ดูงาน hospice : ๓. Baycrest Centre for Geriatric Care(๒๓ พ.ค. ๕๕)


 

          เราใช้เวลาทั้งวันของวันที่ ๒๓ พ.ค. ๕๕ ดูงานที่ Baycrest Centre, Toronto, Canada  และทุกคนในคณะบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า นี่แหละรูปแบบของการดูแลผู้สูงอายุที่เราอยากเห็น


          แต่ Baycrest ตั้งมาเกือบ ๑๐๐ ปีแล้ว   คือตั้งปี ค.ศ. ๑๙๑๘ โดยชุมชนชาวยิวในเมืองโตรอนโต   และผ่านการเปลี่ยนแปลงมาหลายยุคหลายสมัย   แม้ปัจจุบันเราก็เห็นกำลังเปลี่ยนแปลงต่อ   ที่ชัดเจนที่สุดคือการตั้งบริษัท Baycrest Global Solution, Inc. เพื่อนำสินทรัพย์ทางปัญญาในการดูแลผู้สูงอายุของ Baycrest ออกสู่โลก และสร้างรายได้ให้แก่ Baycrest

 

          ในขณะนี้กิจการของ Baycrest centre มี ๖ อย่าง ได้แก่

๑. โรงพยาบาล ให้บริการ subacute care, complex continuing care, rehabilitation, palliative care, behavioral psychiatry unit, geriatric assessment and treatment unit

๒. Brain Health Centre : Rotman Research Institute, Centre for Brain Fitness, Applied and Evaluative Research Unit

๓. Apotex Centre : Longterm-care home, treats patients with progressive and vascular dementia

๔. The Terraces : assisted living residences, dedicated health centre, access to Wagman Centre

๕. Wagman Centre : community and welness centre; fitness, education, social and recreation programs

๖. Healthy Living Community Centre : independent living, condominium – style, life lease residences

 

          จะเห็นว่าบริการของ Baycrest ครบวงจรที่สุด   เพราะที่นี่ตั้งมาเกือบ ๑๐๐ ปีแล้ว โดยชุมชนชาวยิว  แต่เวลานี้ให้บริการแก่คนทั่วไป และผู้ปฏิบัติงานเพียงร้อยละ ๒๐ เท่านั้นที่เป็นยิว    แต่เราก็สัมผัสวิญญาณความเป็นยิวได้จากหลายสิ่ง    โดยเฉพาะจากพิพิธภัณฑ์ของโรงพยาบาล    ที่ผมถามคุณGlenda West ประชาสัมพันธ์โรงพยาบาลว่าตัวหนังสือที่เห็นเป็นภาษาอะไร    เพราะระหว่างทางก็เห็นตัวหนังสือแบบนี้ที่โรงเรียนประถมที่รถแล่นผ่าน   จึงรู้ว่าเป็นภาษาฮิบรู

 

          ที่นี่ อ. พญ. มณฑกานต์ จินดา อาจารย์แพทย์ด้าน palliative care ของรามาฯ  ที่กำลังฝึกอบรมเป็น fellow ที่ St, Joseph Hospital มาทำหน้าที่ประสานงาน และอยู่กับเราตลอดวัน


          เราไปเห็นตัวจริงของคนที่ทำหน้าที่ Personal Assistant หรือ Personal Support Worker ที่ทำหน้าที่ช่วยอาบน้ำ แต่งตัว ทำกับข้าว ทำความสะอาดบ้าน ช่วยพามาที่ศูนย์บริการ Day Care  ช่วยเข็นรถนั่ง เป็นต้น   ผมแปลกใจที่ไม่มีระบบฝึกอบรมแก่คนที่ทำอาชีพนี้อย่างเป็นทางการ   มีแต่การปฐมนิเทศไม่กี่ชั่วโมง    คนเหล่านี้เกือบทั้งหมดเป็นผู้หญิง และเป็นคนเอเซียหรือคำผิวคล้ำ 


          ทาง Baycrest ต้อนรับเราอย่างดียิ่ง   ตัว Vice President ชื่อ Nancy Webb มาต้อนรับเอง   บรรยายสรุปภาพรวมเอง   และจัดคนมาบรรยายสรุปให้เราฟังเป็นเรื่องๆ    ที่ผมประทับใจมากคือเรื่องระบบอาสาสมัคร ที่บรรยายโดยคุณ Syrelle Bernstein  ที่อยู่ที่นี่ในฐานผู้จัดการหน่วยอาสาสมัครมาแล้ว ๑๖ ปี   และก่อนหน้านั้นก็ทำงานเกี่ยวข้องกับระบบอาสาสมัครมาตลอด   จึงมีความรู้มากเกี่ยวกับระบบอาสาสมัครในภาพรวม และระบบอาสาสมัครในการดูแลผู้สูงอายุ และผู้ใกล้ตาย   ที่น่าสนใจคือคนที่มาเป็นอาสาสมัครอายุตั้งแต่ ๕ - ๑๐๖ ปี   และมีสัตว์เลี้ยงเป็นอาสาสมัครด้วย

          การจะเป็นอาสาสมัครไม่ใช่ว่าใครๆ ก็เป็นได้    เขาให้สมัคร โดยต้องกรอกใบสมัคร (ทางอินเทอร์เน็ต) แล้วมีการสัมภาษณ์ (ส่วนใหญ่ทางโทรศัพท์)  และมีการตรวจสอบประวัติกับตำรวจด้วย เพื่อป้องกันคนที่มีปัญหาเข้ามา แล้วคัดเลือก และเชิญมาฝึก   คนที่ผ่านการฝึกเท่านั้นที่จะเป็นอาสาสมัครได้    คนที่เข้ารับการฝึกต้องสัญญาว่าจะต้องมาทำหน้าที่อาสาสมัครอย่างน้อย ๒ - ๓ ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ติดต่อกันอย่างน้อย ๖ เดือน    หลังจากนั้นเป็นเรื่องของความสมัครใจ    เขาบอกว่าตามสถิติของเขา คนที่เข้ารับการอบรมยังทำหน้าที่ต่อหลัง ๖ เดือนเป็นส่วนใหญ่   บางคนทำติดต่อมาเป็นสิบปี    เรื่องอาสาสมัครนี้มีหลักวิชาการและหลักปฏิบัติ มีรายละเอียดที่ต้องระมัดระวังมาก


          ฟังแล้วผมบันทึกไว้ว่า ระบบอาสาสมัครเป็นส่วนสำคัญของการพัฒนา “การตายอย่างมีคุณภาพ”(Quality of Death)    และเป็นส่วนหนึ่งของสังคมที่คนมีความเอื้ออาทรต่อกัน   ที่สำคัญ คนที่เป็นอาสาสมัครมีความสุข ได้ประโยชน์เชิงสุขภาพของตนเอง


          ผมถามเขาว่า อาสาสมัครได้รับการตอบแทนอะไรบ้าง ได้เงินหรือกินอาหารฟรีไหม   คำตอบคือไม่ได้   สิ่งที่ได้คือความอิ่มเอิบใจ การได้มิตรภาพ ได้สังคม ได้เรียนรู้   และสามารถมาใช้บริการบางอย่างของ Baycrest ได้ เช่นห้องสมุด ได้รับเชิญมาร่วมกิจกรรมทางสังคม หรือชมการแสดงในบางโอกาส   คือได้รับการยอมรับจากสังคม


          สิ่งที่ประทับใจที่สุดต่อหลายคนในทีมของเราคือ “ห้องกระดานขาว” ของหน่วย “จัดการความรู้” (Culture, Arts & Innovation)   ที่มีคนทำงานเพียง ๒ คน คือ นักอาชีวบำบัดอาวุโส ที่เป็นคนคิดนอกกรอบ (ผู้หญิง) กับ ผศ. ด้าน industrial design (เป็นผู้ชาย)   ที่มาทำหน้าที่กระตุ้นให้คนทำงานในหน่วยต่างๆ ของ Baycrest เล่าความรู้ แนวคิด หรือวิธีทำงานของตนออกมา    แล้วสองท่านนี้ลองเชื่อมโยงความรู้จากต่างที่ต่างส่วน ออกมาเป็นชุดความรู้หรือวิธีการใหม่ ที่น่าจะก้าวกระโดดจากเดิมอย่างมากมาย   แล้วตรวจสอบความเห็นจาก expert หลากหลายสาขา  นำมาปรับวิธีการหรือเทคนิคใหม่ให้เหมาะสมยิ่งขึ้น   และนำไปทดลองใช้


          ผมมองว่า Baycrest คิดวิธีทำ product development วิธีใหม่อยู่ตลอดเวลา    และทำโดยใช้วิธี “จัดการความรู้”   ให้ non-expert ช่วยทำกระบวนการให้ expert คาย tacit knowledge (TK)ออกมา    แล้ว non-expert ลอง repackage ตัว TK เล็กๆ ที่หลากหลายนั้นใหม่   เพื่อให้ได้วิธีการใหม่   โดยเขาบอกว่า เป็นวิธีการจัดการกับ complex knowledge หรือ complexity เพื่อยกระดับความรู้ ขึ้นเป็นความรู้ชุดใหม่   ที่เป็นวิธีทำงานแบบใหม่ หรือเป็น product / service ใหม่ 


          คนที่จะทำงานแบบนี้ได้ต้องมีความริเริ่มสร้างสรรค์สูง และไม่ติดกรอบความเคยชินเดิมๆ   เขาจึงใช้ non-expert ในด้านการดูแลผู้ป่วย   และใช้นักออกแบบโดยหวังว่าเขาจะมีความกล้าที่จะออกแบบวิธีทำงานหรือ product ที่ฉีกแนวไปจากเดิม   เขาบอกว่าหน่วยนี้เพิ่งตั้ง    ที่ตั้งขึ้นเพราะเขาเชื่อว่า เกือบ ๑๐๐ ปีของ Baycrest ได้สั่งสมภูมิปัญญาไว้มากมาย   ต้องหาวิธีขุด (mining) เอามาทำประโยชน์แก่แคนาดา และแก่โลก

 

 

วิจารณ์ พานิช

๑๘ มิ.ย. ๕๕

 

 เมื่อก้าวเข้าสู่ Baycrest Geriatric Centre

 



บรรยากาศในห้องบรรยายสรุป

 



ห้องกระดานขาว ของหน่วย Culture, Arts & Innovation

 



สไลด์นี้บอกว่า Baycrest ทำอะไรบ้าง  ครบวงจร

 



 บทบาทของอาสาสมัคร

 



คนที่เข็นรถเป็น personal assistant

 





ภายในห้องศิลปะ สำหรับ Art Therapy และผลิตสินค้าขายด้วย

 



 

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 492799เขียนเมื่อ 29 มิถุนายน 2012 09:13 น. ()แก้ไขเมื่อ 26 มีนาคม 2018 09:11 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ขอบคุณท่านอาจารย์มากครับ ที่แนะนำรูปแบบการจัดโปรแกรมเพื่อความสุขของผู้สูงอายุ ที่อาจารย์บอกว่า นักอาชีวบำบัดอาวุโส ในม.มหิดล มีหลักสูตรกิจกรรมบำบัด (ชื่อเดิมของวิชาชีพแปลเป็น อาชีวบำบัด Occupational Therapy แล้วได้เปลี่ยนเป็นทางการโดยกพ.แล้ว) ซึ่งเพิ่งจะจบเป็นบัณฑิตรุ่นแรกปีนี้ คิดว่าคงใช้เวลาอีกนานเพราะบ้านเราขาดแคลนระบบอาสาสมัครด้วยใจจริงๆ และระบบงานกิจกรรมบำบัดสำหรับผู้สูงอายุอย่างมีความหมายครบวงจรครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท