการเก็บคะแนนแบบไม่บอกล่วงหน้า

๒.จุดมุ่งหมายของรายวิชา

๒.๑.นิสิตมีความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับลักษณะของหลักกฎหมายและลักษณะหลักของจริยธรรม รวมถึงหลักการให้เหตุผล

๒.๒.สามารถเข้าใจรวมถึงอธิบายความสัมพันธ์ของกฎหมายและจริยธรรมกับสิทธิ หน้าที่ และบทบาทของพลเมือง

๒.๓.ตระหนักในความสำคัญของกฎหมายและจริยธรรม และการประพฤติตนตามกฎหมายสามารถดำรงตนอยู่ในสังคมประชาธิปไตยได้ภายใต้กรอบกติกาของกฎหมายและจริยธรรม

สรุปข้อตกลงจากการแลกเปลี่ยนระดมสมอง ที่จะนำไปใช้ในภาคเรียนต่อไป

๓.เนื้อหา/กิจกรรมการเรียนรู้/เอกสารประกอบการสอน

๓.๑.กำหนดรูปแบบในการจัดทำเอกสารประกอบการสอน ได้แก่ ชื่อบท -> จุดประสงค์ -> แนวคิด -> เนื้อหา -> กิจกรรมการเรียนการสอน

๓.๒.ส่งมายังอาจารย์ผู้ประสานงาน และประชุมวิพากษ์เพื่อให้ได้รูปเล่มในวันที่ ๑๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๙

๓.๓.เนื้อหาในแต่ละบทในเทอมนี้ยังไม่เปลี่ยนแปลง เว้นแต่บทของอาจารย์ดวงเด่น ให้ตัดเรื่องกฎหมายแรงงานออก แต่เพิ่มเรื่อง CSRและให้อาจารย์คะนองเขียนบทที่ ๔ ให้ชัดเจนมากขึ้น เพื่อให้สามารถสอนได้ตรงกัน โดยกำหนดเนื้อดังนี้

  • บทที่ ๑ ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับกฎหมายและจริยธรรม
  • บทที่ ๒ สิทธิ หน้าที่ และบทบาทของพลเมืองในระบอบประชาธิปไตย
  • บทที่ ๓ ทฤษฎีพัฒนาการทางจริยธรรมของพลเมืองในระบอบประชาธิปไตย
  • บทที่ ๔ พัฒนาการรูปแบบและแนวคิดทางปรัชญาของการใช้เหตุผล
  • บทที่ ๕ หลักกฎหมายและจริยธรรมเพื่อความสงบสุขในสังคม (หลักกฎหมายอาญา และหลักเบญจศีล)
  • บทที่ ๖ หลักกฎหมายคอมพิวเตอร์และจริยธรรมบนโลกไซเบอร์
  • บทที่ ๗ หลักกฎหมายและจริยธรรมด้านธุรกิจ
  • บทที่ ๘ หลักกฎหมายเกี่ยวกับการจราจรและจริยธรรมบนท้องถ

๔.ประเมินผล

๔.๑.สัดส่วนการประเมินผล

ลำดับที่

จุดประสงค์การเรียนรู้

วิธีประเมินผล

สัดส่วน

๑.

ด้านคุณธรรม

เข้าเรียน

๑๐

๒.

ด้านความรู้และทักษะทางปัญญา ทักษะความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลและความรับผิดชอบ ทักษะทางเทคโนโลยีสารสนเทศ

ใบงาน/ใบกิจกรรม

๑๕

๓.

งานกลุ่ม

๑๕

๔.

ด้านความรู้และทักษะทางปัญญา

สอบกลางภาค

๓๐

๕.

สอบปลายภาค

๓๐

รวม

๑๐๐


๔.๒.การเข้าเรียน

  • การมาเรียนสาย หมายถึง การมาเรียนช้าเกินกว่า ๑๕ นาที
  • สาย ๒ ครั้ง มีค่าเท่ากับการขาดเรียน ๑ ครั้ง
  • การลา ๒ ครั้ง มีค่าเท่ากับการขาดเรียน ๑ ครั้ง การลาต้องมีเหตุจำเป็นและหลักฐานประกอบ
  • ขาดเรียนมากกว่า ๔ ครั้ง หมดสิทธิ์ในการสอบปลายภาค
  • วิธีการเช็คชื่อ ทำได้ ๒ วิธี คือ เช็คโดยกำหนดที่นั่ง หรือ เช็คจากใบงานในชั้นเรียน โดยกำหนดให้มีฟอร์มเดียวกัน

๔.๓.ใบงาน/ใบกิจกรรม (งานเดี่ยว)

  • กำหนดหัวเรื่องเดียวกัน คือ “รายงานการค้นคว้า วิเคราะห์วิชาชีพในอนาคตของตนเอง ว่าเกี่ยวกับกฎหมายและจริยธรรมอย่างไร”
  • ไม่ต่ำกวา ๓ หน้ากระดาษ A๔ ไม่นับคำนำ สารบัญ และหนังสืออ้างอิง
  • การตรวจรายงาน ให้พิจารณา ๓ องค์ประกอบ ได้แก่ ความครบถ้วน (มีหนังสืออ้างอิง) : มีการวิเคราะห์ สังเคราะห์ : ความสวยงามและเรียบร้อย เป็น ๕:๕:๕

๔.๔. งานกลุ่ม

  • การกำหนดหัวเรื่อง ให้เป็นดุลยพินิจของอาจารย์ผู้สอน อาจเลือกได้ ๓ แบบ คือ ๑) บริการสาธารณะ หรือบริการสังคม (Service-based Learning) ๒) กรณีวิพากษ์ (Case Study – based Learning) ยกกรณีตัวอย่าง มาวิพากษ์ วิเคราะห์ สังเคราะห์ อภิปราย ๓) จัดการเรียนรู้แบบใช้ปัญหาเป็นฐาน (Problem-based Learning) คือ ยกเอาปัญหาทางกฎหมายมาศึกษา สร้างสื่อสะท้อนบทเรียน และทำรายงาน
  • การตรวจรายงานให้ยึดสัดส่วน ความครบถ้วน : ความถูกต้องหรือมีการวิเคราะห์สังเคราะห์ : การมีส่วนร่วม เป็น ๕ : ๕ : ๕

๕. การสื่อสารกับนิสิต

๕.๑.จัดทำ เฟสบุ๊ค เพื่อใช้ในการประชาสัมพันธ์ โดยให้อาจารย์ทุกท่านร่วมกันดูแล

๕.๒.ให้จัดตั้ง กลุ่มในเฟสบุ๊ค เพื่อติดต่อสื่อสารเรื่องการเรียนการสอนระหว่าง อาจารย์ นิสิต LA และ นิสิตผู้เรียน

๖.บทบาทนิสิต LA

  • เตรียมอุปกรณ์สื่อโสตทัศณูปกรณ์ ปิดอุปกรณ์ไฟฟ้าในกรณีเป็นคาบเรียนสุดท้าย
  • ดูแล page FB ของรายวิชา เก็บภาพกิจกรรมการเรียนรู้ขึ้น page
  • กำชับให้นิสิตดูคะแนนเก็บ/ประกาศการส่งงานให้ทราบ
  • กรอกคะแนนงาน
  • เช็คชื่อการเข้าร่วมกิจกรรม/เข้าเรียน
  • อยากได้นิสิต LA ท่านเดิม

๗.ภาคเรียนที่ ๒-๒๕๕๘ เปิดเรียนทั้งหมด ๑๓ กลุ่มๆ ละ ๑๘๐ คน ๑๐ กลุ่ม กลุ่มละ ๑๒๐ คน ๓ กลุ่ม













หมายเลขบันทึก: 600331เขียนเมื่อ 2 กุมภาพันธ์ 2016 03:42 น. ()แก้ไขเมื่อ 2 กุมภาพันธ์ 2016 03:54 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

อยากออกแบบการนิเทศการศึกษา ได้ชัดๆ เหมือนการออกแบบการสอน ได้ คงจะดีค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท