ไม่มีวุฒิครูไม่ต่ออายุ?, ให้จ้างครูประจำกลุ่มเฉพาะกลุ่มพิเศษ, คำตอบจากส่วนกลาง, แกะดำ กศน., อาชีพชุมชน 15-20 คน/กลุ่ม, ชุดรับเสด็จบรรณรักษ์อัตราจ้าง, ประกาศเครื่องราชฯ, อัตลักษณ์, ขนาด กศน.อ./จ., โปรแกรม IT ระวังรหัสกลุ่ม


กศน.อ./จ.ใด ขนาดใด, ครู ศรช.ที่รับผิดชอบนักศึกษาไม่ถึง 50 คน ให้เบิกค่าตอบแทนรายหัว ๆ ละ 80 บาท/เดือน, ถึงแม้ไม่มีปริญญาทางการศึกษา แต่ถ้าเข้าเกณฑ์ข้ออื่นก็ต่ออายุใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูได้, ตัวอย่างอัตลักษณ์, โปรแกรม ITw รหัสกลุ่มแต่ละรหัสต้องมีระดับเดียว, เครื่องราชฯปี 54 ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ควรจดข้อมูลไว้, ไม่มีชุดปกติขาวสำหรับสตรีที่เป็นบุคคลภายนอก, การจัดฝึกอาชีพชุมชนให้มีผู้เรียนกลุ่มละ 15-20 คน

เนื่องจากสัปดาห์หน้าผมต้องไปประชุมที่ต่างจังหวัด ( ออกเดินทางตั้งแต่บ่ายวันจันทร์ ) จึงขอขึ้นบันทึกนี้ไว้ตั้งแต่วันนี้

 

สัปดาห์นี้มีเรื่องที่คิดว่าน่าสนใจ ขอเลือกมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ 10 เรื่อง ดังนี้

 

         1. วันที่ 25 มิ.ย.55  อ.วิมล กศน.อ.ชัยบาดาล  โทร.มาถามผมว่า กศน.อ./ข. แบ่งเป็นกี่ขนาด ( จะทำวิจัยที่เกี่ยวข้องกับขนาดอำเภอ )

             ผมตอบว่า กศน.อ./ข. แบ่งเป็น 5 ขนาด คือ เล็กมาก เล็ก กลาง ใหญ่ และ ใหญ่พิเศษ  ( ถ้าเป็น สนง.กศน.จ./กทม. จะแบ่งเป็น 3 ขนาด คือ เล็ก กลาง ใหญ่ )
             ใครสนใจว่า กศน.อ./จ.ใด ขนาดใด ดูได้ที่
             - จังหวัด-อำเภอเล็กมาก-เล็ก  http://ahph9thi.gotoknow.org/assets/media/files/000/815/502/original_framework1.PDF
             - อำเภอกลาง-ใหญ่-ใหญ่พิเศษ  http://ahph9thi.gotoknow.org/assets/media/files/000/815/503/original_framework2.PDF

 

         2. วันเดียวกัน ( 25 มิ.ย. )  คุณนาวี ขรก.ครู กศน.ข.ป้อมปราบฯ  ได้เขียนคัดค้านเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในเว็บบล็อกผมที่ gotoknow.org นี้  อันเนื่องมาจากบันทึกครั้งที่แล้วผมบอกว่า “ไม่ให้ครูประจำการเป็นครูประจำกลุ่ม”
             โดยคุณนาวีบอกว่า  “หนังสือที่ไม่ให้ครูประจำการเป็นครูประจำกลุ่ม ( หนังสือสำนักบริหารงานการศึกษานอกโรงเรียน ที่ ศธ 0210.03/1179 ลงวันที่ 28 พ.ย.46 ) เกิดขึ้นสมัยท่านอุฤทธิ์ บุญมาก หรือท่านสมบัติ สุวรรณพิทักษ์ (ไม่แน่ใจ) ปัจจุบันท่านเกษียณหรือไม่ได้ดำรงค์ตำแหน่ง ผอ.สำนักงานบริหารการศึกษานอกโรงเรียน   และอีกทั้งหลักสูตร หลักเกณฑ์และวิธีการการจัดการศึกษานอกโรงเรียน การศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2544 ได้ถูกยกเลิก และประกาศใช้หลักสูตร กศน.พุทธศักราช 2551    เดิมใน พ.ศ.2546 หนังสือฉบับนั้นมีเจตนาให้ครู ศรช.จัดกิจกรรมและรับผิดชอบนักศึกษาเองจำนวน 80-100 คน จึงไม่ต้องใช้ครูประจำการที่อยู่ในระบบโรงเรียน  (สมัยนั้น กศน.ไม่มีตำแหน่งครูผู้ช่วย มีแต่ข้าราชการครู คศ.1 ขึ้นไป และไม่ได้สอนการศึกษาขั้นพื้นฐาน)   แต่ในปัจจุบัน เพื่อให้เกิดผลดีต่อการจัดกิจกรรมให้มีประสิทธิภาพ ครูกศน.เปลี่ยนมารับผิดชอบนักศึกษา 50 คน (ตามคู่มือดำเนินการเล่มเหลือง) แต่ละจังหวัดจึงมีการจ้างครูประจำกลุ่มเรื่อยมา  ในความคิดของผมคิดว่าเจตนาน่าจะเป็นครูประจำการในระบบโรงเรียนมากกว่า   จึงอยากถามว่า หนังสือฉบับนั้นยังมีผลบังคับใช้อยู่หรือไม่ และถ้าจ้างไปแล้วจะดำเนินการอย่างไรต่อ”

             ผมตอบว่า

             1)  โดยปกติแล้ว หนังสือสั่งการต่าง ๆ จะยังมีผลบังคับใช้อยู่ แม้จะเปลี่ยนผู้บริหารหรือเปลี่ยนหลักสูตร จนกว่าจะมีหนังสือสั่งการในเรื่องเดียวกันที่ใหม่กว่านะครับ  จะเห็นว่าหลาย ๆ เรื่อง ที่แจ้งตั้งแต่หลักสูตรเก่า ปลัดกระทรวงคนเก่า ก็ยังมีผลบังคับใช้อยู่ เช่นเรื่องให้พนักงานราชการทำหน้าที่นายทะเบียนได้ ก็ลงนามโดยนางจรวยพร ธรณินทร์ ยังมีผลบังคับใช้ถึงปัจจุบัน

             2)  ที่ไม่ให้ครูประจำการเป็นครูประจำกลุ่ม ได้ระบุ "เจตนา/เหตุผล" ไว้ในหนังสือดังกล่าว ( หนังสือสำนักบริหารงานการศึกษานอกโรงเรียน ที่ ศธ 0210.03/1179  ลงวันที่ 28 พ.ย.46 ) ว่า "ครูประจำการจะมีภาระหน้าที่ในโรงเรียนมากอยู่แล้ว ซึ่งทำให้การจัดกระบวนการเรียนการสอนขาดประสิทธิภาพ ไม่เป็นไปตามหลักการเรียนรู้ของ กศน."    ซึ่งปัจจุบัน ครูประจำการก็ยังมีภาระหน้าที่ในโรงเรียนมากอยู่

             3)  อย่างไรก็ตาม ผมได้หารือเรื่องนี้อีกครั้งกับกลุ่มพัฒนา กศน.  ผู้ที่รับโทรศัพท์ของกลุ่มพัฒนา กศน.ได้โยนให้ไปถาม อ.กฤติพัฒน์ แสงทอง กลุ่มส่งเสริมปฏิบัติการ    ครั้งแรก อ.กฤติพัฒน์ ตอบอย่างที่ผมตอบ แต่ อ.กฤติพัฒน์ บอกว่า เพื่อความแน่ใจ จะหารือกลับไปยังกลุ่มพัฒนาฯ ให้ชัดเจนอีกครั้ง แล้วจะแจ้งผมอีกที  จนถึงเวลา 16:30 น.วันเดียวกัน อ.กฤติพัฒน์ โทร.กลับมาบอกว่า กลุ่มพัฒนาฯ ( คงจะคนละคนกับที่รับโทรศัพท์ผม ) ยืนยันว่า ยังใช้ตามที่แจ้งเดิมคือ ไม่ให้จ้างครูประจำการเป็นครูประจำกลุ่ม โดยบอกว่า "การเปลี่ยนหลักสูตร ไม่เกี่ยวกับการบริหารจัดการ"

             4)  ถ้าจ้างครูประจำการเป็นครูประจำกลุ่มไปแล้ว ก็ให้จ้างถึงสิ้นภาคเรียนนี้ แล้วเลิกจ้าง

             5)  พวกเราหลายคนเข้าใจผิด  ที่จริงคำว่าครูประจำกลุ่มยุคใหม่ที่เริ่มมีใหม่ตั้งแต่ภาคเรียนที่ 2/2548 เป็นต้นมานั้น เฉพาะกลุ่มเป้าหมายพิเศษอื่น ๆ เท่านั้นนะครับ ( หน่วยทหารกองประจำการ เรือนจำ ทัณฑสถาน สถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน หรืออื่น ๆ )   ส่วนนักศึกษาทั่วไปของ กศน.อ./ข.  ไม่ได้ให้จ้างครูประจำกลุ่มนะครับ แต่ให้จ้างเป็นครู ศรช.นั่นแหละ โดยถ้าครู ศรช.รายใดรับผิดชอบนักศึกษาต่ำกว่า 70 คน ก็ให้จ่ายค่าตอบแทนเป็นรายหัวต่อเดือน หัวละไม่เกิน 150 บาท 

 

         3. วันที่ 27 มิ.ย.55  คุณนาวี ขรก.ครู กศน.ข.ป้อมปราบฯ ถามในหน้าเฟซบุ๊คผมอีกครั้ง ว่า  จริงหรือไม่ที่ว่า ถึงจะมีใบประกอบวิชาชีพครูแล้ว แต่ไม่มีวุฒิทางการศึกษา  ก.ค.ศ. จะไม่ต่อใบอนุญาตให้
             ผมตอบว่า   การต่ออายุใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู นอกจากจะดูคุณสมบัติด้านวุฒิตามที่ถามแล้ว ยังดูการพัฒนาตนเองที่ผ่านมา และการประพฤติตามจรรยาบรรณด้วย
             ในด้านคุณสมบัติด้านวุฒิตามที่ถามนั้น ต้องมีคุณสมบัติ อย่างใดอย่างหนึ่ง ดังนี้
             (1)  มีวุฒิไม่ต่ำกว่าปริญญาตรีทางการศึกษา หรือเทียบเท่า เช่น กศ.บ. ค.บ. ค.อ.บ. ศษ.บ.(ไม่ใช่ ศศ.บ.) หรือคุณวุฒิอื่นที่คุรุสภารับรอง
             (2)  มีวุฒิไม่ต่ำกว่าปริญญาตรี และมีวุฒิประกาศนียบัตรบัณฑิตวิชาชีพครู (ป.บัณฑิต) ที่คุรุสภารับรองหรืออยู่ในระหว่างศึกษาตามหลักสูตรดังกล่าว
             (3)  มีวุฒิไม่ต่ำกว่าปริญญาตรี และมีวุฒิประกาศนียบัตรวิชาชีพครู (ปวค.) ที่สำเร็จการศึกษาก่อนประกาศเรื่องการต่ออายุฯใช้บังคับ
             (4)  มีวุฒิไม่ต่ำกว่าปริญญาตรีและผ่านการรับรองความรู้ตามมาตรฐานความรู้วิชาชีพครูของคุรุสภา (ทดสอบ-ฝึกอบรม-เทียบโอน)  หรืออยู่ในระหว่างการเสนอขอรับรอง
             (5)  มีวุฒิไม่ต่ำกว่าปริญญาตรีและได้ศึกษาความรู้วิชาชีพครูจำนวน ไม่น้อยกว่า 15 หน่วยกิต
             (6)  มีวุฒิไม่ต่ำกว่าปริญญาตรี และมีประสบการณ์ในการสอนมาแล้ว ไม่น้อยกว่า 5 ปี
             (7)  มีวุฒิต่ำกว่าปริญญาตรี และมีประสบการณ์ในการสอนมาแล้ว ไม่น้อยกว่า ๑๐ ปี หรืออยู่ในระหว่างศึกษาให้มีวุฒิไม่ต่ำกว่าปริญญาตรีทางการศึกษาที่คุรุสภารับรอง
             ผู้ที่ไม่มีวุฒิการศึกษาหรือคุณวุฒิและประสบการณ์วิชาชีพตามข้างต้น ให้นำเสนอคณะกรรมการคุรุสภาพิจารณาอนุมัติเป็นรายกรณี

             จะเห็นว่า ถึงแม้จะไม่มีวุฒิทางการศึกษาตามคุณสมบัติข้อ (1) แต่ถ้ามีคุณสมบัติตามข้อ (2) - (7) ข้อใดข้อหนึ่ง ก็สามารถต่อใบอนุญาตได้

 

         4. เช้าวันที่ 27 มิ.ย.55  บรรณารักษ์อัตราจ้าง ถามผมว่า ผมรักษาการ ผอ.หรือเปล่า จะขออนุญาตไปสมัครเรียน ป.บัณฑิต เพราะมีคนบอกว่าบรรณารักษ์อัตราจ้างก็สมัครเรียนโครงการนี้ได้
             ผมอธิบายว่า   ทางมหาวิทยาลัยเขาจะตรวจสอบผู้มีสิทธิเรียนโครงการนี้กับทางคุรุสภานะ
             คุรุสภาเขาจะตรวจสอบอย่างไร ?
             คุรุสภาเขาไม่มีข้อมูลบุคลากรเราหรอก เขาจึงให้สำนักงาน กศน. แจ้งให้ กศน.อ./ข.กรอกข้อมูล และให้ สนง.กศน.จ. ตรวจสอบข้อมูล โดยย้ำว่า เป็น “บุคลากรที่ประกอบวิชาชีพครูปฏิบัติหน้าที่เกี่ยวกับการสอนอยู่แล้ว ไม่ใช่ให้บุคลากรที่ไม่ได้มีหน้าที่ครูมาพัฒนา”   โดยเมื่อสำนักงาน กศน.รวบรวมข้อมูลส่งคุรุสภา ภายในวันที่ 25 มิ.ย.55  ข้อมูลดังกล่าวถือว่ายุติเสร็จสิ้นแล้ว ไม่สามารถเพิ่มชื่อใดใดได้อีก   คุรุสภาจะยึดรายชื่อนี้แหละเอาไว้ตรวจสอบกับมหาวิทยาลัยว่าเป็นผู้มีสิทธิเรียน
             โดย สนง.กศน.จ. และผู้ตรวจสอบของจังหวัด เป็นผู้รับผิดชอบ
             ถ้าอำเภอกรอกรายชื่อใครไป และจังหวัดส่งต่อไป ก็จะมีสิทธิเรียนโครงการนี้หมดทุกคน ! ( เว้นแต่จะมีผู้ร้องเรียน )    ถ้ามหาวิทยาลัยให้เรียนโดยที่คุรุสภาไม่มีรายชื่อ เรียนจบคุรุสภาจะไม่รับรอง และขอใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูไม่ได้
             บรรณารักษ์อัตราจ้างรายนี้ ไม่มีชื่อในการกรอกแบบสำรวจ ก็ยังพยายามเถียงผมต่อ ว่ามีคนอื่นๆอีกที่บอกว่าบรรณารักษ์เรียนโครงการนี้ได้ และว่า การสำรวจเมื่อครั้งก่อน ๆ มีชื่อหนู  ( การสำรวจครั้งก่อน ๆ ไม่ได้ส่งไปให้คุรุสภานะ )

             ถึงตรงนี้ เชื่อไหมว่า คน กศน. คิดว่า
             - อำเภอ/จังหวัดใด กรอกชื่อบุคลากรให้หมด แม้จะไม่ได้ประกอบวิชาชีพครู/ปฏิบัติหน้าที่เกี่ยวกับการสอนอยู่ โดยอ้างว่าทุกคนปฏิบัติหน้าที่เกี่ยวกับการสอนทั้งนั้น อำเภอ/จังหวัดนั้น จะได้รับการชื่มชมยกย่องจากคน กศน. เพราะคน กศน.เคยชินกับการเมคข้อมูลเท็จเพื่อประโยชน์ของ กศน. จนเป็นเรื่องปกติ   ไม่คำนึงถึงความ “ถูกต้อง” แต่สิ่งสำคัญเหนืออื่นใดคือความ “ถูกใจ”
             - ส่วน อำเภอ/จังหวัดไหน ยึดแต่ระเบียบหลักเกณฑ์ ไม่ยอมกรอกชื่อผู้ที่ไม่ใช่ตำแหน่งครูและไม่มีคำสั่งให้ทำหน้าที่ครู  อำเภอ/จังหวัดนั้น จะเป็น แกะดำที่น่ารังเกียจของคน กศน.ส่วนใหญ่
             เพราะอย่างนี้แหละ ผมถึงอยากเออรี่ แต่ก็กลัวเงินบำนาญในอนาคตไม่พอใช้

 

         5. วันเดียวกัน ( 21 มิ.ย. )  คุณรำไพ ขรก.ครู กศน.อ.หนองใหญ่ ถามผมในเฟซบุ๊ค ว่า  ช่วยยกตัวอย่างอัตลักษณ์ของอำเภอหน่อยว่าเป็นแบบไหน นึกภาพไม่ออกที่จะนำมาเขียน
             ผมตอบว่า   อัตลักษณ์คือคุณลักษณะที่สถานศึกษาต้องการพัฒนาให้เกิดขึ้นในตัวผู้เรียน  เลือกมาจากปรัชญา/วิสัยทัศน์/พันธกิจของสถานศึกษา มาทำให้โดดเด่น ( ทำทุกเรื่องตามพันธกิจ แต่เน้นอัตลักษณ์ )  กำหนดร่วมกับคณะกรรมการสถานศึกษาและชุมชน  สอดคล้องกับเอกลักษณ์ของสถานศึกษา ( เอกลักษณ์ เป็นการพัฒนาสถานศึกษาให้มีจุดเด่น เป็นของสถานศึกษา )   ตัวอย่างอัตลักษณ์ เช่น
             - "มีภาวะผู้นำและสุภาพบุรุษ"
             - "ยอดนารี สตรีวิทยา"
             - "มีจิตสำนึกรักลำปาง รักษ์สิ่งแวดล้อม"
             - "ประชาธิปไตย เคารพในสิทธิความเป็นมนุษย์"
             - "บุคลิกนักวิทยาศาสตร์"
             - "มีจิตวิญญาณไทย ใจเป็นสากล เปี่ยมล้นเทคโนโลยี ชีวีพอเพียง"
             - "รักการทำดี วิชาการมาตรฐานสากล สร้างคนเป็นผู้นำ"
             - "มีความคิดสร้างสรรค์ มีจิตวิญญาณผู้ประกอบการ มีความเป็นสากล"

 

         6. วันเดียวกัน ( 27 มิ.ย. )  อ.ภาสกร ขรก.ครู กศน.อ.โชคชัย ส่งไฟล์ BACKUP โปรแกรม ITW มาให้ผมดูว่า ทำไมจัดห้องสอบบางวิชาไม่ได้
             เรื่องนี้ คุณสุขุม ศรีวิไลฤทธิ์ ผู้พัฒนาโปรแกรม ITw บอกว่า เป็นปัญหาเดียวกับที่เคยตอบอำเภออื่นแล้ว คือ ปัญหาเกิดมาจากรหัสกลุ่มบางกลุ่มมีนักศึกษามากกว่า 1 ระดับ   นักศึกษาระดับประถม ม.ต้น ม.ปลาย ต้องแยกรหัสกลุ่มในโปรแกรม ITw เป็นคนละรหัส

 

         7. วันเดียวกัน ( 27 มิ.ย. )  ราชกิจจานุเบกษา ได้ลงประกาศเรื่องพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ประจำปี 2554
             ทุกคนทราบแล้วว่า ใครได้เครื่องราชฯใด แต่เพิ่งจะประกาศอย่างเป็นทางการในราชกิจจานุเบกษา ( ตามระเบียบ จะประดับเครื่องราชฯนั้นได้เมื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษานี้แล้ว )
             ควรจด “ปี ฉบับ เล่ม ตอนที่ หน้า” ไว้เป็นหลักฐาน  ( เจ้าหน้าที่บุคลากรต้องบันทึก “ปี ฉบับ เล่ม ตอนที่ หน้า” ไว้ในทะเบียนประวัติ )
             - ข้าราชการ ดูได้ที่ http://ahph9thi.gotoknow.org/assets/media/files/000/815/770/original_rach55.PDF
             - ลูกจ้างประจำ ดูได้ที่ http://ahph9thi.gotoknow.org/assets/media/files/000/815/774/original_rach4.PDF
             - พนักงานราชการ ดูได้ที่ http://ahph9thi.gotoknow.org/assets/media/files/000/815/772/original_rach3.PDF
             - เหรียญจักรพรรดิมาลา ดูได้ที่ http://ahph9thi.gotoknow.org/assets/media/files/000/815/771/original_rach2.PDF

 

         8. วันเดียวกัน ( 27 มิ.ย. )  กลุ่มส่งเสริมปฏิบัติการ กศน. ได้นำข้อมูลตอบคำถามที่มีผู้สงสัยเกี่ยวกับการจัดฝึกอาชีพชุมชน มาลงในเว็บไซต์สำนักงาน กศน.  ดังนี้

 

 

 

         9. วันที่ 28 มิ.ย.55  คุณจันทิมา บรรณารักษ์อัตราจ้าง หสม.อ.อัมพวา  ถามในหน้าเฟซบุ๊คผมว่า  เป็นบรรณารักษ์อัตราจ้าง ต้องรับเสด็จพระเทพฯ ในวันเปิดห้องสมุดเฉลิมราชฯต้องใส่ชุดขาว (ผู้หญิง) แบบไหนถึงจะถูกต้อง ถ้ามีรูปขอดูด้วย
             ผมตอบว่า   บรรณารักษ์อัตราจ้าง ที่จ้างเหมาบริการตามระเบียบพัสดุ ถือเป็นบุคคลทั่วไป    สำหรับบุคลลทั่วไป ถ้าเป็นบุรุษ จะมีชุดขอเฝ้าปกติขาว   แต่ไม่มีชุดขอเฝ้าปกติขาวสำหรับสตรีนะครับ  ให้ใช้ชุดไทยพระราชนิยม ( ชุดไทยเรือนต้น ไทยจิตรลดา ไทยอมรินทร์ ไทยบรมพิมาน )  หรือชุดสุภาพเรียบร้อย เช่น ชุดสูทสากลสีพื้น  ชุด กศน.สีกรมท่า  สวมถุงน่อง  ( ผมตอบตามที่ “ถูกต้อง” แต่ถ้าไม่ “ถูกใจ” จะไม่สนใจทำตาม ก็แล้วแต่ )


        10. วันที่ 29 มิ.ย.55  ผมเรียนถามคุณชัยพร กับท่าน ผอ.กจ. และ อ.กฤติพัฒน์ กป. กศน.  ได้คำตอบที่น่าสนใจดังนี้

             10.1  การเรียน ป.บัณฑิต ภาคเรียนนี้มีเฉพาะ ม.ราชภัฏสวนดุสิต กับเชียงใหม่  ถ้าจะรอเรียนที่อื่น ต้องรอดูว่าภาคเรียนหน้าคุรุสภาจะรับรองที่ไหนเพิ่มบ้าง

             10.2  คำสั่ง 15,000 ข้าราชการครูที่บรรจุรุ่น 15 ก.พ.55 จำนวน 92 คน ส่งให้ทุกจังหวัดแล้ว ( รวมอยู่ในคำสั่ง สป. เรื่องเลื่อนขั้นเงินเดือน ที่ 826/55 ลงวันที่ 5 มิ.ย.55 ) เบิกจ่ายได้เลย
                      ส่วน ขรก.ครูที่บรรจุรุ่น มิ.ย.55 จำนวน 32 คน กำลังออกคำสั่ง ถ้าผู้ใหญ่ที่จะลงนามในคำสั่งไมได้ไปราชการที่ไหน จะพยายามส่งคำสั่งให้จังหวัดภายในวันศุกร์ที่ 6 ก.ค.55   และสำหรับผู้ที่บรรจุก่อน 1 ม.ค.55 ขอให้คอยกฏหมายปรับฐานเงินเดือนออกมาก่อน เพราะถ้าเบิกค่าครองชีพให้รวมกับเงินเดือนเดิมเป็นหมื่นห้า พอกฎหมายปรับฐานเงินเดือนออก ก็จะต้องลดค่าครองชีพ ยุ่งยากในการคืนค่าครองชีพบางส่วน )

             10.3  ตามที่มีครูสอบเป็นผู้บริหารระดับจังหวัดได้นั้น จะไม่สามารถเรียกบรรจุผู้สอบขึ้นบัญชีไว้มาแทนครูคนนั้นได้ทัน เพราะผู้ที่สอบเป็นผู้บริหารระดับจังหวัดได้นั้น ยังไม่ได้อบรมเลย กว่าจะดำเนินการต่างๆจนพ้นจากตำแหน่งครูก็เดือน ก.ย.55

             10.4  ที่ให้สำรวจพนักงานราชการตำแหน่งครูอาสาสมัครทุกประเภท และหัวหน้า กศน.ตำบล ยกเว้นตำแหน่งครู กศน.ตำบลที่ไม่ได้เป็นหัวหน้า กศน.ตำบล นั้น ท่านเลขาฯให้สำรวจ ( ท่าน ผอ.กจ. ไม่บอกว่าสำรวจทำไม )

             10.5  การจัดฝึกอาชีพชุมชน ให้ใช้หลักสูตรของกลุ่มพัฒนา กศน.  แต่ถ้าสำรวจความต้องการของกลุ่มเป้าหมายแล้ว ไม่ต้องการเรียนหลักสูตรใด ๆ ของกลุ่มพัฒนาฯเลย ( ที่จริงหลักสูตรของกลุ่มพัฒนาฯก็มาจากจังหวัด )  ก็ให้พัฒนาหลักสูตรขึ้นใหม่ได้

 

หมายเลขบันทึก: 492797เขียนเมื่อ 29 มิถุนายน 2012 08:45 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 พฤษภาคม 2013 18:01 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (9)

ขอบคุณสำหรับข้อมูลดีๆ ค่ะ

ขอบคุณ อาจารย์เอกชัย มากค่ะที่นำข้อมูลมาฝาก

  • สวัสดีค่ะอาจารย์เอก
  • รูปที่ลงไปเยียมและสำรวจการต่อยอดอาชีพเกษตรผสมผสานจากการที่ไปศึกษาดูงานเมื่อภาคเรียนที่แล้วค่ะและจัดเป็นภูมิปัญญาชาวบ้านด้านการน้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในชีวิตประจำวันค่ะ
  • ขอบคุณค่ะสำหรับข้อมูลข่าวสารที่เป็นประโยชน์ค่ะ
  • สุดยอดเลยครับพี่เอก
  • ตอบได้ละเอียดมากๆ
  • ขอชื่นชมครับ

ขอบคุณค่ะสำหรับข้อมูล ข่าวสารดี ๆ

  • ตอนนี้ กศน.อำเภอพระนครศรีอยุธยาได้เปิดศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงไว้หลังห้องสมุดจังหวัดค่ะ

 

ยินดีแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันนะครับ Blank Blank Blank Blank

ขอบคุณสำหรับข้อมูลที่เป็นประโยชน์ค่ะอาจารย์

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท