Archanwell
รศ.ดร. พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร

“เรื่องของสุดา ... คนที่มีสิทธิในสัญชาติไทย แต่ยังไม่ได้ใช้สิทธิในสัญชาติไทย .. เป็นคนต่างด้าวเทียม ..เป็นประชาชนอาเซียน !!”


กรณีศึกษานางสาวสุดา สมิท : สิทธิในใบอนุญาตทำงานเพื่อการทำงานในประเทศไทยของบุตรที่เกิดในประเทศสิงคโปร์ของบิดาที่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งเป็นคนที่ได้รับการรับรองสถานะคนสัญชาติไทยในทะเบียนราษฎรของรัฐไทยแล้ว

โดย รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร

เมื่อวันที่ ๑๐ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๕๘ ซึ่งแก้ไขล่าสุดเมื่อวันที่ ๕ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๕๘

https://www.facebook.com/note.php?saved&&note_id=10153410098283834

-----------

ข้อเท็จจริง

------------

นางสาวสุดา สมิท เกิดในประเทศสิงคโปร์จากนายสมประสงค์ สวัสดี และนางเจนนิเฟอร์ จาง เมื่อ พ.ศ.๒๕๓๗ บิดาและมารดาจดทะเบียนสมรสกันตามกฎหมายสิงคโปร์

ปรากฏต่อไปว่า บุคคลทั้งสามตั้งบ้านเรือนอยู่ในประเทศมาเลเซีย โดยที่นายสมประสงค์ถือหนังสือเดินทางที่ออกโดยกระทรวงการต่างประเทศไทยที่ระบุว่า เขามีสัญชาติไทย

ในขณะที่นางสาวสุดาและนางเจนนิเฟอร์ถือหนังสือเดินทางที่ออกโดยกระทรวงการต่างประเทศสิงคโปร์ที่ระบุว่า บุคคลทั้งสองมีสิงคโปร์ นายสมประสงค์มีชื่ออยู่ในทะเบียนราษฎรไทย ในขณะที่นางสาวสุดาและนางเจนนิเฟอร์มีชื่ออยู่ในทะเบียนราษฎรสิงคโปร์

นางสาวสุดาทำงานเป็นลูกจ้างของบริษัท ส้มฝาง จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทตามกฎหมายไทย ซึ่งไปตั้งร้านขายส้มในประเทศมาเลเซีย นางสาวสุดาทำหน้าที่ผู้จัดการฝ่ายขายในประเทศมาเลเซียให้แก่บริษัทดังกล่าว สัญญาจ้างแรงงานทำในประเทศมาเลเซีย

---------

คำถาม

----------

โดยหลักกฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคล นางสาวสุดาจะต้องร้องขอใบอนุญาตทำงานเพื่อการทำงานในประเทศไทยหรือไม่ ? เพราะเหตุใด ?

---------------

แนวคำตอบ

---------------

ประเด็นตามคำถามเป็นเรื่องเกี่ยวกับสิทธิทำงานของบุคคลธรรมดา ซึ่งโดยหลักกฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคล ย่อมตกอยู่ภายใต้กฎหมายมหาชนของรัฐคู่กรณี ทั้งนี้ เว้นแต่จะมีการกำหนดเป็นอย่างอื่น และตามกฎหมายไทย ซึ่งเป็นกฎหมายของรัฐเจ้าของดินแดนที่มีการทำงานนั้น ก็มีหลักเกณฑ์ในลักษณะเดียวกับทุกรัฐบนโลกว่า คนสัญชาติไม่มีหน้าที่ต้องขอใบอนุญาตทำงานในประเทศของตน ในขณะที่คนต่างด้าวย่อมมีหน้าที่ร้องขอใบอนุญาตทำงาน

ตามข้อเท็จจริง จะเห็นว่า นางสาวสุดาย่อมมีสิทธิในสัญชาติไทยโดยหลักสืบสายโลหิตจากบิดาโดยผลอัตโนมัติของมาตรา ๗ (๑) แห่ง พ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ.๒๕๐๘ ซึ่งแก้ไขและเพิ่มเติม โดย พ.ร.บ.สัญชาติ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๓๕ แต่นางสาวสุดายังมิได้ใช่สิทธิร้องขอการรับรองสถานะบุคคลตามกฎหมายสัญชาติในสถานะคนสัญชาติไทยในทะเบียนราษฎรไทย เธอจึงไม่มีเอกสารรับรองสถานะคนสัญชาติไทย เธอจึงไม่อาจจะแสดงตนว่า เป็นคนสัญชาติไทยได้

ขอให้สังเกตว่า นางสาวสุดาจึงมีสถานะเป็นคนต่างด้าวเทียมในประเทศไทย

ดังนั้น หากนางสาวสุดาจะมาทำงานในประเทศไทย เธอจึงควรร้องขอใบอนุญาตทำงานตามมาตรา ๙ แห่ง พ.ร.บ.การทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.๒๕๕๑ ทั้งนี้ เพื่อป้องกันปัญหาการถูกจับฐานเป็นคนต่างด้าวที่เข้ามาทำงานในประเทศไทยโดยไม่มีใบอนุญาตทำงาน แต่อย่างไรก็ตาม หากนางสาวสุดามาทำงานในประเทศไทยโดยไม่มีใบอนุญาต และถูกจับ เธอก็อาจพิสูจน์สิทธิในสัญชาติไทยต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ที่มาจับกุม เพื่อให้พ้นความความผิดดังกล่าว ซึ่งก็จะสร้างความยุ่งยากอย่างมากต่อชีวิต

หมายเลขบันทึก: 600080เขียนเมื่อ 28 มกราคม 2016 08:31 น. ()แก้ไขเมื่อ 28 มกราคม 2016 08:31 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท