ชีวิตที่พอเพียง 2583b. จิตอาสา พัฒนาสังคมไทย


จิตอาสา ต้องไม่ใช่เป็นการทำตามอำเภอใจ ต้องผสานกับความรับผิดชอบ และการมีทักษะให้ทำงานรับผิดชอบเรื่องนั้นๆ ได้อย่างดี ไม่ก่อความเสียหาย และต้องมีการจัดการระบบและงานจิตอาสา ทั้งที่เป็นการจัดการเชิงกิจการงาน และจัดการเชิงอารมณ์จิตใจของคนที่มาอาสา และอารมณ์จิตใจของคนให้เห็นคุณค่าของการเป็นอาสาสมัคร

ชีวิตที่พอเพียง 2583b. จิตอาสา พัฒนาสังคมไทย

จิตอาสา พัฒนาสังคมไทย” เป็นชื่อปาฐกถาไพบูลย์วัฒนศิริธรรม ครั้ง ที่ ๓ เมื่อวันที่ ๑๔ มกราคม ๒๕๕๙ มีองค์ปาฐกถึง ๖ คน จากหลากหลายบริบทในสังคมไทย ซึ่งอ่านรายละเอียดได้ ที่นี่

เป็นการประชุมที่มีพลังมาก ในการปลุกจิตอาสาของผู้เข้าร่วมประชุม ซึ่งมีกว่าสองร้อยคน ตรงเจตนารมณ์ของคุณไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ปูชนียบุคคล ผู้ล่วงลับ

ระหว่างนั่งฟัง ผมเกิดความคิดว่า ทำอย่างไรสังคมไทยจึงจะใช้ประโยชน์จากจิตอาสาให้ทรงพลังมากกว่านี้ ผมนึกถึงการใช้จิตอาสาของมูลนิธิพุทธฉือจี้ ที่ผมเคยไปดูงานร่วมกับคุณไพบูลย์ เมื่อเกือบสิบปีมาแล้ว ดังบันทึกไว้ ที่นี่ เป็นการใช้จิตอาสาเป็นส่วนหนึ่งของการขัดเกลาจิตใจ หรือการปฏิบัติธรรม เพราะชาวไต้หวันนับถือศาสนาพุทธมหายาน ผู้คนต้องการเป็น “โพธิสัตว์” คือผู้ดำเนินชีวิตเพื่อบรรลุโพธิญาณ รวมทั้งเอื้อเฟื้อหาโอกาสให้คนอื่นได้เป็นโพธิสัตว์ด้วย

เมื่อเกือบ ๔ ปีมาแล้ว ผมไปดูงานสถานดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย ที่สหรัฐอเมริกา แคนาดา และญี่ปุ่น ดังบันทึก ชุดนี้ ไปพบว่าเขาใช้อาสาสมัครอย่างได้ผลดีมาก และวิธีจัดการอาสาสมัครของเขามีกฎเกณฑ์ ต้องมีการสมัครและคัดเลือกคนที่มีคุณสมบัติตรงตามต้องการ แล้วต้องเข้ารับการฝึกอบรมให้มีทักษะที่กำหนด จึงจะรับเข้าเป็นอาสาสมัคร ซึ่งก็ตรงกับวิธีการของฉือจี้ เพราะแม้เป็นการอาสาสมัคร ก็ต้องรับผิดชอบตามข้อตกลง มิฉนั้นอาจเสียงาน

ผมบันทึกความประทับใจระบบอาสาสมัครของ Baycrest Center for Geriatric Care ไว้ ที่นี่ เรื่องระบบอาสาสมัคร เป็นเรื่องสำคัญของสังคม จึงมีวิชาการว่าด้วยการจัดการอาสาสมัคร เป็นหลักสูตรปริญญา เอก-โท และมีการวิจัย ซึ่งในบ้านเราน่าจะมีการดำเนินการเรื่องนี้ ผมได้เสนอในที่ประชุมว่า หน่วยงานอาสาสมัครที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ คือสภากาชาดไทย น่าจะทำหน้าที่ผู้นำ ขับเคลื่อนวิชาการว่าด้วยอาสาสมัครในสังคมไทย

จิตอาสา ต้องไม่ใช่เป็นการทำตามอำเภอใจ ต้องผสานกับความรับผิดชอบ และการมีทักษะให้ทำงานรับผิดชอบเรื่องนั้นๆ ได้อย่างดี ไม่ก่อความเสียหาย และต้องมีการจัดการระบบและงานจิตอาสา ทั้งที่เป็นการจัดการเชิงกิจการงาน และจัดการเชิงอารมณ์จิตใจของคนที่มาอาสา และอารมณ์จิตใจของคนให้เห็นคุณค่าของการเป็นอาสาสมัคร

ผลได้ชี้ให้ที่ประชุมทราบว่า มนุษย์เรามีสมองส่วนที่รับรู้ และสร้างความสุขจากการได้เสียสละเพื่อผู้อื่น เรียกว่า altruistic brain ทำให้เรามีความสุขเมื่อได้ช่วยเหลือผู้อื่น ผมเคยบันทึกเรื่องความสุขจากการเสียสละเพื่อผู้อื่น ที่นี่

การไปร่วมงานปาฐกถาไพบูลย์วัฒนศิริธรรมครั้งที่ ๓ ในวันนั้น ให้ความสุขและอิ่มเอมแก่ผู้เข้าร่วมอย่างเห็นได้ชัด ความสุขจากการได้รับรู้ และชื่นชมการทำความดีให้แก่สังคม ซึ่งเป็นเจตนารมณ์ของคุณไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม

วิจารณ์ พานิช

๒๑ ม.ค. ๕๙

หมายเลขบันทึก: 599906เขียนเมื่อ 24 มกราคม 2016 15:08 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 มกราคม 2016 15:08 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

จิตอาสาแบกภาระเพื่อผู้อื่น
จิตสดชื่นพร้อมขนย้ายข้ามกองทุกข์
จิตอิสระละวางสร้างทางสุข
จิตถูกปลุกให้ตื่นฟื้นภาวนา

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท