ปัญหาของวิถีการทำงานในหน่วยงานราชการคือ "ครับ" "ได้ครับ"


ผมเฝ้าตั้งคำถามว่า "มันเกิดอะไรขึ้นกับการทำงานในหน่วยงานราชการ" คำถามดังกล่าวนี้เป็นคำถามที่นานมาแล้ว เมื่อวานซืนมีการประชุมเกี่ยวกับการคัดเลือกนักวิจัยดีเด่นของคณะฯ อาจารย์ท่านหนึ่งถามขึ้นว่า ทำไม? ในการประชุมแต่ละครั้ง จึงไม่ค่อยมีใครเสนอความเห็นอะไร ทุกคนนั่งเงียบ แต่บางคนเมื่อออกมาแล้ว มากระซิบกับเพื่อนเพื่อแสดงความเห็นอย่างนั้นอย่างนี้ ฯลฯ" อาจารย์ท่านนี้เกษียณอายุราชการมาจากระทรวงวัฒนธรรม แล้วหันชีวิตมาช่วยการศึกษา ในความเห็นของผมเท่าที่สังเกตมาสองปี ท่านเป็นคนที่มีความคิดบรรเจิด และไม่ใช่คิดอย่างเดียว หากแต่ลงมือทำด้วย และทำให้เห็นผลได้ด้วย อย่างไรก็ตาม เมื่อท่านโยนข้อกังขาที่ดูแล่้วไม่สบายใจสำหรับคนที่มุ่งหวังทำงานอย่างจริงจังอย่างท่าน เพื่อหาคำตอบบางอย่าง ผมได้แต่หัวเราะในใจ แต่ก็ไม่วายพูดออกไป "เสนอแล้ว ก็เพียงแค่เสนอ ไม่มีผลของการเสนอ จึงไม่มีการเสนออีก , เสนอแล้วกลายเป็นเรื่องขัดใจของบางฝ่าย และกลายเป็นภาพลบในการโต้แย้งเพื่อหาข้อยุติของผู้เสนอความคิด การไม่เสนอจะดีกว่า , การอยู่เงียบๆ สนองคำสั่งไปเรื่อยๆ ไม่ขัด ไม่แย้ง น่าจะอยู่ดีกว่าการขัด การแย้งเพื่อหาข้อยุติที่ดีที่สุด ฯลฯ" ผู้เข้าประชุมอีกท่านหนึ่งเอ่ยขึ้นว่า "มันเป็นวัฒนธรรมองค์กร" (ผู้เข้าประชุมจำนวน ๔ คน จึงเป็นการคุยกันแบบสบายๆ) เมื่อผมได้ยินคำว่า "วัฒนธรรมองค์กร" ก็ทำให้รู้สึกขัดใจว่า "วัฒนธรรมจริงหรือ หากคำว่า วัฒนธรรมคือความเจริญงอกงาม การนิ่งเงียบโดยไม่คิดอะไรเลย ไม่กล้ายืนหยัดความเป็นธรรม ไม่กล้าแสดงความเห็น ฯลฯ คือวัฒนธรรมจริงหรือ" แต่ผมก็ไม่ได้พูดออกไป

ช่วงเย็นผมเดินทางออกจากที่ทำงาน ระหว่างนั้นเห็นคนงานกำลังทำเครื่องขวางถนน (ลูกระนาดยาง) เพื่อช่วยชะลอความเร็วของรถในสถานศึกษา ผมมองเห็นพนักงานคนหนึ่งที่ทำหน้าที่สั่งงานอยู่ พนักงานท่านนี้เป็นคนที่น่าสนใจ ยิ้มได้ตลอด รับคำสั่งเจ้านายได้ดี "ครับท่าน" "ครับผม" "ได้ครับ" "เดี๋ยวผมไปทำให้" เท่าที่พบเห็นจะไม่เคยได้ยินคำโต้แย้งอย่าง "ทำไปทำไมหรือครับ" หรือ "ทำแล้วอาจจะไม่ดีนะครับ น่าจะทำอย่างนี้มากกว่า ฯลฯ" ดังนั้น เขาจึงมักได้รับการไว้วางใจให้สนองงานอยู่เสมอ ผมจึงนั่งคิดว่า "ครับ" "ได้ครับ" ฯลฯ เหล่านี้หรือไม่ที่เป็นปัญหาของวิถีการทำงานในหน่วยงานราชการ และคิดเลยไปว่า ถ้าคนทุกคนถามหาเหตผล เสนอความเห็น ฯลฯ ในเชิงโต้แย้งบ้าง ในเชิงเสนอความคิดเพื่อการทำจริงๆบ้าง น่าจะเป็นประโยชน์ต่อองค์กรแห่งการเรียนรู้ ขณะเดียวกัน การที่ใครจะมาทำงานบริหาร เมื่อเจอบรรยากาศการทำงานแบบนี้ จะไม่ลืมตัวว่า ความคิดของตนเท่านั้นถูกต้อง หรือไม่คิดอะไรแบบไม่มีแผนการพัฒนารองรับ (นึกอยากจะทำก็ทำ) ระหว่างที่คิด ภาพความคิดที่ทุกคนตั้งคำถามเพื่อหาคำตอบ ขณะที่ฝ่ายอำนวยการก็ตอบคำถามเพื่อให้ฝ่ายตั้งคำถามหมดข้อสงสัย น่าจะเป็นความร่วมมือที่เข้มแข็งมากกว่าการใช้อำนาจสั่งการเพื่อให้ผู้ทำหน้าที่ทำตามหรือไม่

หมายเลขบันทึก: 599837เขียนเมื่อ 22 มกราคม 2016 13:43 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มกราคม 2016 13:43 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท