หลัก 6 Cs ในการประเมินเครดิตของผู้ขอสินเชื่อ


หลัก 6 Cs ในการประเมินเครดิตของผู้ขอสินเชื่อ

ที่มาของภาพ : http://www.oknation.net/blog/checkgetgo/2013/12/26/entry-1

ทุกครั้งในการขอสินเชื่อ สถาบันการเงินจะให้ผู้ขอสินเชื่อกรอกใบสมัครขอสินเชื่อ เอกสารประกอบ และหนังสือยินยอมเพื่อใช้ในการเรียกดูข้อมูลเครดิตของผู้ขอสินเชื่อ ในเบื้องต้นสถาบันการเงิน มักใช้ข้อมูลจากทั้งใบสมัครขอสินเชื่อของผู้ขอสินเชื่อ จากเอกสารประกอบ และข้อมูลจากเครดิตบูโร เพื่อเป็นเอกสารอ้างอิงประกอบการตัดสินใจว่า ผู้ขอสินเชื่อจะเป็นลูกค้าที่เมื่อรับเงินกู้ไปแล้ว จะมีความสามารถในการจ่ายคืนได้มากน้อยเพียงใด ซึ่งสถาบันการเงินเกือบทุกรายมักจะใช้หลัก 6 Cs ในการประเมินเครดิตของผู้ขอสินเชื่อ ซึ่ง 6 Cs ที่ว่านี้ประกอบด้วย

1. Character คือ อุปนิสัยของลูกค้าเป็นปัจจัยสำคัญข้อแรกของการพิจารณาตัวผู้กู้ว่าเป็นคนอย่างไรมีความซื่อสัตย์สุจริตเพียงใดมีความรู้และประสบการณ์ทางธุรกิจที่ประกอบการขนาดไหนมีประวัติที่ไม่ดีทางด้านการเงินหรือไม่หากเป็นลูกค้าเก่าของธนาคารก็จะดูได้จาก ผลการติดต่อกับทางธนาคารที่ผ่านมาว่าปฏิบัติตามเงื่อนไขหรือข้อตกลงที่มีไว้กับธนาคารดีหรือไม่หรืออาจสืบจากวงการธุรกิจไม่ว่าจะเป็น SUPPLIERS หรือ CUSTOMER ของลูกค้าในตลาดว่าเป็นอย่างไร พึงระลึกว่าถ้าคนไม่ดีแล้วให้โครงการดีแค่ไหนก็จะมีปัญหาเกิดขึ้นได้

2. Capacity คือ ความสามารถในการจ่ายชำระหนี้คืน เป็นต้นว่า ผู้ขอสินเชื่อมีงานการที่มั่นคงหรือไม่และมีอายุการทำงานมานานเท่าไรในบริษัทที่ทำอยู่ในปัจจุบัน รายได้เพียงพอต่อหนี้สินที่มีอยู่หรือไม่ ความสามารถของผู้ขอสินเชื่อที่จะสามารถชำระหนี้ได้ในระยะเวลาที่กำหนดไว้ ซึ่งปัจจัยในข้อนี้แสดงถึงความมั่นคงของรายได้ที่จะนำมาชำระหนี้ในอนาคต

3. Capital คือ เงินทุน หรือสินทรัพย์ หรือเงินฝากของผู้ขอสินเชื่อ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสินเชื่อที่ใช้เพื่อการประกอบธุรกิจจะให้ความสำคัญในปัจจัยนี้มาก สถาบันการเงินจะพิจารณาเฉพาะเงินทุนหรือสินทรัพย์ของผู้ขอกู้ในขณะที่พิจารณาสินเชื่อนั้นๆ แม้ว่าเงินทุนหรือสินทรัพย์หรือเงินฝากจะไม่ใช่แหล่งของเงินที่สถาบันการเงินคาดหวังว่าจะได้รับการชำระจากแหล่งเงินเหล่านี้ก็ดี แต่แหล่งเงินทุนนี้จะเป็นแหล่งเงินสำรองสำหรับการชำระหนี้ของผู้กู้ในกรณีที่เกิดปัญหากับรายได้ของผู้กู้ขึ้น

4. Conditions คือ ปัจจัยที่เป็นเงื่อนไขอื่นที่มีผลกระทบต่อรายได้ เป็นต้นว่าเศรษฐกิจ อาชีพ หรือเงื่อนไขในการกู้ ตัวอย่างเช่น ในสภาวะของเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้นจะทำให้รายได้สุทธิลดลง ซึ่งจะมีผลต่อความสามารถในการชำระ ซึ่งสถาบันการเงินก็จะต้องคำนึงถึงสิ่งนี้ในการพิจารณาสินเชื่อ อาชีพบางอาชีพมีความมั่นคงในรายได้ และการงาน เช่น การรับราชการ การกู้ร่วมก็เป็นเงื่อนไขหนึ่งในการพิจารณาสินเชื่อเช่นกัน

5. Collateral คือ หลักประกันที่เป็นทรัพย์สินซึ่งผู้กู้จะนำมาจำนำ หรือจำนองเพื่อให้สถาบันการเงินมีความมั่นใจและลดความเสี่ยงหากผู้ขอสินเชื่อไม่ชำระหนี้ตามกำหนด ก็สามารถนำมาขายทอดตลาดได้ตามที่กฎหมายกำหนด อาทิเช่น สินเชื่อที่อยู่อาศัย เป็นต้น ซึ่งการให้สินเชื่อประเภทนี้ก็มักจะมีอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำ

6. Country คือ สิ่งที่วิเคราะห์ถึงเศรษฐกิจของประเทศนั้นๆ ว่าเศรษฐกิจภายในประเทศเป็นอย่างไรมองไปต่อถึงสภาวะการเมืองของประเทศ เจ้าหน้าที่สินเชื่อควรใช้วิเคราะห์ประกอบในการออกสินเชื่อ


และอีก 1C ที่ควรจะมี คือ

Confidence ความมั่นใจ เป็นหลักสำคัญที่ควรมี เพราะบ่งบอกถึงความมั่นใจของผู้กู้ที่จะสามารถดำเนินโครงการหรือทำตามวัตถุประสงค์ที่จะขอกู้ให้ประสบความสำเร็จ อีกทั้งยังสร้างเชื่อมั่นให้แก่ธนาคารในการปล่อยกู้ว่าจะไม่เกิดหนี้สูญจากการไม่ประสบผลสำเร็จของโครงการหรือวัตถุประสงค์


ที่มาของภาพ : http://www.oknation.net/blog/checkgetgo/2013/12/26...

หมายเลขบันทึก: 599919เขียนเมื่อ 24 มกราคม 2016 19:56 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 มกราคม 2016 19:56 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท