อาจารย์ ปริญญา เทวานฤมิตรกุล : การสอนแบบเน้นกระบวนการ (Active Learning) (๓) "เทคนิคการตั้งคำถาม ๓ แบบ"


บันทึกที่ ๑

บันทึกที่ ๒

หัวใจสำคัญของการจัดการเรียนรู้แบบ Active Learning คือการมีส่วนร่วมของนิสิต ในที่นี้หมายถึง "ร่วมคิด" คือ นิสิตทุกคนได้ "ฝึกคิด" เรียนรู้จากการฟังและการคิดอย่างเป็นเหตุเป็นผล วิธีที่ อ.ปริญญา ท่านเน้นแสดงและเสนอให้เราเอาไปใช้คือ "การตั้งคำถาม"

วิธีการตั้งคำถามที่ อ.ปริญญา แนะนำ ต้องทำแบบ Outcome-based คือ อาจารย์ต้องถามตนเองว่า "นิสิตจะได้อะไร" ในการเรียนการสอนครั้งนั้นๆ ไม่ใช่ "ฉันจะสอนอะไรให้นิสิต? " ซึ่งท่านเรียกว่า Input-based และแซวนิดๆ ว่าครูอาจารย์ทั้งประเทศทำแบบนั้น...

อ.ปริญญา บอกว่าวิธีการเรียนรู้แบบ Active Learning ผู้สอนจะ "สอนน้อยลง" แต่นิสิตจะได้ "เรียนมากขึ้น" ผู้สอนจะเปลี่ยนบทบาทจากผู้บรรยาย มาใช้วิธีการ "ตั้งคำถาม" เพื่อสร้าง "เงื่อนไข" ให้นิสิตเรียนรู้ด้วยตนเอง ทั้งแบบเดี่ยวและทีมผ่านการอภิปรายและนำเสนอ โดยอาจารย์จะนำสะท้อนและสรุปบทเรียนในที่สุด กล่าวคือ เป็น "ผู้อำนวยการเรียนรู้" นั่นเอง... ท่านเสนอขั้นตอนการออกแบบการเรียนรู้และให้อาจารย์ช่วยกันลองออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้และนำเสนอในตอนท้าย

ขั้นตอนการออกแบบการเรียนรู้แบบ Active Learning

หลังจากเข้ารับการฝึกอบรมกับ อ.ปริญญาแล้ว ผมตีความว่าขั้นตอนออกแบบการเรียนรู้นั้นไม่ตายตัว แต่หลักปฏิบัติสำคัญ ๓ ประการ ได้แก่

๑) เริ่มที่การตั้งเป้าหมายว่า "นิสิตจะได้อะไรในการสอนครั้งนั้นๆ"
๒) ตั้งคำถาม เพื่อเป็นเงื่อนไข ให้นิสิตได้เรียนรู้และสร้างองค์ความรู้หรือเป้าหมายนั้นๆ ด้วยตนเอง
๓) เตรียมสื่อหรือสิ่ง ที่จะให้ "ความจริง" ซึ่งเป็นคำตอบที่ถูกที่ควร เพื่อสรุปขมวดให้นิสิตได้ข้อสรุปถึงแก่นและแกน หรือหลักสำคัญของเรื่องนั้นๆ หลังจากที่นิสิตได้เรียนรู้ด้วยตนเองแล้ว

อ.ปริญญา เสนอเทคนิคการตั้งคำถาม ๓ แบบ โดยพิจารณาตามบทบาทการมีส่วนร่วมของนิสิต แต่ละวิธีให้ผลแตกต่างกันไป แล้วแต่จะเลือกใช้ให้เหมาะสม

การตั้งคำถามปลายเปิด

ท่านบอกว่า วิธีนี้ได้ผลน้อยสุด เพราะนิสิตนักศึกษาไทย ไม่ค่อยกล้าแสดงออก ไม่เฉพาะอาจารย์เท่านั้นที่ยึดติด Input-based แต่นิสิตส่วนใหญ่ก็ไม่เรียนรู้ด้วยตนเอง ให้ตอบคำถาม...ไม่ตอบ ...ให้ตั้งคำถาม...เงียบ.... งั้นลองไปอ่านบทความนี้นะ.... ไม่อ่าน .คือ ตั้งใจมาฟังมาจด มาจำ จะให้ทำอะไรให้บอกมา เป็นต้น ...

เทคนิคคือภาพข่าว หรือเหตุการณ์สำคัญๆ ต่างๆ ที่เกิดขึ้น มาเป็นหัวเรื่องในการตั้งคำถาม เช่น ถ้าจะให้นิสิตรู้เรื่องการรัฐประหาร ก็นำภาพข่าวเกี่ยวดับการรัฐประหารมา เป็นประเด็นว่า นิสิตเห็นด้วยหรือไม่เพราะอะไร ฯลฯ

การตั้งคำถามแบบให้เลือก

วิธีนี้ได้ผลดี โดยเฉพาะนิสิตนักศึกษาไทย ที่คุ้นชินกับวิธีสอบคัดแบบตัวเลือก (ปรนัย) ที่ผู้ออกข้อสอบเป็นคนคิดให้ครึ่งหนึ่ง ผลจึงเป็นอย่างที่เราเห็น...

อ.ปริญญา ยกตัวอย่างการตั้งคำถามทั้งแบบ ๒ ตัวเลือกที่ท่านกล่าวถึง Michael J Sandel และ หลายตัวเลือกที่ท่านออกแบบเอง เช่น เรื่องมนุษย์คนแรก Lucy ว่าลุกยืนก่อนสมองโต หรือสมองโตก่อนยืน เรื่องก้อนหินกับขนนกตกพร้อมกันหรือไม่? .... อาจารย์ผู้อ่านที่ยังไม่ทราบเรื่องให้อ่านบันทึกที่แล้วนะครับ

การตั้งโจทย์ปัญหา (PBL) ในชั้นเรียน

วิธีการนี้ก็ดำเนินการตามขั้นตอนข้างต้นเช่นกัน เพียงแต่เน้นให้ นิสิตเรียนรู้ด้วยการ ลงมือแก้ปัญหา (problem solving) โดยแบ่งกลุ่มนิสิตออกเป็นกลุ่มๆ ละ ๔-๖ คน ไม่ควรเกิน ๘ คน แล้วให้ช่วยกันแก้ปัญหาโดยใช้กระบวนการเรียนรู้อย่างเป็นขั้นตอน เปิดโอกาสให้สืบค้น อภิปราย สรุป และนำเสนอ ตัวอย่างที่ท่านยกสาธิตให้เห็น เช่น

  • จงหาความยาวของเส้นทะแยงมุมของกล่องสี่เหลี่ยม เมื่อกำหนดด้านอื่นๆ มาให้ดังรูป




  • ถ้านาย ก. ปลูกมะม่วง ผลมะม่วงล่วงหล่นลงบนพื้นที่บ้าน นาย ข. ที่อยู่ติดกัน สองคนเถียงกันว่าใครเป็นเจ้าของมะม่วงใบนั้น...
  • หากพรุ่งนี้ท่านได้รับมอบหมายให้ไปสอน นักโทษที่กำลังจะพ้นโทษ ๑๐๐ คน ในเรือนจำ ท่านจะสอนแบบใด ตั้งคำถามอย่างไร ...
  • ฯลฯ

ผมขอจบบันทึกเกี่ยวกับสิ่งที่ได้เรียนรู้จาก อ.ปริญญา ไว้เท่านี้นะครับ

หมายเลขบันทึก: 586796เขียนเมื่อ 26 กุมภาพันธ์ 2015 08:37 น. ()แก้ไขเมื่อ 26 กุมภาพันธ์ 2015 08:37 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

อ.ปริญญา..เคยเป็น นักศึกษา..ในเยอรมัน..(ใช่ไหม)

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท