ทำไม? ฉันจึงควรตาย


มีเวลาในการคิดอ่านหน่อยหนึ่ง จึงเดินไปหยิบหนังสือพระไตรปิฎก ฉบับภาษาไทยมาดู เพื่อจะทบทวนค้นหาจากต้นฉบับเกี่ยวกับการฆ่าตัวตายของพระภิกษุในครั้งพุทธกาล ไปพบเรื่องหนึ่งแม้จะไม่เกี่ยวกับการฆ่าตัวตายของพระภิกษุ แต่การฆ่าตัวตายดังกล่าวเนื่องด้วยพระภิกษุ จึงเห็นว่า พระภิกษุสมัยก่อนที่มีการบันทึกไว้ในพระไตรปิฎกนั้น โดยเฉพาะที่เป็นต้นบัญญัติของข้อห้าม-แนวปฏิบัติ (วินัย)จะมาจากความร้ายกาจของพระภิกษุเหล่านี้ ดูอย่างเรื่องที่บันทึกไว้ในหน้านี้

ข้อ ๑๖๘ หน้า ๑๓๙ เนื้อหาบอกว่า มีอุบาสก (ผู้ยอมรับคำสอนของพุทธองค์) คนหนึ่ง เขามีเมียสวย กลุ่มภิกษุ ๖ รูป (พวกภิกษุฉัพพัคคีย์) ชอบเมียของอุบาสกคนนี้มาก จึงพูดกันกันว่า "ถ้าอุบาสกยังมีชีวิต พวกเราจะไม่ได้นางมาแน่ๆ เราน่าจะกล่าวพรรณนาคุณของความตายให้เขาฟังกันนะ" เมื่อตกลงใจกันแล้วจึงเข้าไปหาอุบาสกแล้วกล่าวพรรณนาคุณของความตาย "นี่นะ คุณโยมอุบาสก ท่านได้สร้างความดีไว้เยอะ ทำเครื่องมือต้านทานความหวาดกลัวไว้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ไม่ได้ทำความชั่วเลย ไม่ได้ทำสิ่งหยาบช้า บาปทารุณใดๆไว้เลย ท่านสร้างแต่คุณงามความดี ไม่ได้สร้างความชั่วไว้เลย ท่านจะมีชีวิตอยู่อย่างลำบากยากเข็ญไปทำไม ท่านตายเสียจะดีกว่า เพราะหลังจากตายแล้ว จะได้ไปบังเกิดในสุคติ โลกสวรรค์ อิ่มเอิบ เบิกบาน พรั่งพร้อมด้วยกามคุณ ๕ เป็นทิพย์ อันน่าอภิรมย์" (ถอดความจากภาษาคัมภีร์เป็นภาษาทั่วไป) ข้อ ๑๖๙ มีเนื้อความต่อไปอีกว่า อุบาสกท่านนี้ เชื่อใจ และเห็นว่า เรื่องที่พระภิกษุกล่าวกันมาเป็นเป็นความจริง เพราะตนได้ทำความดีไว้มากจริงๆ ไม่ได้ทำชั่ว ไม่ได้ทำสิ่งหยาบช้าทารุณกรรมใดๆไว้เลย เราจะมีชีวิตอยู่อย่างยากลำบากไปทำไมกัน เราตายเสียดีกว่า จะได้ไปบังเกิดในสุคติ โลกสวรรค์ ที่อิ่มเอิบ เมื่อคิดได้อย่างนี้แล้ว จึงดำเนินการกิน ดื่ม ลิ้มรสอาหารแสลง ไม่นานนัก เขาก็ป่วยและเสียชีวิตไป

ภรรยาของอุบาสกรู้ที่มาของการตายนั้น จึงกล่าวโทษว่า "พวกสมณะศากยบุตรเหล่านี้ ไม่มีความละอายเอาเสียเลย ทุศีล กล่าวเท็จ แต่ปฏิญาณตนว่าประพฤติธรรม มีศีล ทำว่าสงบเสงี่ยม พวกท่านไม่มีความเป็นสมณะเอาเสียเลย" พวกชาวบ้านรู้ความเป็นมาจากนาง ก็กล่าวตำหนิเป็นการใหญ่ ฝ่ายพวกภิกษุอื่น ทราบเนื้อความนั่นก็พลอยเดือดร้อน จึงไปเล่าให้พระพุทธเจ้าฟัง พระพุทธเจ้าเรียกปรุะชุมสงฆ์ สอบถามความจริงจากภิกษุ ๖ รูปนั้น แล้วทรงตำหนิว่า "โมฆะบุรุษทั้งหลาย การทำของพวกเธอไม่ควรเลย ไม่เหมาะสม ไม่ใช่กิจของสมณะ ใช้ไม่ได้ ไฉนพวกเธอจึงทำอย่างนี้ การทำอย่างนี้มีแต่จะเสื่อมเสียฯลฯ"

จากเรื่องที่เล่าเก็บความมานี้ เราจะเห็นถึง (๑) ในบรรดาพระภิกษุผู้รักษ์ศีลนั้น จะมีบางกลุ่มที่ไม่มียางอาย ไม่ได้สำนึกว่าตนคือสมณะ กลุ่มพระเหล่านี้มักสร้างความเสื่อมเสียให้กับวงการเสมอๆ สอนในสิ่งที่ไม่ได้ทำให้เกิดประโยชน์ยิ่งๆขึ้นไป (๒) การเลือกที่่จะตายในบางสถานการณ์นั้น ไม่ใช่การสิ้นคิด แต่เป็นการเลือกที่จะตายเพื่อรับประโยชน์ในภายหน้า อย่างกรณีอุบาสกท่านนี้ ดังนั้น "ฉันจึงควรตาย" เพราะเมื่อตายไปแล้วจะได้ไม่ต้องลำบากกับความเป็นอยู่ในปัจจุบัน ตามสิ่งที่ตัวเองเชื่อมั่นอย่างบริสุทธิ์ใจ (๓) ความอ่อนด้อยในความเป็นตัวเอง บางคนแค่เพียงเห็นเขาห่มผ้าเหลือง ทำตัวสงบเสงี่ยม ก็เข้าใจว่าเป็นตัวแทนของพระพุทธเจ้า การหลงเชื่ออะไรง่ายๆ จะเป็นการตัดประโยชน์ที่ควรจะได้ที่ยิ่งๆขึ้นและที่ควรจะเป็น ทำไม? เราจึงเชื่อสิ่งอื่น คำพูดอื่น โดยหาเหตุผลไม่ได้ อย่างกรณีนี้ หากคิดง่ายๆว่า ถ้าความตายเป็นเรื่องที่ดีจริง ภิกษุ ๖ รูปเหล่านี้ก็ควรจะตาย ตามที่ได้พรรณนาคุณแห่งความตาย แต่ความคิดอย่างนี้เป็นข้อจำกัดสำหรับผู้มีศรัทธาอย่างมั่นคง เพราะคนที่มีศรัทธาอย่างไม่ได้คิดอื่นใด ก็จะไม่คิดอื่นใดมากไปกว่าที่ตั้งแห่งศรัทธาได้วางแนวไว้ให้ (๔) เพศตรงข้ามมีผลต่อความรู้สึกของต่างเพศเสมอ หลายคนพลาดประโยชน์ชั้นสูงมาเพราะเพศตรงข้าม ดังนั้น ถ้าเราคือเพศตรงห้ามและต้องการให้ต่างเพศได้รับประโยชน์ชั้นสูง เราจึงควรห่างไกลต่างเพศเสมอๆ (๕) สถานการณ์แบบหน้าอย่างหนึ่ง ใจอยางหนึ่งนี้ มีการบันทึกอยู่ในคัมภีร์พอสมควร อย่างกรณี ฤาษีกินเหี้ย ลากินน้ำหาง เป็นต้น ทั้งที่คำสอนแท้จริงแบบพุทธนั้น มุ่งให้สะอาดทั้งภายในและภายนอก

หมายเลขบันทึก: 600085เขียนเมื่อ 28 มกราคม 2016 10:53 น. ()แก้ไขเมื่อ 28 มกราคม 2016 10:53 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท