​ชีวิตที่พอเพียง 2588a. วิทยาลัยการจัดการระบบสุขภาพ


ต้องพัฒนาระบบสุขภาพแนวใหม่ วิชาการแนวใหม่ ที่เน้นการใช้และพัฒนาความรู้ร่วมกัน เน้นความรู้จากการปฏิบัติ (tacit knowledge) ซึ่งผมตีความว่า เป็นระบบสุขภาพที่เป็น “ระบบเรียนรู้” (Learning Health Systems) และเรียนรู้อย่างเป็นระบบที่ซับซ้อนและปรับตัว (Complex-Adaptive Systems) จึงต้องคิดแบบ systems thinking

ชีวิตที่พอเพียง 2588a. วิทยาลัยการจัดการระบบสุขภาพ

มหาวิทยาลัยนเรศวร โดยท่านอธิการบดี ศ. ดร. สุจินต์ จินายน ดำริจัดตั้ง วิทยาลัยการจัดการระบบสุขภาพ โดยมี ผศ. นพ. ภูดิท เดชาติวัฒน์ เป็นผู้ดำเนินการจัดตั้ง และมีการประชุมปรึกษาหารือ และสร้างเครือข่ายความร่วมมือ ที่มหาวิทยาลัยนเรศวร เมื่อวันที่ ๑๕ มกราคม ๒๕๕๙ มีคนเข้าร่วมประชุมราวๆ ๓๐ คน ไปจากกรุงเทพราวๆ ๑๐ คน

วิทยาลัยนี้จะทำงานด้านพัฒนาระบบสุขภาพใน ๓ ด้านอย่างบูรณาการกัน คืองานพัฒนาระบบ งานพัฒนาคน และงานวิจัย เพื่อสร้างความเข้มแข็งของระบบสุขภาพไทย เน้นการทำงานระดับพื้นที่ เชื่อมโยงกับนานาชาติ

ท่านอธิการบดี ศ. ดร. สุจินต์ จินายน ย้ำแล้วย้ำอีก ว่าต้องการให้ทำงานวิชาการระดับเป็นเลิศตั้งแต่เริ่มต้น ไม่ใช่ค่อยๆ ไต่ระดับความเป็นเลิศทางวิชาการ ซึ่งผมคิดว่าสำคัญอย่างยิ่ง

เป้าหมายสุดท้ายในสายตาของผมคือ ความเป็นธรรมทางสุขภาพ (health equity) ที่มีประเด็นให้พัฒนามากมาย แม้ในเวลานี้ประเทศไทยได้ชื่อว่ามีระบบคุ้มครองสุขภาพถ้วนหน้าที่เป็นที่ยกย่องไปทั่วโลก และใช้เงินไม่มากคือ ราวๆ ร้อยละ ๔ - ๖ ของ จีดีพี ในขณะที่สหรัฐอเมริกาใช้เงินถึงร้อยละ ๑๘ ของ จีดีพี แต่ยังมีคนที่ไม่ได้รับความคุ้มครองสุขภาพจำนวนมาก

เป็นที่เข้าใจกันชัดเจนแล้วว่า ระบบสุขภาพที่ดำเนินการแบบเหมารวมทั้งประเทศ จะไม่มีวันมีความเป็นธรรม ทางสุขภาพ ต้องมีการดำเนินการริเริ่มสร้างสรรค์ในระดับพื้นที่ มีระบบสุขภาพระดับพื้นที่ที่ทำงานบูรณาการกันทุกฝ่าย โดยมีเป้าหมายที่สุขภาวะที่ดีของผู้คนในพื้นที่ โดยเน้น PPPP (Public – Private – People Partnership) คือประชาชนเข้ามา มีส่วนริเริ่มสร้างสรรค์ โดยที่กิจกรรมด้านสุขภาพ บูรณาการกับกิจกรรมด้านอื่น เช่น ด้านสิ่งแวดล้อม ด้านเศรษฐกิจ ด้านการเกษตร ด้านการศึกษา ด้านคมนาคม และอื่นๆ เน้นการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค หรือใช้หลักการ “สร้างนำซ่อม”

การจัดการระบบสุขภาพ ต้องดำเนินตาม “สัมมาทิฐิ” ตามแนวทางข้างบน และอื่นๆ ที่ซับซ้อนอย่างยิ่ง หากดำเนินการผิดทาง เป็นมิจฉาทิฐิ ก็จะตกหลุม Bad health at high cost อย่างในประเทศมหาอำนาจของโลก วิทยาลัยการจัดการระบบสุขภาพที่จะตั้งขึ้น จึงมีภารกิจที่ท้าทายยิ่ง

ท่านอดีต รมช. สาธารณสุข นพ. สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ บอกว่า ต้องพัฒนาระบบสุขภาพแนวใหม่ วิชาการแนวใหม่ ที่เน้นการใช้และพัฒนาความรู้ร่วมกัน เน้นความรู้จากการปฏิบัติ (tacit knowledge) ซึ่งผมตีความว่า เป็นระบบสุขภาพที่เป็น “ระบบเรียนรู้ (Learning Health Systems) และเรียนรู้อย่างเป็นระบบที่ซับซ้อนและปรับตัว (Complex-Adaptive Systems) จึงต้องคิดแบบ systems thinking

ผมเสนอว่า การพัฒนาวิทยาลัยนี้ นอกจากทำโดย systems thinking แล้ว ต้องทำในลักษณะ backward thinking / planning คือเอาความต้องการของพื้นที่เป็นตัวตั้ง คิดถอยหลังมาเป็นร่างระบบสุขภาพและการทำงานวิชาการ เพื่อสนองความต้องการนั้น มีการพัฒนาระบบในพื้นที่ หรือเป็น micro systems แล้วจึงสังเคราะห์/บูรณาการ เป็นระบบของทั้งประเทศ ที่เป็น macro systems

มองจากมุมของมหาวิทยาลัย นี่คือโอกาสบูรณาการศาสตร์ที่หลากหลาย เข้ากับระบบสุขภาพ หรือระบบสุขภาวะ เพราะระบบสุขภาพ (Health Systems / Wellbeing Systems) ในแนวใหม่ ต้องมองกว้าง เชื่อมโยงกับ Socio-economic Systems ซึ่งหมายความว่า เชื่อมโยงครอบคลุมกับการพัฒนาพื้นที่ และการพัฒนาประเทศทุกด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งระบบนโยบาย ที่ต้องเชื่อมโยง Health Policy เข้ากับ Socio-economic Development Policy

ซึ่งตรงกับวิธีคิดของ ผศ. นพ. ภูดิท พอดี ที่ท่านมองครอบคลุม SDGโดยเน้นว่าตามเป้าที่ 3 Ensure healthy lives and promote well-being for all at all ages ซึ่งสามารถทำงานพัฒนา วิจัย และพัฒนาคนตามแนวทางนี้ เชื่อมโยงกับมิติอื่นๆ ของ SDG ได้ไม่มีวันจบสิ้น

วิจารณ์ พานิช

๒๓ ม.ค. ๕๙

หมายเลขบันทึก: 600179เขียนเมื่อ 30 มกราคม 2016 05:45 น. ()แก้ไขเมื่อ 30 มกราคม 2016 05:45 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

วิทยาลัยการจัดการระบบสุขภาพ
เดินแนวราบด้วยแนวคิดเชิงระบบ
สร้างกลไกเรียน รู้/ไม่รู้ จบ
หมั่นทวนทบก่อนขยายให้ใหญ่โต

ภูดิท เตชาติวัฒน์

กราบขอบพระคุณท่านอาจารย์วิจารณ์อย่างสูงครับ ขออนุญาตเล่ารายงานให้อาจารย์ฟังว่าผมและคณะได้ชวนทีมวิทยากรจากประเทศออสเตรเลียไปแลกเปลี่ยนกับทีมบริหารระบบสุขภาพอำเภอในเขต 3 มีการเล่าบรรยายแลกเปลี่ยนกันและพาลงดูพื้นที่ที่ ชุมชนเขตเมือง วัดไทรใต้ จ.นครสวรรค์ และเยี่ยมรพสต.ในเขตชนบท ต.หนองขอน อ.ชุมแสง จ.นครสวรรค์ ซึ่งน่าดีใจมากว่าวิทยากรออสเตรเลียเห็นช่องตรงกันว่าการจัดการบริการสุขภาพของไทยมีข้อดีไม่ใช่น้อยในการปฏิบัติที่สามารถเป็นตัวอย่างให้แก่ประเทศอื่นๆแม้แต่ประเทศออสเตรเลียเองซึ่งพัฒนามากกว่าเรา ในขณะเดียวกันเราก็ต้องพัฒนาตัวเอง โดยเฉพาะงานด้านวิชาการ เช่น การ approach ต่อคำถามการวิจัย การเก็บรวบรวมองค์ความรู้ การเปรียบเทียบเพื่อการพัฒนา การนำไปสู่การเผยแพร่และตีพิมพ์องค์ความรู้เพื่อให้คนรู้จักของดีๆของเมืองไทย และเพื่อการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องร่วมกัน ซึ่งทั้งหมดนี้ใช้หลักการจากเรื่องการใช้ปัญหาของพื้นที่เป็นฐาน การเรียนรู้ร่วมกันอย่างต่อเนื่อง ตามที่ท่านอาจารย์กรุณาสรุปอย่างดีครับ

จึงขออนุญาตกราบเรียนเล่าให้อาจารย์ครับ


เคารพ


ภูดิท

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท